หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 4.2

(ต่อจากหนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 4.1 https://ppantip.com/topic/43089144)

อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 4.2

ประการที่ 1 ซ้อมการต่อสู้กับความเหนื่อย เราเหนื่อยมาก็ดี เราร้อนมาก็ดี เดินทางไกลมาเหนื่อยๆ และกำลังร้อนจัด สมัยโน้นมันไม่มีรถไม่มีเรือ มันหายาก จะไปมาติกาบังสุกุล จะไปไหนกันทีก็ใช้การเดิน เดินมาร้อนๆ และก็เหนื่อยจัด พอมาถึงที่ เปลื้องผ้าออก ถ้าไม่ร้อนไม่เป็นไรเข้าห้อง ในขณะเดียวกันนั่นเอง เราก็อยู่ในห้องของเราโดยเฉพาะ ไม่ยอมให้เหงื่อแห้ง ไม่ยอมคลายความเหนื่อย นั่งปั๊บหรือว่านอนลงจิตจับสมาธิทันที จับลมหายใจเข้าหายใจออก ว่าจิตมันจะทรงตัวมั้ย ถ้าจิตยังไม่ทรงตัวดีเพียงใดเราจะไม่เลิก แต่ว่าอาการอย่างนี้ท่านทั้งหลาย มันเป็นการระงับความเหนื่อย คือดับความร้อนดับความเหนื่อยไปในตัว เมื่อจิตเข้าถึงสมาธิเล็กน้อย คือขณิกสมาธิ ความเหนื่อยมันก็คลาย พอจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ มีปีติเป็นอารมณ์ ตอนนี้เองมันจะหายเหนื่อยทันที ความร้อนความกลุ้มมันจะหายไป และความเหนื่อยจากทางร่างกายมันก็จะไม่มี 

ต้องพยายามต่อสู้อย่างนี้นะครับ การสำเร็จมรรคผลหรือได้ฌานสมาบัติ ไม่ใช่ได้มาจากป่า ส่วนใหญ่จริงๆ เขาได้ในที่มวลชนมากๆ และการเจริญสมาธิจากป่าในแดนสงัด ที่ว่าได้ผลดีน่ะ ไม่จริง ถ้าหากว่าจิตยังไม่ถึงความเป็นพระอริยเจ้าเพียงใด ถ้ากลับเข้ามาหาหมู่ชนเมื่อไหร่ เมื่อนั้นมันเกิดการกลุ้มทันที ต้องมาฝึกกันใหม่ ถ้าหากว่าจะถามว่าทราบเรื่องนี้ได้ยังไง ผมก็ขอตอบว่า ผมชนกับมันมาแล้วทุกอย่าง การอยู่ในป่าช้า การอยู่ในป่าชัฏ การอยู่ในถ้ำ ผมทำมาแล้วทุกอย่าง แต่ผลจริงๆ ที่ได้ทรงตัวก็คือ ต้องเข้ามาต่อสู้กับกลุ่มคน นั่นเราอยู่คนเดียวมีการสงบสงัด ไม่มีอะไรรบกวนใจ เราจะทรงอารมณ์อย่างใดก็ได้ เหมือนเราปักไม้ไว้ในที่สงัด ลมไม่พัด น้ำไม่ไหล ไม่มีใครไปจับเขย่า ไม้มันก็มีอาการทรงตัว ปักแน่นหรือไม่แน่นมันก็ทรงตัวอยู่ได้ ถ้าไปปักที่น้ำมันไหลเชี่ยว ลมพัดแรง มีคนเขย่า ถ้ามันไม่แน่นจริงๆ มันก็ทรงตัวไม่ไหว ข้อนี้มีอุปมาฉันใด จิตของเราก็เหมือนกัน

ที่จะได้ดีกันจริงๆ ก็ต้องต่อสู้กับอารมณ์ที่เข้ามาขัดขวาง อาการที่ต่อสู้กับความเหนื่อยและความร้อนนี่ ผมเคยทำแบบนี้นะ เคยทำแบบนี้ บางทีผมทำงานเหนื่อยๆ ดีไม่ดีกำลังเหนื่อยหอบแฮกๆ นั่นแหละ ผมหยุดพักนั่งหันหลังพิงฝาปั๊บจับอารมณ์สมาธิ จับเมื่อไรมันทรงตัวเมื่อนั้น อารมณ์สบายทันที นี่ฝึกมันต้องฝึกแบบนี้ เวลาทำงานเหนื่อยๆ แต่ว่าเวลาที่จะนั่งทำแบบนั้น ระวังนะอย่าให้ใครเขาเห็น การนั่งสมาธิให้คนเห็นพระพุทธเจ้าท่านทรงปรับว่าเป็น อุปกิเลส มันจะมีการโอ้การอวดอยู่ในตัวเสร็จ ใช้ไม่ได้ ต้องใหัลับ นั่งเฉยๆ สบายๆ ใครจะว่ายังไงก็ช่าง ประเดี๋ยวหนึ่งเราก็ลุกไปทำงานของเราใหม่

