JJNY : 5in1 ก้าวไกลยันไม่กดดันศาล│ก้าวไกลปูดส่วยทุเรียน│กัณวีร์ขอถอนคำพูด│วิกฤตตลาดรับสร้างบ้าน│ สหรัฐอัดฉีดยูเครนเพิ่ม

ก้าวไกล ยันไม่กดดันศาล เดินหน้าแถลง เปิดแนวทางสู้ คดียุบพรรค
https://www.matichon.co.th/politics/news_4617435
 
 
พรุ่งนี้! ’ก้าวไกล‘ ยังเดินหน้าแถลงแนวทางสู้คดียุบพรรค ย้ำ ไม่มีส่วนไหนชี้นำปชช.-กดดันศาล
 
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า ในวันที่ 9 มิถุนายน เวลา 09.00 น. ที่อาคารอนาคตใหม่ ชั้น 7 ซึ่งเป็นที่ทำการพรรค ก.ก. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะแถลงข่าวเรื่องการต่อสู้คดียุบพรรค กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคําสั่งยุบพรรค ก.ก. กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรค ก.ก.มีพฤติการณ์กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 
โดยในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมเพื่อถกกันว่า แนวทางในการวินิจฉัยจะเป็นอย่างไรนั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย คู่กรณีไม่สมควรแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีที่เป็นการชี้นําสังคมอันอาจกระทบต่อการดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลนั้น
แหล่งข่าวจากพรรค ก.ก.ยืนยันว่า ในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ นายพิธายังคงยืนยันที่จะแถลงข่าวเช่นเดิม ส่วนรายละเอียดที่จะแถลงขอเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ และย้ำว่ารายละเอียดที่นายพิธาจะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนนั้น เป็นเพียงแค่การแถลงแนวทางการต่อสู้คดีต่อสาธารณะเพียงเท่านั้น ไม่มีส่วนไหนที่จะชี้นำประชาชน หรือกดดันศาลรัฐธรรมนูญได้



ก้าวไกล ปูด ‘ส่วยทุเรียน’ หลังไลน์หลุดว่อน ให้ ตร.พื้นที่หามาเลี้ยงต้อนรับผู้ใหญ่ แนะเลิกได้แล้ว
https://www.matichon.co.th/politics/news_4617605

‘ก้าวไกล’ ชี้ ‘ส่วยทุเรียน’ เป็นแค่หนึ่งกรณีส่วยภายในวงการตำรวจ หลังไลน์หลุดออกคำสั่งให้หาทุเรียนมาต้อนรับตร.ชั้นผู้ใหญ่ มั่นใจมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ชี้เป็นธรรมเนียมที่ควรเลิกได้แล้ว สร้างภาระงานให้ตำรวจชั้นผู้น้อย-สร้างเงื่อนไขรีดไถเบียดบังประชาชน
 
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน นายธันย์ชนน ศรีอัษฎาวุธกุล ผู้ช่วยรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีข่าว “ส่วยทุเรียน” ที่ปรากฏในแชตไลน์ สภ.กันทรลักษ์ ที่มีคำสั่งให้ตำรวจและสายตรวจในสังกัดหาทุเรียนมาต้อนรับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่มาตรวจราชการ ว่า กรณีนี้ไม่ควรเป็นมาตรฐานที่ยอมรับได้ในวงการราชการใดๆ แม้จะเป็นประเพณีภายในวงการตำรวจที่ทำกันมานานเป็นปกติ รวมทั้งวงการคนในเครื่องแบบ หรือข้าราชการ แต่ในมุมหนึ่งนี่คือหนึ่งในบ่อเกิดของระบบอุปถัมภ์ที่เลวร้ายที่สุด
 
การเตรียมหาทุเรียนให้นายตำรวจผู้ใหญ่ไม่ใช่ภาระงานของตำรวจถึงขนาดที่จะต้องมีคำสั่งลงมา แม้จะเป็นคำสั่งแบบไม่ทางการ แต่ก็ไม่ใช่อะไรที่ตำรวจชั้นผู้น้อยจะปฏิเสธได้ กลายเป็นการสร้างภาระงานทับถมงานที่มีเยอะอยู่แล้ว รวมทั้งเป็นการเบียดบังเงินเดือนของตำรวจชั้นผู้น้อย หรือนำไปสู่การใช้พฤติกรรมรีดไถเพื่อให้ได้ของมา ซึ่งสุดท้ายผลของความชั่วร้ายนี้ก็ต้องมาตกอยู่กับประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย ไปจนถึงตำรวจชั้นผู้น้อยอีก
นายธันย์ชนนกล่าวต่อไปว่า ทุกคนรู้ดีว่ากรณีส่วยทุเรียนไม่ใช่กรณีเดียวที่เกิดขึ้นแน่ๆ เพียงแต่หลายกรณีที่เกิดขึ้นยังไม่ถูกเปิดโปงออกมา และการจะแก้ปัญหานี้ต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องใน 3 ระดับหลักๆ ได้แก่
 
