“ไอติม” ชี้ กติกาเลือกตั้ง ส.ว.สับสน หวังใช้ครั้งเดียวพอ เห็นใจคนโดนปัดตกแม้ไม่ได้ทำผิด

กระทู้ข่าว
“ไอติม” หวังกติกาเลือก ส.ว.ใช้ครั้งนี้ครั้งเดียวพอ เห็นใจคนถูกปัดตก ทั้งที่ไม่ได้ทำผิด แถมเสียค่าสมัครฟรี ชี้ ปัญหาเกิดจากกฎกติกาสับสน - กกต.พีอาร์ ไม่ดีพอ ชี้ ระบบเลือก ส.ว.ควรสอดคล้องหลักประชาธิปไตยสากล แย้ม กมธ.พัฒนาการเมืองเตรียมส่งคนสังเกตการณ์
 
วันนี้ (28 พ.ค.) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีมีผู้สมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 10 คน ใน 7 อำเภอ ถูกปัดตกรอบ เพราะผู้สมัครน้อยจนไม่สามารถเลือกไขว้สายได้ ว่า เป็นเรื่องใหญ่ เพราะในมุมหนึ่ง คือ การทำให้ประชาชนถูกตัดสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก เขาต้องสูญเสียเงินค่าสมัครไปด้วย อาจจะไม่ได้รับคืน ทั้งที่ความจริงเขาไม่ได้ทำอะไรผิด ตนคิดว่าพอไปดูต้นตอของปัญหานี้ ก็ต้องมองเป็น 2 ปัญหา คือ ตัวกฎหมาย เพราะการไปล็อกว่าอย่างน้อยต้องมีผู้สมัครขั้นต่ำ 3 กลุ่มอาชีพ ถึงสามารถดำเนินการเลือกไขว้ได้ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กติกาการคัดเลือก ส.ว.สร้างความสับสนพอสมควร ทำให้เราจะไม่ได้ ส.ว.ที่มาจากโครงสร้างอำนาจที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากล และยังสะท้อนให้เห็นว่า กกต.ยังทำหน้าที่ไม่ดีพอในการประชาสัมพันธ์ให้มีคนมาเข้าสู่กระบวนการรับสมัคร
 
เมื่อถามว่า จะเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้สมัครหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า แน่นอน เพราะทำให้ประชาชนที่สมัครเข้ามาสูญเสียทั้งสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก และสูญเสียเงินค่าสมัครไปฟรีๆ ทั้งที่เขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ยังไม่นับเวลาในการเตรียมใบสมัครอีกด้วย ส่วนคนที่ถูกตัดสิทธิไปฟ้องร้องได้หรือไม่ นายพริษฐ์ ระบุว่า ในเชิงกฎหมายต้องศึกษาเพิ่มเติม แต่ในเชิงการเมืองหรือสามัญสำนึก ตนก็เห็นใจคนที่โดนตัดสิทธิ
 
 
เมื่อถามว่า กติกาแบบนี้อาจได้คนที่ไม่ตรงสเปกของการเป็น ส.ว.หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า เป็นประเด็นที่คาดการณ์ยากมาก ว่า ส.ว.ชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่จะมีคุณสมบัติร่วมกัน หรือทักษะ จุดเด่นเรื่องไหนบ้าง เพราะการคัดเลือกเป็นกระบวนการที่เพิ่งนำมาใช้เต็มรูปแบบครั้งแรก ขณะที่ไม่เคยใช้ที่ประเทศอื่น เนื่องจากมีความซับซ้อน ทำให้เราคาดการณ์ได้ยาก ซึ่งเราสามารถทำได้ด้วยการทำให้กระบวนการทั้งหมดราบรื่น ทันเวลา โปร่งใส และเป็นธรรมที่สุด โดย กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จะเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย ตนได้ทำหนังสือถึง กกต.เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง กกต.ก็ต้องการเปิดกว้างให้ภาคประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ได้
เมื่อถามว่า หากการเลือก ส.ว. ครั้งนี้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ก่อนเลือกครั้งหน้าต้องร่างกฎหมายใหม่หรือไม่ นายพริษฐ์ ตอบว่า ส่วนตัวหวังว่าจะไม่มีกระบวนการแบบนี้เกิดขึ้นอีก อยากให้การเลือกแบบนี้เป็นครั้งเดียวและครั้งสุดท้าย ส่วนการแก้กฎหมายในอนาคตจำเป็นต้องหยิบยกขึ้นมาถกเถียง อาจจะมี 2 โจทย์หลักๆ คือ ประเทศเราจำเป็นต้องมีวุฒิสภาหรือไม่ และหากจำเป็นต้องมีจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากล คือ การมาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่