JJNY : 5in1 ศิริกัญญา ติงรัฐบาล│“ณัฐพล”ชี้หลงทาง│รองโฆษกก้าวไกลอัดแรง│เตือนสัญญาณไม่ดี│เปิดภาพอ่างเก็บน้ำในจีนแห้งเหือด

ศิริกัญญา ติงรัฐบาล หั่นงบ ซอฟต์พาวเวอร์ หวังทุ่มทำ ดิจิทัลวอลเล็ต
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_777777784144
 
 
ศิริกัญญา อัดรัฐบาลจัดงบฯ ใช้เงินมือเติบ พาประเทศไปเสี่ยง เพราะดันทุรังทำ ดิจิทัลวอลเล็ต จวกหาเจ้าภาพไม่ได้เลยแปะลอยๆในงบกลาง เหน็บ ซอฟต์พาวเวอร์ ยังถูกหั่นงบ
 
วันที่ 19 มิ.ย.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท เป็นวันแรก
 
เวลา 13.50 น. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า การจัดงบประมาณปี 2568 ทำให้ประเทศไทยทำลายสถิติวินัยทางการคลังหลายตัว นอกจากรายจ่ายลงทุนที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปีแล้ว การตั้งงบขาดดุลต่อจีดีพีหรือการกู้ขาดดุลก็สูงที่สุดในรอบ 36 ปีเช่นกัน
ขณะที่ดอกเบี้ยต่อรายได้ก็สูงที่สุดในรอบ 14 ปีเช่นเดียวกับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ก็สูงที่สุดในรอบ 29 ปี แต่ยังมีเรื่องดีคือ การชำระคืนเงินต้นต่องบก็สูงที่สุดในรอบ 31 ปี ซึ่งในหลายประเทศที่มีปัญหาการคลังเรื้อรัง มีการกำหนดไว้ในกฎหมายว่าจะไม่กู้ชดเชยขาดดุลเกิน 3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่ประเทศไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 4.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และในปี 2567 ที่มีการกู้เพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะทำให้งบขาดดุลต่อจีดีพีสูงถึง 4.3 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน
 
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า จริงๆ เราไม่เคยทำแบบนี้เลย ถือเป็นความกล้าหาญที่กล้าทำขนาดนี้ แต่อาจจะมีหลายปีที่ถือว่ามีวิกฤต ทำให้ต้องกู้มากกว่าที่ตั้งขาดดุลไว้ หรือจำเป็นต้องมีการออก พ.ร.บ. เพื่อกู้เงินเพิ่มเติม แต่ในการวางแผนงบประมาณในปีปกติที่ไม่ใช้ปีที่เป็นวิกฤตเศรษฐกิจ ก็ไม่ต้องกู้มากเช่นนี้
 
ดูเหมือนรัฐบาลจะเริ่มเสพติดการขาดดุล เพราะกู้เต็มเพดานทุกปีตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาที่กู้แค่ 50-80 เปอร์เซ็นต์ แต่หากมาดูปีหลังๆ กู้มากขึ้น หากจะกู้เต็มเพดานในช่วงที่มีวิกฤตโควิดก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ในปี 2567 และ 2568 กลับกู้สูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์
 
ปัญหาคือเมื่อเราใช้จ่ายเกินตัว แต่หาเงินไม่ทัน ทำให้ชีวิตเราเสี่ยง แต่ครั้งนี้ไม่ได้เสี่ยงแค่คนๆ เดียว แต่รัฐบาลนี้ที่ใช้เงินมือเติบ ท่านกำลังพาประเทศไปเสี่ยงด้วย หากเกิดเหตุฉุกเฉิน น้ำท่วมหนัก แล้งหนัก หรือมีโรคระบาดอีกครั้ง เราจะไม่เหลือพื้นที่และงบประมาณไปรองรับเช่นนั้นได้ แต่ที่รัฐบาลทำอยู่คือ โนสน โนแคร์ ว่าประเทศไปเสี่ยงเช่นนี้ เพราะแค่ต้องการให้มีเงินมากพอที่จะทำโครงการเดียวนั่นคือ ดิจิทัลวอลเล็ต” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
 
