โอ้วแม่เจ้า!! ทำกิมจิ 320 หัว@@ แบ่งปันวิธีทำกิมจิแบบออริจินัล โดย สะใภ้ไทยในเกาหลี กับเทศกาล คิมจัง

ช่วงเดือน พ.ยของทุกๆปี ถือเป็นเดือนแห่งคิมจังค่ะ   คิมจัง?? อืม  คิมจัง เป็นชื่อเรียกของ มหกรรมการทำกิมจิแห่งชาติ  ต้องถือเป็นวาระแห่งชาติ  เพราะเดินไปไหนก็เจอแต่กลิ่นกิมจิ  ร่องรอยการสร้างสรรค์กิมจิสามารถพบเห็นได้ทุกหย่อมหญ้า  ทั้งในเมือง ดาดฟ้า ลานจอดรถ ตามต่างจังหวัด  ใน รร. ตามศูนย์ราชการ ต่างนัดแนะ มาร่วมกันกิมจิกันอย่างคึกคัก คนต่างจังหวัดที่อาศัยอยู่ในเมืองก็ต่างพากันกลับบ้านเกิด เพื่อไปร่วมกิจกรรมนี้ กับญาติพี่น้อง เสมือนเป็นวันรวมญาติ ทำให้วันหยุดสุดสัปดาห์ การจราจรบนไฮเวย์ หน่าแน่นมาก ขากลับเย็นวันอาทิตย์ ลองเปิดกระจกรถ ยามรถติดบนทางด่วน ถึงขนาดได้กลิ่นกิมจิอบอวลกันเลยทีเดียว เพราะตามรถบรรทุก รถกระบะ ท้ายรถทั้งในทั้งนอกรถ  ก็ขนแต่กิมจิกันทั้งนั้น  แล้วทำไมต้องเป็นเดือนนี้?   เพราะช่วงเวลานี้ เป็นช่วงท้ายของฤดู เก็บเกี่ยว ก่อนจะเข้าสู่ฤดูหนาว  นี่คือผักล๊อตสุดท้ายก่อนจะเข้าสู่ความหนาวเย็นอันยาวนาน ซึ่งทั้งสภาพอากาศ และแรงงานคน ไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืชผักเลย   คนเกาหลีจึงจำเป็นที่ต้องตุน กิมจิเอาไว้กินตลอดฤดูจนกว่าหน้าเพาะปลูกจนวกเวียนมาบรรจบอีกครั้ง

สำหรับบ้านหมี(จขกท) ปีนี้ ทำกัน 320 หัว ทำกินกันเอง ไม่แบ่งใคร 555 เพราะเป็นครอบครัวใหญ่ สามีมีพี่น้องรวม 5 คน เลยเป็นปกติของบ้านเราที่ มักจะทำ อย่างน้อย  200-300 หัวผักกาด ต่อปี  ผักทั้งหลาย ทั้งต้นหอม หอมใหญ่ กระเทียม  หัวไชท้าว แม้แต่แต่พริกป่นก็ปลูกแล้วอบแห้งมาป่นเอง แปลงผักก็อยู่รอบๆบ้านนั้นแหล่ะ  ที่ซื้อก็มีแค่เครื่องปรุงน้ำปลาน้ำตาล แค่นั้นเอง ผักกาดตามท้องตลาดขายกันอยู่เฉลี่ยที่หัวละ 3000 วอน (90บาท) ไหนจะค่า เครื่องปรุง ผักต่างๆ พริกป่นแห้ง  อีก รวมๆก็ ตกหัวละ 200-300 บาทได้ แต่ถ้าเป็นกิมจิสำเร็จ ก็เฉลี่ยอยู่ที่  400-600บาท พูดง่ายๆคือเซฟเป็นแสนบาทต่อปีสำหรับครอบครัวของเรา    ปีนี้ แรงงานต่างด้าว ก็มีเพื่อนหมี คุณป่าน , น้องเก๋ และ  น้องชาวเนปาล รวม 3 คน มาช่วยกันทำ  มาให้หมีจิกหัวใช้  หมีสบ๊าย สบาย เดินถ่ายรูปอย่างเดียว  เพราะหมีทำมาหลายปีแล้ว  เลยอยากจะแบ่งปันประสบการณ์ให้เพื่อนๆน้องได้สัมผัสอย่างเต็มที่  ไม่ได้คิดจะอู้อะไรเลย555  เชื่อหมีนะ หมีบริสุทธิ์ใจ





พวกนางมาค้างกัน 1 คืน  คืนแรกก็เริ่มจาก คัดผักกาด ผ่ากลาง ล้างแช่เกลือ แล้วทิ้งไว้ข้ามคืน   แรงงานต่างด้าว ก็เพลิดเพลินการล้างผักกาดกันอย่างรื่นรมณ์ ท่ามกลางอากาศเย็นสบายๆ ประมาณ 2ถึง3 องศา 55555   จากนั้นก็ย้ายเข้ามาหั่นผักเตรียมทำซอส  อันนี้เข้ามาทำในบ้าน อุ่นๆ ไม่ได้ทารุณอะไร  ผักที่เตรียม ก็มีหัวไชท้าว หอมแดงสับ กระเทียม หอมใหญ่ ใบคัด ขิงซอย ต้นหอมเล็ก ต้นหอมญี่ปุ่น  หั่นเตรียมๆไว้ จริงๆ ถ้าทำจำนวนไม่เยอะ ก็ทำวันรุ่งขึ้นก็ได้  แต่บ้านหมี  เล็กๆบ้านหมีไม่   ใหญ่ๆบ้านหมีทำ ไง   ถ้ามานั่งเตรียมตอนเช้าจะเสียเวลา  เลยหั่นรอ






