JJNY : เครื่องบินพม่ารอเก้อ│กัณวีร์เตือนรบ.ตัดสินใจอย่างระวัง│โลกร้อนทำเหลื่อมล้ำเพิ่ม│รัสเซียประกาศฉุกเฉินเหตุเขื่อนแตก

เครื่องบินพม่ารอเก้อ กะเหรี่ยงไม่ปล่อยทหารเมียนมา-ครอบครัว 617 คน
https://www.matichon.co.th/region/news_4515665
 
 
กะเหรี่ยงไม่ยอมปล่อยทหารเมียนมากลับเครื่องบินที่ท่าอากาศยานแม่สอดตามที่รัฐบาลเมียนมาขอผ่านรัฐบาลไทย แต่เครื่องบินต้องตีเปล่ากลับเมียนมา
 
เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 7 เมษายน ที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด อ.แม่สอด จังหวัดตาก เครื่องบินโดยสารแบบเหมาลำ Atr 72-600 Myan Ma Airlines ได้บินมารับทหารเมียนมา ที่ชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สอด เพื่อเดินทางกลับไปยังประเทศเมียนมา
 
ทั้งนี้ หลังจากที่นายทหารเมียนมาทั้งหมดยอมมอบตัวกับฝ่ายกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) และกองกำลังปกป้องประชาชน (พีดีเอฟ) ขณะที่ฝ่ายต่อต้านได้ยึดค่ายทหาร กรมทหารราบ และที่ตั้งกองบังคับการยุทธวิธี ในพื้นที่บ้านปางกาน บ้านผาลู และในเขตเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ตรงข้ามตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด
 
ซึ่งเครื่องบินช่วยเหลือได้วางแผนจะรับทหารชุดแรกประมาณ 20 คน ตั้งแต่ระดับยศพลจัตวา, พันเอก พันโท และพันตรี พร้อมครอบครัว ประมาณ 20 คน โดยเครื่องบินได้บินมาลงรอที่ท่าอากาศยานแม่สอดประมาณเกือบ 1 ชั่วโมง แต่นายทหารเมียนมาไม่มา จึงบินกลับไปประเทศเมียนมาทันที เนื่องจากทหารเคเอ็นยู และฝ่ายต่อต้านไม่ยอมปล่อย โดยบรรยากาศในสนามบินเงียบมาก มีแต่เจ้าหน้าท่าอากาศยานไปรอช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ เพื่อดำเนินการจัดการในท่าอากาศยาน และทางสื่อมวลชน และไม่สามารถเข้าไปในท่าอากาศยานได้ เนื่องจากได้ปิดประตูด้านหน้าไว้
 
สำหรับทหารเมียนมา และครอบครัวที่จะเดินทางไปยังประเทศเมียนมามีทั้งหมด 617 คน แยกเป็นนายทหาร 67 นาย ทหารชั้นประทวน 410 คน ทหารหญิง 56 คน ครอบครัว 81 คน รวมทั้งหมด 617 คน โดยทางรัฐบาลทหารเมียนมาได้ประสานกับทางรัฐบาลไทย ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ และใช้เวลาไปรับทหารเมียนมาเป็นเวลา 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 67 จนถึงวันที่ 9 เมษายน 67



กัณวีร์ เตือน รบ.ตัดสินใจอย่างระวัง เปิดสนามบินแม่สอด ให้ รบ.เมียนมารับเชลยศึก
https://www.matichon.co.th/politics/news_4515448

‘กัณวีร์’ ระบุไทยต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวัง เปิดสนามบินแม่สอดส่งกลับเชลยศึกเมียนมา เผยทำได้ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ IHL และต้องรับมือสถานการณ์การอพยพจากเมียวดี
 
เมื่อวันที่ 7 เมษายน นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเมียนมาทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศไทย ขอส่งกลับทหารเมียนมาและครอบครัว 617 คน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบในเมืองเมียวดีทางท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด จ.ตาก
 
นายกัณวีร์เปิดเผยว่า ไทยต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวังที่จะเปิดสนามบินแม่สอดส่งกลับทหารเมียนมาที่แพ้สงคราม แม้ทำได้ตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ IHL แต่อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงและการอพยพของผู้ลี้ภัยจากเมียวดี เพราะสถานการณ์ที่อ่อนไหวบริเวณชายแดน จากกรณีทหารเมียนมาขอให้ส่งเชลยศึกและครอบครัว จำนวน 617 คน ที่แพ้สงครามกับกองกำลังชาติพันธ์ุติดอาวุธบริเวณเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง เมียนมา กลับพื้นที่ส่วนกลางประเทศเมียนมาที่เป็นพื้นที่การดูแลของทหารเมียนมา โดยผ่านการใช้ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด จ.ตาก นั้น ซึ่งไทยสามารถพิจารณาปรับใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกับการร้องขอส่งกลับเชลยศึกเมียนมาผ่านพรมแดนไทย
 
