ส่องเป้ารายได้ปีงบ68 เศรษฐกิจผันผวน… ความท้าทาย 3 ภาษี

เดินทางเข้าสู่ปีงบประมาณ 2568 อย่างไร้อุปสรรค หลังพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไปเป็นไปตามกรอบเวลา

หากย้อนกลับไปในปี งบประมาณ 2567 ถือเป็นปีที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีผลบังคับใช้ล่าช้าอย่างมาก คือช้ากว่ากำหนดราว 6-7 เดือน จนทำให้เศรษฐกิจช่วงปลายปี 2566 จนถึงต้นปี 2567 ซึมตัวลงไป
เศรษฐกิจที่ดูซึมเซา เกิดผลที่เห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐที่เป็นหัวใจสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในท้องถิ่น เมื่อไม่เกิดการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ว่าจะโครงการเล็ก อย่างทำถนนหมู่บ้าน ไปจนถึงโครงการใหญ่ ต่างส่งผลให้การจ้างงานลด กำลังซื้อหดไปตามๆ กัน
ขณะเดียวกัน สังคมไทยยังคงเผชิญปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ผนวกกับสถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้น จึงทำให้ยอดขายบ้านและคอนโด รวมทั้งรถยนต์อืดกว่าปีที่ผ่านๆ มา

⦁ลุ้นรายได้ปีงบ 67 กลับเข้าเป้า
ภาพสะท้อนที่ไปในทางเดียวกัน ปรากฏในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ดูทรงๆ ตัว เฉียดเข้าเป้าหมายการจัดเก็บรายได้มาเกือบทั้งปีงบประมาณ โดยยอดสะสมนับตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2567 รายได้รัฐบาลยังคงต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 2.28 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,621 ล้านบาท หรือ 1.2% ผลจัดเก็บ 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2566) ใกล้เคียงประมาณการ คือเกินมาเพียง 1,541 ล้านบาท คิดเป็น 0.4% และผลจัดเก็บไตรมาสแรกของปีงบ 2567 (ตุลาคม-ธันวาคม 2566) อยู่ที่ 6.23 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับประมาณการ คือ เกิดเป้าเพียง 1,621 ล้านบาท หรือ 0.3%

ขณะที่ผลจัดเก็บ 4 เดือน (ตุลาคม 2566-มกราคม 2567) อยู่ที่ 8.24 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,836 ล้านบาท หรือ 1.1% ผลจัดเก็บ 5 เดือน (ตุลาคม 2566-กุมภาพันธ์ 2567) อยู่ที่ 9.82 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2.51 หมื่นล้านบาท หรือ 2.5% ผลจัดเก็บ 6 เดือน (ตุลาคม 2566-มีนาคม 2567) อยู่ที่ 1.168 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2.78 หมื่นล้านบาท หรือต่ำกว่า 2.3%
ผลการจัดเก็บ 7 เดือน (ตุลาคม 2566-เมษายน 2567) อยู่ที่ 1.386 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 3.91 หมื่นล้านบาท หรือ 2.7% ผลการจัดเก็บ 8 เดือน (ตุลาคม 2566-พฤษภาคม 2567) อยู่ที่ 1.676 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2.62 หมื่นล้านบาท หรือ 1.5% ผลการจัดเก็บ 9 เดือน (ตุลาคม 2566-มิถุนายน 2567) อยู่ที่ 2.01 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2.61 หมื่นล้านบาท หรือ 1.3%

ผลการจัดเก็บ 10 เดือน (ตุลาคม 2566-กรกฎาคม 2567) อยู่ที่ 2.211 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2.52 หมื่นล้านบาท หรือ 1.1% และ

ล่าสุด กระทรวงการคลัง ได้เผยแพร่ ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566-สิงหาคม 2567) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 2.452 ล้านล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1.75 หมื่นล้านบาท คิดเป็นต่ำกว่า 0.7%
อย่างไรก็ดี พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุ จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลที่ดีขึ้น มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่ารายได้ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยต่ำกว่าประมาณการ 2.7% ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ เหลือเพียงร้อย 0.7% ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ กระทรวงการคลังจึงมีความมั่นใจว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบประมาณ 2567 นี้ได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

