อดีตประธานศาลปกครองสูงสุดอึดอัดใจต่อกระบวนการยุติธรรม

สรุปผลการสัมมนาในโครงการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง กระบวนการตรวจสอบศาลและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566
(ตอนที่ 1)

ผู้ร่วมสัมมนา
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญชัย แสวงศักดิ์ อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด

องค์กรต่างๆที่มีอำนาจในการตรวจสอบคนอื่น สมควรต้องได้รับการตรวจสอบด้วย ประเทศไทยต้องแยกให้ออกระหว่างกฎหมายกับการบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายไม่ได้เลวร้าย แต่คนใช้บังคับกฎหมาย บังคับใช้บ้างไม่บังคับใช้บ้าง แล้วก็ใช้บังคับไม่เหมือนกัน

ผมอยากจะหยิบยกกรณีศึกษาที่สร้างความอัดอั้นตันใจและสะเทือนใจให้แก่ตัวผมเองคือคดีโฮปเวลล์ ศาลปกครองเนี่ยเป็นศาลที่เด็ดกว่าศาลยุติธรรม ก็ต้องชี้ขาดอย่างตรงไปตรงมา ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดผิดสัญญาหรือว่าทำไม่ถูกต้องศาลก็ต้องบอกไปว่าไม่ถูกไม่ชอบ 

แต่สังคมไทยมีค่านิยมว่าเวลาคู่สัญญาเอกชนแพ้คดีถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เมื่อใดที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐแพ้คดีจะมีคำว่า “ค่าโง่” คำว่าค่าโง่เนี่ยใครโง่กันแน่ อนุญาโตตุลาการโง่ หรือศาลที่ไปบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโง่ เป็นคำที่ผมสะเทือนใจนะครับว่าแล้วก็พอมีค่าโง่มันก็กดดันให้ฝ่ายการเมืองให้รัฐบาล เมื่อรัฐแพ้ในคณะอนุญาโตตุลาการ และศาลปกครองสูงสุด กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

การยื่นคำร้องของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในกรณีของโฮปเวลล์ นอกจากจะไม่เข้าองค์ประกอบของรัฐธรรมนูญมาตรา 213 แล้ว ยังเป็นเรื่องที่พระบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้อย่างชัดเจนว่าไม่อาจนำมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้อีกด้วย

ผู้ตรวจการแผ่นดินก็รับแล้วก็ดำเนินเรื่องต่อทั้งๆ ที่ พระราชบัญญัติว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินเองก็กำกับเหมือนกันว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับเรื่องร้องเรียนที่ศาลมีคำพิพากษาด้วยคำสั่งแล้วไม่ได้ ผู้ตรวจการแผ่นดินเองก็ไม่เคารพกฎหมายที่เป็นกฎหมายของตนเอง

ผมอยากจะนำเสนอว่าการร้องตามมาตรา 213 รัฐธรรมนูญ องค์ประกอบมีอยู่ดังนี้ (1) ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องจะต้องเป็นบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งหมายถึงบุคคลธรรมดาไม่ใช่นิติบุคคลและจะต้องเป็นบุคคลภาคประชาชน เพราะว่ามันอยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพประชาชน มิใช่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นนิติบุคคลที่เป็นองคาพยพของรัฐ 

(2) ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามมาตรานี้จะต้องเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมิใช่เป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย 

(3) ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามมาตรานี้จะต้องถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ มิใช่หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้พิพากษาในคดีที่แพ้คดีในชั้นศาล 

(4) การกระทำที่นำมากล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพรัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ พระราชบัญญัติ มาตรา47 ระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่าต้องเป็นการกระทำของหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ มิใช่ ศาลปกครอง ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจทางตุลาการในการพิจารณาคดีพิพาท ในรัฐธรรมนูญจะแยกถ้อยคำชัดเจนเวลากล่าวถึงหน่วยงานของรัฐย่อมไม่หมายถึงศาล แล้วก็เรื่องที่นำมาร้องจะต้องเป็นเรื่องที่มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลอื่นหมายความว่าที่ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาคำสั่งถึงที่สุดแล้ว แต่เรื่องที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟนำมายื่นคำร้องตามมาตรานี้คือคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่พิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

(ยังมีต่อโปรดติดตามตอนที่ 2)
 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่