JJNY : 5in1 ศก.ซึม ลูกหนี้ยิ่งกระอัก│พีมูฟปักหลัก│‘ชัยธวัช’ชี้‘หมอพรทิพย์’ถูกไล่│จับตาพายุ│น้ำแข็งรอบแอนตาร์กติกลดต่ำลง

เศรษฐกิจซึม ลูกหนี้รหัส 21 ยิ่งกระอัก ไตรมาส 2/66 หนี้เสีย 3.7 แสนล้าน ‘บ้าน-รถ’ มากสุด
https://www.matichon.co.th/economy/news_4209402
 
 
‘กสิกรไทย’ เผยเศรษฐกิจซึม ห่วงลูกหนี้กลุ่มโควิดอาการหนัก ทำหนี้เสียโตพุ่ง 40%
 
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการและ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเป็นสิ่งที่ยังเป็นน่ากังวล ซึ่งข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) โดยเฉพาะแนวโน้มการเร่งตัวของหนี้รหัส-21 หรือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน อันเนื่องมาจากสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น โควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ ในไตรมาสที่ 2/2566 (เดือนมกราคม-มิถุนายน) มีอัตราเร่งตัวเพิ่มขึ้นถึง 40% โดยมูลหนี้ปัจจุบันอยู่ที่ 3.34 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2.35 หมื่นล้านบาท
 
ขณะที่พิจารณาเป็นรายเดือน หนี้เสียมีอัตราเร่งตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% โดยเดือนมิถุนายนตัวเลขอยู่ที่ 3.34 หมื่นล้านบาท และในเดือนกรกฎาคมอาจเพิ่มขึ้นเป็น 3.6 หมื่นล้านบาท เบื้องต้น คาดว่าทิศทางจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแออยู่ สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวต่อเนื่อง
 
นายบุรินทร์กล่าวว่า มองไปข้างหน้าแนวโน้มหนี้เสียยังเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกับลูกหนี้ชั้นดี หรือลูกหนี้ที่ก่อนจะเป็นลูกหนี้รหัส 21 สะท้อนว่าสภาพเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่ต้องการ ทำให้คนที่มีวินัยทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้ได้ต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นความน่ากังวล โดยในอนาคตนโยบายรัฐบาลอาจต้องเข้ามาช่วยคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น
 
มาตรการของรัฐอาจจะไม่ใช่มาตรการพักหนี้ แต่จะเป็นมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับกลุ่มลูกหนี้รหัส 21 เพราะเป็นกลุ่มที่เจอวิกฤตโควิดจึงทำให้เป็นปัญหา และที่ผ่านมาชำระหนี้มาโดยตลอด ดังนั้น รัฐต้องช่วยกลุ่มนี้เป็นหลัก เพราะไม่ได้เป็นลูกหนี้ที่มีปัญหามาตั้งแต่แรก” นายบุรินทร์กล่าว
 
ทั้งนี้ หนี้เสียของลูกหนี้ รหัส 21 โดยภาพรวม ณ ไตรมาส 2/2566 มีหนี้เสียอยู่ที่ 3.7 แสนล้านบาท คิดเป็นจำนวนรายลูกหนี้ 3.4 ล้านคน และมีจำนวนบัญชีอยู่ที่ 4.9 ล้านบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อที่อยู่อาศัย มูลหนี้อยู่ที่ 5.7 หมื่นล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ 3.34 หมื่นล้านบาท สินเชื่อบัตรเครดิต 2 พันล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคล 8.7 หมื่นล้านบาท สินเชื่อเพื่อการเกษตร 6.93 หมื่นล้านบาท และอื่นๆ 1.24 แสนล้านบาท
 
น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า มาตรการที่รัฐบาลอาจเลือกเลือกใช้การพักชำระหนี้กลุ่มเช่าซื้อรถยนต์มองว่าไม่ได้ช่วยลูกหนี้มากนัก เนื่องจากรูปแบบของมาตรการ หากมีการพักชำระหนี้ 3 ปี จะทำให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้ได้ยากขึ้น หรืออาจทำให้ระยะเวลาการชำระหนี้ยาวออกไปจากเดิม โดยปกติช่วงการชำระหนี้ของสินเชื่อรถยนต์สูงสุดที่ 6 ปี หากยืดหนี้ออกไปจะปิดหนี้ช้าลง อีกทั้งถ้าจบมาตรการลูกหนี้เสี่ยงจะนำเงินมาชำระสมทบในช่วงที่หายไปยากขึ้น ซึ่งสิ่งที่สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้เหมาะสมควรจะเป็นมาตรการปรับโครงสร้างหนี้
 
ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลเลือกใช้มาตรการพักชำระหนี้โดยไม่มีมาตรการอื่นเข้ามาช่วยรองรับ เชื่อว่ากลุ่มผู้ให้สินเชื่อ ทั้งสถาบันการเงิน และไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ระบบธุรกิจอาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการหยุดรายได้ของธุรกิจในส่วนนี้ไป โดยเฉพาะกลุ่มนอนแบงก์หลายแห่งหันมารุกตลาดเช่าซื้อรถยนต์มากขึ้น เนื่องจากสามารถสร้างรายได้จากดอกเบี้ยที่มีอัตราอยู่ในระดับสูงได้
 