ประการที่ 2 ต้องพยายามต่อสู้กับเสียง เวลานี้สะดวก ในการต่อสู้กับเสียงนี่ อย่าใช้เสียงให้ดังนัก ชาวบ้านเขาจะรำคาญ วิธีต่อสู้กับเสียงก็คือ ขณะที่เราพบกับเสียงที่เราไม่พอใจ เขาคุยกันเอะอะโวยวาย เราย่องเข้าไปใกล้ๆ ถ้ามันไม่มีที่ลับ เราก็เข้าไปใกล้ๆ ทำตามองเหม่อดูอะไรซะก็ช่าง เอาจิตจับลมหายใจเข้าหายใจออก ลองดูซิว่ามันรำคาญในเสียงมั้ย ถ้าทำอย่างนั้นไม่สะดวก เวลานี้วิทยุของเรามี บันทึกเสียงของเรามี เวลาเราจะทำ เปิดเบาๆ นะ อย่าไปให้คนข้างๆ เขารำคาญ เปิดวิทยุฟังเบาๆ มันจะเป็นเพลงละครใดก็ตาม ขณะเดียวกันนั้นเราก็ใช้อารมณ์กำหนดอานาปานุสสติกรรมฐานหรือภาวนาไปด้วยก็ได้ หูได้ยินเสียงเพลง เสียงพูดในวิทยุชัด แต่ว่าถ้าจิตของเราไม่รำคาญในเสียงนั้น อย่างนี้ใช้ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าทำไปๆ จนกระทั่งหูไม่ได้ยินเสียงเลย ยิ่งดีใหญ่ นั่นเป็นอาการของฌาน 4

เท่าที่เคยฝึกกันมา ผมเคยฝึก อันดับแรกใช้แผ่นเสียงชุดหนึ่งให้เด็กเล่น เมื่อเด็กเล่น เด็กก็เอะอะโวยวายไปตามเรื่อง แล้วก็ใช้เสียงมันก็เปิดเสียงเพลงด้วย สมัยก่อนก็ใช้ขยายเสียงแบบไขลาน ต่อมาเสียงเดียวหรือสายเดียวเราสู้ได้ ก็ไปซื้อใหม่อีกเครื่องหนึ่ง เพลงไม่เหมือนกันให้เด็กอีกพวกหนึ่งเล่น มันก็เถียงกันมาเถียงกันไป ฝ่ายนี้เปิดเพลงอย่างนั้น ฝ่ายนั้นเปิดพลงอย่างโน้น เรานอนกลาง นอนจับลมหายใจเข้าออก ภาวนาไปจนไม่รำคาญในเสียง ในที่สุดเสียงนั้นดังแว่วน้อยลงมาทุกทีๆ จนกระทั่งถึงระดับไม่ได้ยินเสียงเลย นี่ใช้ได้ ต้องต่อสู้แบบนี้เสมอๆ จนกระทั่งมีอารมณ์ชิน อารมณ์ชินขึ้นมาได้ยินเสียงที่เราไม่พอใจเมื่อไหร่ หรือว่าเราพอใจเมื่อไหร่ก็ตาม เราจะเข้าสมาธิได้ทันทีทันใด นี่ว่ากันถึงการฝึกจิตให้คล่องในการเข้าสมาธิ ถ้าทำได้อย่างนี้อารมณ์จิตจะทรงตัว พยายามทำ จงอย่าคิดว่าทำไม่ได้ ไม่มีใครเขาทำได้มาตั้งแต่เกิด ทุกคนต้องมาฝึกกันเหมือนกัน พระอรหันต์ทุกองค์ที่ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ฝึกกันมาแบบนี้ ค่อยทำค่อยไปทีละน้อยๆ ในที่สุดมันก็เข้าถึงจุดจบ ถ้าเราไม่ละความพยายาม

ตอนนี้พูดเฉพาะอานาปานุสสติกรรมฐาน ดีไม่ดีเดี๋ยวผมเผลอเอาอะไรมาป้วนเปี้ยนเข้ามันจะยุ่งกันใหญ่

ที่นี้ต่อมาอีก เราก็พยายามฝึกระงับอารมณ์ที่เข้ามากระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ อนิฏฐารมณ์ คำว่าอนิฏฐารมณ์ ก็ได้แก่อารมณ์ที่เราไม่ชอบใจ อารมณ์ใดก็ตามที่มันจะเกิดขึ้นกับเรา เป็นอารมณ์ที่เราไม่ชอบใจเกิดขึ้น ตอนนี้เราต้องพยายามระงับด้วยกำลังของสมาธิ คิดว่าใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา เขาจะนินทาอย่างไรก็ช่างเขา มันเป็นปากของเขา แล้วมันเป็นหน้าที่ของเขาที่เขาจะชมก็ได้ เขาจะด่าก็ได้ มันเป็นเรื่องของเขา เวลาที่รับคำด่าหรือคำชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำด่า เราอย่าพึ่งไปโกรธ ใช้จิตพิจารณาเสียก่อนว่า ไอ้เรื่องที่เขาด่ามันจริงหรือไม่จริง ถ้าเป็นอาการที่ไม่ตรงความเป็นจริง เราก็ยิ้มได้ ว่าท่านผู้ด่านี่ไม่เห็นจะมีอาการน่าเลื่อมใสตรงไหน ด่าส่งเดชโดยไร้เหตุไร้ผล ไม่เหมาะกับฐานะที่เกิดมาเป็นคนของพระพุทธศาสนา และจงอย่าโกรธ จงยิ้ม นึกเสียว่า เราดีกว่าเขาเยอะ

