จับตา นโยบายอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ?

ช่วงนี้ คดีโฮปเวลล์มีประเด็นที่น่าติดตาม ความเดิม คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดว่า ภาครัฐคือกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นฝ่ายผิดสัญญาสัมปทาน เพราะไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทก่อสร้างได้ตามสัญญา อีกทั้งภาครัฐยังได้บอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบเพราะไม่ได้ดำเนินการบอกเลิกสัญญาตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานและแจ้งความเพื่อขัดขวางไม่ให้บริษัทเข้าไปในพื้นที่ก่อสร้าง มีผลทำให้โฮปเวลล์ไม่สามารถปฎิบัติตามสัญญาได้อีกต่อไป สัญญาสัมปทานจึงเลิกกันโดยปริยาย คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ภาครัฐต้องคืนเงินที่ได้รับจากโฮปเวลล์ไปแล้ว 11,888 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 59% ของเงินกว่า 20,000 ล้านบาท ที่บริษัทได้ใช้ไปในการก่อสร้าง

                       ภายหลังที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ภาครัฐได้ขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ครั้งที่ 1 โดยอ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่แสดงให้เห็นว่าคดีขาดอายุความแล้ว แต่ทั้งศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดบอกว่าไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

                       เมื่อการขอพิจารณาคดีใหม่ครั้งที่ 1 ล้มเหลว ในเดือนตุลาคม 2563 ภาครัฐได้ใช้กระบวนการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ เริ่มจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งต่างเป็นหน่วยงานของรัฐอ้างว่า "เป็นบุคคลผู้เสียหายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213" ทั้ง ๆ ที่หน่วยงานของรัฐไม่อาจเป็นผู้เสียหายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ได้เพราะผู้เสียหายตามมาตรานี้หมายถึง “ประชาชนและเอกชน” เท่านั้นเนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรานี้เป็นบทบัญญัติเพื่อให้ความคุ้มครองประชาชนจากการถูกละเมิดโดยภาครัฐ

                       การกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษายืนยันไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าหน่วยงานของรัฐมิอยู่ในฐานะบุคคลผู้เสียหายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213ได้ จึงมีคำถามว่า ทำไมผู้ตรวจการแผ่นดินจึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย? และทำไมศาลรัฐธรรมนูญจึงรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาและวินิจฉัยทั้งๆที่เป็นคำร้องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง? มีการโจษขานกันว่ามีการสมคบกันเพื่อช่วยภาครัฐให้ไม่ต้องคืนเงินให้โฮปเวลล์  โดยมีมูลมาจากคำสัมภาษณ์ของนักการเมืองก่อนหน้านี้  ภาครัฐจึงนำเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้างในการขอพิจารณาคดีใหม่ครั้งที่ 2 การกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเช่นนี้มีนักวิชาการหลายท่านออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าวโดยเปิดเผยทั้งการเขียนบทความ การทำวิจัย การจัดสัมมนา เพราะเห็นว่าเป็นการ “ทำลายหลักนิติธรรมของประเทศ” เป็นการกระทำที่ได้ไม่คุ้มเสีย  เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมของประเทศได้มีการยื่นฟ้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 ท่านที่ลงมติรับและวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางว่ากระทำผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157  ในส่วนคดีที่ขอพิจารณาคดีใหม่ครั้งที่ 2 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้วคดีนี้จะถึงที่สุดที่ศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้หรือจะมีคดีอื่น ๆ ตามมาอีกหรือไม่

                       ในการขอพิจารณาใหม่ครั้งที่ 2 ยังทำลายหลักความมั่นคงและความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษา (Res Judicata) ซึ่งเป็นหลักสากลใช้ในนานาอารยประเทศ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก็ได้บัญญัติหลักการนี้ไว้ในมาตรา 212 วรรคสามว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวงแต่ไม่กระทบต่อคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว….”  ทุกฝ่ายต้องจับตาดู เพียงเพื่อจะไม่คืนเงินให้กับเอกชน ภาครัฐจะใช้คำพิพากษาให้อยู่เหนือบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 หรือไม่ ? ความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลซึ่งถึงที่สุดแล้วจะยังสามารถบังคับใช้ได้หรือไม่? หรือจะเป็นเพียงแค่การสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปแทรกแซงดุลยพินิจในการพิจารณาตัดสินคดีของศาลอื่นซึ่งถึงที่สุดแล้วเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่