เรื่องพระอรหันต์ (สรุปจากหลวงพ่อพุทธทาส)

ธรรมะดีๆ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2563 เรื่องพระอรหันต์
 (สรุปจากหลวงพ่อพุทธทาส)
 ถ่ายทอดโดย รศ.ดร.สุชาดา  บวรกิติวงศ์

พระโสดาบันรู้ว่าตัวเราไม่มี ของเราไม่มี แต่ยังรู้ในระดับต่ำ

พระสกิทาคามีรู้มากขึ้น

พระอนาคามีรู้มากขึ้นไปอีก

พระอรหันต์รู้ในระดับสูงสุด 

พระโสดาบันโกรธแต่หายเร็ว

ความโกรธรุนแรงมีน้อยลง โลภ โกรธ หลง ยังมีแต่น้อยลง 
ยังอยากรวยตั้งใจทำมาหากินอยู่ในกรอบของศีล

พระสกิทาคามี

 เฉยมากขึ้นในโลภ  โกรธ หลง ความรัก ทรัพย์สิน ยังมีกามราคะเล็กน้อย หายเร็ว

พระอนาคามี

ทรงอารมณ์พรมวิหารสี่เป็นปกติ 
อารมณ์เยือกเย็นเพราะเมตตาสูง หมดกามราคะ ปฏิคะ

 บทความนี้จะเน้นความเป็นพระอรหันต์

มนุษย์มีความสุขที่สุดเมื่อจิตไม่มีความกังวล ไม่มีความทุกข์ เรียกว่ามีชีวิตด้วยจิตว่าง จิตว่างเป็นจิตที่ว่างจากการยึดถือ บางคนเถียงว่าปกติจิตต้องคิด เป็นไปไม่ได้เลยที่จะว่าง ความจริงจิตคิดก็คิดไปแต่ไม่ยึด ทำจิตให้เป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง อยู่แบบไม่กังวลเพราะรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยตามกฎของธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่งว่าสิ่งนั้นเป็นกูเป็นของกูซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะมันต้องเป็นไปตามธรรมชาติของมันเสมอ เช่นเมื่อร่างกายหิวน้ำก็กินน้ำ มันเป็นอย่างนั้นตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่กูหิว เหตุปัจจัยของมันอย่างไรก็อยู่กับมันอย่างถูกต้องก็ไม่ยึดเป็นกูเป็นของกู ร่างกายที่ขาดน้ำนานก็จะส่งสัญญาณหิวน้ำก็เอาน้ำเติมให้ก็เท่านั้น ทำหน้าที่แค่ดูแลขันธ์ หรือร่างกายหิวก็เพราะไม่ได้อาหารมาระยะหนึ่งส่งสัญญาณเตือนก็เอาอาหารใส่ให้ก็มีเท่านั้น ในโลกนี้ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู มีแต่สภาวะตามเหตุปัจจัย ตามธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นของมันอย่างนั้น เป็นไปตามกฎอิทัปตยตา เป็นกระแสไม่หยุดอยู่นิ่ง ตามเหตุตามปัจจัย ทำให้ไม่มีตัวตนจริง (อนัตตา)

จิตของพระอรหันต์คงที่ ไม่มีอะไรมาปรุงได้อีก เห็นความจริงแล้วเลิกยึดทุกอย่าง (ดับไม่เหลือ) อยู่ในความว่างคือสุญตาวิหาร เช่นเวลามีแขกไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหนมาหา จิตก็คงที่อยู่ในสุญตาวิหาร เห็นทุกอย่างเช่นนั้นเอง ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ไม่มีอะไรแปลก เห็นเป็นธรรมดา สรุปคุณลักษณะพระอรหันต์ดังนี้

1. ละความพอใจไม่พอใจออกหมดแล้ว พระอรหันต์ละสักกายทิฐิได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เห็นกายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ว่างจากตัวตน เห็นขันธ์ห้าเป็นของมันอย่างนั้น มีแต่ของไม่เที่ยง เกิด เสื่อม ดับ เป็นวงจรอยู่อย่างนั้น แล้วยังโง่ไปยึดสิ่งไม่เที่ยงว่ามีตัวตนได้อย่างไร