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ขณะที่สัดส่วนรายจ่ายลงทุนสูงสุดในรอบ 17 ปีนั้น ที่นายกฯ ดูเหมือนจะภูมิใจในเรื่องนี้ แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเช่นนั้น เพราะในจำนวนนี้มีงบดิจิทัลวอลเล็ตรวมอยู่ด้วยถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เมื่อเราลองตัด 80 เปอร์เซ็นต์นั้นออกไป ก็พบว่ารายจ่ายลงทุนจะเหลืออยู่ที่ 20.8 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าปริ่มเกณฑ์ขั้นต่ำเท่านั้น และอาจจงใจตัดงบรายจ่ายประจำบางรายการออก
 
หากได้งบเต็มรายการ ยอดรายจ่ายลงทุนจะอยู่เพียงแค่ 16.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และที่พรรคก้าวไกลเคยถูกกล่าวหาว่าจะตัดบำนาญราชการ แต่คนที่ตัดจริงๆ คือรัฐบาลชุดนี้ อาจจะบอกว่าไปใช้งบกลางหรือเงินคงคลังก็ได้ แต่เรื่องนี้อยู่ที่การจัดความสำคัญและเกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ปีนี้ที่หนักขึ้นเพราะรัฐบาลพยายามประดิษฐ์ตัวเลขให้อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง และงบกลางต้องถูกกันเอาไว้เพื่อใช้ทำดิจิทัลวอลเล็ต
 
อย่างไรก็ตาม ที่ต้องตั้งงบคืนเงินต้นไว้สูง เพราะต้องนำไปขยายกรอบการกู้ขาดดุล ที่มาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 20 เปอร์เซ็นต์ บวกกับงบชำระเงินต้น 80 เปอร์เซ็นต์ หากยังคงการชำระเงินต้นไว้ที่ 1.4 แสนล้านบาท กรอบก็จะไม่พอทำดิจิทัลวอลเล็ต แม้จะมีผลออกมา น่าพอใจ แต่สุดท้ายก็ใช้ทำแค่โครงการเดียวคือ ดิจิทัลวอลเล็ต
 
ขณะที่ตัวชี้วัดที่ 4 หนี้สาธารณะต่อจีดีพี ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทุบสถิติในช่วงปี 2564 และหลังจากนั้นก็ไม่เห็นว่าหนี้สาธารณะจะลดลงได้ โดยสถิติจะพลิกอีกครั้งในปี 2570 ที่จะพุ่งสูงเกือบ 69 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่เพดานการกู้อยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ และรัฐบาลนี้จะส่งมอบหนี้ก้อนใหญ่แบบนี้ให้รัฐบาลต่อไปโดยไม่รับผิดชอบอะไรทางการคลังเลยหรือ
 
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า แม้ปีนี้จะเบ่งงบประมาณถึง 3.752 ล้านล้านบาท แต่ใช้ได้จริงๆ เพียงแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น เพราะมีงบประมาณบางตัวที่ไม่สามารถตัดได้ เมื่อคิดเช่นนี้แล้วงบฯที่จะนำไปพัฒนาประเทศต่างๆ นำไปทำตามโครงการอิกไนท์ไทยแลนด์ หรือนโยบายของรัฐบาล ก็เหลือไม่ถึง 1 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำ
 
ทางออกทางเดียวคือ ต้องเพิ่มรายได้และแสดงศักยภาพหาเงินให้ประเทศได้แล้ว รัฐบาลพยายามที่จะขับเคลื่อนนโยบายของตัวเองอย่างเห็นได้ชัด แต่ท่านกลับสั่งและให้โจทย์ไปอย่างเดียว แต่ไม่ได้แนวทางและทิศทาง
 
ขณะที่โครงการซอฟต์พาวเวอร์ ที่เป็นกล่องดวงใจ กลับถูกหั่นงบฯลงไม่ถึงครึ่ง ทั้งที่ขอไป 12,000 ล้านบาท เหลือจริงแค่ 5,200 ล้านบาท เรียกได้ว่าสำนักงบประมาณตัดหมด ไม่สนลูกใคร ฝากถึงนายกฯ ว่า หากอยากผลักดันโครงการต่างๆ ขอให้ได้ถึงครึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะดีมาก เพราะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมากเกินไป ซึ่งไม่ใช่แค่งบประมาณ ภาระทางการคลัง หรือทรัพยากรเท่านั้น แต่สมาธิของครม.ด้วยที่หายไป และถูกทุ่มให้กับดิจิทัลวอลเล็ตโครงการเดียว” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
 
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า เรายังต้องลุ้นกันต่อว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะได้ทำหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ใส่รายละเอียดไว้ แต่กลับเพิ่มรายการใหม่เข้ามาในงบกลาง คือ

