หรือประเทศไทย จะเป็นที่ ประเทศจมกองหนี้ เศรษฐกิจป่วย คนแก่เต็มประเทศ รายต่อไปต่อจากญี่ปุ่น ??

อะไรไม่เข้าท่า รวมตัวส่งเสียงดังๆบอกรัฐบาล เข้าไว้  ไม่งั้นเราจะเดินตามรอยญี่ปุ่นในอนาคต
ใบไม่ร่วงโรยเป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติ
แต่ต้องแตกใบผลิออกใหม่เสมอ เพื่อความอยู่รอดในฤดูต่อไป 

ปลาที่ไม่ว่ายทวนน้ำ เมื่อกระแสน้ำมา ส่วนใหญ่เป็นปลาที่ตายแล้ว

(ภาพจากใบเมเปิ้ล(ก่วมแดง)จากน้ำตกเพ็ญพบใหม่ ภูกระดึงปีที่แล้ว)



วิกฤติญี่ปุ่น ประเทศจมกองหนี้ เศรษฐกิจป่วย คนแก่เต็มประเทศ 

ปีนี้จะเป็นแรกในรอบ 40 ปีที่ GDP ของญี่ปุ่นจะตกลงมาอันดับ 4 และเยอรมนีจะก้าวขึ้นเป็นอันดับ 3 แทน
ที่เป็นแบบนี้ ไม่ใช่เพราะว่าเศรษฐกิจเยอรมนีเติบโตดี แต่เป็นเพราะว่า ค่าเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนลงมากเมื่อเทียบกับยูโร
2 ปีที่ผ่านมา
ค่าเงินเยน อ่อนค่า 20% เมื่อเทียบกับยูโร
หมายความว่า ถ้าให้เศรษฐกิจเยอรมนี และญี่ปุ่นอยู่เฉย ๆ เศรษฐกิจเยอรมนีก็จะใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น 20%
ซึ่งเรื่องจริงก็เป็นแบบนั้น เศรษฐกิจเยอรมนี และญี่ปุ่น ไม่ได้เติบโตอะไรใน 2 ปีนี้
แล้วทำไมค่าเงินเยนอ่อน ?

สิ่งที่ส่งผลต่อค่าเงินมีหลายปัจจัย
แต่หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่า ก็คือ
อัตราดอกเบี้ย.

เรามาดูอัตราดอกเบี้ย ณ เดือน ต.ค. 2023 กัน
ญี่ปุ่น -0.1%
สหรัฐอเมริกา 5.5%
เยอรมนี 4.5%

เมื่อดอกเบี้ยของประเทศเป็นแบบนี้ ก็ทำให้เงินไหลออกจากญี่ปุ่น และทำให้ค่าเงินของญี่ปุ่นอ่อนลง
แล้วทำไมญี่ปุ่นไม่ขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐอเมริกา ?
ข้อแรกเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่ได้ดีเหมือนสหรัฐฯ ถ้าขึ้นดอกเบี้ยก็จะยิ่งทำร้ายเศรษฐกิจญี่ปุ่น
แต่เหตุผลที่สำคัญก็คือ “หนี้สาธารณะญี่ปุ่น” อยู่ในระดับที่สูงมาก เมื่อญี่ปุ่นขึ้นดอกเบี้ย ก็แปลว่าภาระของรัฐบาลญี่ปุ่นในการใช้หนี้ก็จะหนักขึ้นไปอีก ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามารถรับได้กับภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
เรามาดูระดับหนี้สาธารณะกัน

ญี่ปุ่น 263% ต่อ GDP
เยอรมนี 66% ต่อ GDP
สหรัฐอเมริกา 120% ต่อ GDP

เมื่อเห็นตัวเลขนี้เราก็คงตกใจว่า ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะมหาศาล และใช่แล้ว ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะต่อ GDP “มากที่สุดในโลก”
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ถ้าญี่ปุ่นขยับดอกเบี้ยขึ้นเพียง 1% ในปีนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจะมีต้องหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยมากถึง 2.6% ของ GDP เลยทีเดียว..
พอมาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมญี่ปุ่นปล่อยให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้นจนกลายเป็นเลข 263% ได้
คำตอบแบบตรงไปตรงมาก็คือ
การที่หนี้สาธารณะของประเทศใดประเทศหนึ่งจะสูงขึ้นได้นั้น ก็เพราะว่าเป็นผลกรรมที่รัฐบาลในอดีตได้สร้างหนี้มากขึ้นมาเรื่อย ๆ
เรามาดูระดับหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นกัน

ปี 1990 หนี้สาธารณะ 65% ต่อ GDP
ปี 1995 หนี้สาธารณะ 79% ต่อ GDP
ปี 2000 หนี้สาธารณะ 126% ต่อ GDP
ปี 2005 หนี้สาธารณะ 167% ต่อ GDP
ปี 2010 หนี้สาธารณะ 198% ต่อ GDP
ปี 2015 หนี้สาธารณะ 229% ต่อ GDP
ปี 2023 หนี้สาธารณะ 263% ต่อ GDP

สังเกตได้ว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นประเทศที่จมไปด้วยกองหนี้แบบในตอนนี้ แต่ตลอด 30 ปีที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นเลือกที่จะสร้างหนี้มากขึ้น และมากขึ้น

แล้วการสร้างหนี้ของรัฐบาลญี่ปุ่น ทำอย่างไร ?

