อุปมาด้วยบุรุษดูฤกษ์นักษัตรโยคะ

สมมติว่า บุรุษผู้มีจักษุผู้หนึ่ง คิดจักรู้ฤกษ์ร่วมของดาวนักษัตร จึงออกมาในเวลากลางคืน แล้วแหงนขึ้นไปดูดวงจันทร์ ดวงจันทร์ก็ไม่ปรากฏ เพราะดวงจันทร์นั้นถูกหมู่เมฆทั้งหลายบังไว้ ทันใดนั้น ก็มีลมระลอกหนึ่งพัดขึ้นพัดพาเอาหมู่เมฆหนาๆ ออกไป ลมอีกระลอกหนึ่ง ตั้งขึ้นแล้วพัดพาเอาหมู่เมฆชนิดกลางๆ ออกไป ลมอีกระลอกหนึ่งตั้งขึ้นแล้วพัดพาเอาหมู่เมฆบางๆ ออกไป แต่นั้น ครั้นท้องฟ้าปราศจากเมฆแล้ว บุรุษผู้นั้นก็เห็นดวงจันทร์ แล้วรู้ฤกษ์ร่วมของดาวนักษัตรได้
ในอุปมานั้น ความมืดคือกิเลสอย่างหนา อย่างกลาง และอย่างละเอียด ที่ปิดบังสัจจะไว้ เป็นเหมือนเมฆทั้งหลาย ๓ ชนิด อนุโลมจิต ๓ ดวง เป็นเหมือนลม ๓ ระลอก โคตรภูญาณ เปรียบบุรุษผู้มีจักษุ พระนิพพาน เปรียบประดุจดวงจันทร์ การกำจัดความมืด (คือกิเลส) ที่ปิดบัง (อริย) สัจจะออกไป ของอนุโลมจิตดวงหนึ่งๆ เปรียบเหมือนการพัดพาเอาหมู่เมฆ ๓ ชนิดออกไปโดยลำดับ ของลมระลอกหนึ่งๆ เมื่อปราศจากความมืดที่ปิดบัง(อริย) สัสจะแล้วโคตรภูญาณก็เห็นพระนิพพานอันบริสุทธิ์ เปรียบเหมือนเมื่อท้องฟ้าปราศจากหมู่เมฆแล้ว บุรุษผู้นั้นก็เห็นดวงจันทร์อันผ่องใส
จริงอยู่ อนุโลมจิตทั้งหลาย สามารถกำจัดความมืดที่ปิดบัง (อริย) สัจจะได้แต่อย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถเห็นพระนิพพาน เปรียบเหมือนลม ๓ ระลอก สามารถพัดพาเอาหมู่เมฆทั้งหลายที่บังดวงจันทร์ไว้ออกไปได้ แต่อย่างเดียว แต่ไม่สามารถเห็นดวงจันทร์ โคตรภูญาณ สามารถเห็นพระนิพพานได้อย่างเดียว ไม่สามารถกำจัดความมืดคือกิเลสได้ เปรียบเหมือนบุรุษผู้นั้น สามารถเห็นดวงจันทร์ได้อย่างเดียว ไม่สามารถพัดพาเอาหมู่เมฆทั้งหลายออกไปได้ และด้วยเหตุนั้นแลท่านจึงกล่าวว่า "โคตรภูญาณ" นี้ เป็นอาวัชชนะของมรรค (คือหันมาสู่มรรค)
ที่จริง โคตรภูญาณนั้น แม้ไม่หันมา (แต่) ก็ตั้งอยู่ในฐานะแห่งการหันมา คล้ายกับว่าให้สัญญา (นัดหมาย) แก่มรรคว่า "ท่านจงบังเกิดขึ้นอย่างนี้" แล้ว (ตัวเอง) ก็ดับไป ทั้งมรรคเองก็ไม่ละสัญญาที่โคตรภูญาณนั้นให้ไว้ บังเกิดขึ้นติดตาม (โคตรภู) ญาณนั้นโดยสืบเนื่องไม่มีระหว่างคั่นทันทีนั้น ทั้งเจาะทะลุทั้งทุบทำลายกองโลภะ กองโทสะ กองโมหะ ที่ไม่เคยเจาะทะลุ ไม่เคยทุบทำลายมาก่อน ข้อนี้สำคัญไฉน เพราะเหตุใด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่