1. รัฐบาลได้หาทางหนีทีไล่ หากไม่ได้ทำ ก็จะได้ทำอย่างอื่นได้ง่ายขึ้น

2. ที่ไม่ได้ใส่ลงไปในรายจ่ายฉุกเฉิน แต่นำมาใส่ในงบกลาง เพราะหากใส่ในรายจ่ายฉุกเฉิน จะเกินกรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ไม่ให้เกิน 3.5 เปอร์เซ็นต์
 
3. หาเจ้าภาพไม่ได้ จึงนำมาแปะลอยๆ ถือเป็นการบริหารที่ผิดพลาดจากการหาเจ้าภาพไม่ได้ จึงต้องใช้ข้ออ้าง นำมาแปะไว้ในงบกลาง นี่ไม่ใช่แค่ท่านเอาตัวเองไปเสี่ยงคนเดียว เอาประเทศเป็นเดิมพัน แต่ยังเอาข้าราชการประจำไปเสี่ยงด้วย และเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) จะใช้ได้หรือไม่ได้ หรือจะเป็นไปตามเจตนาของ ธกส.หรือไม่ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ส่งให้กฤษฎีกาตีความ หรือแม้แต่จะส่งเข้าบอร์ด ธกส.ตีความก็ยังไม่ทำ
 
ขอฝากไปถึงข้าราชการประจำ หากท่านพบว่ามีข้อผิดพลาดขอให้ส่งหนังสือท้วงติงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรต่อความไม่ชอบมาพากล ทั้งในด้านกฎหมายและวิชาการ ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป



“ณัฐพล” ก้าวไกล ชี้ รัฐบาลกำลังหลงทางเรื่อง Soft Power 10 เดือน แทบไม่เห็นผลงาน
https://www.thairath.co.th/news/politic/2794492
 
“ณัฐพล” สส.ก้าวไกล ชี้ รัฐบาลกำลังหลงทางเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ มอง 10 เดือน แทบไม่เห็นผลงานอะไร ย้ำ อย่าเห็นเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งเพื่อหารายได้จากการท่องเที่ยว
 
เมื่อเวลา 14.37 น. วันที่ 19 มิถุนายน 2567 เข้าสู่การอภิปรายของ นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 3,752,700 ล้านบาท โดยอภิปรายเน้นในเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เข้าใจรัฐบาลว่าต้องการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ยกระดับ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ได้เหมือนกับหลายๆ ประเทศอื่นๆ แต่ที่ผ่านมา 10 เดือนยังแทบไม่เห็นผลงานอะไรจากซอฟต์พาวเวอร์ และจากการดูในร่างงบประมาณ 2568 ก็มองว่ารัฐบาลยังหลงทางอยู่
 
นายณัฐพล ระบุต่อไป ส่วนตัวมองว่า ซอฟต์พาวเวอร์คือเรื่องของความรู้สึกที่คนไทยทุกคนต่างยอมรับในสิ่งนี้ เป็นความรู้สึกที่ชาวต่างชาติมองมาแล้วว้าวกับมัน ต้องว้าวถึงขั้นอยากจะเป็นคนไทย อยากพูดภาษาไทย อยากซื้อสินค้าไทย อยากซื้อสินค้าไทย อยากให้ชีวิตแบบคนไทย หรือต่อให้อยู่ที่ประเทศของเขาก็อยากจะเสพสื่อต่างๆ จากประเทศไทย พร้อมถามว่า ความรู้สึกนี้รัฐบาลหาเจอหรือยัง ซึ่งหากยังไม่เจอ ก็มองว่ากำลังหลงทาง โดยแบ่งเป็น 4 ข้อดังนี้
 
หลงทางที่ 1 คือ หลงทางเพราะรัฐบาลไม่เตรียมการบ้านมา (คิดไปทำไป) ฝ่ายค้านตามหาเงิน 5,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลจะทำซอฟต์พาวเวอร์ 11 ด้าน ว่าเอามาจากไหน แต่พบเป็นเพียงแค่แผนที่หน่วยงานและภาคเอกชนเสนอเข้ามา รวมได้กลมๆ ที่ 5,000 ล้านบาท พร้อมยกตัวอย่างงานสงกรานต์ สาดน้ำตลอดเดือนเมษายน 2567 นายกรัฐมนตรีควักงบกลางออกมา 104 ล้านบาท โดย 72 ล้าน ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดงานที่ท้องสนามหลวง ที่เหลือ 32 ล้าน กระจายไป 16 จังหวัด จังหวัดละ 2 ล้านบาท อีกทั้งยังได้พบเห็นโครงการทำแอปพลิเคชัน OFOS ในเอกสารกองทุนหมู่บ้าน 96 ล้านบาท เพื่อลงทะเบียนเลือกซอฟต์พาวเวอร์ที่ถนัด 3 ด้าน และรัฐจะส่งหลักสูตรให้ประชาชนเรียน ต่อมามีการส่งไปยังอีกหน่วยงาน ซึ่งงบประมาณในการดำเนินงานก็ลดลงกว่า 50 ล้านบาท 
 
