คลังสั่ง 3 กรมภาษีเร่งทำยอด-2เดือนหืดจับ สรรพากรบี้ “ผู้ค้าออนไลน์” เข้าระบบ

กระทรวงการคลังสั่งการ 3 กรมภาษีเร่งเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บ เปิดข้อมูลเก็บภาษี 2 เดือนแรก “หืดจับ” รมช.จุลพันธ์ยอมรับโจทย์ยากขึ้นทุกปี มอบนโยบาย “สรรพากร” เร่งปฏิรูปโครงสร้างภาษี หลังรายได้รัฐลดลงต่อเนื่อง เผยปีงบประมาณ 2568 ตั้งเป้าจัดเก็บ 2.887 ล้านล้านบาท “ปิ่นสาย” อธิบดีสรรพากร สั่งทุกพื้นที่จัดเก็บต้อง “เข้าเป้า” ในภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นไม่ดี สั่งจับตาผู้ประกอบการหน้าใหม่ โดยเฉพาะ “ผู้ค้าออนไลน์” เข้าระบบภาษี “อธิบดีสรรพสามิต” ชงเก็บภาษีความเค็มภายในปีนี้ แจงบางอุตสาหกรรมต้องยอมสูญเสียภาษีเพื่อดึงดูดลงทุน เช่น กรณีรถ EV

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2568 (ต.ค. 67-ก.ย. 68) กระทรวงการคลังมีเป้าหมายจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.887 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 3.6% โดยกรมสรรพากรได้รับเป้าหมายจัดเก็บ 2.391 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของประมาณการรายรับปี 2568 ทั้งหมด ขณะที่กรมสรรพสามิตได้รับเป้าหมายจัดเก็บ 6.09 แสนล้านบาท และกรมศุลกากร 1.22 แสนล้านบาท

2 เดือนแรกเก็บรายได้ “หืดจับ”
สำหรับสถานการณ์จัดเก็บรายได้รัฐบาลช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ต.ค-พ.ย. 67) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 385,253 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,365 ล้านบาท หรือ 0.4% แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.3% ซึ่งการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการนำส่งเหลื่อมมาจากปีก่อนบางส่วน

ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี ในช่วง 2 เดือนแรก อยู่ที่ 391,886 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.4% แต่ยังสูงกว่าเป้าหมาย 1.3% โดยกรมสรรพากรเก็บรายได้สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 6,068 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.1% และสูงกว่าประมาณการ 2,533 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้า 0.9% กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 6,678 ล้านบาท หรือลดลง 7.9% แต่สูงกว่าประมาณการ 3,621 ล้านบาท หรือ 4.9% ส่วนกรมศุลกากรจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1,156 ล้านบาท หรือลดลง 5.5% และต่ำกว่าประมาณการ 1,273 ล้านบาท หรือ 6.1%
ปีที่แล้วหลุดเป้า 4 พันล้าน

ทั้งนี้ หากย้อนไปดูผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 พบว่า จัดเก็บได้ทั้งสิ้น 2,792,872 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,128 ล้านบาท หรือ 0.1% แต่สูงกว่าปีก่อนหน้า 4.7% ซึ่งมาจากกรมสรรพากรที่จัดเก็บต่ำกว่าประมาณการ 8,579 ล้านบาท หรือ 0.4% กรมสรรพสามิต เก็บต่ำกว่าประมาณการไป 74.324 ล้านบาท หรือ 12.4% ส่วนกรมศุลกากรจัดเก็บได้ 117,949 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,749 ล้านบาท หรือ 3.3%
ขณะที่รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ 219,506 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 44,506 ล้านบาท หรือ 25.4% และส่วนราชการอื่นจัดเก็บรายได้ 187,131 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 15,131 ล้านบาท หรือ 8.8%

“จุลพันธ์” ยอมรับโจทย์ยาก
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะกำกับดูแลกรมสรรพากรและกรมศุลกากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจัดเก็บภาษีในปี 2568 นั้น ตนได้มอบนโยบายเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องยอมรับว่าการจัดเก็บภาษีเริ่มยากขึ้นทุกปี แต่กลไกที่รัฐบาลได้มอบหมาย คือ ไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้น และไม่ให้เกิดแรงกดดันต่อภาคเอกชนและประชาชนมากเกินไป

สำหรับกรมสรรพากร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลกว่า 80% จะต้องเร่งปฏิรูปภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยอยู่ในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งประเทศที่เป็น
สมาชิก OECD ส่วนใหญ่จะมีอัตราการจัดเก็บภาษีเฉลี่ย 34% ต่อจีดีพี

