การสร้างบุญเป็นการฝังขุมทรัพย์ไว้ในตนไม่มีใครลักเอาไปได้

"นอบน้อมแด่ พุทธ ธรรม สงฆ์ อันเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า"
**********
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต


    นิธิกัณฑ์ในขุททกปาฐะ
             [๙]   บุรุษย่อมฝังขุมทรัพย์ไว้ในน้ำลึกด้วยคิดว่า เมื่อกิจที่เป็น
 ประโยชน์เกิดขึ้น ทรัพย์นี้จักเป็นประโยชน์แก่เรา เพื่อเปลื้องการประทุษร้ายจากพระราชาบ้าง ความบีบคั้นจากโจรบ้าง เพื่อเปลื้องหนี้สินบ้าง ทุพภิกขภัยบ้าง ในคราวเกิดอันตรายบ้าง ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้ในโลกเพื่อประโยชน์นี้แล
       ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้เป็นอย่างดี ในน้ำลึกเพียงนั้น ขุมทรัพย์
นั้นทั้งหมด ย่อมหาสำเร็จประโยชน์แก่เขาในกาลทั้งปวงทีเดียวไม่ เพราะขุมทรัพย์เคลื่อนจากที่เสียบ้าง ความจำของเขาย่อมหลงลืมเสียบ้าง นาคทั้งหลายลักไปเสียบ้าง ยักษ์ทั้งหลายลักไปเสียบ้าง ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักขุดเอาไปเมื่อ
เขาไม่เห็นบ้าง เมื่อใดเขาสิ้นบุญ เมื่อนั้นขุมทรัพย์ทั้งหมดนั้นย่อมพินาศไป ขุมทรัพย์คือบุญ เป็นขุมทรัพย์อันผู้ใดเป็นหญิงก็ตาม เป็นชายก็ตาม ฝังไว้ดีแล้วด้วยทาน ศีลความสำรวม และความฝึกตน ในเจดีย์ก็ดี ในสงฆ์ก็ดี ในบุคคลก็ดี
ในแขกก็ดี ในมารดาก็ดี ในบิดาก็ดี ในพี่ชายก็ดี ขุมทรัพย์นั้นชื่อว่าอันผู้นั้นฝังไว้ดีแล้ว ใครๆ ไม่อาจผจญได้ เป็นของติดตามตนไป บรรดาโภคะทั้งหลายเมื่อเขาจำต้องละไป
เขาย่อมพาขุมทรัพย์คือบุญนั้นไป ขุมทรัพย์คือบุญ ไม่สาธารณะแก่ชนเหล่าอื่น โจรลักไปไม่ได้ บุญนิธิอันใดติดตนไปได้ ปราชญ์พึงทำบุญนิธิอันนั้น บุญนิธินี้ให้สมบัติที่พึงใคร่ทั้งปวงแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์
ทั้งหลายปรารถนานักซึ่งผลใดๆ ผลนั้นๆ ทั้งหมด อันเทวดา และมนุษย์เหล่านั้นย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้ ความเป็นผู้มีผิว พรรณงาม ความเป็นผู้มีเสียงไพเราะ ความเป็นผู้มีทรวดทรงดี ความเป็นผู้มีรูปสวย ความเป็นอธิบดี ความเป็นผู้มีบริวาร อิฐผลทั้งปวงนั้น อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้ ความเป็นพระราชาประเทศราช ความเป็นใหญ่ สุขของพระเจ้าจักรพรรดิอันเป็นที่รัก แม้ความเป็นพระราชาแห่งเทวดาในทิพกาย อิฐผลทั้งปวงนั้น อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้ มนุษยสมบัติ ความยินดีในเทวโลกและนิพพานสมบัติ อิฐผลทั้งปวงนี้ เทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้ ความที่พระโยคาวจร ถ้าเมื่ออาศัยคุณเครื่องถึงพร้อมคือมิตร แล้วประกอบอยู่โดยอุบายอันแยบคายไซร้ เป็นผู้มีความชำนาญในวิชชาและวิมุตติ อิฐผลทั้งปวงนี้ อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้ ปฏิสัมภิทาวิโมกข์ สาวกบารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และพุทธภูมิอิฐผลทั้งปวงนี้ อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้คุณเครื่องถึงพร้อมคือบุญนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์มากอย่างนี้เพราะเหตุนั้น บัณฑิตผู้มีปัญญาจึงสรรเสริญความที่บุคคลมีบุญอันทำไว้แล้ว ฯ
             ...จบนิธิกัณฑ์...
https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=25&A=195

อรรถกถา
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=9
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่