หลงทางที่ 2 เน้นจัดงานเป็นหลัก อาจจะมองว่าวัดผลงาน มีผลงาน แต่กลัวว่างานในลักษณะนี้จะกลับมาอีกครั้ง เช่น กินปาท่องโก๋มากที่สุดในโลก ใส่กางเกงช้างมากที่สุดในโลก เป็นต้น เพราะถูกมองว่าเป็นงานซอฟต์พาวเวอร์ด้านการท่องเที่ยวอย่างหนึ่ง จึงต้องถาม ททท.ให้ชัดเจน เพราะได้งบประมาณไป 6,200 ล้านบาท ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีพยายามดึงงานระดับโลกเข้ามาจัดในไทย แต่ยังไม่มีใครคอนเฟิร์ม อีกทั้งล่าสุดยังโดนปฏิเสธการจัดงาน World Pride 2028 แต่รัฐบาลยังพยายามจะเสนอเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในปี 2030 
 
หลงทางที่ 3 การจัดสรรงบประมาณในงานสร้างสรรค์ต่างๆ พร้อมยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ใส่คอนเทนต์ในอาหาร จนคนต่างชาติอยากทาน นี่คือซอฟต์พาวเวอร์ แต่รัฐบาลกลับโยนงบประมาณลงไปทำโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟ ถามว่าโครงการนี้จะสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้ไทยอย่างไร ซึ่งต่างชาติรู้จักอาหารไทย ถ้าเป็นตนเองอยากเอางบประมาณไปทำคอนเทนต์ สร้างดีมานด์ในอาหารไทย มากกว่าการเพิ่มเชฟ ขณะที่ซอฟต์พาวเวอร์มวยไทยก็ไปผิดทางเช่นกัน
 
หลงทางที่ 4 การไม่เข้าใจกันของรัฐบาลและหน่วยราชการ ซอฟต์พาวเวอร์เป็นนโยบายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เคยทำมาแล้วเพื่อการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่รัฐบาลปัจจุบันพรรคเพื่อไทย จู่ๆ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยมองว่าเกิดความลักลั่น 2 เรื่องคือ 1. ไม่มีเจ้าภาพทางกฎหมายที่จะดูแลเรื่องนี้ 2. ความลักลั่นด้านงบประมาณ บางโครงการที่ตั้งขึ้นก็ไม่เกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ ขณะที่บางโครงการชื่อสอดคล้องซอฟต์พาวเวอร์ แต่ไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ 
 
พร้อมกันนี้ นายณัฐพล ขอเสนอคณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2568 ที่จะถูกตั้งขึ้นหลังรับหลักการในวาระแรก ถ้าเจอโครงการที่มีซอฟต์พาวเวอร์แต่ไม่ใช่ ก็ต้องตัดออก เพื่อให้งานของรัฐบาลมีความหมาย ให้งบซอฟต์พาวเวอร์ตอบโจทย์ ไม่ใช่ให้งบประมาณบวมไปเรื่อยๆ นี่เป็น 4 เหตุผลที่พยายามชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลหลงทาง ก่อนย้ำว่า ตนเองและพรรคก้าวไกลไม่ได้ขัดขวาง แต่อยากให้อุตสาหกรรมถูกยกระดับเช่นกัน จึงมีข้อเสนอขั้นพื้นฐานที่จะช่วยปลดล็อกความสร้างสรรค์ ด้วยโมเดล CEA คือ Core value ปรับทัศนคติตัวเอง Ecosystem โดยอัปสกิล รีสกิล เป็นนโยบายที่ดี แต่ติดอยากให้ประชาชนมีอิสระในการเรียนรู้ และ Agency คือต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Agency
หรือ CEA) ควรถูกยกเป็นแม่งาน พร้อมกับเสนอแผนบูรณาการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่