การที่คนเราจะเป็นหนี้ได้นั้น ก็คือมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ และคนนั้นต้องกู้เงิน เพื่อมาจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนเกิน
ในทำนองเดียวกันกับรัฐบาลญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นมีงบประมาณขาดดุลติดต่อกันหลายปี โดยมีรายจ่ายมากกว่ารายได้
ฝั่งรายจ่ายก็ คือ การสร้างสาธารณูปโภค ถนน สะพาน เส้นทางรถไฟ ระบบการศึกษา ระบบป้องกันประเทศ งบประมาณให้ท้องถิ่น รวมไปถึงระบบสาธารณสุข และสวัสดิการ ซึ่งเรื่องสุดท้ายเป็นปัญหาที่นับวันยิ่งรุนแรงขึ้น
เพราะโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราเกิดต่ำ มีแต่ผู้สูงอายุเต็มประเทศ รัฐบาลก็เลยต้องมีภาระบำนาญ สวัสดิการสังคม ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล เป็นสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับในอดีต
เมื่อประเทศมีวัยแรงงานลดลง และมีคนแก่มากขึ้น เศรษฐกิจก็ยากที่เติบโต และการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นโจทย์ใหญ่ของทุกรัฐบาลญี่ปุ่น
ทุกรัฐบาลอยากให้ญี่ปุ่นกลับมารุ่งโรจน์เหมือนเดิม..
แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจก็หมายถึงการ ทำให้ภาษีอยู่ในระดับต่ำ เมื่อภาษีน้อย รายได้ของรัฐบาลก็น้อย และต้องทำให้เป็นงบประมาณขาดดุล ซึ่งเป็นวงจรหายนะ ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน
ตอนนี้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีหน้าสาธารณะต่อ GDP มากที่สุดในโลก และมันไม่หยุดอยู่แค่นั้น
ถ้าการเติบโตของหนี้สาธารณะญี่ปุ่นยังเป็นอัตรานี้ต่อไป ภายใน 10 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะญี่ปุ่นจะแตะระดับ 300% ต่อ GDP..
แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศล้มละลายหรือไม่ ?
ข้อแรก ญี่ปุ่นคงจะไม่ล้มละลาย เพราะเจ้าหนี้ของญี่ปุ่น ส่วนใหญ่คือธนาคารกลางญี่ปุ่น และประชาชนญี่ปุ่นด้วยกันเอง และคนที่จะได้รับผลกระทบของเรื่องนี้ก็คือเจ้าหนี้เหล่านั้นเอง..
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ วิธีการกู้เงินของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น ญี่ปุ่นจะออกพันธบัตรมาให้ สถาบันการเงิน และประชาชนในประเทศซื้อ ซึ่งช่วงหลังธนาคารกลางญี่ปุ่นก็เข้ามาร่วมซื้อพันธบัตรในตลาดด้วย
รัฐบาลได้เงินก้อน ส่วนคนซื้อพันธบัตรก็ได้ดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่รัฐบาลกู้ เมื่อครบกำหนดก็รอรับเงินต้นคืน
ซึ่งคนญี่ปุ่นชอบซื้อสินทรัพย์ทางการเงินปลอดภัยเก็บไว้อยู่แล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลจึงสามารถกู้เงินได้เรื่อย ๆ ใน อัตราดอกเบี้ยต่ำ
แล้วญี่ปุ่นมีวิธีอย่างไรที่จะลดหนี้ ?
วิธีการลดหนี้ของญี่ปุ่น ที่หลายคนอาจคิดไม่ถึงก็คือ ทำให้ประเทศเกิด “เงินเฟ้อ”..
ถ้าเราตามข่าว รัฐบาลญี่ปุ่นมีความพยายามอย่างมากที่จะทำให้ประเทศตัวเองมีเงินเฟ้อ โดยให้เหตุผลว่าเมื่อเงินเฟ้อแล้ว เศรษฐกิจจะคึกคักกว่าสภาพที่เศรษฐกิจไม่มีเงินเฟ้อ
ซึ่งในปีนี้ก็เป็นดังที่รัฐบาลอยากให้เป็น เงินเฟ้อญี่ปุ่น อยู่ในระดับ 3% สาเหตุหลัก ๆ ก็มาจากราคาพลังงาน ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศไม่มีทรัพยากรพลังงาน เลยต้องนำเข้าเป็นหลัก

