ฝ่ายค้านมาเลเซียประกาศไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง........................... อ่านดู ว่าเหมือนพี่ไทยไหม?

ฝ่ายค้านมาเลเซียประกาศไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง

วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม 2556 เวลา 09:29 น.

พรรคคร่วมรัฐบาลมาเลเซียคว้าชัยเลือกตั้งทั่วไปเป็นปีที่ 56 ติดต่อกัน แต่ฝ่ายค้านประกาศไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ โดยเชื่อว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ว่า แม้พรรคร่วมรัฐบาลมาเลเซียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค จะเป็นฝ่ายชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 5 พ.ค. คงอำนาจต่อเนื่องเป็นปีที่ 56 แต่นายอันวาร์ อิบราฮิม หัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกาศยังไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ โดยเชื่อว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น


ผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ระบุว่า พรรคร่วมรัฐบาล “แนวร่วมแห่งชาติ” 13 พรรค ที่นำโดยพรรคองค์การสหมาเลย์แห่งชาติ ( อัมโน ) ของนาจิบ สามารถคว้าที่นั่งในรัฐสภาได้ถึง 133 ที่นั่ง จาก 222 ที่นั่ง ขณะที่พรรคแนวร่วม “ปากาตัน รัคยัต” หรือพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน 3 พรรค นำโดยพรรคความยุติธรรมปวงชน ( พีเคอาร์ ) ของอันวาร์ ได้ไป 89 ที่นั่ง โดยมีผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนมากถึง 10 ล้านคน จากทั้งหมด 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 80 ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์


ทว่านาจิบถือเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนแรกในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อปี 2500 ที่ได้รับคะแนนนิยมประชาชนน้อยกว่าผู้สมัครจากพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน คือ 5.22 ต่อ 5.48 ล้านคะแนน อย่างไรก็ตาม ผู้นำมาเลเซียวัย 59 ปี ประกาศชัยชนะและขอให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งที่ออกมา ที่เป็นการตัดสินใจโดยบริสุทธิ์ของประชาชน เพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ในอนาคต


ขณะที่อันวาร์ วัย 65 ปี ปฏิเสธยอมรับความพ่ายแพ้ พร้อมกับประณามการเลือกตั้งครั้งนี้ ว่าเต็มไปด้วยการทุจริต ดังนั้น ผลคะแนนที่ออกมาจึงไม่มีความโปร่งใส่พอ แม้ปากาตัน รัคยัต จะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 5 ปีก่อนถึง 14 ที่นั่งก็ตาม แต่ก็ต้องสูญเสียที่นั่ง 1 ใน 4 รัฐที่เคยแย่งชิงมาจากฝ่ายรัฐบาล กลับคืนไปให้นาจิบในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งนี้ มาเลเซียแบ่งการปกครองออกเป็น 13 รัฐ


ด้านนายเจมส์ ชิน ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ในสิงคโปร์ แสดงทรรศนะเกี่ยวกับการเลือกตั้งของมาเลเซียครั้งนี้ว่า เป็นการต่อสู้กันอย่างสูสีที่สุด เนื่องจากนอกเหนือจากแรงกดดันภายนอกแล้ว ทั้งนาจิบและอันวาร์ต่างต้องเผชิญแรงเสียดทานภายในพรรคไม่แพ้กัน โดยนาจิบต้องการแย่งชิงที่นั่งที่เสียไปเมื่อปี 2551 กลับคืนมาให้ได้มากที่สุด เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นจากสมาชิกพรรค ซึ่งแม้จะทำไม่ได้ แต่อย่างน้อยพรรครัฐบาลก็ยังคงครองเสียงข้างมาก


อันวาร์จึงดูเหมือนเป็นฝ่ายตกที่นั่งลำบากมากกว่า และอาจถึงขั้นต้องอำลาเส้นทางการเมือง หลังประกาศชัดก่อนหน้านี้ว่า จะลาออกจากการเป็นหัวหน้าของปากาตัน รัคยัต หากเป็นฝ่ายพ่ายแพ้การเลือกตั้ง


http://www.dailynews.co.th/world/202398
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่