หนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 4.1

อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 4.1

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี้ก็จะขอพูดเรื่องอานาปานุสสติกรรมฐาน ส่วนที่แล้วมานั้นได้พูดถึง ด้านขณิกสมาธิ กับอุปจารสมาธิ สำหรับวันนี้จะได้พูดถึง อารมณ์ของฌาน การเจริญอานาปานุสสติกรรมฐาน อารมณ์เข้าสู่ความเป็นฌาน ความจริงก็เป็นเรื่องสังเกตไม่ยาก เมื่อผ่านอุปจารสมาธิมาแล้ว ตอนนี้จิตจะมีความสุข มีความเยือกเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งฌานนี่แบ่งออกเป็น 4 อย่าง คือ

อารมณ์ปฐมฌาน ปฐมฌานนี่มีองค์ 5 คือ มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา คำว่า วิตก ก็ได้แก่อารมณ์นึกที่เราจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก วิจาร ก็ได้แก่ การรู้ว่าเวลานี้เราหายใจเข้าหรือว่าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น หรือว่าจะพูดกันถึงในกรรมฐาน 40 เราก็จะมีอารมณ์รู้ว่า เวลานี้ลมกระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ สำหรับลมหายใจเข้า ถ้าสำหรับลมหายใจออกก็จะกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบจมูกหรือว่าริมฝีปาก อย่างนี้เป็นอาการของวิจาร จำไว้ให้ดีด้วย
และก็ ปีติ เป็นความเอิบอิ่มใจ ตามที่กล่าวมาแล้ว มีความชุ่มชื่น มีความเบิกบาน ไม่มีความอิ่ม ไม่มีความเบื่อในการเจริญพระกรรมฐาน สามารถจะรวบรวมกำลังสมาธิเมื่อไหร่ก็ได้
สุข ก็ได้แก่ ความสุขเยือกเย็น ที่หาความสุขเปรียบเทียบใดๆ ไม่ได้ มันมีความเอิบอิ่มใจมาก
เอกัคคตา มีอารมณ์เดียว หมายความว่า ในขณะนั้นจิตจะจับเฉพาะลมหายใจเข้าออกอยู่ตามปกติ จิตจะไม่รับอารมณ์ส่วนอื่น

อันนี้เป็นอาการของที่เราจะทราบได้ตามจริยา คือ อาการของปฐมฌาน มีองค์ 5

แต่ทว่าจะพูดถึงความรู้สึก ขณะที่จิตของเราเข้าถึงปฐมฌาน จิตจะจับลมหายใจเข้าออก ลมหายใจจะเบามีความสุขสดชื่น หูได้ยินเสียงภายนอกชัดเจนแจ่มใส แต่ทว่าไม่รำคาญในเสียง จะเป็นเสียงดัง จะเป็นเสียงเบา เสียงเพลง เสียงทะเลาะกัน เอะอะโวยวายของขี้เมาขี้เหล้าเมายาก็ตาม เราไม่รำคาญในเสียง สามารถจะคุมอารมณ์ได้ตามปรกติ อย่างนี้เรียกว่า ปฐมฌาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังจิตสำหรับผู้ฝึกที่จะเข้าปฐมฌานนั้น ก็มีความสำคัญอยู่จุดหนึ่ง คือ ขณะที่จิตก้าวเข้าไปสู่ปฐมฌานเบื้องแรก กำลังของจิตยังไม่มั่นคง ตอนนี้เวลาที่เราจับลมหายใจเข้าออกจะมีอารมณ์สงัด จะมีสภาพนิ่งคล้ายๆ อาการเคลิ้ม บางทีเราคิดว่าเราหลับ แต่ความจริงไม่หลับ ถ้าหลับมันจะโงกหน้าโงกหลัง อาการเช่นนั้นที่เกิดขึ้นกับเรา มีอาการเฉยๆ ตัวตั้งตรงแต่ว่ามีอาการเคลิ้มลืมตัวเหมือนหลับ สักครู่เดียวหรือประเดี๋ยวเดียวจะมีอาการหวิวคล้ายตกจากที่สูง และเราก็ไม่สามารถจะนำอารมณ์นั้นขึ้นมาใช้ได้อีก เพียงแค่รักษาอารมณ์สบาย อาการอย่างนี้ขอท่านทั้งหลายพึงทราบว่า นั่นสมาธิจิตของท่าน ขณะที่มีอารมณ์สบายเงียบสงัด มีอาการคล้ายเคลิ้มเหมือนหลับ เป็นอาการจิตหยาบ หรืออารมณ์หยาบของปฐมฌาน เป็นการก้าวขึ้นสู่ปฐมฌานแบบหยาบๆ แต่ทว่าจิตไม่สามารถจะทรงฌานอยู่ได้ จิตพลัดจากฌาน จะมีอาการหวิวคล้ายกับตกจากที่สูง ถ้ามีอาการอย่างนี้เกิดขึ้นก็จงอย่าสนใจ มันจะเป็นยังไงก็ช่าง เราก็รักษาอารมณ์ปกติไว้ ได้เท่าไหร่พอใจเท่านั้น