⦁งบ 68 กับเป้าหมายรายได้ที่ท้าทายกว่า
กลับมาที่ปีงบประมาณ 2568 ที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ได้มีผลบังคับใช้แล้วนั้น ในส่วนของประมาณการรายได้ สุทธิอยู่ที่ 2.887 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2567 ที่ 3.6%

หากจำแนกตามหน่วยงานที่จัดเก็บ กรมสรรพากร อยู่ที่ 2.373 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 82.1% ของงบประมาณรายรับปีงบ 2568 ทั้งหมด กรมสรรพสามิต อยู่ที่ 6.09 แสนล้านบาท สัดส่วน 21.1% กรมศุลกากร อยู่ที่ 1.22 แสนล้านบาท สัดส่วน 4.3% ส่วนรายการอื่น 1.73 แสนล้านบาท สัดส่วน 6% และรัฐพาณิชย์ 1.76 แสนล้านบาท สัดส่วน 6.1%

ทั้งนี้ อธิบดีกรมสรรพากร กุลยา ตันติเตมิท ระบุ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 นี้ (ตุลาคม 2566-สิงหาคม 2567) กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้กว่า 1.96 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 8,482 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.4% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 47,911 ล้านบาท หรือกว่า 2.5% ทั้งนี้ มั่นใจว่าสิ้นปีงบประมาณ 2567 นี้ กรมจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมาย 2.28 ล้านล้านบาท

รายได้ 11 เดือน ส่วนหนึ่งสะท้อนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่เริ่มไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา อาทิ มาตรการ “Easy E-Receipt” ที่ช่วยเหลือประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice & e-Receipt) และมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 7.7%

“ส่วนเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 2.37 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีงบมาณก่อน 4.2% อย่างไรก็ตาม การที่กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามที่กระทรวงการคลังได้มอบหมายไว้ เป็นส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางการคลังของประเทศเอาไว้ได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์” อธิบดีกรมสรรพากรระบุ

ส่วน เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุ ในปีงบประมาณ 2567 การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตได้รับผลกระทบจากมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยบรรเทาค่าครองชีพประชาชน และมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งทาง สศค.ได้ปรับลดประมาณการตามเอกสารงบประมาณให้กรมสรรพสามิตแล้ว เหลืออยู่ที่ 5.2 แสนล้านบาท จากที่ต้นปีงบประมาณอยู่ที่ 5.9 แสนล้านบาท

“ทำให้ผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในช่วง 11 เดือนแรกในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566-สิงหาคม 2567) จัดเก็บได้จำนวน 482,026 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 10.7% และสูงกว่าเป้าหมายของกระทรวงการคลัง 1.06% โดยกรมสรรพสามิตเชื่อว่าจะสามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย 5.2 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน” อธิบดีกรมสรรพสามิตระบุ

อธิบดีกรมสรรพสามิตระบุอีกว่า ส่วนเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในปีงบ 2568 อยู่ที่ 6.09 แสนล้านบาท เป็นเป้าหมายที่มีการตั้งไว้ล่วงหน้าจึงยังสูงมาก โดยความท้าทายสำคัญ ยังคงเป็นรายได้จากภาษีน้ำมัน และภาษีรถยนต์ ที่มีการเปลี่ยนผ่านจากการใช้รถยนต์สันดาปไปสู่รถอีวี

ส่วน ธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ระบุ ปีงบประมาณ 2567 กรมศุลกากรเก็บรายได้รวมทั้งสิ้น 6.24 แสนล้านบาท แบ่งเป็น กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้เอง 1.17 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 3,749 ล้านบาท หรือ 3.28% และการจัดเก็บรายได้แทนหน่วยงานอื่น จำนวน 5.06 แสนล้านบาท หลังดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่ออุดรอยรั่วไหลในการจัดเก็บภาษีอากรอย่างต่อเนื่อง
“ส่วนเป้ารายได้ปีงบ 268 ของกรมศุลอยู่ที่ 1.22 แสนล้านบาท ถือเป็นเป้าที่ท้าทายมาก ถ้าดูจากฐานเดิมปี 2567 เพิ่มขึ้นถึง 7% ซึ่งกรมศุลกากรจะพยายามบริหารจัดการให้ดี” อธิบดีกรมศุลกากรระบุ

