JJNY : ‘เท้ง’กังวลกู้เพื่อกระตุ้นศก.ระยะสั้น│“ศิริกัญญา”ผิดหวังงบ68│“วีระ”ประกาศกลางสภา│รัสเซียรุกยูเครน ส.ค.ได้มากสุด

‘เท้ง’ ชงปฏิรูประบบภาษี ถามรบ.วิธีลดรายจ่ายประจำ กังวลกู้เพื่อกระตุ้นศก.ระยะสั้น
https://www.matichon.co.th/politics/news_4770749
 
“เท้ง” ชงปฏิรูประบบภาษี ถามรัฐบาลหาวิธีลดรายจ่ายประจำ กังวลกู้เพื่อกระตุ้นศก.ระยะสั้น เกิดวัฏจักรขาลง ไม่สร้างอนาคตให้ประเทศ
 
เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่สองเป็นประธานประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี พ.ศ.2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ปรับลด 7,824,398,500 บาท โดยเป็นการพิจารณาเรียงรายมาตรานั้น
 
จากนั้นเวลา 11.00 น. นายณัฐพงษ์  เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน(ปชน.) อภิปรายว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยขณะนี้ คือการจัดเก็บรายได้ จัดเก็บภาษีต่อจีดีพี จาก 16 เปอร์เซ็นต์เหลือ 14 เปอร์เซ็นต์ และดูเหมือนจะจัดเก็บภาษีจากคนจนมากกว่าเก็บคนรวย อย่างไรก็ตาม ตนเป็นห่วงว่าการกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น จะทำให้เกิดวัฏจักรขาลง เพราะขาดพื้นที่การคลังระยะยาว ไม่สามารถสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมในอนาคต ทำให้ในอนาคตรัฐเก็บภาษีได้น้อยลงไปอีก
 
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนวิธีการแก้ไขก็ต้องปฏิรูประบบภาษีและระบบงบประมาณ ต้องตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ รัฐจัดเก็บภาษีเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพี ลดความเหลื่อมล้ำ พูดง่ายๆคือพุ่งเป้าเก็บคน 1 เปอร์เซ็นต์ในส่วนที่เหมาะสม เพื่อกระจายทำสวัสดิการให้ประชาชน พัฒนาต้นทุนมนุษย์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างระยะยาวให้ประเทศเป็นวัฏจักรขาขึ้น 
 
สิ่งที่พวกเราต้องตั้งคำถามไปถึงรัฐบาลนี้และรัฐบาลหน้า นอกจากข้อเสนอปฏิรูประบบภาษี อยากเห็นการลดรายจ่ายประจำ จะทำอย่างไรให้พวกเรามั่นใจว่า ไม่ใช่กู้เพื่อแจกเพียงอย่างเดียว แต่กู้เพื่ออัพสกิล พัฒนาต้นทุนมนุษย์ด้วยเหตุผลข้างต้น ผมขออนุญาตไม่เห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมาก และขอปรับลดกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่กู้จนชนเพดาน ไม่สร้างอนาคคตให้กับประเทศ” หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าว



“ศิริกัญญา” ผิดหวังงบ68 รีดไขมันส่วนเกินไม่มากพอ
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_770565/

“ศิริกัญญา”ผิดหวังงบ68 รีดไขมันส่วนเกินไม่มากพอ ห่วงแนวโน้มจัดเก็บรายได้พลาดเป้า เหตุเศรษฐกิจโตต่ำกว่าเป้า-นโยบายปรับลดภาษี แนะปรับลดงบรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน
 
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ผู้ขอสงวนความเห็น ร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2568 ในวาระที่ 2 โดยอภิปรายเปิดในภาพรวมถึงปัญหาการจัดเก็บรายได้ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และเหตุผลที่ควรมีการปรับลดงบประมาณลงราว 2 แสนล้านบาท เหลือ 3.5 ล้านบาทเศษ
 
นางสาวศิริกัญญา เริ่มต้นการอภิปราย โดยยกข้อมูล 5 อันดับกระทรวงที่มีการปรับลดงบประมาณสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ รัฐวิสาหกิจ, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงการคลัง, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม,สำนักนายกรัฐมนตรี และ กระทรวงกลาโหม รวมแล้วตัดได้ราว 4 หมื่นล้านบาท
 
