Wall Street Journal เตือนศาลไทย ใช้ตุลาการภิวัตน์ เจอโค่นล้ม



วอลสตรีทเจอร์นัลชี้ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีประวัติเล่นเล่ห์ เตือนหากประกาศการเลือกตั้งเป็นโมฆะอีกรอบ เท่ากับเอาใจเด็กนิสัยเสียอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ประชาชนจะมองเป็นเครื่องมือเผด็จการที่ต้องโค่นล้ม

หนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล ตีพิมพ์บทบรรณาการในฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เรื่อง "Thailand votes for democracy : A judicial coup would reward the Democrats for bad behavior" มีใจความสดุดีประชาชนชาวไทยที่กล้าออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง พร้อมกับเตือนศาลไทย ระวังถูกประชาชนโค่นล้ม หากทำรัฐประหารโดยตุลาการ



"นับเป็นภาพน่าประทับใจ เพราะคนเหล่านั้นไม่รู้ว่าตัวเองจะถูกทำร้ายร่างกายหรือไม่ แม้แต่คนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลก็ไม่สนใจวาทะต่อต้านประชาธิปไตยของพรรคฝ่ายค้าน และออกไปกาบัตรในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตยของตน" เดอะ เจอร์นัล กล่าวยกย่องผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์

บทบรรณาธิการ เรื่อง "ประเทศไทยออกเสียงเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย : รัฐประหารโดยตุลาการเป็นการตกรางวัลแก่พรรคประชาธิปัตย์ที่ทำพฤติกรรมเลว"  ชิ้นนี้ บอกว่า แม้ยังไม่มีการประกาศคะแนน แต่ผลการเลือกตั้งก็แทบไม่ต้องสงสัยว่าพรรคไหนจะชนะ ไม่เคยมีข้อแคลงใจในเรื่องนี้ เหล่าแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ยอมรับว่า ไม่มีโอกาสชนะ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่พวกเขาบอยคอตการเลือกตั้ง

พรรคประชาธิปัตย์ประกาศที่จะต่อสู้นอกหนทางประชาธิปไตย วิธีการใช้ฝูงชนได้ล้มเหลวไปแล้ว ผู้ร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลลดจำนวนลง กว่าสภาจะเปิดได้ต้องรอการเลือกตั้งเพิ่มเติม ประชาธิปัตย์จึงหันไปใช้ช่องทางกฎหมายที่จะโค่นนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และผู้สนับสนุนพี่ชายของเธอ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

"ศาลรัฐธรรมนูญมีประวัติอันยาวนาน ใช้หัวแม่โป้งกดตาชั่งทางการเมือง เคยประกาศการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 ซึ่งพรรคฝ่ายค้านพรรคนี้บอยคอต ให้กลายเป็นโมฆะมาแล้ว ด้วยเหตุผลว่า หันคูหาผิดทิศทาง" บทบรรณาธิการระบุ

เดอะ เจอร์นัล บอกว่า คำว่า "รัฐประหารโดยตุลาการ" เริ่มเกิดขึ้นในเมืองไทยเมื่อปี 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้ล้มรัฐบาลที่สนับสนุนทักษิณ 2 ชุด สั่งยุบพรรค และตัดสิทธิ์ทางการเมืองของส.ส. จากนั้น ประชาธิปัตย์ก็ปกครองประเทศอยู่นาน 3 ปี ก่อนที่การเลือกตั้งในปี 2554 จะส่งพรรคที่สนับสนุนทักษิณกลับเข้าครองอำนาจอีก

"กองทัพกับชนชั้นนำอภิสิทธิ์ชน ได้เพิ่มอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญอย่างล้นหลามในรัฐธรรมนูญปี 2550 ฉบับหลังรัฐประหาร เวลานี้ ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, และสถาบันอื่นๆซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำหน้าที่เป็นฝ่ายต่อต้านทักษิณ เพราะเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถฉีกทิ้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ส่งผลให้ศาลแห่งนี้มีอำนาจเกือบถึงขั้นสัมบูรณ์"


@  ประชาชนที่ไม่สามารถออกเสียงเลือกตั้งได้ เพราะถูกผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลขัดขวาง พากันชูบัตรประชาชน เรียกร้องที่จะลงคะแนน ในกรุงเทพ เมื่อวันอาทิตย์

อย่างไรก็ดี วอลสตรีท เจอร์นัล เตือนว่า หากศาลรัฐธรรมนูญกับป.ป.ช.ใช้อำนาจโค่นนางสาวยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย ความล่มสลายของสถาบันเหล่านี้จักมาถึงแน่นอน การรัฐประหารโดยตุลาการในปี 2557 จะตอกย้ำทัศนะของประชาชนที่ว่า สถาบันเหล่านี้ไม่ใช่กลไกตรวจสอบฝ่ายบริหารอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเครื่องมือของเผด็จการ

"ชาวชนบทไทย ซึ่งมีมากมายในประเทศ กำลังใกล้หมดความอดทนกับการเดินแต้มคู มุ่งล้มอำนาจของพวกเขาที่จะเลือกพรรคที่ประชาชนนิยม"

บทบรรณาธิการ กล่าวว่า ความเชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่า เส้นทางสู่อำนาจของตนอยู่บนหนทางของฝูงชนบนท้องถนน และพวกหัวหมอทางกฎหมาย ไม่ใช่หีบเลือกตั้ง นับเป็นสาเหตุรากเหง้าของปัญหาของประเทศไทย สังคมจะคืนสู่ภาวะปกติก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายแก้ปัญหากันด้วยกฎกติกาประชาธิปไตยเท่านั้น รัฐประหารโดยตุลาการจะเป็นการให้รางวัลตอบแทนแก่พรรคประชาธิปัตย์ที่ประพฤติเลว

การบอยคอตการเลือกตั้งนั้น มีความชอบธรรมเฉพาะในบางกรณี เช่น การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่เรื่องเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย พรรคฝ่ายค้านเองก็ไม่มีหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาของตนเอง

"เมื่อพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ทำตัวเหมือนเด็กนิสัยเสียเพราะถูกตามใจ แล้วบอยคอตการเลือกตั้ง พรรคนั้นควรถูกลงโทษด้วยการปล่อยให้อยู่นอกเวทีไปจนกว่าจะรู้จักโต." บทบรรณาธิการกล่าวทิ้งท้าย.

ต้นฉบับแปลไทย - http://news.voicetv.co.th/thailand/96253.html

ต้นฉบับภาษาอังกฤษ - http://online.wsj.com/article/SB10001424052702303442704579360272255058790.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่