1) ระดับผู้นำและนโยบาย ผู้บังคับบัญชาระดับสูงต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจนในการปราบปรามทุจริต กำหนดนโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยตนเอง ออกกฎระเบียบห้ามมิให้มีการเรี่ยไรหรือให้สินบนกันในองค์กร และมีบทลงโทษที่ชัดเจนหากฝ่าฝืน

2) ระดับระบบและกลไก ปฏิรูประบบการตรวจสอบและถ่วงดุลให้มีความเป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการป้องกันและตรวจจับการทุจริต เปิดช่องทางร้องเรียนให้ประชาชน ปรับปรุงสวัสดิการและค่าตอบแทนโดยเฉพาะชั้นผู้น้อยให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ จัดสรรงบประมาณอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม สร้างระบบคัดกรอง เลื่อนขั้น แต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม โปร่งใส ปราศจากระบบอุปถัมภ์
 
3) ระดับบุคลากร ปลูกฝังค่านิยมของความซื่อสัตย์ สุจริต จิตสำนึกในการเป็นข้าราชการที่ดี ตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการ จัดอบรมจริยธรรม คุณธรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ สร้างระบบจูงใจ เช่น รางวัลและยกย่องเชิดชูผู้ที่มีความซื่อสัตย์ ลงโทษผู้ที่กระทำผิดอย่างจริงจัง เด็ดขาด เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ
 
“ปัญหาการทุจริตและระบบอุปถัมภ์เป็นเรื่องที่ฝังรากลึกมานาน การแก้ไขจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้นำ หน่วยงาน และตัวบุคลากรเอง โดยต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและลงมือทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อขจัดวัฒนธรรมที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ให้หมดไปจากระบบราชการในระยะยาว” นายธันย์ชนนกล่าว



‘กัณวีร์’ ขอถอนคำพูด ติงนายกรัฐมนตรีไทย ตัดโอกาสไม่ยอมพบข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน UN
https://www.matichon.co.th/politics/news_4617450

‘กัณวีร์’ ขอถอนคำพูด ติงนายกรัฐมนตรีไทย ตัดโอกาสไม่ยอมพบข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน UN หนีคำถามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย
 
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีของไทยไม่รับนัด นายโวลเกอร์ เติร์ก (Volker Türk) ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ ที่มาเยือนกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2567 จนต้องเปลี่ยนเป็นเพียงการ ‘แวะพัก’
 
นายกัณวีร์กล่าวว่า คงต้องถอนคำพูด จากที่กำลังจะชมนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลชุดนี้ว่ามีท่าทีเปลี่ยนไปเรื่องของการต่างประเทศ กรณีการร่วมลงนามเรียกร้องการหยุดยิงในอิสราเอล-กาซา แต่มีประเด็นเรื่องการไม่รับนัดข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเกิดขึ้นอีก จึงรับไม่ได้จริงๆ กับการกระทำของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องพิธีทางการทูต และการปฏิบัติตัวในเวทีระหว่างประเทศ จึงขอถอนคำพูดที่ได้ชมไปเมื่อวานนี้
 
จากกรณีที่ ทั้ง รมว.กระทรวงการต่างประเทศ และผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลไม่ยอมพบกับข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นายโวลเกอร์ เติร์ก (Volker Türk) ระหว่างการเยือนไทยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
 
นายกัณวีร์กล่าวว่า ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะติดภารกิจอะไรเร่งด่วนเป็นเซลส์แมนที่ไหนก็ตาม สามารถมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพบปะหารือได้ จึงไม่แน่ใจว่าพิธีทางการทูตเข้าใจยากหรือไม่มีผู้แนะนำ อย่างก่อนหน้านี้ รมว.ยุติธรรมยังไปพบนายโวลเกอร์ที่ออสเตรีย ยังไปขอเข้าพบได้ เพราะเป็น protocol ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าทางข้าหลวงใหญ่ไม่ได้บินมาเฉยๆ โดยไม่บอกล่วงหน้าเพราะเป็นการเดินทางเยือนแบบทางการของผู้บริหารระดับสูงของ UN แต่ต้องลดระดับลงมาแค่ “แวะพัก
 
หรือท่านแค่กลัวที่ไม่สามารถตอบคำถามที่มันตอบไม่ได้ อาทิ เรื่องการดูแลผู้ต้องกักในเรือนจำจนทำให้มีผู้เสียชีวิต การมีสองมาตรฐานในการดูแลนักโทษ การดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง การใช้กฎหมายปิดปากเป็นว่าเล่น ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากพวกที่ยึดอำนาจ การกดปราบข้ามชาติ การผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นกำเนิดโดยไม่เคารพหลักจารีตประเพณีระหว่างประเทศ การขังลืมชาวอุยกูร์โดยไม่มีกำหนด การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่ไม่ยึดหลักมนุษยธรรมในประเทศเมียนมา การที่คดีตากใบกำลังหมดอายุความและรัฐบาลก็นิ่งเฉย ฯลฯ
 