แต่ปัญหาก็คือการปรับลดงบประมาณครั้งนี้ มีส่วนที่ไม่ควรตัดก็ไปตัด เช่น รัฐวิสาหกิจ ซึ่งหลายรายการเป็นงบประมาณที่ต้องใช้ชำระหนี้จากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ขณะเดียวกันก็ยังมีส่วนที่เป็นไขมันส่วนเกินที่ยังรีดได้อีกเยอะมากแต่ไม่ถูดตัดไป ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่ซ้ำซ้อน ไม่สมเหตุสมผล ยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ยังมีไขมันที่แทรกซึม มีโครงสร้างที่ปรับเปลี่ยนได้
 
ทั้งนี้ ยังมีความจำเป็นต้องปรับลดงบประมาณลง เนื่องจากประเทศไม่ได้มีความสามารถหรือกำลังมาก พอใช้จ่ายเงินถึง 3.7 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการประมาณการรายได้ของปี 2568 ซึ่งถูกประมาณการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 วันนั้นมีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 3.6 ล้านล้านบาท ประมาณรายได้น่าจะจัดเก็บได้ 2.887 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตถึง 3.2% และมีการประมาณการหนี้สาธารณะไว้ราว 63%

แต่เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากเดือนธันวาคม 2566 มาถึงเดือนพฤษภาคม 2567 ที่มีการตั้งงบประมาณขาดดุลจนเกือบชนเพดาน เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 3.2%ลดลงมาเหลือเพียง 2.5% ย่อมส่งผลกระทบกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลโดยตรง อีกทั้งหนี้สาธารณะปี 2567 ยังสูงขึ้นไปกว่าการคาดการณ์เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ 62.7% กลายเป็น 65.7% และมีการคาดการณ์ว่า หนี้สาธารณะปี 2568 จะเพิ่มขึ้นไปอีกประมาณ 2%
 
แม้เหตุการณ์จะเปลี่ยนแปลงแต่งบประมาณปี 2568 กลับไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนเลย โดยเฉพาะประมาณการรายได้ และยังมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายตัวอย่างเช่น กรมสรรพสามิต ที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2567 ว่า จะจัดเก็บรายได้ได้เกือบ 6 แสนล้านบาท พอเก็บจริงกลับเก็บได้ไม่เกิน 5.3 แสนล้านบาท หลุดเป้าหมายไปเกือบ 7 หมื่นล้านบาทเนื่องมาจากมีการปรับลดภาษีน้ำมันช่วยเหลือค่าครองชีพ การปรับลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า และภาษีบุหรี่ที่จัดเก็บพลาดเป้าไปเกือบ 1 หมื่นล้านบาท
 
มาถึงปี 2568 มีการตั้งเป้าไว้อย่างท้าทายว่า จะจัดเก็บรายได้ได้ 6 แสนล้านบาทเศษ แต่ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะจัดเก็บได้ตามเป้า เพราะนโยบายภาษีรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลง ส่วนภาษีบุหรี่ก็ไม่มีการปรับปรุงนโยบายแต่อย่างไร ดังนั้นเพื่อความระมัดระวังและการรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคตได้ จึงขอปรับลดงบประมาณปี 2568 ลงราว 2 แสนล้านบาท เหลือ 3.5 ล้านล้านบาท



“วีระ” ประกาศกลางสภา ไทยติดกับดักงบประมาณเรียบร้อยแล้ว% บวกๆ
https://www.matichon.co.th/economy/news_4770387

“วีระ” ประกาศกลางสภา ประเทศไทยติดกับดักการทำงบประมาณเรียบร้อยแล้ว ชี้เป็นสัญญาณอันตราย ย้ำหนี้รัฐบาลเป็นเช่นไร หนี้ประชาชนก็เช่นนั้น มองเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถานะการเงินการคลังของรัฐ หากไม่ตัดฉับตั้งแต่ต้นมือ จะเป็นวิกฤติที่แก้ไม่ได้
 
นายวีระ ธีระภัทรานนท์ กรรมาธิการ ลุกขึ้นอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ในวาระที่ 2 ในมาตรา 4 ขอลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ตั้งไว้ 3,752,700 ล้านบาท เหลือ 3,565,000,000 ล้านบาท โดยระบุว่า งบ 2568 มีที่มาจาก 2 ทางด้วยกัน ได้แก่ รายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ 287,000 ล้านบาท และมาจากการกู้เงินเพื่อชดเชยรายได้ที่ไม่เพียงพอ 865,000 ล้านบาท
 