พอรุ่งเช้าเราล้างผักกาดให้สะอาด  บีบเบาๆให้สะเด็ดน้ำ ต้องล้างสะอาดๆจริงๆนะ เพราะไม่งั้น ผักกาดจะเค็มมาก  แล้วก็มาวางพักให้สะเด็ดน้ำ โดยจับหัวผักกาดคว่ำลง บนโต้ะเอียง      หลังจากนั้นก็มาทำซอส    ผักทั้งหลายที่เตรียมไว้น่ะ  เอามาเทใส่กะละมัง  แต่บ้านหมีใช้สระเป่าลมเด็ก55555   อ่ะ  เทรวมๆๆกันไป ปรุงรสด้วยน้ำปลา  น้ำตาลสำหรับทำกิมจิ น้ำตาลทรายเล็กน้อย แซอูจอช หรือกุ้งฝอยดองเกลือ พริกป่น  พริกชี้ฟ้าสดปั่น  สาลี่ปั่น   และน้ำแป้งเปียก (แป้งข้าวเหนียว ผสมน้ำตั้งไฟอ่อนเคี่ยว) ตัวนี้เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้กิมจิเปรี้ยว หลักการเดียวกับแหนมบ้านเรา  จากนั้นก็ ละเลง........... คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้ว ก็นำผักกาดที่สะเด็กน้ำแล้ว มาทาทีละใบ   เน้นที่โคนด้วยนะ เพราะเป็นส่วนที่ลึก หนา และแข็ง   จากนั้นก็ บรรจงเก็บใส่บรรจุภัณฑ์บ้านใครบ้านมัน    ดูเหมือนง่ายใช่มั้ยคะ คือมันไม่ยาก แต่ก็กินเวลากันค่อนวัน งานหลังแข็งก็มา งานเส้นตึงก็มี บั้นเอวนี่ยึดยอกกันสุดๆ ก็เลยต้งอเป็นหน้าที่คุณสามี ที่ จะต้องบริการหลังการขายกดจุดคลายเส้นให้คุณเมียค่ะ  เสร็จแล้วซอสที่เหลือ  ตามประเพณีนิยม เจ้าบ้านก็จะเตรียมหมู 3 ชั้นต้มเอาไว้  ทานคู่กับกิมจิสดนี่ มันฟีจเจอริ่งกันได้อย่างลงตัว











กิมจิที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทิ้งไว้ข้างนอกก่อนสักคืนนะ ก่อนจะเข้าตู้เย็น  ให้เวลากิมจิมันเปรี้ยวหน่อย ถ้าทำที่ไทยก็คงไว เพราะอากาศร้อน  ถ้าเก็บเข้าตู้เย็นแล้ว  ความเย็นจะทำให้รสเปรี้ยวเพิ่มแค่ทีละน้อย   แต่ถ้าเก็บข้ามปีก็จะเปรี้ยวมาก อาจจะมากเกินไป    ฉะนั้นที่เกาหลี เค้าจะมีตู้เย็นสำหรับกิมจิโดยเฉพาะ ซึ่งอุณหภูมิจะรักษา รสชาติและคุณภาพของกิมจิได้เยี่ยมยอด มีหลายไซส์หลายแบบ   แบบคล้ายๆตู้ไอติมบ้านเราก็เริ่มที่ หมื่นกว่าบาท แต่รุ่นใหม่ๆ ก็ ราคาตั้งแต่ 4-5หมื่น จนไปถึง แสนกว่าบาทค่ะ


สำหรับบ้านหมีก็แบ่งกันไป 6 บ้าน คือ บ้านพี่น้องสามี รวม  5 บ้าน และ บ้านแม่ย่าเองนั่นแหล่ะ    แต่ก็อย่างว่า ด้วยความที่มันเยอะจริงๆ  บ้านแม่ย่าเลยต้องอาศัยตู้เย็นแบบโบราณ  ที่สืบทอดกันมา  เนื่องจากสมัยก่อน ก่อนที่นวัตกรรม เครื่องเย็นจะถูกค้นพบ   คนเกาหลี ก็เลยต้องพึ่งพาภูมิปัญญาชาวบ้าน โดย ชุดหลุมฝังโอ่งไว้ใต้ดิน     ด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็น และหิมะลงประปราย ประกอบกับอุณหภูมิใต้ดิน  ทำให้กิมจิ มีรสชาติอร่อยเลิศ เลอค่า  ( ในรูปเอามาจากเนตนะคะ เพราะบ้านหมีขุดไว้หลายปีแล้ว  เลยไม่มีภาพมาให้ดู หมีไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์)



ก็ผ่านพ้นไปด้วยดีนะคะสำหรับปีนี้   เสร็จไวเป็นพิเศษ เพราะพลังเพื่อนๆทั้งหลาย   ตอนจะแยกย้าย  หมีถามว่า อยากกินไรจะเลี้ยง   พวกนางบอก  อยากกินน้ำมันมวย  กับยาคลายเส้นค่ะ  แหมๆ กินง๊าย ง่าย   แต่ปีหน้าพวกนางก็จะมาอีกนะ   เพื่อนหมี ถึกทุกคนค่ะ

ติดตามเรื่องราวของเกาหลี เล่าสู่กันฟัง ปากสะใภ้ไทยในเกาหลีเอง แบบมีสาระและไม่มีสาระ ขำๆฮาๆมันส์ กันต่อได้ที่  เพจ "สะใภ้เกาหมี" ได้ในเฟสบุคนะคะ  หมี นะคะ หมี แล้วพบกันใหม่ตอนต่อไปค่ะ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่