เราเข้าถึงธรรมะระดับใด?

ธรรมะนั้นมีการเข้าถึงอยู่ ๓ ระดับ คือ

๑. แค่จำได้ เพราะฟังมา อ่านมา
๒. เข้าใจ เพราะนำเอาสิ่งที่จำได้นั้นมาคิดพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลจนไม่มีจุดบอดหรือขัดแย้งกัน
๓. เห็นแจ้ง เพราะได้น้อมนำเอาสิ่งที่เข้าใจนั้นมาเพ่งดูจากจิตใจของเราเอง จนเห็นความจริงอย่างแน่ชัดแล้ว

อย่างเช่น เมื่อเราได้ฟังหรืออ่านเรื่องร่างกายและจิตใจ (ขันํ ๕) ของเราเป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยง ไม่เป็นอมตะ ต้องแตกดับไปในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว) ทุกขัง (สภาวะที่ต้องทนอยู่) และ อนัตตา (ความไม่ใช่ตัวตนอมตะ) แล้วก็จำได้ แต่ก็แค่นั้น คือเราไม่ได้สนใจนำมาคิดพิจารณาอะไรให้มากกว่านี้ ถึงแม้เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อ มันก็เป็นแค่ จำได้ เท่านั้น ที่เรียกว่า สุตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดมากจาการฟัง  ซึ่งก็ไม่มีผลอะไรแก่จิตใจเลย

ถ้าเรานำเรื่องขันธ์ ๕ นี้มาพิจารณาถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาอย่างจริงจัง จนเกิดความเข้าใจถึงลักษณะความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาของร่างกายและจิตใจอย่างแจ่มแจ้ง ก็เรียกว่าเป็นการเข้าถึงธรรมะระดับความเข้าใจ หรือเรียกว่าเป็น จินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณา ซึ่งความเข้าใจนี้ก็ยังผลไม่มาก คือเพียงทำให้จิตใจของเราเริ่มปล่อยวางความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเราลงได้บ้างแล้ว และทำให้ความทุกข์ใจ หรือความเครียด ความเศร้าโศก เสียใจ ลดน้อยลงบ้างเท่านั้น

แต่ถ้าเราจะได้นำเอาความเข้าใจนี้มาเพ่งพิจารณาดูที่ร่างกายและจิตใจของเราเองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง (คือด้วยสมาธิ) ก็จะทำให้เกิดความเห็นแจ้งถึงสภาวะของความเป็นอนิจจัง ทุกขังและอนัตตาของขันธ์ ๕ ได้ (เพราะพบความจริงแล้ว) และเมื่อเกิดความเห็นแจ้งแล้ว จิตใจมันก็จะยอมรับความจริง (คือยอมรับว่าแท้จริงมันไม่มีตัวเรา และชีวิตมันก็ไม่ได้อะไร มีแต่ความว่าง) เมื่อยอมรับความจริง จิตมันก็จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเราลง (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อจิตไม่มีความยึดมั่น มันก็จะไม่เป็นทุกข์ (คือไม่มีความเศร้าโศก เสียใจ หรือเครียด เป็นต้น) เมื่อไม่มีทุกข์ มันก็สงบเย็น (นิพพาน) ซึ่งนี่คือการเข้าถึงธรรมะระดับสูงสุด คือระดับภาวณามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดมาจากการทำให้เกิดขึ้น ที่เป็นแก่นหรือหัวใจของพุทธศาสนาที่แท้จริง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่