สื่อนอกชี้ “เศรษฐกิจไทย” ลำบาก ค่ายรถญี่ปุ่นย้ายหนี สินค้าจีนราคาถูกทะลักเข้าทำเกือบ 2,000 โรงงานปิดตัว คนตกงานไร้เงิน


               รอยเตอร์รายงานว่า ไทยได้มีโอกาสเห็นโรงงานจำนวนมากเกือบ 2,000 โรงแห่เลิกกิจการในปีที่ผ่านมา สะเทือนภาคอุตสาหกรรมที่คิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของตัวเลข GDP
รอยเตอร์ชี้ว่า ภาคอุตสาหกรรมตกอย่างรุนแรงเมื่อไม่กี่ปีมานี้มาอยู่ที่ 24.2% ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ (2024) ใกล้จุดต่ำสุดของการบันทึกตั้งแต่ปี 1993 อ้างอิงจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา
ในขณะที่เมื่อค่ายรถไฟฟ้าแดนมังกรยักษ์ใหญ่ BYD ประกาศตั้งโรงงานสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นที่ไทยก่อนหน้าในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม พบว่าไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าเช่นกันค่ายรถญี่ปุ่นที่เป็นขวัญใจคนไทยมาอย่างยาวนาน บริษัทซูซูกิ มอเตอร์ ได้ประกาศปิดโรงงานในไทยที่มีกำลังการผลิตรถยนต์สูงสุด 60,000 คัน/ปีลงไปอย่างน่าเสียดาย
การเคลื่อนไหวของค่ายรถญี่ปุ่นสะท้อนต่อบริษัทอื่นๆ ในไทยที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังเผชิญต่อการไหลบ่าเข้ามาของสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนและการรูดลงของความสามารถทางการแข่งขันทางอุตสาหการเนื่องมาจากหลายปัจจัยรวมถึง ราคาพลังงานเพิ่ม และภาคแรงงานที่ใกล้วัยเกษียณอายุ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่า รูปแบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยการผลิตยาวนานหลายสิบปีแต่ใช้การไม่ได้อีกต่อไป
            “จีนในปัจจุบันพยายามที่ส่งออกอย่างหนักทุกทาง สินค้านำเข้าราคาถูกเหล่านี้สร้างปัญหาอย่างหนัก”
ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า “ต้องมีการเปลี่ยนแปลง” พร้อมกับชี้ว่า ประเทศไทยต้องหันกลับมาให้ความสนใจการผลิตสินค้าที่จีนไม่ได้ส่งออกในขณะเดียวกันสร้างความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นในภาคเกษตรกรรม”
อย่างไรก็ตาม แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย ออกมาแย้งทั้งเศรษฐาและสภาพัฒน์ที่เรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมไทยปรับตัวนั้นว่า
“พวกเรากำลังแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติพันล้าน” และเสริมต่อว่า “บรรดานักอุตสาหการที่ไม่สามารถปรับตัวได้ต้องปิดโรงงานตัวเองลงไปหรือหันไปทำอย่างอื่นแทน”
            โรงงานผลิตกระจกนิรภัยชื่อดัง บริษัท วี.เอ็ม.ซี.เซฟตี้กลาส (ประเทศไทย) หรือ V.M.C. Safety Glass ใน จ.สมุทรปราการ ซึ่งผลิตส่งป้อนทั้งค่ายรถและผลิตภัณฑ์ในการก่อสร้าง มีทุนจดทะเบียน 171,953,020 บาท กลายเป็นข่าวใหญ่ประกาศปิดกิจการกะทันหันเมื่อต้นพฤษภาคมที่ผ่านมา
สื่อไทยรายงานในเวลานั้นว่า พนักงานช็อกโรงงานประกาศเลิกกิจการฟ้าผ่าพนักงานร่วม 62 คนโดนเลิกจ้างกระทันหันและโรงงานไม่ยอมเจรจาค่าชดเชย
 