หลายคนถามว่าทำได้มั้ย และควรจะเป็นอย่างไร ถึงแม้ผมยังไม่ได้ทำงานเต็มร้อยในกรรมาธิการของสหภาพรัฐสภาโลกด้านการส่งเสริมการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แต่ขออนุญาตให้ความเห็นตรงนี้ว่า ตามกฎหมายด้านนี้ ‘ทำได้’ เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายก็เพื่อให้ความคุ้มครองต่อ ‘เชลยศึก’ (Prisoners of War-POWs) ให้ถูกละเมิดให้น้อยที่สุดและให้การละเมิดจบโดยเร็วที่สุด

โดยการที่กำหนดว่าหลังการปะทะและสงครามเสร็จสิ้นแล้ว สมควรจะต้องส่งกลับเชลยศึกโดยเร็วที่สุดโดยปราศจากความล่าช้าทุกประการ คือเราควรเห็นว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ต้องปรับใช้ในยามสงคราม” นายกัณวีร์ระบุ
 
นายกัณวีร์กล่าวยอมรับว่า ยังมีข้อกังวลอีกมาก หากไทยอนุญาต แต่ตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรมสามารถทำได้ ทั้งการถูกมอบอำนาจโดย “ฝ่ายที่ชนะ” และการเป็น “ประเทศที่เป็นกลาง” ในการดูแลและการส่งกลับเชลยศึก กฎหมายนี้จะใช้เฉพาะเมื่อสงครามเกิด ทั้งสงครามระหว่างประเทศ (international armed conflicts) และสงครามที่ไม่ใช่ระหว่างประเทศ (Non-international armed conflicts) เพียงเท่านั้น
 
หากไทยถูกร้องขอให้ช่วยในฐานะประเทศที่เป็นกลาง (neutral country) เราก็ควรทำให้เป็นไปตามเจตจำนงและเจตนารมณ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศฉบับนี้เสีย และที่สำคัญที่สุดเชลยศึกผู้ถูกส่งกลับแล้ว ต้องไม่กลับไปเป็นกองกำลังอีก นี่คือหลักการที่สำคัญของกฎหมายนี้” นายกัณวีร์กล่าว
 
ส่วนข้อกังวลที่ว่าทหารพ่ายศึกจะถูกดำเนินคดีใดๆ หรือไม่ นายกัณวีร์ระบุว่า ต้องแยกออกเป็นสองเรื่องคือ หนึ่ง ระเบียบปฏิบัติและกฎหมายภายในกองทัพเมียนมา ก็ว่ากันไปตามกฏและระเบียบภายใน ซึ่งใครก็คงไม่สามารถไปแทรกแซงได้ สอง ในขณะที่ไทยต้องรับผิดชอบดูแลเชลยศึกใดๆ ก็ตาม หากมีข้อกังวลอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับเจ้าตัวเชลยศึกเอง และเป็นการร้องขอใดๆ ตามหลักการร้องขอด้านมนุษยธรรม ไทยก็มีสิทธิเด็ดขาดในการพิจารณาตามหลักการของไทยและรวมถึงจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะเรื่อง หลักการไม่ส่งกลับ (non-refouelment) ซึ่งก็คงต้องว่าไปเป็นรายกรณี
 
สถานการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีก จึงขออนุญาตเสนอให้ไทยทำ ระเบียบปฏิบัติประจำ (รปจ.) หรือ standard operating procedures (SOPs) ด้านนี้รอไว้ได้เลย อย่างไรก็ตาม ต้องคอยดูสถานการณ์ดีๆ และต้องระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือต่อการสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงด้วย และเป็นเรื่องที่ไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือ” นายกัณวีร์ระบุ
 
นายกัณวีร์ระบุว่า นี่จึงเป็นการตัดสินใจที่ยากสำหรับรัฐบาลไทย และต้องระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือต่อการสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงด้วย และเป็นเรื่องที่ไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือ นอกจากมีผู้ลี้ภัยที่อยู่ประชิดชายแดนกว่า 6 แสนคนแล้ว สถานการณ์ในเมียวดีจะกระทบโดยตรงกับไทย ซึ่งน่าเสียดายที่ข้อเสนอการเปิด Safety Zone ระยะ 5 กิโลเมตรชายแดนเมียนมายังไม่เกิดขึ้น แต่ก็อยากให้ผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เช่นเดียวกับระเบียงมนุษยธรรมและระเบียงสันติภาพที่ต้องเริ่มทำได้แล้ว


 
โลกร้อนทำเหลื่อมล้ำเพิ่ม ‘พักหนี้-แจกเงิน’ บรรเทาความเดือดร้อนชั่วคราว คาดสิ้นปีหนี้ครัวเรือนแตะ 92% จีดีพี
https://www.matichon.co.th/economy/news_4515218

โลกร้อนทำไทย-โลกเหลื่อมล้ำเพิ่ม ประชานิยมพักหนี้-แจกเงิน บรรเทาความเดือดร้อนได้ชั่วคราว แต่ไม่ได้แก้โครงสร้าง คาดหนี้ครัวเรือนปลายปีนี้อาจพุ่งแตะ 92% ของจีดีพี เผยผลวิจันกรีนพีช พบ 6 ปีข้างหน้ากทม.กว่า 90% เสี่ยงน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุน ทำศก.เสียหายกว่า 18 ล้านล. กระทบประชากรกว่า 10 ล้านคน 
 
