CEO คนปัจจุบันของ ADOR ส่อโดนข้อหาให้การเท็จ ปมประเด็นให้ปากคำในสภาฯ

ผู้สื่อข่าว อี ซอน-มยอง รายงานว่า มีคำร้องขอให้มีการดำเนินคดีกับ คิม จูยอง CEO คนปัจจุบันของ ADOR ในข้อหาให้การเท็จหลังจากที่ให้การในที่ประชุมการสอบสวนของรัฐสภาครั้งล่าสุด ได้ถูกยื่นต่อสมัชชาแห่งชาติแล้ว ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเผยแพร่รายงานอุตสาหกรรมดนตรีรายสัปดาห์ของ HYBE

ในวันนี้ คำร้องในหัวข้อ "ขอให้คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและแรงงานพิจารณาดำเนินคดีข้อหาการให้การเท็จต่อ คิม จูยอง CEO ของ ADOR" ถูกยื่นอย่างเป็นทางการต่อสมัชชาแห่งชาติ โดยผู้ยื่นคำร้องที่มีนามสมมติว่า A

โดยในคำร้องระบุว่า "ในระหว่างที่เธอเข้าร่วมเป็นพยานในการสอบสวนของสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา CEO คิม จูยอง ได้เน้นย้ำถึง 2 ครั้งว่า “ADOR ดำเนินการฝึกอบรมแนวทางปฏิบัติภายในอย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความเคารพและการร่วมมือระหว่างศิลปินและพนักงาน โดยอ้างอิงถึงหลักปฏิบัติการเคารพซึ่งกันและกัน” แต่เมื่อ CEO คิมถูกถามว่า HYBE มีการปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆ ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนและมีช่องทางรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เธอก็ยืนยันว่า “เป็นเช่นนั้น”

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ยื่นคำร้อง A ได้กล่าวว่า “ตัวของคิมจูยองเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับเอกสาร ‘รายงานอุตสาหกรรมดนตรีรายสัปดาห์ของ HYBE’ ที่กำลังเป็นประเด็นอื้อฉาวอยู่ในตอนนี้ด้วย โดยในขณะนั้น เธอยังดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (CHRO) ของ HYBE อยู่ ถึงแม้เธอจะรับทราบถึงรายงานนี้ แต่กลับอ้างในที่ประชุมว่า ทางบริษัทพยายามอย่างแข็งขันที่จะป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยยึดหลักปฏิบัติการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งการให้ปากคำที่ดูจะขัดแย้งกันนี้ อาจเข้าข่ายเป็นการให้การเท็จ และเธอควรจะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย”

นอกจากนี้ ผู้ยื่นคำร้อง A ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสอบสอบของสมัชชาแห่งชาติ โดยระบุว่า “วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบคือเพื่อให้รัฐบาลและสาธารณชนรับผิดชอบต่อการดำเนินนโยบาย ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ และเพิ่มความโปร่งใสในการบริหารงาน โดยที่คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและแรงงานจะต้องสอบสวนข้อหาให้การเท็จของ CEO คิมจูยองโดยละเอียด และดำเนินการตามข้อกฎหมายมาตรา 15 แห่งกฎหมายสมัชชาแห่งชาติว่าด้วยการให้ปากคำในฐานะพยาน"

สืบเนื่องจากในวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา คิม จู-ยอง ได้ให้ปากคำในฐานะพยานต่อหน้ากรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและแรงงานของสมัชชาแห่งชาติเกี่ยวกับ "ประเด็นการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน" โดยมีฮันนิ (หนึ่งในสมาชิกวง NewJeans) ก็ได้เข้าร่วมเป็นพยานในการสอบสวนนี้ด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ในการ live ร่วมกับสมาชิกวง NewJeans คนอื่นๆ เมื่อวันที่ 11 กันยายนนั้น ฮันนิได้เปิดเผยว่ามีผู้จัดการของวงไอดอลอีกวงหนึ่งได้สั่งให้วงนั้น "เพิกเฉยเธอซะ" ในขณะที่เดินผ่านสำนักงานใหญ่ของ HYBE เรื่องนี้ได้จุดประกายให้เกิดการอภิปรายเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในสถานที่ทำงาน และนำไปสู่การสอบสวนของสมัชชาแห่งชาติในเวลาต่อมา

โดยคิมจูยอง ได้ให้ปากคำว่า "เรารับฟังเสียงของศิลปินของเรา รวมถึงฮันนิ และเรามุ่งมั่นที่จะปกป้องสิทธิของพวกเขา เพื่อให้พวกเขาสามารถบรรลุความฝันและความปรารถนาของพวกเขาได้อย่างเต็มที่ ในฐานะ CEO คนใหม่ของ ADOR ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้เพียง 1 เดือนครึ่ง ฉันขอให้พวกคุณเชื่อมั่นว่าเราจะสร้างบริษัทที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสร้างความพึงพอใจให้แฟนเพลง K-POP"

แต่ในทางกลับกัน ฮันนิได้ให้ปากคำต่อหน้าคณะกรรมาธิการฯ ทั้งน้ำตาว่า "ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ฉันตระหนักได้ว่าไม่มีกฎหมายใดๆ ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างในโลกได้ แต่อย่างไรก็ตาม ฉันเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุด ถ้าหากเรายอมรับและเคารพซึ่งกันและกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ปัญหาเช่นการกลั่นแกล้งและการถูกกีดกันในที่ทำงาน ก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย"

โดยทางผู้ยื่นคำร้อง A ได้ระบุว่า "HYBE ล้มเหลวในการปฏิบัติตามความรับผิดชอบทางสังคม และมีข้อสงสัยว่าบริษัทนี้เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม K-POP หรือไม่ พร้อมทั้งเรียกร้องให้สมัชชาแห่งชาติต้องดำเนินคดีต่อ CEO คิมจูยองในข้อหาให้การเท็จโดยเร็ว"

นอกจากนี้ ยังมีคำร้องอีกฉบับเรียกร้องให้ HYBE ออกมาสอบสวนและป้องกันการกลั่นแกล้งในที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับรายงานอุตสาหกรรมดนตรีรายสัปดาห์ โดยทางฝั่งของ HYBE นั้น ได้ทำการปลดบรรณาธิการใหญ่ของ Weverse Magazine ซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารดังกล่าวให้ออกจากตำแหน่ง

โดยในวันที่ 11 พฤศจิกายน ทาง Weverse Magazine ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า "เอกสารที่กำลังเป็นประเด็นอื้อฉาวนี้ ถูกสร้างขึ้นโดยบรรณาธิการใหญ่คนก่อนในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการที่แยกต่างหาก และเจ้าหน้าที่ของ Weverse Magazine ก็ไม่ทราบถึงการมีอยู่ของรายงานเอกสารชุดนี้ โดยพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานเอกสารชุดนี้ได้ถูกปลดออกจากตำแหน่งไปแล้ว"



โพสต์ภาษาอังกฤษที่นำมาแปล:
https://x.com/juantokki/status/1856163420942545256?t=MHizVRh4iUGRR0TvM7C6zQ&s=19

แหล่งข่าวอ้างอิงฉบับภาษาเกาหลี: https://m.entertain.naver.com/article/144/0001000321

อักษรย่อในกระทู้นี้
CHRO ย่อมาจาก Chief Human Resources Officer
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่