ถอดรหัสที่ดินรุกป่า สะเทือนถึง ‘แม่และพี่สาว’ อย่างไร? อ่านระหว่างบรรทัด สันติสุข มะโรงศรี

กระทู้ข่าว
เป็นอันว่า ที่ดินในครอบครองของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ น.ส.3 กทั้งสองแปลง ในพื้นที่ จ.ราชบุรี ตั้งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี 

และคำสั่งเพิกถอน น.ส.3 ก ทั้งสองแปลงนั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
 
ตามแนวคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 2218/2565 คดีหมายเลขแดงที่ 1839/2566
ถอดรหัสกรณีที่ดินรุกป่า มีประเด็นน่าสนใจ ติดตามต่อไป ดังนี้ 

1. ที่ดินรุกป่าสงวนแห่งชาติ
ศาลปกครองกลางชี้ชัดว่า จากการตรวจสอบตำแหน่งที่ดินของหน่วยงานต่างๆ ตามหลักวิชาการที่ดินประกอบกับเมื่อพิจารณาจากแผนที่แสดงตำแหน่งแปลงที่ดิน มาตราส่วน1 : 30,000 ระวาง 4836 II 5006 แล้ว

เห็นว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3 ก) เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ของนายธนาธร อยู่ในแนวเขตที่ดินซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2521 ได้กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ป่าไม้ถาวร “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี” หมายเลข 85 และต่อมาได้มีการประกาศกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี” ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,069 (พ.ศ.2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 

ซึ่งต้องห้ามมิให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3 ก) ตามข้อ 3 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2497) และข้อ 8 (2) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออกตามความพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 จึงเป็นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย  

คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2565 ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3 ก) เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ของนายธนาธร จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พูดง่ายๆ คือ ที่ดินนั้น รุกป่าจริงๆ   

2. ศาลปกครองกลางให้กรมที่ดินจ่ายค่าเสียหายแก่นายธนาธร เพราะเหตุใด?
คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ชี้ว่า นายธนาธร เป็นบุคคลภายนอกได้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้รับความเสียหาย 

นายอำเภอจอมบึง เป็นผู้ดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) ไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง ความรู้ความชำนาญและความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินว่าเป็นที่ดินที่ต้องห้ามออก น.ส. 3 ก ตามกฎหมาย ศาลจึงให้กรมที่ดินจ่ายค่าเสียหายทั้งสิ้น 4,912,311 บาท 

เหตุที่ศาลปกครองกลางให้หน่วยงานรัฐจ่ายค่าเสียหายให้นายธนาธร ทั้งๆ ที่ ครอบครองที่ดิน น.ส.3 ก ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เนื่องจากเชื่อว่านายธนาธรซื้อมาโดยสุจริต ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า นายธนาธรรู้หรือควรรู้ว่าที่ดินอยู่ในเขตป่า  

3. ประเด็นนี้ คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ขัดแย้งกับแนวทางของตุลาการผู้แถลงคดี
ก่อนหน้านี้ รายงานข่าวระบุว่า ตุลาการผู้แถลงคดี (เป็นตุลาการนอกองค์คณะ แถลงความเห็นส่วนตนเพื่อประกอบการพิจารณา) เสนอความเห็นว่า การเพิกถอน น.ส.3 ก นั้นชอบแล้ว และยังชี้ด้วยว่า 

“...ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 อ้างว่า ตรวจสอบในสารบบที่ดิน น.ส.3 ก เลขที่ 159 ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท ร. ซึ่งเป็นผู้ขาย กับ นาย ส. ผู้ซื้อต่างได้รับทราบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ  อาจมีการเพิกถอนน.ส. 3 ก ที่ดินบริเวณนี้ได้  โดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้รับทราบและลงชื่อในบันทึกถ้อยคำฉบับวันที่ 12 ก.ย. 2528 ไว้ และนายธนาธรก็ไม่ได้โต้แย้งข้อมูลนี้ 

จึงฟังได้ว่า นาย ส. ขณะซื้อที่ดิน น.ส.3 ก แปลงพิพาทจาก บริษัท ร. รู้อยู่แล้วว่า ที่ดินอยู่เขตป่าสงวนแห่งชาติ อาจถูกเพิกถอน น.ส. 3 ก และตามหลักการซื้อที่ดินแปลงใกล้เคียงที่มีการออกน.ส. 3 ก วิญญูชนย่อมรู้ว่ามีโอกาสที่ที่ดินจะถูกเพิกถอน เมื่อนาย ส. รู้ข้อมูลดังกล่าว แต่ยังซื้อที่ดิน เท่ากับนาย ส. สมัครใจ และยอมรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเองความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงไม่ถือว่าเป็นผลมาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่   

