[พระไตรปิฏก]ญาณในธรรมอันเป็นอันตราย และเป็นอุปการะแก่สมาธิ

ญาณในธรรมอันเป็นอันตราย และเป็นอุปการะแก่สมาธิ
(พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๓๑)

ญาณในธรรมอันเป็นอันตราย ๘ และญาณในธรรมอันเป็นอุปการะ ๘ เป็นไฉนฯ

(๑) กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) เป็นอันตรายแก่สมาธิ เนกขัมมะ (การหลีกออกจากกาม) เป็นอุปการะแก่สมาธิ

(๒) พยาบาท (ความคิดร้าย) เป็นอันตรายแก่สมาธิ ความไม่พยาบาท เป็นอุปการะแก่สมาธิ

(๓) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่อมซึม) เป็นอันตรายแก่สมาธิ อาโลกสัญญา (ความหมายรู้แสงสว่าง) เป็นอุปการะแก่สมาธิ

(๔) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) เป็นอันตรายแก่สมาธิ ความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นอุปการะแก่สมาธิ

(๕) วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) เป็นอันตรายแก่สมาธิ ความกำหนดธรรม เป็นอุปการะแก่สมาธิ

(๖) อวิชชา (ความไม่รู้แจ้ง) เป็นอันตรายแก่สมาธิ ญาณ (ความรู้) เป็นอุปการะแก่สมาธิ

(๗) อรติ(ความไม่ยินดี) เป็นอันตรายแก่สมาธิ
ความปราโมทย์ เป็นอุปการะแก่สมาธิ

(๘) อกุศลธรรมแม้ทั้งปวง เป็นอันตรายแก่สมาธิ
กุศลธรรมทั้งปวง เป็นอุปการะแก่สมาธิ

ญาณในธรรมอันเป็นอันตราย ๘ และญาณในธรรมเป็นอุปการะ ๘ เหล่านี้ จิตอันฟุ้งซ่านและจิตสงบระงับ “ย่อมดำรงอยู่ในความเป็นธรรมอย่างเดียว” และ “ย่อมหมดจดจากนิวรณ์” ด้วยอาการ ๑๖ เหล่านี้ ฯ

ความเป็นธรรมอย่างเดียวเหล่านั้น เป็นไฉน ฯ
เนกขัมมะ ความไม่พยาบาท อาโลกสัญญา ความไม่ฟุ้งซ่าน ความกำหนดธรรม ญาณ ความปราโมทย์ กุศลธรรมทั้งปวง เป็นธรรมอย่างเดียว(แต่ละอย่าง) ฯ

นิวรณ์นั้น เป็นไฉน
กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา อวิชชา อรติ อกุศลธรรมทั้งปวง เป็นนิวรณ์ (แต่ละอย่าง) ฯ

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๓๑
สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
หน้าที่ ๑๓๑ ข้อที่ ๓๖๒ - ๓๖๕



ขอความกรุณา
**ห้ามทะเลาะขัดแย้ง หรือ วิพากษ์วิจารณ์ในความเห็นของสมาชิกท่านอื่นแง่ลบ แต่สามารถออกความเห็นที่แตกต่างได้
   ห้ามไม่ใช้คำส่อเสียดประกอบความเห็น หรือ มีการโต้เถียงไปมาเกินความจำเป็น  

**งดเว้นการพูดถึงการปฏิบัติธรรมของ สาย ธรรมกาย,สันติอโศก
จขกทขออนุญาต ลบคอมเม้นที่มีพฤติกรรมดังกล่าว
เพื่อไม่ให้ขัดกับเจตนา ที่จขกท ตั้งกระทู้ เพื่อให้ทุกท่าน ได้พิจารณาธรรมค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่