พูดแบบชาวบ้าน ก็คือ “เงินกูไม่พอ เลยต้องใช้เงินกู้มาเติม” ตรงนี้ตนมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทุกรัฐบาลจัดงบประมาณขาดดุล แล้วก็กู้เงินชดเชยการขาดดุลงบประมาณมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้ภาระหนี้สินในรูปของหนี้สาธารณะพอกพูนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การทำงบประมาณแบบขาดดุลเรื้อรังดังกล่าว สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ที่ห่วงใยฐานะการเงินการคลังของประเทศในอนาคตเป็นอันมาก หนึ่งในนั้นคือตน
 
การขาดดุลงบประมาณเรื้อรังดังกล่าว ทำให้หนี้สาธารณะที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว สิ้นเดือน มิ.ย. ปี 2567 รัฐบาลมียอดหนี้สาธารณะคงค้างรวมกันทั้งสิ้นมากถึง 11.54 ล้านล้านบาท และเพิ่มเติมด้วยการกู้ขาดดุลงบประมาณ 25668 อีก 865,000 ล้านบาท เท่ากับว่ายอดคงค้างจะทะลุ 12 ล้านล้านบาท และอาจจะถูกสูงถึง 13 ล้านล้านบาทภายในสิ้นปี แต่ก็ยังไม่สำคัญว่าในอนาคตหากการจัดทำงบประมาณขาดดุลเรื้อรังยังดำเนินไปพร้อมกับการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลทุกปีไปเรื่อยๆ แบบนี้ เราจะต้องมีปัญหาทางด้านการเงินการคลังภาครัฐหนักหนาสาหัสอย่างแน่นอน ทั้งนี้ สิ่งที่เราเห็นต่อเนื่องคือรายจ่ายประจำไม่ได้ลดลง ตรงกันข้ามกลับเพิ่มขึ้นโดยตลอด ทำให้เรามาถึงจุดอันตราย ขณะนี้รายจ่ายที่อยากจะตัดทอน
 
โดยเงินทุกบาททุกสตางค์ของรัฐบาลที่จะดำเนินการผ่านงบประมาณรายจ่ายล้วนเป็นเงินกู้ที่มีภาระจะต้องหาเงินต้นและดอกเบี้ยมาชำระคืนในอนาคตทั้งหมด หนี้ของรัฐบาลเป็นเช่นไร หนี้ของประชาชนก็เป็นเช่นนั้น ใครที่พอจะเข้าใจเรื่องการเงินการคลังที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีในแต่ละปีที่ผ่านมาและในอนาคต ย่อมรู้ดีว่านี่คือสัญญาณอันตรายที่จะเกิดวิกฤติการคลังในอนาคต ซึ่งจะส่งเสียงดังมากขึ้นและมีความถี่มากขึ้นทุกขณะ การทำถูกกฎหมายหรือการทำตามกฏหมายอย่างครบถ้วนนั้น ที่เราชอบพูดกันว่าอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ไม่ได้แปลว่าจะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ตรงกันข้ามการทำตามกฏหมายอย่างครบถ้วนก็สามารถนำไปสู่วิกฤติและหายนะได้เช่นกัน หากกระทำอย่างไม่ระมัดระวังและรอบคอบ“
 
นายวีระ ย้ำว่า เท่าที่ตนติดตามการทำงบประมาณอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ปี ตนอยากบอกว่าบัดนี้ ประเทศเราได้ติดกับดักการจัดทำงบประมาณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นทุกปีถ้าหากดูการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐซึ่งเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ก็จะเข้าใจสิ่งที่ตนตั้งข้อสังเกต
 
นายวีระ เปิดเผยด้วยว่า งบ 2568 มีการตั้งค่าใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐสูงถึง 410,253 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการชำระคืนเงินต้นเพียงแค่ 150,000 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ยังไม่ต้องพูดถึงการชำระคืนนี่ให้สถาบันการเงินของรัฐที่ออกเงินแทนรัฐบาลไปก่อนซึ่งเป็นรายการงบประมาณที่มียอดคงค้างไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท
 
นี่คือการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถานะการเงินการคลังของรัฐ ในปัจจุบันและอนาคตอย่างแท้จริง ถ้าหากไม่ยับยั้งหรือบริหารจัดการแก้ปัญหาเสียตั้งแต่ต้นมือ สิ่งที่เป็นภาระทางการคลังก็จะกลายเป็นความเสี่ยงทางการคลังและสุดท้ายนำไปสู่วิกฤติการคลังได้ในที่สุด ถ้าไม่ทำตั้งแต่ตอนนี้ หวั่นใจว่าเราอาจจะต้องประสบวิกฤติการคลังในอนาคตที่เราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนในการแก้ไขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่