ฟันธง “กนง.ลดดอกเบี้ย” ดีเดย์ 10 เม.ย.-ปม GDP โตต่ำ

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจหลายแห่ง มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 กันต่อเนื่อง โดยเป็นการ “ปรับตัวเลขลง” ทุกสำนัก

เริ่มจากกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 2.7% จากเดิมคาดไว้ 3% ซึ่งเป็นการปรับตามศักยภาพการเติบโตที่ลดลง

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการลงมาที่ 2.8% จากเดิม 3.1% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่โมเมนตัมแผ่วลง รวมถึงภาคการผลิตที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงเหลือ 2.3% จากเดิมคาดที่ 3.1% ซึ่งจะเป็นอีกปีที่ “เติบโตระดับต่ำมาก” โดยมาจาก 3 ปัจจัยหลัก การบริโภคคนไทยซบเซา การลงทุนภาครัฐทรุดตัว และการส่งออกฟื้นตัวช้า

ขณะที่ก่อนหน้านี้ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ก็มีการปรับประมาณการไปแล้ว โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ที่ระดับ 2.6% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3.7%

ด้าน Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตที่ 2.7% มีแนวโน้มฟื้นตัวเปราะบางและเติบโตได้ค่อนข้างต่ำ
ส่วนทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 2.7%

จากภาพเศรษฐกิจที่ดูท่าจะชะลอลงนี้ ทำให้แต่ละสำนักเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองด้านดอกเบี้ยนโยบายด้วย
โดย “ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ” รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจระยะสั้นโตช้า และศักยภาพทางเศรษฐกิจระยะยาวลดลง จะนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดย EIC คาดการณ์ว่า กนง.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ จาก 2.50% ต่อปี เหลือ 2%

 ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ “เรามองว่า กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมวันที่ 10 เม.ย.นี้ และอีกครั้งในเดือน มิ.ย. โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว เป็นการปรับให้เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว (Neutral Rate) ที่ต่ำลง ซึ่ง EIC ประเมินว่า Neutral Rate ของไทยได้ลดต่ำลงมาอยู่ที่ราว 2.13% จากระดับเดิม 2.52%”

“ดร.สมประวิณ” กล่าวอีกว่า การลดดอกเบี้ยมีความจำเป็น ไม่ใช่การเหยียบเบรกหรือถอนคันเร่ง แต่เป็นการสร้างบรรยากาศในการลงทุน เพื่อให้เงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ต้องทำควบคู่กับการเข้าถึงสินเชื่อ และเงินที่ได้มาต้องช่วยเรื่องลงทุนมากกว่าการบริโภค

“ตอนนี้เงินเฟ้อไม่ใช่ประเด็นที่จะทำให้ กนง.ลดดอกเบี้ย เพราะมองว่าเงินเฟ้อในเดือน พ.ค.นี้จะเริ่มกลับมาเป็นบวกแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ กนง.ต้องลดดอกเบี้ย จะเป็นเรื่องของศักยภาพของเศรษฐกิจที่ต่ำลงต่อเนื่อง จากระดับ 5% มาสู่ 3% และในระยะยาวเหลือ 2.7% ซึ่งศักยภาพหมายถึง ทั้งในแง่แรงงาน เครื่องจักร นวัตกรรม โดยรวมทำให้ผลิตภาพลดลงต่อเนื่องและลดลงมาก จึงทำให้ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง”
 
ขณะที่ “บุรินทร์ อดุลวัฒนะ” กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า กนง.น่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง จากระดับ 2.50% ต่อปี หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยแล้ว ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดในช่วงเดือน มิ.ย.นี้
“การเติบโตของเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเราต้องสร้าง Engine of Growth ใหม่ เพราะเราส่งออกสินค้าเก่า ดังนั้น ต้องปรับโมเดลการเติบโต และต้องปรับทั้งองคาพยพ”

ด้าน “จงรัก ก้องกำชัย” ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ชี้ว่า ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทย ซึ่งหักผลของเงินเฟ้อแล้ว อยู่สูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย เป็นรองแค่จีนเท่านั้น และสูงกว่าสหรัฐเกือบ 3% บ่งชี้ว่านโยบายการเงินของไทยอยู่ในภาวะที่ตึงตัวมากกว่าจุดเหมาะสม จึงประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยจะทรงตัวสูงได้ไม่นาน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสมดุลระยะยาว (R*) ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าในระยะปานกลาง

เช่นเดียวกับ “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แบงก์ชาติอาจต้องตอบในเชิงวิชาการว่า จริง ๆ แล้ว “R*” (อาร์สตาร์) หรืออัตราดอกเบี้ยสมดุลระยะยาวของไทยอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะหากเป็นไปตามที่ตนลองประเมิน คาดว่าอยู่ที่ 2-2.5% ถือว่าสูงมาก ซึ่งจะกดเศรษฐกิจให้ไม่โต

Cr. https://www.prachachat.net/finance/news-1523206

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่