นายกัณวีร์กล่าวว่า หากกลัวเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ตนขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีต้องเปลี่ยนจุดยืนโดยเร็วก่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนและกรอบความคิดทางมนุษยธรรม ถึงแม้ผลการทำงานของรัฐบาลไม่มีอะไรคืบหน้าเลย แต่แค่นายกรัฐมนตรียอมรับและยึดมั่นว่าจะเปลี่ยน และพูดถึงเรื่องต่างๆ เหล่านี้อย่างมีหลักการและเอาจริงเอาจัง และวางแผนเป็นโรดแมป (roadmap) อย่างมีเหตุและผลและมีตารางเวลาทำงาน ให้เห็นว่าจะดำเนินการอะไร อย่างไร และเมื่อไหร่ ตนเชื่อว่าไทยจะได้รับการสนับสนุนในการสมัครเป็นคณะมนตรีสิทธิฯ ได้อย่างดี แต่น่าเสียดายที่ไทยปล่อยโอกาสไปเสีย ไม่พอ เหยียบย่ำโอกาสอันดีนี้ด้วยเท้าของตัวเอง จึงอย่าหวังว่าจะได้รับการสนับสนุน เพราะเป็นใคร ใครก็ไม่เอา
 
นี่ยังไม่รวมกรณีที่ไทยช่วยส่งทหารเมียนมา จำนวน 33 คน ที่หลบหนีข้ามมาฝั่งไทยหลังจากฐานที่มั่นบริเวณตรงข้าม อ.อุ้มผาง ถูกตีแตก กลับไปยังมือทหารเมียนมาในฝั่งเมืองเมียวดีแล้วโดยไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ แต่เป็นข้อตกลงกันทางทหารระหว่างผู้นำกองทัพไทยและกองทัพเมียนมา ทั้งๆ ที่การส่งกลับนี้ได้ถูกคัดค้านจากทุกภาคส่วน เนื่องจากทหารทั้ง 33 คนนี้ถูกกล่าวหาว่าได้ฆ่าพลเรือนผู้บริสุทธิ์ขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงผู้หญิงท้องด้วย จึงมีข้อเรียกร้องให้ดำเนินคดีฐานเป็นอาชญากรสงคราม อย่างไรก็ตามไม่มีคำตอบใดๆ จากกองทัพไทยและในที่สุดได้มีการส่งกลับทหารเมียนมากลุ่มนี้คืน SAC เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา”นายกัณวีร์กล่าว
 
นายกัณวีร์ตั้งข้อสังเกตว่า หรือนี่คือเหตุผลทั้งหมดที่นายกรัฐมนตรีของไทยต้องหนีการพบปะกับข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพราะตอบไม่ได้ หรือไม่รู้จะตอบอะไร ถ้าไทยไม่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงท่าทีใดๆ ยังคงอยากเดินตามอดีตรัฐบาลทหาร ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม หรือยังคงสนุกอยู่ต่อการใช้ความมั่นคงนำการต่างประเทศ และเลือกที่จะเป็นเซลส์แมนวิ่งหาคนมาลงทุนอย่างเดียว
 
ท่านลองเปลี่ยนวิธีคิดบ้างครับ การทำงานเวทีระหว่างประเทศของไทยที่เป็นประเทศขนาดกลาง ก็เหมือนกับทางภาคธุรกิจที่ท่านถนัดแหละครับ ลองทำแบบ ‘less efforts, but more impacts’ หรือที่เรียกว่า ‘ลงแรงน้อย แต่ผลตอบแทนคุ้มค่า’ มันคือการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและงานมนุษยธรรมครับ ท่านจะเห็นผลที่แตกต่างทันที การค้าการลงทุนจะวิ่งหาท่าน ไม่ใช่วิ่งหนีท่านอย่างที่เป็นครับ” นายกัณวีร์กล่าว



วิกฤตตลาดรับสร้างบ้าน อสังหา กู้แบงก์ไม่ผ่านลามหนัก ราคา 2-5 ล้านมากสุด
https://www.matichon.co.th/economy/news_4616981

วิกฤตตลาดรับสร้างบ้าน อสังหา กู้แบงก์ไม่ผ่านลามหนัก ราคา 2-5 ล้านมากสุด
 
วันที่ 8 มิถุนายน นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ปี 2567 ยังไม่ค่อยดีต่อเนื่องจากไตรมาส1 สะท้อนจากบรรยากาศการเข้าชมโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่ลดลงไปพอสมควร ตอนนี้มีเข้ามาประมาณ 70-80% ปัจจัยหลักคนกังวลกับภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงและธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและทำให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อได้ง่าย
 
ซึ่งในส่วนของพฤกษามียอดรีเจ็กต์เรตหรือการถูกปฏิเสธสินเชื่อกลุ่มคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮาส์กลุ่มระดับราคา 2-5 ล้านบาทเกิน 30% และกลุ่มบ้านราคา 10-20 ล้านบาทก็มีบ้างแต่ไม่มาก แต่ไม่ได้เกิดจากธนาคารไม่ปล่อยกู้อย่างเดียว ยังเป็นเรื่องของการที่ลูกค้าเปลี่ยนใจด้วย เพราะอาจจะยังไม่มั่นใจเศรษฐกิจ” นายปิยะกล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่