ต่อมา นาย ส. ได้ขายที่ดินให้นายธนาธร แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายธนาธร รับรู้ว่าที่ดิน น.ส.3 ก ดังกล่าวอาจถูกเพิกถอนได้ แต่นาย ส. ทำงานมีตำแหน่งบริหารในกลุ่ม บริษัทไทยซัมมิทของครอบครัวนายธนาธร ซึ่งโดยปกติวิสัยของพนักงานบริษัทต้องไม่หลอกลวง ปกปิดข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญที่จะทำให้เกิดความเสียหายจาการซื้อที่ดินดังกล่าวได้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้ไม่น่าเชื่อว่า นายธนาธรจะซื้อที่ดินนี้มาโดยสุจริต 

ดังนั้น การที่ รองอธิบดีกรมที่ดิน มีคำสั่งเพิกถอน น.ส. 3 ก แปลงที่พิพาท จึงไม่ถือเป็นการละเมิดต่อนายธนาธร และหน่วยงานรัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายให้…”
ข้อมูลเพิ่มเติม ทราบว่า นาย ส. เป็นกรรมการบริษัทในเครือไทยซัมมิท และยังเคยบริจาคเงิน 7.5 ล้านบาท ให้แก่พรรคอนาคตใหม่ ยอดเงินบริจาคเดือนธ.ค. 2562  

แต่ประเด็นนี้ คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ระบุว่า
“...เมื่อพิจารณา บันทึกถ้อยคํา (ท.ด.๑๖) ลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๒๘ ระบุว่า เป็นบันทึกถ้อยคําระหว่าง นาย ช.เจ้าของที่ดินเดิมกับบริษัท ร. โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ระบุ ข้อความว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์(น.ส. ๓ ก) เลขที่ ๑๕๙ เป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งอาจมีการเพิกถอนหนังสือรับรองการทําประโยชน์ในบริเวณนี้ได้ แต่เมื่อบริษัท ร. ได้จดทะเบียนขายรวมสองแปลงให้แก่ นาย ส. เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๔ และนาย ส. ได้จดทะเบียนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส. ๓ ก) เลขที่ ๑๕๘ และเลขที่ ๑๕๙ รวมสองแปลงให้แก่ผู้ฟ้องคดี (นายธนาธร)เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ไม่ปรากฏว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้จัดทําบันทึกถ้อยคํา (ท.ด. ๑๖) หรือ แจ้งด้วยวิธีการอื่นใดเพื่อให้นาย ส. หรือผู้ฟ้องคดี (นายธนาธร) ทราบว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส. ๓ ก) เลขที่ ๑๕๘ และเลขที่ ๑๕๙ เป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งอาจมีการเพิกถอนหนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส. ๓ ก)ในบริเวณนี้ได้ในภายหลังเหมือนดังที่ปรากฏในบันทึกถ้อยคํา (ท.ด. ๑๖) ลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๒๘ 

ศาลจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า นาย ส. และผู้ฟ้องคดี (นายธนาธร)ผู้ซื้อที่ดินรายต่อมาจากบริษัท ร. ทราบว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ยังอาจถูกเพิกถอนตามบันทึกถ้อยคํา (ท.ด. ๑๖) ลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๒๘ ได้ ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จึงไม่อาจรับฟังได้…”

4. อัยการต้องอุทธรณ์ เพื่อปกป้องผลประโยชน์แผ่นดิน
ประเด็นว่านายธนาธรรู้หรือควรรู้ว่าที่ดินอยู่ในป่าหรือไม่? ยังมีข้อมูล ข้อเท็จจริง แนวทางข้อกฎหมายที่ฝ่ายหน่วยงานรัฐสามารถอุทธรณ์ต่อสู้ต่อไปได้อย่างแน่นอน 

ดังตัวอย่างข้อมูลแนวทางตามที่ตุลาการผู้แถลงคดีว่าไว้
และน่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติม จากการตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานข้อเท็จจริง และมูลความผิดในคดีอาญาที่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ โดยศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.)โดยนายอดิศร นุชดำรงค์ อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ และนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ พร้อมคณะทำงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รวบรวมร้องทุกข์กล่าวโทษ จนเป็นคดีอาญา 

ซึ่งขณะนี้ สำนวนคดีอาญาคาอยู่ในชั้นอัยการภาค 7 
เพื่อชี้ให้ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาว่า นายธนาธรไม่รู้หรือควรรู้ว่าที่ดินอยู่ในเขตป่า จริงหรือไม่? 