2. ไม่มีเขาไม่มีเรา เห็นทุกคนเหมือนกันหมด พระพุทธเจ้ารักพระราหุลเท่ากับพระเทวทัต พระองค์ไม่มีตัวตนจึงไม่มีเขาไม่มีเรา ทุกคนมีแต่ความเสื่อมความดับไม่มีตัวตนอยู่จริงเหมือนกันหมด มนุษย์และสัตว์ก็เหมือนกัน หากยังมีเขาก็ย่อมต้องมีเรา แสดงว่ายังมีตัวตน ยังยึดในตัวตนอยู่ เห็นโลกนี้มีแต่รูปนาม 

มองขันธ์แบบแยกส่วน กายและจิตเป็นคนละส่วนกัน เวทนาและสัญญาก็คนละส่วนกัน เวทนาไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเพราะเวทนาเกิดดับเร็วมาก ไม่ควรยึดสิ่งเกิดดับเพราะไม่มีตัวตนอยู่จริงเหมือนพยับแดด เหมือนมีแต่ไม่มี

3. เห็นเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา อยากให้กายดับเร็วๆจะได้พบกับความสุขเสียที การมีขันธ์เป็นภาระ ปุถุชนพยายามทุกวิถีทางหลีกหนีความตายแต่พระอรหันต์ยินดีเมื่อความตายมาถึง

4. ไม่กระวนกระวาย ปุถุชนเมื่ออยากได้แล้วไม่ได้จะกระวนกระวาย หรือหากได้มาแล้วก็ยังกระวนกระวายกลัวคนอื่นแย่งไป หึงหวงในสิ่งที่ได้มา มีแต่

กระวนกระวาย พระอรหันต์ไม่กระวนกระวาย หมดตัณหา หิวเพราะร่างกายต้องการอาหารก็เอาอาหารให้ ไม่ใช่อยากกินโน่นนี่นั่น หมดความอยาก ทำเพราะต้องทำ เป็นหน้าที่ต้องทำ ไม่ใช่ทำเพราะความอยาก เป็นอิสระจากทุกสิ่ง อยู่กับทุกข์ได้แบบไม่ทุกข์

5. กายป่วยใจไม่ป่วย พระอรหันต์ทิ้งกายใจได้แล้ว เห็นกายเป็นดังท่อนไม้ท่อนฟืน เป็นสมบัติโลก ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา กายป่วยก็เป็นอย่างนั้นเองเพราะมีเหตุปัจจัยทำให้ป่วย ทำหน้าที่ดูแลให้ดีที่สุดแล้วยังป่วยก็เรื่องของมัน จะให้ตายก็ตายจะให้อยู่ก็อยู่ ไม่ใส่ใจการเจ็บป่วยจนทำให้จิตเศร้าหมอง ดั่งเช่นเห็นคนแบกกิ่งไม้ไปเผา ไม่รู้สึกอะไรเพราะกิ่งไม้นั้นไม่เกี่ยวกับเรา หากใครเอากายนี้ไปเผาก็ไม่เกี่ยวอะไรเหมือนกันเพราะท่านทิ้งกายไปแล้ว

6. จบกิจตนแล้ว มีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา งานทางโลกทำไม่มีวันหมด แต่งานทางธรรมเมื่อทิ้งกายใจได้แล้วก็จบ เห็นไม่มีตัวไม่มีตน

เป็นธรรมชาติที่เป็นความว่าง เหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมายตอนนี้เหตุการณ์เหล่านั้นอยู่ที่ไหน มีแต่ความว่าง เหตุการณ์ที่เกิดเมื่อวานหายไปไหนหมด มีแต่ความว่าง ทุกสิ่งบนโลกมีแต่ดับ เหลือแต่ความว่าง สังเกตให้ดี อีกไม่นานเราก็จะเป็นความว่างจากโลกนี้ไปเหมือนปู่ย่าตายายที่ตายให้ดูเป็นตัวอย่าง ที่สุดก็มีแต่เสื่อมและดับก็แค่นั้นเอง

7. สุญตาคือความว่างจากตัวตน ว่างคือไม่ยึด เช่น มือว่างแปลว่ามือไม่ได้ยึดอะไรไว้ จิตว่างคือจิตไม่ยึดในอะไร คำว่าไม่ยึดแปลว่าเห็นทุกอย่างเช่นนั้นเอง อย่างนั้นเอง ขณะที่เห็นอย่างนั้นเองจะไม่มีตัวตน เห็นเป็นธรรมชาติเป็นปกติอย่างนั้น เป็นจิตที่สบายที่สุด เพราะว่างจากการยึดถือ จิตจะไม่กระวนกระวาย สงบเย็น

 ที่มา
https://www.edu.chula.ac.th/node/1368
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่