มาเข้าถึงตอนทุติยฌาน คือ ฌานที่ 2 นี่มีองค์ 3 คือ ตัดวิตก วิจาร เสียได้ เหลือปีติ สุข เอกัคคตา ในตอนนี้จะรู้สึกว่าจิตเข้าไปจับลมหายใจเข้าลมหายใจออกจะวางไว้ คือจิตจะไม่สนใจ ลมหายใจจะเบาลง มีแต่ความสดชื่นหรรษา มีความนิ่งสนิท ถ้าหากว่าเราจะสังเกตให้ง่าย นั่นก็คือ ถ้าเราภาวนาไปด้วย สมมติว่าเรากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้าเรานึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ อันนี้จะสังเกตง่าย ในขณะที่เข้าฌานที่ 2 ในขณะจิตเข้าถึงฌานที่ 2 คำภาวนาจะหายไป จิตจะตั้งอารมณ์ทรง มีความเอิบอิ่ม มีอารมณ์สบาย มีอารมณ์ละเอียด สงัด มีอารมณ์สงัดมาก แต่พอจิตเคลื่อนจากฌานที่ 2 ลงมาสู่อุปจารสมาธิ จะมีความรู้สึกว่า โอหนอ... นี่เราลืมไปเสียแล้วรึ หรือว่าเราเผลอไปแล้ว นี่เราไม่ได้ภาวนาเลย การกำหนดรู้จับลมหายใจเข้าออกเราก็ไม่ได้ทำ ตายจริง นี่เราเผลอไป แต่ความจริงนั่นไม่ใช่อาการของความเผลอ เป็นอาการของจิตที่ทรงสมาธิสูงขึ้น ขอท่านทั้งหลายพึงเข้าใจตามนี้

สำหรับอาการของฌานที่ 3 นั้น มีองค์ 2 คือ เหลือแต่ สุข กับเอกัคคตา ตัดปีติหายไป อาการของฌานที่ 3 นี่ที่เราจะสังเกตได้ง่าย ความชุ่มชื่นสดชื่นหายไปของจิต จิตมีความสุขแล้วก็มีจิตทรงตัวมากในอารมณ์ที่ตั้งไว้ดีกว่าฌานที่ 2 และทางร่างกายจะสังเกตว่า มีอาการคล้ายๆ กับนั่งหรือยืนตรงเป๋งเหมือนอะไรมาผูกเข้าไว้ สำหรับลมหายใจจะรู้สึกว่าเบาลงไปมากเกือบไม่มีความรู้สึก หูได้ยินเสียงภายนอกเบาๆ ถึงแม้ว่าเสียงนั้นจะดัง แต่ก็เสียงที่เราได้ยินเบามาก อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่ 3

เมื่อเข้าถึงฌานที่ 4 จะมีความรู้สึกว่าเราไม่ได้หายใจ แต่ทว่ากำลังใจไม่มืด มีความสว่างโพลง ทรงอารมณ์อยู่ตามปกติ มีอารมณ์เด็ดเดี่ยวตั้งมั่น เรียกว่าความมั่นคงมาก ไม่รู้การสัมผัสจากภายนอก ยุงจะกินริ้นจะกัด เสียงจะมาจากทางไหนไม่รู้หมด ปรากฎว่ามีจิตนิ่งเฉยๆ สำหรับฌาน 4 นี้มีองค์ 2 คือ มีเอกัคคตา กับอุเบกขา เอกัคคตา หมายความว่า ทรงอารมณ์เป็นหนึ่ง อารมณ์ไม่เคลื่อน อุเบกขาหมายความว่าเฉย ไม่รับสัมผัสอารมณ์ใดๆ ทั้งหมด

ที่พูดนี้เพื่อประสงค์ที่ให้ท่านทั้งหลายทราบว่า อาการของฌานมันเกิดขึ้น จะมีความรู้สึกเป็นยังไง แต่ว่าเนื้อแท้จริงๆ นักปฏิบัติ ถ้าจะปฏิบัติกันให้ดีล่ะก็ จงอย่าสนใจว่าเวลานี้มันจะได้ฌานอะไร จะเข้าถึงฌานหรือจะเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ จะเป็นฌานที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ก็ช่าง ไม่สนใจ