             รอยเตอร์รายงานว่า จันทร์เพ็ญ ซื่อตรง วัย 54 ปีหนึ่งในพนักงานที่โดนเลิกจ้างกะทันหันหลังทำงานมานานที่โรงงานแห่งนี้เกือบ 20 ปียอมรับว่า ตอนนี้ลำบากเพราะโดนเลิกจ้างตอนสูงอายุ ส่วนตัวไม่มีเงินเก็บแต่มีหนี้หลายแสนบาทรอ
จันทร์เพ็ญเป็นคนเดียวที่หาเลี้ยงทั้งครอบครัว 3 ชีวิตที่มีตั้งแต่สามีที่ป่วย และลูกสาววัยรุ่น เธอตัดพ้อผ่านรอยเตอร์ว่า 
“ดิฉันอายุมากแล้ว ดิฉันจะไปทำงานที่ไหนได้? ใครจะจ้างดิฉัน?”
อย่างไรก็ตาม บริษัทปฏิเสธที่จะให้เหตุผลการเลิกกิจการหลังติดต่อไป
ทั้งนี้ พบว่าในไทยมีโรงงานแห่ปิดตัวระหว่างกรกฎาคมปี 2023 ถึงมิถุนายนปี 2024 เพิ่มขึ้น 40% จาก 12 เดือนก่อนหน้า อ้างอิงข้อมูลล่าสุดจากแผนกข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม (Department of Industrial Works) ที่ไม่เคยมีการเปิดเผยมาก่อน
และดังนั้นแล้ว ตำแหน่งงานหายไป 80% ในช่วงเวลาเดียวกัน ที่มีแรงงานไทยกว่า 51,500 คนตกงาน อ้างอิงจากข้อมูล
 
 
            จำนวนตัวเลขการเลิกกิจการโรงงานในไทยเพิ่มขึ้นและช่องว่างระหว่างโรงงานเลิกกิจการและการเปิดโรงงานใหม่เริ่มแคบลง นับตั้งแต่กรกฎาคมปี 2023 ไปจนถึงมิถุนนายนปี 2024 มีงานไม่ต่ำกว่า 50,000 ตำแหน่งต้องเสียไปเพราะโรงงานปิดตัว รอยเตอร์ชี้
ตัวเลขการเปิดโรงงานใหม่นั้นช้าลงและมีการปิดโรงงานขนาดใหญ่รวมไปถึงการเปิดโรงงานขนาดเล็กแทน อ้างอิงจากแผนกวิจัยของธนาคารเกียรตินาคินภัทรในเดือนมิถุนายน
ผลกระทบได้แพร่ออกไปยังภาคอุตสาหกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่นอหลักของระบบเศรษฐกิจไทย รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ อ้างอิงจากรายงานแผนกวิจัย
             ขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมรายย่อยต้องแบกรับกับต้นทุนการผลิตสูงขึ้นที่มาจากค่าพลังงานที่เพิ่มอย่างรวดเร็วและอัตราค่าแรงคนงานสูงขึ้น แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย กล่าว
รอยเตอร์รายงานว่า เศรษฐกิจไทยคาดมีการเติบโตแค่ 2.5% ในปีนี้ท่ามกลางปัจจัยหลายด้าน รวมความไม่พอใจของประชาชนไทยต่อผลงานของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา
            นาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ทางองค์กรได้ออกมากดดันให้รัฐบาลหันมาใช้มาตรการป้องกันการเลี่ยงภาษี (tariff evasion) ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และกำแพงอุปสรรคสูงขึ้นสำหรับสินค้าจีนบางประเภทในการไปสู่ภูมิภาคอื่น
รอยเตอร์ชี้ว่าเริ่มตั้งแต่เดือนนี้ ไทยจะเริ่มต้นเก็ยภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% สำหรับสินค้านำเข้าราคาถูกที่ต่ำกว่า 1,500 บาท (41 ดอลลาร์) ซึ่งส่วนใหญ่มีต้นทางจากจีน แต่สินค้าเหล่านั้นยังคงได้รับการยกเว้นทางภาระทางศุลกากร
            จันทร์เพ็ญอดีตพนักงานบริษัท วี.เอ็ม.ซี.เซฟตี้กลาสเปิดเผยว่า เธอกำลังเฝ้ารอเงินดิจิทัล 10,000 บาท (276 ดอลลาร์) จากรัฐบาลที่เป็นโครงการที่นายกฯ ไทยอ้างว่า "เป็นยาแรงสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้"
“รัฐบาลที่แล้วเศรษฐกิจแย่” เธอกล่าวและเสริมต่อว่า “แต่หลังจากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา เศรษฐกิจก็ยังคงแย่เหมือนเดิม”
ข่าวจาก  ผู้จัดการออนไลน์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่