ก่อนตั้งกระทู้ใดๆควรระวัง!!!

การโพสต์ความคิดเห็นที่เข้าข่าย หมิ่นประมาท
เครดิต
http://ppantip.com/about/defamation


การโพสต์ข้อความในอินเทอร์เน็ต ไม่ว่า ผู้โพสต์จะเป็น "ผู้ใด" หากทำให้ "ผู้อื่น" เสียหาย ก็เป็นความผิดตามกฎหมายได้

คำแนะนำเกี่ยวกับการโพสต์แสดงความคิดเห็นที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท

การโพสต์แสดงความคิดเห็นพาดพิงถึงบุคคลอื่นบนเว็บไซต์โดยไม่ระวัง อาจทำให้ท่านได้รับความเดือดร้อนโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเท่าที่ผ่านมา มีสมาชิกหลายๆท่าน ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยไม่ทันตั้งตัวเนื่องจากโพสต์แสดงความคิดเห็นในลักษณะนี้ อาทิ

นาย ก. สั่งซื้อของทางอินเทอร์เน็ตแล้วไม่ได้รับสินค้า เลยโพสต์ด่าหาว่าคนขายโกงเงิน, คนขายขี้โกง เป็นต้น
นาง ข. ด่าผู้อื่นว่ารับสินบน, โกงกิน, รับส่วยใต้โต๊ะ, ประพฤติตนไม่สุจริต เป็นต้น
นาย ค. หรือ นาง ง. ด่าว่าคู่สมรสว่ามีชู้หรือมีเมียน้อย, ด่าว่าขายบริการทางเพศ เป็นต้น
นาย จ. โพสต์แสดงความคิดเห็นในแง่ร้ายด่า นาง ฉ. แม้ว่าไม่ได้ใส่ชื่อ นาง ฉ. ลงไปตรงๆ ถ้ามีผู้ใดเข้ามาอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ว่า ข้อความดังกล่าวหมายถึง นาง ฉ. ก็เป็นความผิดได้ เป็นต้น


ยอมเสียเวลาสักนิด เพื่อ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทในอินเทอร์เน็ต ดีกว่า

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือ ถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียงบันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท”
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 “ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหาย แก่ชื่อเสียง หรือ เกียรติคุณ ของบุคคลอื่น ก็ดี หรือ เป็นที่เสียหาย แก่ทางทำมาหาได้ หรือ ทางเจริญของเขา โดยประการอื่น ก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหาย อย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้ ผู้ใด ส่งข่าวสาร อันตนมิได้รู้ว่า เป็นความไม่จริง หากว่า ตนเอง หรือ ผู้รับข่าวสารนั้น มีทางได้เสีย โดยชอบ ในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่า เพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้น หาทำให้ผู้นั้น ต้องรับผิด ใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”
ดังนั้นการโพสต์ข้อความในอินเทอร์เน็ต ไม่ว่า คนโพสต์จะเป็น "ผู้ใด" หากทำให้คนอื่นเสียหาย ก็เป็นความผิดตามกฎหมายได้ เนื่องจากการ หมิ่นประมาทถ้าได้โพสต์หรือกล่าวพาดพิง ถึงใครให้คนอื่นฟัง ก็ถือเป็นการ "ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม" ถ้าข้อความที่โพสต์ ทำให้ผู้อ่านรู้สึก ไม่ดีกับผู้ที่ถูกกล่าวพาดพิงย่อมเป็นการโพสต์หรือกล่าวที่อาจเข้าข่าย "โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง" ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายได้ และเมื่อได้โพสต์ในอินเทอร์เน็ต ถือเป็นการ "หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา" ซึ่งโทษหนักกว่า ตัวอย่างเช่น

นาย A โพสต์ด่า นาง B ว่าเป็นเมียน้อย (ฎ.472/2540)
นาย C ด่านาง D ว่าเป็น ยิ้ม มีผัวมาแล้วหลายคน (ฎ.621/2518)
นาง E ด่านาย F ว่าบ้ากาม หมายถึงเป็นคนมักมากในกามคุณผิดวิสัยบุคคลทั่วไป (ฎ.782/2524)
นาง G ด่านาย H ว่ากินสินบน (ฎ.2296/2514) เป็นต้น
สรุปได้ว่าการโพสต์ข้อความละเมิดผู้อื่นบนเว็บไซต์สามารถเข้าข่ายมีความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ ผู้โพสต์จึงอาจเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดีทางศาล และถูกตัดสินให้ต้องรับผิดตามการพิจารณาของศาลได้