และต่อจากนั้นไปก็ใช้อารมณ์ใจเราเสียใหม่ ถ้าพบอารมณ์ที่ทำให้เราไม่พอใจ เราก็ใช้อารมณ์จับอารมณ์ลมหายใจเข้าออกให้จิตมันทรงตัว จะด่าก็ช่าง จะว่าก็ช่าง นินทาก็ช่าง ช่างเขา เรารักษาอารมณ์ของเราให้มีความสุขใช้ได้ ถือว่าอารมณ์ความสุขเป็นปัจจัยให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานโดยง่าย อันนี้เป็นอารมณ์แบบสบายๆ ที่เราสามารถจะทรงตัว หัดฝึกจิตระงับอารมณ์ที่มากระทบ ที่เราไม่พอใจ ทีหลังก็มาพยายามหาทางระงับความอยากด้วยกำลังของฌาน

ความจริงกำลังของฌานนี่ มันจะระงับกิเลสได้ทุกอย่าง โลภะ ความโลภ ราคะ ความรัก โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง มันระงับได้ทุกอย่างแต่มีอารมณ์หนัก เมื่ออารมณ์จิตของเรามีการทรงตัวจริงๆ อารมณ์แห่งความสุขมันจะยืนตัวกับจิตของเรา มันจะไม่หวั่นไหวในเมื่อเห็นคนหรือวัตถุที่มีความสวยสดงดงาม จะไม่เกิดอาการทะเยอทะยานจากอาการที่ได้ลาภสักการะ จะไม่มีความหวั่นไหวในกำลังจิต ในขณะที่มีบุคคลเขายั่วให้โกรธ อาการอย่างนี้มันจะไม่มีในจิตของเรา แล้วสิ่งที่เราจะยึดมั่นถือมั่น ว่าร่างกายเป็นเราเป็นของเรามันก็ไม่มี ความจริงกำลังสมาธินี่สามารถจะกดกิเลสทุกตัวให้มันจมลงไปได้ แต่อย่าลืมว่ากิเลสมันไม่ตาย เพราะมันถูกฝังไว้เท่านั้น ถ้าเราเผลอเมื่อไหร่มันก็โผล่มาเล่นงานเราเมื่อนั้น

สำหรับคนที่ทรงจิตถึงฌาน 4 หรือว่าทรงอารมณ์สมาธิถึงฌานใดฌานหนึ่ง จนกระทั่งมีอารมณ์ชิน มักจะมีอาการเผลอคิดว่าเราเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้ผมเองก็พบมา แม้แต่ตัวผมเองก็เหมือนกัน ตัวผมเองนี่บางครั้งในกาลบางครั้ง ในตอนที่กำลังฝึก ผมคิดว่า เอ๊ะ...นี่เราเป็นพระอรหันต์เสียแล้วหรือเนี่ย มันไม่พอใจอะไรทั้งหมด รักมันก็ไม่เอาไหน โลภมันก็ไม่เอาไหน โกรธมันก็ไม่เอาไหน หลงอะไรมันก็ไม่มี แต่ทว่าทำมาทำไป อารมณ์นานๆ เข้ากำลังใจตกลง ไอ้เจ้าตัวรักมันก็เริ่มโผล่นิดๆ เจ้าตัวโลภ เจ้าตัวโกรธ เจ้าตัวหลง มันก็มาหน่อยๆ ตอนนี้จึงรู้ตัว ว่าโอ้หนอ... นี่เราพลาดไปเสียแล้วที่คิดว่าตัวเป็นอรหันต์ เป็นแค่กำลังฌานโลกีย์เท่านั้น แต่ความจริงแม้แต่เราเป็นฌานโลกีย์ แต่สามารถจะระงับอาการเช่นนี้ได้ก็ควรจะพอใจ เพราะว่ากิเลสสามารถจะกดมันให้จมลงไปได้ ไม่ช้าเราก็สามารถจะห้ำหั่นให้มันให้พินาศได้ด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณ

เอาละบรรดาท่านทั้งหลาย มองดูเวลาเห็นว่าหมดเสียแล้วสำหรับวันนี้ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้

ต่อจากนี้ไปขอบรรดาท่านทั้งหลาย พยายามตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก อิริยาบทที่ท่านจะใช้ จะเดินก็ได้ จะยืนก็ได้ จะนอนก็ได้ จะนั่งก็ได้ ตามอัธยาศัย สำหรับเวลาใดที่เห็นว่าสมควรเลิก ก็ขอให้เป็นวาระของท่าน ผมจะไม่กำหนดเวลาให้ท่านเลิก ต่อนี้ไปขอท่านทั้งหลายโปรดปฏิบัติได้ ตามอัธยาศัยของท่าน


แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่