ด้าน ธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ระบุ ในปีงบประมาณนี้ สคร.คาดว่า จะนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจเข้าคลังเกินกว่าเป้าหมาย โดยเป้าหมายการนำส่งรายได้อยู่ที่ 1.75 แสนล้านบาท คาดว่า จะนำส่งรายได้ราว 2 แสนล้านบาท

“ในรอบ 10 เดือน รายได้ที่เรานำส่งคลังอยู่ที่กว่า 1.65 แสนล้านบาทแล้ว ส่วนที่เหลือของปีอีก 2 เดือน คาดรายได้จะนำส่งเข้ามามากขึ้น ส่วนสำคัญเป็นผลจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ไม่ได้นำส่งรายได้ในช่วงโควิด ก็เริ่มกลับมานำส่ง เช่น AOT ก็นำส่งแล้ว ขณะที่ รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการและการท่องเที่ยว ก็นำส่งรายได้ดีขึ้นเช่น การประปา และไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล” ผู้อำนวยการ สคร.ระบุทิ้งท้าย

⦁จับตาเศรษฐกิจไทยปี’68
ทั้งนี้ ตามเอกสาร พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 ได้ระบุภาพรวมแนวโน้มเศรษเศรษฐกิจไทย ดังนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.2-3.2% ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วง 2.8-3.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ จากความยืดเยื้อของความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและสร้างความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งตามเอกสาร พ.ร.บ.งบปี 2568 เป็นสิ่งที่ทำไว้ล่วงหน้า จึงอาจจะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

อย่างในปี 2567 เชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมที่ถือว่าเป็นครั้งใหญ่อีกครั้ง ส่งผลให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจไม่ได้คึกคัก เพราะคนมีความกังวล ในขณะที่เศรษฐกิจโลกต่างก็ไปในทิศทางอ่อนแอลง ทั้งสหรัฐอเมริกา โดยระบบธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ก็ยอมลดดอกเบี้ยแล้ว เนื่องจากภาวะเงินได้ชะลอตัวกลับใกล้เป้าหมาย ขณะที่ ขั้วตรงข้ามอย่างจีน ก็เริ่มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว

ล่าสุด ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ (World Bank) รายงานอัพเดตเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Economic Update) โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.4% ในปี 2567 และ 3.0% ในปี 2568 ซึ่งเมื่อเทียบกับรายงานของเวิลด์แบงก์ เมื่อเดือนเมษายน 2567 มีการปรับตัวในส่วนปี 2567 ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% ส่วนปี 2568 ยังคงเดิมที่ 3.0%

ปัจจัยสำคัญมาจาก การเติบโตของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค จะลดลงจาก 4.8% ในปีนี้ เหลือ 4.3% ในปี 2568 จากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงอ่อนแอ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุนอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับความท้าทาย เรื่องสังคมผู้สูงอายุและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะขยายตัว 4.8% ในปี 2567 แต่จะชะลอตัวลงเหลือ 4.4% ในปี 2568

เวิลด์แบงก์ย้ำว่า ปัจจัยสามประการที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตในภูมิภาค ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการค้าและการลงทุน การชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนของนโยบายระดับโลกที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ ภาคเอกชน โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวต่ำที่ 2.5% ถึงแม้จะมีมาตรการกระตุ้นแล้วก็ตาม แต่ยังคงมุมมองเศรษฐกิจปี 2567 เหมือนเดิม ส่วนประมาณการจีดีพีปี 2568 ได้ปรับเหลือ 2.6% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้โต 3% และ 2.9% ตามลำดับ

เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลงส่งผลต่อภาคการผลิต ประกอบกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคที่อ่อนแรงลงค่อนข้างมาก การลงทุนภาคเอกชนและตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ลดลง

จากปี 2567 ที่สถานการณ์เศรษฐกิจยังลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอดจนจะจบปีแล้ว ต้องลุ้นต่อปี 2568 อาจจะมีอะไรเซอร์ไพรส์ขึ้นมาอีกก็ได้

เพราะฉะนั้น เตรียมรับแรงกระทบล่วงหน้าดีที่สุด!!...   อมยิ้ม01

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/economy/news_4844262

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่