รายได้ภาษีต่อ GDP ถดถอย
รมช.คลังกล่าวว่า ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนการจัดเก็บภาษีต่อจีดีพีอยู่ที่ 16.7% เท่านั้น และสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เพื่อการพัฒนาและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่ไปกับการจัดสวัสดิการให้แก่คนไทย หากรัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บรายได้ให้เพียงพอต่อรายจ่าย อาจมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับประเทศไทยในระยะยาว
“ดังนั้นจึงต้องสร้างกลไกในหลาย ๆ อย่าง ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพ และการเข้าถึงที่ง่ายขึ้นในการดำเนินการจ่ายภาษี เช่น การให้บริการ One Portal ซึ่งเรากำลังทำอยู่ ที่จะทำให้คนที่เข้าสู่การจ่ายภาษีเกิดความสะดวกแม่นยำในอนาคต”

รมช.คลังกล่าวด้วยว่า การจัดเก็บภาษีผูกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) หากการเติบโตเศรษฐกิจดี สุดท้ายการจัดเก็บจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าปี 2568 เศรษฐกิจจะดีกว่าปี 2567 โดยคาดว่าจะโตมากกว่า 3%

เก็บภาษี OECD เพิ่มหมื่น ล.
นายจุลพันธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2567 ได้เห็นชอบพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ คือ 1.พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม และ 2.พระราชกำหนดการแก้ไขพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นไปตามเกณฑ์ของ OECD ภายใต้แนวทางการดำเนินการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ หรือ Global Minimum Tax (GMT) ในอัตรา 15% และต้องส่งเงินภาษีบางส่วนที่จัดเก็บได้ให้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

“มาตรการภาษี GMT ถือว่าเป็นมาตรการที่ดี เพราะนอกจากเกิดความชัดเจนในการดึงการลงทุนแล้ว กระทรวงการคลังคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี”

สรรพากรบี้ทุกพื้นที่
ขณะที่นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 19-20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้มอบนโยบายสรรพากรพื้นที่ทั่วประเทศ โดยกำชับให้จัดเก็บรายได้ภาษีให้เป็นไปตามเป้าหมาย

“ผมให้นโยบายชัดเจนเลย ว่าต้องจัดเก็บให้ได้ตามเป้า โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก นี่เป็นนโยบายหลักข้อเดียวที่ให้ไป”
อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า กรมสรรพากรให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายใหม่ที่ประกอบธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดา โดยเฉพาะการขายสินค้าออนไลน์ (e-Commerce) เมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด มีหน้าที่ยื่นแบบซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีให้ถูกต้อง ไม่เพียงช่วยลดภาระค่าปรับและเงินเพิ่ม แต่ยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ

ขณะที่ล่าสุดหลังปีใหม่ เป็นช่วงเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อธิบดีกรมสรรพากรได้แจ้งเตือนผู้เสียภาษีว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ประจำปีภาษี 2567 ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถยื่นแบบได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th และแอปพลิเคชั่น RD Smart Tax ซึ่งมีความสะดวก รองรับการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง และจะทำให้ผู้เสียภาษีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคืนภาษีได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยการยื่นแบบทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2568 และยื่นแบบกระดาษสามารถยื่นได้ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2568
“การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างถูกต้อง จะช่วยให้ผู้เสียภาษีได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ สำหรับผู้ที่มีภาษีต้องชำระตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป สามารถขอผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวด”

กรมศุลฯตรวจเข้มสำแดงพิกัด
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2568 กรมศุลกากรยังคงเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ โดยนโยบายของนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้ให้ตรวจสอบเข้มงวดในการสําแดงพิกัด รวมถึงราคาที่ใช้ในการเป็นฐานในการคํานวณค่าภาษีอากร รวมถึงติดตามตรวจสอบหลังจากการปล่อยสินค้า ว่าสําแดงพิกัดถูกต้องเต็มพิกัดที่ได้รับการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรหรือไม่

พร้อมกันนั้นยังเข้มงวดกวดขันในเรื่องการนําเข้าและส่งออกสินค้าผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการลักลอบลำเลียงยาเสพติด สิ่งของ สินค้าผิดกฎหมายทุกชนิด อาทิ ยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ บุหรี่ กัญชา สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน (สมอ.) สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าเกษตร อาทิ ยางพารา เป็นต้น

ไล่จับสินค้ามาตรฐานต่ำ
“ปัจจุบันก็มีการส่งออกกัญชาไปประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ซึ่งมีการร้องเรียนมา เราก็ดูแลให้เต็มที่ รวมถึงขาเข้าก็มีพวกสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ราคาต่ำที่มาทําลายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ตรงนี้แล้วก็ดูเต็มที่ จับทุกวัน” นายพันธ์ทองกล่าว