เมื่อวันที่ 7 เมษายน รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวนการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  และ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อนรุนแรงส่งผลกระทบต่อผลผลิตเกษตรกรรมทั่วโลกอย่างมาก เพิ่มต้นทุนภาคการผลิต ราคาอาหารโลกปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลางแจ้งโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงจนก่ออันตรายต่อสุขภาพนอกจากนี้ จากงานวิจัยขององค์กรระหว่างประเทศหลายหน่วยงานบ่งชี้ตรงกันว่า ภาวะโลกร้อนทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งรุนแรงอยู่แล้วในระบบทุนนิยมโลกเพิ่มขึ้นอีก ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากขึ้นตามลำดับ จากการข้อมูลล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา พบว่า กลุ่มคนร่ำรวยที่สุด 1% แรกในสหรัฐอเมริกา (ผู้ที่มีความมั่งคั่งมากกว่า 11 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป) ถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งกว่า 44.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คนกลุ่ม 1% นี้มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นในไตรมาสสี่ปีที่แล้วถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นผลจากการพุ่งขึ้นของราคาหุ้นที่กลุ่มคนเหล่านี้ถือครองอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา
 
สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมโลกที่มีมากอยู่แล้วถูกซ้ำเติมเพิ่มอีกจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน การเกิดอุทกภัยจากระดับน้ำทะเลหนุนสูงในแต่ละปีอาจทำให้เกิดความสูญเสียหลายสิบล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นศตวรรษ เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนเกินการรองรับของพื้นที่แผ่นดิน เป็นเหตุให้ประชากรผู้อาศัยอยู่แถบชายฝั่งต้องอพยพไปอยู่พื้นที่อื่น มีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษี ฐานะการทางคลังอันเป็นผลจากการย้ายถิ่นและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย ประชาชนต้องออกจากถิ่นที่อยู่และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเพื่อเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติโดยไม่มีทางเลือกยังเป็นบ่อเกิดแห่งวิกฤตเชิงมนุษยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีกำลังในการป้องกันชายฝั่งน้อย การเพิ่มระดับของน้ำทะเลยังส่งผลให้พื้นที่ชายฝั่งลดลง พื้นที่ของทะเลขยายใหญ่ขึ้น กระตุ้นให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศเกี่ยวกับการประมงและทรัพยากรทางทะเลทั่วโลกเป็นผลจากการอ้างสิทธิ์ทางทะเลเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ชายฝั่งใหม่ของประเทศต่างๆ
 
งานวิจัยของกรีนพีซ (Greenpeace) ได้มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) คาดการณ์ผลกระทบในพื้นที่ของประเทศไทยและประเทศอื่นๆอย่างละเอียดกว่าเดิม กรณีของไทย งานวิจัยคาดการณ์โดย AI พบว่ามีชาวไทยมากกว่า 10% ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะถูกน้ำท่วม (อันประกอบไปด้วยกรุงเทพและปริมณฑล บางจังหวัดในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ตะวันตกและบางส่วนของภาคตะวันออก) ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ตามเทคนิคเดิมก่อนหน้านี้ที่คำนวณไว้เพียง 1% โดยจุดเสี่ยงสำคัญคือเมืองหลวงอย่างกรุงเทพและปริมณฑล เมืองหลวงของไทยอาจเป็นศูนย์กลางของวิกฤตน้ำท่วมในอนาคต
 
แต่ผลกระทบทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่จะผลักดันให้ประชาชนกลุ่มยากจนดิ้นรนออกจากพื้นที่เดิมเพื่อหางานทำใหม่ และ ครอบครัวรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด บางส่วนไม่มีความพร้อมในการย้ายถิ่น นอกจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นแล้ว กรุงเทพฯและปริมณฑลยังมีสภาพเป็นดินอ่อน มีการขยายตัวของความเป็นเมืองอย่างไร้ระเบียบไร้ทิศทาง มีการทรุดตัวของแผ่นดินจากสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวนมาก อาจเผชิญน้ำไหลบ่าจากทางเหนือ จากงานวิจัยคาดการณ์อนาคตของกรีนพีซ (Greenpeace) ประเมินว่า ในอีก 6 ปีข้างหน้า (ปี พ.ศ. 2573) มากกว่า 90% ของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ตามการวิเคราะห์โดยใช้ภาพฉายอนาคต ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 512,280 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ มากกว่า 18 ล้านล้านบาท มีผลกระทบต่อประชากร 10.45 ล้านคนในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้ง ประชาชนในต่างจังหวัดที่ต้องพึ่งพารายได้จากแรงงานในกรุงเทพฯ การประเมินเบื้องต้นความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 96% ของ GDP(PPP) รวมของกรุงเทพฯ เพิ่มความเหลื่อมล้ำในประเทศให้สูงขึ้นอีก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่