พส = พระสมี?

กระทู้สนทนา
ถึงตอนนี้ ผมเชื่อว่าหลายท่านก็ทราบกันดีแล้วว่า คำว่า พระสงฆ์ ซึ่งปรากฏอยู่ในพระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) หมายถึงเฉพาะพระอริยสงฆ์เท่านั้น สมัยพุทธกาล หรือถ้าดูจากต้นฉบับภาษาบาลี เช่น บทสวดคุณพระรัตนตรัย บทสวดอิติปิโส ฯลฯ จะใช้คำว่า สาวกสงฆ์ (สาวะกะสังโฆ) ไม่ได้ใช้คำว่าพระสงฆ์

พระภิกษุมี 2 ประเภท สาวกสงฆ์ กับ ภิกษุสงฆ์ (หรือที่ปัจจุบันแยกเป็น อริยสงฆ์ กับ สมมุติสงฆ์) แต่เนื่องจากคนไทยย่อคำว่าสาวกสงฆ์เหลือเพียงพระสงฆ์เฉยๆ ดังนั้น คำว่าพระสงฆ์จึงควรถูกนำมาใช้เรียกสาวกสงฆ์ (หรือพระอริยสงฆ์) เท่านั้น

ปัจจุบัน ผมรู้สึกเหมือนมีการพยายามด้อยค่าคำว่าพระสงฆ์ ด้วยการใช้ตัวย่อคือ พส โดยผู้ที่นำมาใช้ ถ้าเป็นพระใช้เรียกตัวเองก็ไม่ใช่พระที่ประพฤติตัวดีเท่าไหร่ ส่วนถ้าเป็นฆราวาสหรือคนทั่วไป เช่น สื่อมวลชน ก็พอเข้าใจได้ บางคนขาดความรู้ความเข้าใจ ส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นคนที่อายุยังน้อย ยังไม่ถึงเวลาสนใจธรรมะ พอมีคนมาชักจูงให้เรียกพระว่า พส แถมคนชักจูงยังเป็นพระด้วย ก็เลยใช้กันโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

แต่ก็มีบางคนที่รู้และเข้าใจดี แต่เพราะความที่มีมานะอัตตา ไม่ชอบให้ใครมาสั่งมาบังคับ แบบนี้ก็คงต้องค่อยๆ ใช้เวลา

ผมเลยคิดว่า ควรจะต้องด้อยค่าคำว่า พส บ้าง (จุดประสงค์เพื่อให้เลิกใช้ เรียกพระภิกษุให้ถูกต้อง) นั่นคือ พส ย่อมาจาก พระสมี

ที่จริง คำว่า สมี ใช้เรียกพระที่ต้องอาบัติปาราชิกเท่านั้น ดังนั้น ถ้ารู้กันว่า พส หมายถึง พระสมี (หรืออาจจะย่อมาจากพระสมี) ต่อไปคนที่เอาคำย่อนี้มาใช้ ยิ่งถ้าเป็นพระที่ต้องอาบัติปาราชิกจริงๆ แต่ปกปิดอาบัตินั้นอยู่ ก็อาจจะมีสะดุ้งบ้าง (เรื่องความละอายใจที่นำคำว่าพระสงฆ์มาใช้เรียกตัวเอง ตัดทิ้งไปได้)

อย่างไรก็ตาม ถ้าอยากจะใช้คำย่อสำหรับเรียกพระภิกษุจริงๆ จะเพื่อเอามาทำคอนเทนต์ หรือขี้เกียจพิมพ์ยาวๆ หรืออะไรก็ตาม ใช้ตัวย่อ ภษ ก็ได้ แต่ผมคิดว่าก็ไม่เหมาะสมเช่นกัน เหมือนคนไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อีกทั้งคำว่า ภิกษุ ก็ออกเสียง 2 พยางค์เท่ากัน อาจจะเติมพระไปอีก 1 พยางค์เป็นพระภิกษุ ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเกินไป

ขออนุญาตและขออภัยที่ตั้งกระทู้พูดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง หวังว่าเข้าใจเจตนา (ที่ต้องการปกป้องพระรัตนตรัย) และไม่เบื่อหรือทำให้เกิดความรำคาญกัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่