"อย่างไรก็ตามบางครั้งเมื่อท่านพบกับความไม่เป็นธรรม กฎหมายก็ไม่ได้ปิดปากท่านเสียทีเดียว" หากผู้โพสต์พิสูจน์ว่าการที่ตนได้โพสต์พาดพิงผู้อื่นเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมนั้น เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย ดังนี้ ข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 การจะพิสูจน์เรื่องข้อยกเว้นนั้น จะต้องเข้าเงื่อนไข 2 ประการ ด้วยกัน คือ ต้องเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต คือ ต้องเป็นการพูดหรือโพสต์ที่เกิดจากการที่ตนได้ประสบพบเจอ เหตุการณ์นั้นๆโดยตรงและ ต้องเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ด้วย

เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน ตามคลองธรรม เช่น
การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตคือเชื่อว่าเป็นจริง แม้จะเข้าใจผิดก็ได้รับความคุ้มครอง (ฎ.770/2526)
การแจ้งความตามสิทธิหรือแสดงความเห็นเมื่อเจ้าพนักงานถามโดยสุจริต ย่อมไม่เป็นหมิ่นประมาท (ฎ.370/2520)
การกล่าวตามความคิดของตน โดยเชื่อว่าเป็นความจริงเพื่อป้องกันส่วนได้เสียของตน (ฎ.1972/2517)
หากไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตแต่มุ่งใส่ร้ายเป็นส่วนตัว ไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329(1) (ฎ.1203/2520)
พูดในลักษณะที่เป็นการประจาน จะยกเหตุเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนตามคลองธรรมขึ้นปฏิเสธความผิดไม่ได้ (ฎ.3725/2538)
ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ กรณีนี้ ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องของส่วนรวมที่ประชาชนชอบที่จะติชมได้ เช่น เรื่อง ศาสนา เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของราชการ เป็นต้น
ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330
การที่จำเลยจะนำสืบเพื่อพิสูจน์ความจริงได้นั้น กฎหมายได้จำกัดมิให้ใช้สิทธิในการพิสูจน์ไว้ ถ้าเข้ากรณี ดังนี้

ถ้าข้อความที่หาว่าหมิ่นประมาทนั้น เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และ
การพิสูจน์ความจริงนั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
แต่ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนเสียก่อนว่า เมื่อเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายแล้วจะไม่เป็นการหมิ่นประมาทและจะไม่โดน ฟ้องร้องนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะ การที่จะพิสูจน์ว่าสิ่งที่ตนโพสต์นั้น เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ ในชั้นศาล ซึ่งเป็นเรื่องหลังจากที่ตนถูกฟ้องร้องไปแล้ว

การโพสต์ข้อความบนอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ท่านจะไม่มีตัวตนและไม่สามารถตามตัวท่านได้ เมื่อมีการโพสต์ข้อความอันเข้าข่ายหมิ่นประมาท ตามกฎหมาย หากพนักงานเจ้าหน้าที่ ของรัฐร้องขอข้อมูลของสมาชิกหรือไอพีแอดเดรส ที่โพสต์ข้อความดังกล่าว ทางเว็บไซต์ มีความจำเป็น ที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เนื่องจาก พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 18(2), (3) กำหนดหน้าที่ดังกล่าวเอาไว้ ดังนี้

มาตรา 18 “ภายใต้บังคับมาตรา 19 เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการ กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มี อำนาจอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด และหาตัวผู้กระทำความผิด...

(2) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร ผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง
(3) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการที่ต้องเก็บตามมาตรา 26 หรือ ที่อยู่ในความครอบครองหรือ ควบคุมให้แก่พนักงาน เจ้าหน้าที่ี่ ...”
โปรด ระมัดระวังในการโพสต์แสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่ตัวท่านเอง
คำแนะนำนี้ เป็นเพียงรายละเอียดเบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถใช้ในการอ้างอิงได้ หากต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถหาอ่านได้จาก หนังสือกฎหมาย หรือเว็บไซต์ต่างๆได้ อาทิ

“สมศักดิ์ เอี่ยมพลับใหญ่ และ ทนงศักดิ์ ดุลยกาญจน์, “หมิ่นประมาทและดูหมิ่น”, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2549)”
“หยุด แสงอุทัย, “กฎหมายอาญา ภาค 2-3”, คำสอนปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 5, (กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2520)”
“จิตติ ติงศภัทิย์, “คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2ตอนที่ 2 และภาค 3”, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพมหานคร: สำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา), 2524”
https://report.thaihotline.org/InternetLaw.php?act=sh&l=&Id=MQ==
http://vdowww.dek-d.com/board/view.php?id=1178497
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่