สภาทนายความ กรุณาอย่าตีความเข้าข้างกลุ่มนอกกฎหมาย

ได้อ่านแถลงการณ์ของสภาทนายความแห่งประเทศไทย 5 ข้อเกี่ยวกับประเด็นทางข้อกฎหมายที่กำลังถกเถียงอยู่ในขณะนี้ จึงส่งความเห็นมาให้กลุ่มผู้บริหารของสภาทนายความ ฯ ได้กรุณาอ่าน เพื่อจะได้รู้ว่า ท่านควรทำสิ่งไหนจึงจะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง
..................................................................................................................................................
เรียน  สภาทนายความแห่งประเทศไทย
              ตามที่องค์กรแห่งวิชาชีพด้านกฎหมาย สภาทนายความแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 9/2557  วิพากษ์วิจารณ์ และให้ความเห็นทางข้อกฎหมายในภาวะที่สังคมกำลังมีความแตกร้าว  ซึ่งส่อไปในทางที่เอนเอียงไปทางกลุ่มนอกกฎหมายที่กำลังประพฤติปฏิบัติอยู่ในขณะนี้
               สภาทนายความแห่งประเทศไทย มีสมาชิกซึ่งล้วนเป็นทนายความที่มีความรู้ความสามารถทางกฎหมาย ซึ่งจะต้องเคยผ่านมางานว่าในคดีต่อศาลต่างๆ มากมาก หลายคดีก็จะยุติลงไปเมื่อพบว่าคดีขาดอายุความ ฟ้องผิดศาล ฯลฯ ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้นในการตรวจสอบว่าสมควรที่จะดำเนินการฟ้อง ต่อสู้ในคดี ต่อไปหรือไม่ ซึ่งทนายความส่วนใหญ่จะทราบดีว่า ในคดีอาญาก็จะต้องอ้างอิงประมวลวิธีพิจารณาความอาญา  ในคดีแพ่งก็ต้องยึดหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  คดีที่เกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง การละเมิดทางปกครอง สัญญาไม่เป็นธรรมต่างๆ ก็ต้องร้องไปที่ศาลปกครอง โดยมีพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาของสาลปกครองและการจัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ.2542   และในคดีที่ต้องมีการวินิจฉัยว่า กฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
                 เช่นเดียวกันกับที่สภาทนายความออกแถลงการณ์โดยการพยายามให้ความหมาย ตีความ ในข้อกฎหมายต่าง จำนวน  5 เรื่อง ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ปุถุชนทั่วไปมองออกว่า เป็นความพยายามที่จะตีความเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกลุ่มนอกกฎหมาย ซึ่งแม้จะมีข้อโต้แย้งในประเด็นที่สภาทนายความอ้างมาได้ทั้งหมดก็ตาม  แต่ก่อนที่จะพิจารณาในประเด็นทางการเมืองที่มีข้อกฎหมายมาให้แต่ละฝ่ายตีความเพื่อให้เข้ากับฝ่ายตนเองนั้น  สภาทนายความควรจะต้องพิจารณาเรื่องอำนาจในการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่มีความสำคัญที่สังคมมีความสงสัย แล้วออกแถลงการณ์ชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ  ก่อนที่จะมีการตีความตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา ดังนี้  
1.    ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจวินิจฉัยคดีต่างๆหรือไม่  เพราะ มาตรา 216 วรรค 6 บัญญัติว่า “วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ”
2.    ข้อเท็จจริงในขณะนี้คือ นับถึงปัจจุบัน ยังไม่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่บทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  ซึ่งหากจะอ้างว่า สภาไม่ยอมออกกฎหมายฉบับนี้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องตรวจสอบว่า ควรเป็นหน้าที่ของสภาชุดใด ทำไมจึงยังไม่สามารถตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกมาได้ และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนใด ฯลฯ
3.    บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญได้กำหนดในมาตรา 300  วรรค 5 ว่า “ในระหว่างที่ยังมิได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ  ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาได้  แต่ทั้งนี้  ต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าว เป็นการกำหนดระยะเวลาที่บังคับให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับที่ปรากฏในมาตราอื่น  หาใช่จะเป็นเพียงบทเร่งรัดไม่
4.    ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงข้อกฎหมายตามข้อ 1 ถึง  3 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนับแต่ปี  2551 จึงมีผลตามกฎหมายหรือไม่
                    สภาทนายความควรที่จะประเด็นนี้มาพิจารณาความชอบธรรมของการใช้กฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมาอธิบายในสิ่งที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา จึงขอเรียกร้องให้สภาทนายความแสดงความเห็นในฐานะองค์กรวิชาชีพทางกฎหมายให้ประจักษ์ โดยเฉพาะคำถามในข้อ 4  
                   สภาทนายความแห่งประเทศไทย ไม่ควรแสดงความเห็นทางกฎหมายโดยขาดหลักยึดของกฎหมายหรือเพียงเพื่อต้องการให้สอดคล้องกับกลุ่มนอกกฎหมายเท่านั้น  ทั้งการแถงการณ์ในนามสภาทนายความแห่งประเทศไทย ล้วนทำในนามขององค์กรที่มีสมาชิกเป็นนักกฎหมาย  ซึ่งเขาเหล่านี้ก็หาใช่จะคิดเห็นเช่นเดียวกับคณะผู้บริหารของสภาทนายความแห่งประเทศไทยไม่   จึงขอให้สภาทนายความแห่งประเทศไทยจงพิจารณาประเด็นที่ประชาชนส่วนใหญ่กำลังกังขาและแถลงออกมาให้เป็นทางการ  และควรหยุดยั้งการออกแถลงการณ์ที่สุ่มเสี่ยงเข้าด้วยกับกลุ่มนอกกฎหมายด้วย
                                                       กลุ่มประชาชนผู้รักความยุติธรรม
                                                               10  พฤษภาคม  2557
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่