ประการสำคัญ อย่าลืมว่า น.ส.3 ก 2 แปลงที่นายธนาธรครอบครองนั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันติดกัน หรือใกล้เคียงกันกับที่ดิน น.ส.3 ก ที่แม่และพี่สาวของนายธนาธรครอบครองอยู่ โดยทั้งแม่และพี่สาวของนายธนาธรต่างลงนามบันทึกรับรู้ทำนองว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนอาจถูกเพิกถอนได้ แล้วนายธนาธรจะไม่รู้หรือควรรู้จริงหรือไม่? 

การตรวจสอบของกรมป่าไม้ พบว่า นางสมพรจึงรุ่งเรืองกิจ น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายธนาธรถือครอง น.ส.3 ก ออกโดยมิชอบ ครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี จ.ราชบุรี จำนวน 2,154-3-82 ไร่โดยเป็น น.ส.3 ก รวม 60 ฉบับ ในพื้นที่ ต.รางบัวต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี แบ่งเป็น 

1.น.ส.3 ก ในชื่อ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ จำนวน 53 ฉบับ เนื้อที่ 1,940-3-93 ไร่ 

2.น.ส. 3 ก ในชื่อ น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจพี่สาวนายธนาธร จำนวน 5 ฉบับ เนื้อที่ 132-0-22 ไร่ 

3.น.ส.3 ก ในชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จำนวน2 ฉบับ เนื้อที่ 81-3-67 ไร่ 

โดยปรากฏว่า ทั้งกรณีของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจและกรณีน.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ มีบันทึกถ้อยคำที่ผู้ซื้อที่ดินกับผู้ขายที่ดิน รับทราบต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ทำนองว่าน.ส.3 ก อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อาจถูกเพิกถอนได้ภายหลัง แต่ยืนยันจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่ดิน
บันทึกถ้อยคำ ของ น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ วันที่ 19 มิ.ย. 2540 ระบุว่า 

“ตามที่ข้าพเจ้าทั้งสองฝ่ายได้ยื่นขอจดทะเบียนขายที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ ข้าพเจ้าได้ตรวจบริเวณที่ดินแปลงนี้จากระวางรูปถ่ายทางอากาศ หมายเลข 4836 // แผ่นที่ 104 ซึ่งในระวางฯ ระบุว่า ที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งยเลข 85 และเจ้าหน้าที่แจ้งให้ข้าพเจ้าทั้งสองฝ่ายทราบแล้วว่า หลักฐานน.ส.3 ก ฉบับดังกล่าว อาจออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งต่อไปทางราชการอาจดำเนินการแก้ไขหรือเพิกถอน น.ส.3 ก ได้ซึ่งทำให้การซื้อขายที่ดินครั้งนี้เป็นโมฆะ ข้าพเจ้าทั้งสองฝ่ายทราบและเข้าใจดีแล้วแต่ข้าพเจ้าขอยืนยันให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนขายที่ดินให้ข้าพเจ้าครั้งนี้ได้ หากเกิดการเสียหายใดๆ ขึ้นเกี่ยวกับการนี้ ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้นไม่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด” (กรณีนางสาวชนาพรรณ) 

ประการสำคัญ... นางชนาพรรณรับรู้ตามบันทึกตั้งแต่ 19 มิ.ย.2540 

ส่วนนายธนาธรซื้อที่ดินสองแปลงจากนาย ส. กรรมการเครือไทยซัมมิท เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2543
นายธนาธรตามมาซื้อภายหลัง แม้นายธนาธรจะไม่ได้เซ็นบันทึกคล้ายกัน แต่ที่ดินอยู่ในบริเวณเดียวกันติดกัน ใกล้กันกับพี่สาวและแม่ จะปกปิดข้อมูลกันหรือไม่? ย่อมรู้หรือควรรู้หรือไม่? ตามความเข้าใจของวิญญูชน? 

4. อัยการ คือ ทนายแผ่นดิน
สุดท้าย เห็นว่า อัยการ ในฐานะทนายแผ่นดินมิใช่ทนายปกป้องผลประโยชน์ของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ
ควรต้องต่อสู้ต่อไปในชั้นศาลปกครองสูงสุดอย่างแน่นอน 

เพื่อมิให้หน่วยงานรัฐต้องจ่ายเงิน 4.9 ล้านบาท แก่นายธนาธร
ซึ่งหากยอมพ่ายแพ้ไป ก็จะเปิดทางให้นายธนาธรและพวก นำไปใช้อ้างอิงต่อสู้คดีอาญา ที่ยังคาอยู่ในชั้นอัยการภาค 7 อีกด้วย นั่นจะเกิดครหารุนแรงต่อสถาบันอัยการอย่างแน่นอน 

สันติสุข มะโรงศรี
https://www.naewna.com/politic/columnist/56540
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่