อย่างไรก็ดี อุปสรรคสำหรับกรมศุลกากรยังคงมีอยู่ เนื่องจากไทยมีข้อตกลงระหว่างประเทศค่อนข้างมาก ปัจจุบันในอาเซียน อัตราภาษีนำเข้า 0% หมดแล้ว ทั้งอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Agreement), อาเซียน-ญี่ปุ่น (Framework for Comprehensive Economic Partnership between ASEAN and Japan), อาเซียน-เกาหลี (ASEAN-Korea Free Trade Agreement : AKFTA) ซึ่งอัตราอากรก็ลดหลั่นต่ำลงเรื่อย ๆ ประกอบกับมูลค่าการขยายตัวของการนําเข้าก็ไม่ได้สูงมาก ซึ่งอาจมาจากการบริโภคที่หดตัวลง ทั้งนี้ กรมก็ต้องพยายามเต็มที่

นโยบายทรัมป์มองได้ 2 มุม
สำหรับกรณีผลกระทบการค้าจากนโยบายนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ นายพันธ์ทองกล่าวว่า อาจเป็นโอกาสของไทยก็ได้ หรือเสียโอกาสก็ได้ หากมองเป็นเชิงลบ ก็คือสินค้าจีนไปขายในสหรัฐไม่ได้ จึงต้องมาขายในไทย ส่วนมองเป็นบวกก็คือสินค้ามาผลิตที่ประเทศไทยแล้วส่งไปสหรัฐแทน
“หมายถึงหากสหรัฐไม่ซื้อสินค้าจากจีน อาจจะมาซื้อสินค้าจากไทยได้ สำหรับข้อกังวลในเรื่องสินค้าจีนที่จะทะลักเข้ามาในไทย กรมศุลฯก็ตรวจเข้มสินค้า ว่าได้มาตรฐานและมีใบอนุญาตหรือไม่ พร้อมป้องกันการนำเข้าที่ผิดกฎหมาย”

ยอมเสียเม็ดเงินดึงลงทุน EV
ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 609,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่ 16% ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง โดยกระบวนการงบประมาณในบางครั้งจะมีการจัดตั้งงบประมาณก่อนที่จะดําเนินนโยบาย ฉะนั้นจึงต้องสร้างความสมดุลระหว่างมูลค่าที่จัดเก็บได้กับการสูญเสียเม็ดเงิน เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมบางอย่าง เพื่อที่จะได้เม็ดเงินเพิ่มขึ้นสําหรับในอนาคต

“ตอนนี้กรมสรรพสามิตต้องการที่จะสนับสนุนในเรื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่มีแนวโน้มที่คนจะใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งก็จะสูญเสียเม็ดเงินภาษีในส่วนนี้ผ่านมาตรการ EV 3.0 และ EV 3.5 เนื่องจากกรมต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต่อเนื่อง เรายอมที่จะเสียภาษีในส่วนนี้ ด้วยการลดอัตราภาษีสําหรับการผลิตรถยนต์ไฮบริดหรืออีวี แต่ตรงนี้จะช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาได้มหาศาล ก็ต้องดูในภาพรวม แม้ว่าก็จะเป็นความท้าทายการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต”

ชงเก็บภาษีความเค็มปี’68
นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตจะใช้นโยบายภาษีเป็นเครื่องมือในการสร้างความยั่งยืน โดยการรักษาสมดุลระหว่างรายได้และผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน เช่น ภาษีโซเดียม (ภาษีความเค็ม) โดยปัจจุบันคนไทยบริโภคโซเดียมเกินมาตรฐานสากลถึง 2 เท่า ดังนั้นเพื่อสนับสนุนให้คนไทยบริโภคโซเดียมลดลง กรมสรรพสามิตจึงเตรียมเก็บภาษีความเค็มโดยอยู่ระหว่างการศึกษาประเภทสินค้าสำเร็จรูปและกำหนดเกณฑ์ปริมาณโซเดียมที่จะจัดเก็บภาษี ซึ่งจะเป็นภาษีที่ต้องการมุ่งเน้นด้านสุขภาพประชาชนเป็นหลัก

“ภายในปี 2568 นี้ กรมสรรพสามิตจะผลักดันการจัดเก็บภาษีโซเดียมให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยรูปแบบจะเป็นอัตราภาษีขั้นบันได เช่นเดียวกันกับภาษีความหวานที่มีผลบังคับใช้แล้ว โดยจะเริ่มจากการเก็บภาษีความเค็มจากขนมขบเคี้ยว ซึ่งไม่ได้จำเป็นต่อการดำรงชีวิต” อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าว
รุกแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษี

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1727917
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่