ถ้าตุลาการอยู่เหนือกฎหมาย ทำลายหลักนิติรัฐเสียเอง ....สภาพที่เลวร้ายยิ่งกว่า "นักการเมืองชั่ว"

ประชาธิปไตย ไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง พูดกี่ครั้งก็ถูกต้อง ประชาธิปไตยยังมีหลักประกันเสรีภาพในการแสดง ออก หลักสิทธิมนุษยชน หลักความเสมอภาค "เห็นคนเท่ากัน" เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่เหยียดเพศ ไม่ใช้ Hate Speech ปลุกความเกลียดชัง ไม่เรียกหากฎอัยการศึกฆ่าฟันคนเห็นต่าง

ประชาธิปไตยยังมี หลักนิติรัฐ การปกครองด้วยกฎหมาย ผู้มีอำนาจไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจ ต้องอยู่ภายใต้กฎกติกา เราจึงมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และมีการแยกอำนาจ 3 ฝ่ายถ่วงดุลกัน

อำนาจตุลาการมีไว้ถ่วงดุลฝ่ายบริหารและ นิติบัญญัติ ไม่ให้ใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่อำนาจตุลาการต้องใช้อย่างเคร่งครัด เที่ยงธรรม ใช้อย่างจำกัด มีมาตรฐานเดียว ไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งยังต้องถูกตรวจสอบและถ่วงดุลได้เช่นกัน

ตุลาการ จึงต้องถูกควบคุมด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย ที่ต้องใช้และตีความอย่างเคร่งครัด จะตีความ "และ" เป็น "หรือ" ไม่ได้ "สุกเอาเผากิน" ไม่ได้ ทั้งยังถูกจำกัดด้วยวิธีพิจารณา เขตอำนาจ อำนาจฟ้อง ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ใช่ขยายอำนาจตามใจตัว

"นิติรัฐ" จึงไม่ได้แปลว่าระบอบศาลเป็นใหญ่ หรือศาลรัฐธรรมนูญอยู่เหนือทุกอำนาจ อย่างที่ถาวร เสนเนียม อ้าง เพราะตุลาการก็ต้องอยู่ใต้กฎหมายเช่นกัน

ถ้าตุลาการอยู่เหนือกฎหมาย ทำลายหลักนิติรัฐเสียเอง บ้านเมืองก็ไม่มีหลักยึด เป็นสภาพที่เลวร้ายยิ่งกว่า "นักการเมืองชั่ว" เพราะศาลมีอำนาจชี้ขาด เป็นที่สุด และเป็นบรรทัดฐาน

คน 2 คนชกกัน มันจะเล่นสกปรก ชกใต้เข็มขัดยังไง ก็ไม่เลวร้ายเท่ากรรมการเอียงเหมือนหอเอนเมืองปิซ่า แล้วอ้างว่าเข้าข้างประชาชน เข้าข้างความถูกต้อง ทั้งที่มีหน้าที่ต้องเป็นกลาง ต้องตัดสินตรงไปตรงมา

ถ้าศาล ไม่สามารถเป็นที่พึ่ง กรรมการไม่เป็นกลาง กรรมการเป็นกรรมโกง สิ่งที่ตามมาก็คือบ้านเมืองลุกเป็นไฟ เพราะไม่มีอะไรทำให้ผู้คนโกรธแค้นได้เท่าความ อยุติธรรม

มนุษย์ อาจไม่ต่างจากสัตว์ตรงที่ต้องหาอาหารให้ปากท้อง แต่มนุษย์เหนือกว่าสัตว์ตรงที่รู้สึกว่าตัวเองมีศักดิ์ศรี ที่ยอมให้เหยียบย่ำไม่ได้ ถึงตายก็ไม่ยอม

ผู้คนที่ "ไร้การศึกษา" อาจตีความภาษากฎหมายไม่ได้ แต่ความยุติธรรมนั้นประจักษ์ในหัวใจคน ความถูกต้อง มีเหตุผล มีหลักตรรกะ เห็นได้โดยสามัญสำนึก