นี่เราพูดกันถึงว่าในแง่ของการปฏิบัติที่เอาดีกัน ถือว่าวันนี้ได้ดีเพียงใดพอใจเท่านั้น เราทำตามอารมณ์สบายของเรา มันได้แค่ไหนพอใจแค่นั้น เมื่อวานนี้ดีกว่าวันนี้ วันนี้เลวกว่าเมื่อวานนี้หน่อยก็ช่าง คิดว่าเราเป็นผู้สะสมความดี คือทรงอารมณ์จิตให้อยู่ในด้านของสมาธิ ตามความพอใจที่เราต้องการ เท่านี้พอ ถ้าจิตตั้งอยู่อย่างนี้ อารมณ์จะเป็นสุข ไม่มีอาการดิ้นรน จงอย่าสนใจกับภาพที่เห็น จงอย่าสนใจกับอารมณ์ของจิต ว่าเมื่อวันก่อนนี้มันเลวกว่าวันนี้ หรือว่าวันนี้ดีกว่าวันก่อน ถ้าไปสนใจอย่างนั้นจิตจะไม่ทรงตัว จะหาอารมณ์ที่แนบสนิทไม่ได้

ฉะนั้นขอท่านทั้งหลายพึงตั้งใจไว้ โดยเฉพาะเพื่อผลของความดี นั่นก็คือเวลาที่เจริญสมาธิจิตในด้านอานาปานุสสติก็ตาม กรรมฐานกองอื่นใดก็ตาม จงทราบว่า เวลานี้จะตกอยู่ในสภาพของฌานอะไรก็ช่าง อย่าไปตั้งหน้าตั้งตาว่าเราต้องการได้ฌานนั้น เราต้องการทรงฌานนี้ มันจะเกิดอารมณ์กลุ้ม ถ้าอารมณ์กลุ้มเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ตัดความดีทั้งหมด ผลที่สุดวันนั้นเราจะไม่ได้อะไรเลย

เป็นอันว่าขณะใดที่ทำไป ขณะนั้นเรามีความพอใจ ได้แค่ขณิกสมาธิ คือสมาธิเล็กน้อย เราก็พอใจ ได้ถึงอุปจารสมาธิเราก็พอใจ จิตตกอยู่ในฌานใดฌานหนึ่ง เราก็พอใจ พอใจเสียทั้งหมด ถ้าทำจิตอย่างนี้อารมณ์จิตจะสบาย ก็ได้แก่การฝึกจิตเข้าถึงอุเบกขารมณ์นั่นเอง เมื่อการฝึกจิตแบบนี้แล้ว ต่อไปจิตจะเป็นเอกัคคตารมณ์และอุเบกขาคือจิตจะทรงฌาน 4 ได้ง่าย

ต่อไปนี้ก็จะขอพูดถึงหลักแห่งการปฏิบัติ การปฏิบัติที่จะให้ผลกันจริงๆ ผมเคยพูดมาแล้วในตอนก่อนว่า จงใช้เวลาจุกจิกๆ ของเราเป็นเครื่องการกระทำสมาธิ อย่างที่พูดมาวันวานนี้ว่า เวลาทำการทำงานก็ดีใช้งานเป็นสมาธิ เดินไปบิณฑบาต เดินไปธุระ จะทำอะไรก็ตาม อย่าทิ้งลมหายใจเข้าออก พยายามนึกถึงลมหายใจเข้าหายใจออกไว้เสมอ แต่ว่าถ้างานนั้นไม่เหมาะสมแก่การใช้ลมหายใจเข้าหายใจออก เราก็ใช้จิตจับอยู่ที่งาน ว่าเวลานี้เราทำอะไร เราดายหญ้ารึ เราก็เอาใจจับไว้เฉพาะเวลาที่เราดายหญ้า มือเราถือจอบ จอบเราฟันดิน นี่เราถากหญ้า จะถากตรงไหน ตั้งใจไว้โดยเฉพาะ อย่างนี้ก็เป็นอาการฝึกอารมณ์ของสมาธิไปในตัว เราจะทาสี เราจะตอกตะปู เราจะเลื่อยไม้ เราจะโบกปูน เราจะทำอะไรทุกอย่างตั้งใจทำในกิจนั้นโดยเฉพาะ เอาจิตจับไว้โดยเฉพาะในเรื่องนั้น อย่างนี้เป็นการทรงสมาธิ ทำสมาธิให้ทรงตัวไปในตัว เป็นการฝึกในงาน

สำหรับวันนี้ยังไม่พูดถึงด้านวิปัสสนาญาณ ก็จะพูดในวงแคบๆ ของสมาธิเท่านั้น มีอีกวิธีหนึ่งที่เคยฝึกกันมา ผมก็ดี เพื่อนของผมก็ดี หลายๆ ท่านก็ดี เขาใช้วิธีฝึกต่อสู้กันแบบนี้

(ต่อหนังสือ คู่มือปฎิบัติวัดท่าซุง เล่ม 1 อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ 4.2 https://ppantip.com/topic/43089158)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่