พรรค PAS กับชัยชนะเล็กๆ ที่ (เคย) ทรงอิทธิพล

ในวงการการเมืองมาเลเซีย หากไม่นับรวมพรรคของชนกลุ่มน้อยและนอกภูมิบุตร รวมไปถึงพรรคการเมืองที่ได้แยกตัวออกมาตั้งพรรคใหม่กันนั้น
พรรคอัมโน และ PAS คือคู๋แข่งที่ขับเคี่ยวกันดุเดือดที่สุดมานานหลายสิบปี โดยมีทัศนะมุมมองที่ค่อนข้างแตกต่างกันในเรื่องศาสนา และเชื้อชาติ
พรรคอัมโน มีจุดยืนด้านเชื้อชาติมลายูอย่างเข้มข้น มีความคิดที่ค่อนข้างหัวก้าวหน้าปนกับชาตินิยม แต่ไม่ค่อยเน้นเรื่องศาสนากับชนชาติอื่นๆ มาก
พรรค PAS เน้นจุดยืนด้านศาสนาอิสลามแบบอนุรักษ์นิยมและโมเดิร์นนิสต์ (ปฏิบัติตามซุนนะห์และมัซฮับชาฟีอีอย่างเคร่งครัด) โดยไม่แบ่งเชื้อชาติ
แต่เดิมนั้น พรรค PAS เคยเข้าร่วมกับพรรคอัมโนในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล แต่ต่อมาก็ได้ออกไปพร้อมทั้งละทิ้งแนวคิดเชื้อชาติมลายูนิยมออกไปด้วย

ในระยะที่พรรค PAS ยังอยู่ร่วมกับพรรคอัมโน มีนักการเมืองสำคัญที่เคยอยู่ในพรรคคนหนึ่ง คือ อันวาร์ อิบราฮีม ซึ่งมาอยู่พรรคอัมโนหลังการแยกตัว
ก่อนการแยกตัวตั้งพรรคของอันวาร์ พรรค PAS คือคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของอัมโน โดยฐานเสียงอยู่ในเขตชนบทรวมถึงในรัฐที่ติดอยู่กับประเทศไทย
ในช่วงยุค 1980s ด้วยอิทธิพลของการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 ทำให้พรรค PAS ตัดสินใจหันมาเน้นแนวคิดส่งเสริมความเป็นรัฐอิสลามมากขึ้น
หนึ่งในนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดของ PAS คือ นิก์ อับดุลอาซิซ บิน นิก์ มัต เป็นโต๊ะครูที่ว่ากันว่า ทรงอิทธิพลไปจนถึงชายแดนใต้ของไทย
นิก์ อับดุลอาซิซ เป็นนักการเมืองจากกลันตัน เขาได้รับเลือกให้เป็นมุขมนตรีของรัฐกลันตันนานถึง 23 ปี ชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นไปถึง 7 ครั้ง

แม้ว่าจะเป็นผู้นำในพรรคอิสลามนิยม แต่ นิก์ อับดุลอาซิซ เป็นนักการเมืองในพรรค PAS ไม่กี่คนที่ได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มที่ไม่ได้เป็นมุสลิม
เขาเคยกล่าวสนับสนุนให้คำว่า อัลลอฮ์ ใช้ได้กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม จนเกิดความแตกแยกในพรรค จนต้องกลับคำว่า อัลลอฮ์ ใช้ได้กับมุสลิมเท่านั้น
นิก์ อับดุลอาซิซ คือคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของมหาธีร์ มีคนเคยกล่าวไว้ว่า  หากไม่มีมหาธีร์ นิก์ อับดุลอาซิซ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียแน่นอน
แม้ว่าจะไม่เคยประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งระดับชาติ แต่ในระดับรัฐและท้องถิ่น PAS ก็สามารถชนะการเลือกตั้งมาได้แบบนับไม่ถ้วนแล้ว
ในรัฐกลันตัน คือศูนย์กลางของพรรค PAS มาตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปัจจุบัน โดยผู้ที่ดำรงตำแหน่งมุขมนตรีคนปัจจุบันก็คือ ฮัจญี อาหมัด ยาโคบ 

ส่วนรัฐตรังกานู พรรค PAS มีช่วงเวลาที่ดีและแย่แตกต่างกันไป โดยผู้ที่ดำรงตำแหน่งมุขมนตรีคนปัจจุบันก็คือ ดาโต๊ะ ศรี อาหมัด ซัมซูริ โมก์ฮ์ตาร์ 
การเลือกตั้งในปี 2008 คือช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพรรค มีผู้สมัครได้รับเลือกในเขตเลือกตั้งเกือบทุกรัฐ มีการตั้งมุขมนตรีจากพรรคถึง 3 รัฐ
ในช่วงเวลาดังกล่าว อาจจะเป็นเพราะว่า พรรค PAS ได้เข้าร่วมกับแนวร่วมปากาตันระก์ยัตด้วย ทำให้ได้รับโอกาสในการเลือกตั้งมากขึ้นตามไปด้วย
ปัจจุบัน ด้วยสถานะที่เปลี่ยนไป ทำให้พรรค PAS ในตอนนี้ ไม่ได้อยู่ในฐานะฝ่ายค้าน และพรรคนั้น ออกมาตั้งแนวร่วมใหม่ เป็นแนวร่วมที่ 3 ในสภา
นอกเหนือจากรัฐกลันตันและตรังกานูแล้ว พรรค PAS ยังทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้านในรัฐเกดะห์ และมีที่นั่งในสภาระก์ยัตแค่ 18 ที่นั่ง จาก 222 ที่นั่ง

มีการวิเคราะห์ว่า ช่วงเวลาที่สมาชิกได้รับเลือกตั้งมากๆ โดยส่วนใหญ่ มักจะเป็นเพราะการได้เข้าร่วมกับแนวร่วมฝ่ายค้านที่มีฐานเสียงหนาแน่น
โดยพรรค PAS มีการก่อตั้งแนวร่วมเองอยู่ 2 ครั้งคือ ในปี 1990 - 1996 และนับตั้งแต่ 2016 เป็นต้นมา ซึ่งมักจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างราบคาบ
การที่มักพ่ายแพ้การเลือกตั้งโดยตลอด นอกเหนือจากเพื่อได้รักษานโยบายภูมิบุตรแล้ว ชาวมาเลย์ก็คงไม่อยากเพิ่มแรงกดดันชีวิตให้ตัวเองเช่นกัน 
เนื่องจากพรรค PAS ประกาศกร้าวอย่างชัดเจนว่าต้องการใช้ศาสนานำการเมือง สวนทางกับความพยายามในการเป็นประเทศแนวหน้าของโลกมุสลิม
มาเลเซีย ที่ดำเนินขับเคลื่อนมาโดยพรรคอัมโนตลอดหลายสิบปี (โดยเฉพาะยุคของมหาธีร์) ทำให้ชาวมาเลเซีย เลือกเดินทางสายกลางดีกว่าอย่างอื่น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่