มีอย่างที่ไหน การเลือกตั้งที่ประชาชนไปใช้สิทธิ 20 กว่าล้านเสียง กลับถูกล้มไปเพราะคนไม่กี่คนขัดขวางการเลือกตั้ง

ศาล ตัดสินอย่างไร อธิบายภาษากฎหมายอย่างไร ความจริงที่ประจักษ์ทั่วไปคือ ผู้กระทำผิดกฎหมาย ผู้ไม่เคารพกฎกติกา เป็นฝ่ายได้ประโยชน์ และได้ใจ ผู้ไปใช้สิทธิโดยสุจริตกลับเสียหาย เสียสิทธิ ทั้งที่ฟันฝ่าไปเลือกตั้ง บ้างต้องปีนป่าย บ้างถูกบีบคอ แต่สิทธิที่ใช้กลายเป็นศูนย์

ไม่ นับผู้สมัครพันกว่าคน และ 53 พรรคการเมืองที่ต้องเสียค่าสมัคร เสียค่าใช้จ่าย แต่ฝ่ายบอยคอตเลือกตั้ง ยุยง ให้ขัดขวางการเลือกตั้ง นั่งหัวเราะเยาะ

ผลที่เกิดจากคำวินิจฉัยของศาล ทำให้ผู้ทำความผิดตีความอย่างได้ใจ รัฐบาล กกต.ไม่สามารถจัดเลือกตั้งใหม่ เพราะผู้ทำความผิดอาศัยบรรทัดฐานจากคำวินิจฉัย ขอเพียงขัดขวางไม่ให้มีผู้สมัคร ก็ล้มเลือกตั้งได้

อ้อ โดยอาศัยบรรทัดฐานอีกข้อ ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ผิดมาตรา 68

ความ คับแค้นที่เกิดจากการเห็นคนทำผิดลอยนวล ได้ใจ ขึ้นมาขี่คอคนทำถูก จึงพลุ่งพล่าน รุนแรง กว้างขวาง อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ซ้ำยังปิดทางเจรจาอย่างสันติ เพราะม็อบถืออำนาจล้มเลือกตั้งไว้ในมือ เหิมเกริมได้ ไม่ต้องเจรจา กับใคร

ทิศทางที่ความขัดแย้งจะ เคลื่อนไป จึงเห็นแต่ความรุนแรงและแตกหัก ยิ่งถ้าใช้อำนาจตุลาการ หรือองค์กรอิสระ เข้ามาตัดสินการเมือง ไปสู่อำนาจที่ไม่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ความโกรธแค้นยิ่งลุกฮือ

ความ ขัดแย้งทางการเมืองจะต่อสู้ฟาดฟันกันอย่างไร เล่นสกปรก ชกใต้เข็มขัด ฯลฯ ถ้ายังมีอำนาจที่เป็นกลาง เป็นหลัก เป็นที่พึ่ง ก็ยังรักษาขื่อแปของบ้านเมืองไว้ได้ ใครแพ้ ใครชนะ ความถูกต้อง ความยุติธรรม ยังธำรงอยู่

แต่ถ้าความเชื่อมั่นในความ ยุติธรรมล่มสลาย ไม่เหลือใครเป็นหลัก เป็นกลาง เป็นผู้ตัดสิน ที่ทุกฝ่ายยอมรับ การต่อสู้เอาแพ้เอาชนะก็จะรุนแรง ไม่มีขีดจำกัด ไม่เหลือ กฎกติกา และไม่ว่าใครแพ้ ใครชนะ ก็เหลือแต่ซากปรัก หักพัง

ที่มา ข่าวสดออนไลน์
"นิติรัฐล่มสลาย" โดย ใบตองแห้ง



สมบูรณ์อยู่แล้วในบทความของใบตองแห้ง    และขอเสริมด้วยว่า   "ไม่ต่างจากโจรเผด็จการ "
ไม่คาดหวังเลยว่าจะมีใครในกลุ่มนั้นจะรู้สึก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่