ในมุมของคนญี่ปุ่น
เมื่อเงินเฟ้อของประเทศ 3%
แต่ฝากเงินได้ 0%
แปลว่าถ้าเราฝากเงินในธนาคารญี่ปุ่น จะเสมือนว่า เงินหายไปปีละ -3% ตัวเลขนี้ในศัพท์การเงินจะเรียกว่า Real Interest Rate
และนี่ก็เป็นสาเหตุที่เงินทยอยไหลออกจากญี่ปุ่น และทำให้ค่าเงินญี่ปุ่นอ่อนลง

และเมื่อญี่ปุ่นต้องนำเข้าพลังงาน ถึงแม้ราคาพลังงานจะอยู่ที่เดิม แต่เมื่อค่าเงินอ่อน ทำให้ต้องใช้เงินเยนญี่ปุ่นมากขึ้นในการจ่ายค่าพลังงาน และพลังงานเป็นต้นทุนของสินค้าบริการทุกอย่าง เงินเฟ้อของญี่ปุ่นจึงสูงขึ้น
เมื่อราคาสินค้าบริการญี่ปุ่นสูงขึ้น GDP ในรูปเงินเยนญี่ปุ่นก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย และรัฐบาลก็อาจเก็บภาษีได้ตัวเลขที่เฟ้อตามไปด้วย
ถึงตรงนี้เราเห็นอะไร ?

ฝั่ง GDP จะตัวเลขสูงขึ้น แต่ฝั่งหนี้ เงินต้นจะ fix อยู่ที่เดิมตามมูลค่าเงินที่กู้
ดังนั้นเมื่อญี่ปุ่นทำให้เกิดเงินเฟ้อ รัฐบาลจะเสมือนมีหนี้ต่อ GDP น้อยลง
พูดง่าย ๆ คือ ญี่ปุ่นตั้งใจลดภาระหนี้ด้วยการทำให้เงินตัวเองด้อยค่าลง
และผู้เสียประโยชน์ในเกมนี้ก็คือคนญี่ปุ่นที่มีเงินฝากแล้วได้ดอกเบี้ยต่ำ ในภาวะที่มีเงินเฟ้อนั่นเอง..
และมันอาจสรุปได้ว่า สิ่งที่คนญี่ปุ่นกำลังเจออยู่ก็คือ ทำงานเพื่อได้เงิน โดยที่เงินนั้นด้อยค่าลงทุกวัน..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่เราอาจยังไม่รู้

ตอนนี้ประเทศไทยอาจดำเนินรอยตามญี่ปุ่น ในยุคปี 1990 ที่มีระดับหนี้สาธารณะใกล้เคียงกัน ที่ประมาณ 60%
ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะมีคนแก่เต็มประเทศ
หนี้สาธารณะ ไทยกำลังพุ่งสูงขึ้น จากนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่ล้วนแล้วแต่อยากระตุ้นเศรษฐกิจ และอยากให้สวัสดิการแก่ทุกคนในประเทศ ซึ่งก็ต้องแลกมาด้วยการก่อหนี้สาธารณะ
ประเทศไทยกำลังไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจก็ยังไม่ค่อยจะดีนัก และการขึ้นดอกเบี้ยก็อาจเป็นภาระต้นทุนการเงินทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล
ญี่ปุ่นหลุดจากกับดักนี้ไม่ได้เลยมา 30 ปีแล้ว และประเทศไทยอาจกำลังเดินเข้าสู่กับดักนี้

ลงทุนแมนค้นหาจากใน ChatGPT ว่าญี่ปุ่นเดินมาถึงจุดที่เป็นประเทศที่มีนโยบายสาธารณะต่อ GDP มากที่สุดในระดับ 263% ได้อย่างไร
หนึ่งในคำตอบที่น่าสนใจคือ ในระหว่าง 30 ปีที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นไม่มีกลุ่มคนจำนวนมากพอที่จะไปค้านนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้..
คนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวจะทราบดีว่า ชีวิตมันลำบากขนาดไหน.. ทำงานเก็บเงินแต่ต้องเอาเงินนั้นจ่ายหนี้หมด คงเป็นชีวิตที่ไม่สบายนัก แต่ประเทศญี่ปุ่นกำลังเป็นแบบนั้น..

หนี้สาธารณะญี่ปุ่น 263% ต่อ GDP
หนี้สาธารณะเยอรมนี 66% ต่อ GDP

ตัวเลขนี้เป็นเคล็ดลับที่ทำให้วันนี้เยอรมนีมี GDP แซงญี่ปุ่นได้
ประเทศไทย อยากเป็นญี่ปุ่น หรือ เยอรมนี
ก็คงขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทย นับต่อจากนี้ และรวมถึงประชาชนในประเทศเองด้วย
ถ้าไม่มีกลุ่มคนจำนวนมากพอแบบที่ ChatGPT กล่าว
อีก 30 ปีข้างหน้า ชื่อบทความที่ว่า ประเทศจมกองหนี้ เศรษฐกิจป่วย คนแก่เต็มประเทศ ก็อาจจะไม่ใช่แค่ประเทศญี่ปุ่น เพียงประเทศเดียว..

อ้างอิงจาก page /โดย ลงทุนแมน
https://www.facebook.com/longtunman
(แก้คำผิด)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่