หากมีการพักหนี้กลุ่มรถยนต์อาจทำได้ในวงจำกัด หรือทำได้ในกลุ่มลูกหนี้รหัส 21 แต่มองว่าไม่ควรทำ เพราะการพักหนี้อาจทำให้ลูกหนี้ขาดวินัยทางการเงิน และสุดท้ายการนำเงินมาชำระหนี้จะยากขึ้น ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้เป็นเรื่องที่ควรทำมากกว่า เพราะลูกหนี้ยังอยู่ในระบบการชำระหนี้ได้ต่อเนื่อง” น.ส.ธัญญลักษณ์กล่าว



พีมูฟ ประกาศปักหลักหน้าทำเนียบ ครั้งแรกในรัฐบาลเศรษฐา หลังถูกเมินข้อเสนอ
https://www.khaosod.co.th/politics/news_7893732
 
พีมูฟ แถลงการณ์ ปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบ ครั้งแรกในรัฐบาลเศรษฐา หลังถูกเมินข้อเสนอ ส่อสืบทอดแนวนโยบายรัฐบาล คสช.
 
วันที่ 1 ต.ค. 2566 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ออกแถลงการณ์ เรื่อง ประกาศปักหลักชุมนุมครั้งแรกในรัฐบาล ‘เศรษฐา’ ผลักดันนโยบาย 9 ด้าน เพื่อที่ดิน เสรีภาพ ประชาธิปไตย เป็นเวลา 12 ปี นับแต่การก่อเกิดขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายประชนคนจนจากทุกภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายของรัฐในด้านที่ดิน ที่อยู่อาศัย และการจัดการทรัพยากร ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาเราได้ขับเคลื่อนเรียกร้องการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ผ่านความเจ็บปวด สูญเสีย ถูกกดขี่อยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ถูกบีบให้เป็นประชาชนผู้ ‘ไร้สิทธิ’ ใน ‘รัฐอภิสิทธิ์ชน’ และปัญหานั้นหนักหนาที่สุดในช่วง 9 ปีในรัฐบาลเผด็จการ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
 
อย่างไรก็ตาม เราได้หล่อเลี้ยงความเชื่อมั่นและศรัทธาของเราในนามประชาชนคนรากหญ้าที่ลุกขึ้นต่อสู้ทวงสิทธิอันพึงมีของเราจากกลุ่มผู้มีอำนาจ ดอกผลแห่งการเคลื่อนไหวกว่าทศวรรษของเราคือข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 ด้าน อันปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นแนวทางสู่การสร้างสังคมที่เป็นธรรม เท่าเทียมกันของคนทุกกลุ่ม
 
และหลังการจัดตั้งรัฐบาล นำโดยพรรคเพื่อไทย มีนายกรัฐมนตรีชื่อ เศรษฐา ทวีสิน เราก็ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง 9 ด้านต่อทุกภาคส่วนแล้วเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ณ รัฐสภา ครอบคลุมประเด็นข้อเสนอทั้งสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย, การกระจายอำนาจ, ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, นโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม, การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ, การป้องกันภัยพิบัติ, การคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์, สิทธิของคนไร้สถานะ และ รัฐสวัสดิการ
 
ซึ่งข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 ด้าน จะเป็นการแก้ไขปัญหาและคืนความเป็นธรรมให้ประชาชนทั้งประเทศ ภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอนและเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 จนถึงยุคสืบทอดอำนาจของ คสช.
 
ณ วันนี้ยังไม่มีเสียงตอบรับจากรัฐบาลว่าจะรับหลักการข้อเสนอเชิงนโยบายของเราไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมอย่างไร และรัฐบาลยังได้สร้างข้อกังขาต่อภาคประชาชนว่าจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาที่พบว่ามีแนวนโยบายหลายอย่างที่แสดงถึงความไม่เข้าใจต่อการแก้ปัญหาภาคประชาชน สืบทอดแนวนโยบายของรัฐบาลเผด็จการ คสช. และเราไม่อาจยินยอมให้รัฐบาลเดินหน้าแนวนโยบายเช่นนี้ต่อไปตลอดเวลา 4 ปีข้างหน้าได้
 
วันนี้ เราจึงขอประกาศเปิดศักราชการเคลื่อนไหวครั้งแรกในยุครัฐบาลเศรษฐา โดยจะปักหลักชุมนุม ‘พีมูฟทวงสิทธิ’ ชูธง ‘นโยบาย 9 ด้าน เพื่อที่ดิน เสรีภาพ ประชาธิปไตย’ ณ ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 นี้ โดยระดมพี่น้องคนจนจากทั่วประเทศเข้าร่วมขับเคลื่อนจากทะเลจรดภูเขา จนกว่าจะมีหลักประกันความชัดเจนว่าข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง 9 ด้านของเราจะได้รับการตอบสนอง เดินหน้าผลักดันโดยรัฐบาล และจะไม่กลับบ้านจนกว่าจะบรรลุข้อเรียกร้องทั้งหมด รวมถึงขอส่งเสียงไปยังพี่น้องภาคประชาชนทั่วประเทศให้ร่วมสนับสนุนและเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของพวกเรา ลงถนนด้วยกัน!



มันมีที่มาที่ไป! ‘ชัยธวัช’ ชี้ ‘หมอพรทิพย์’ ถูกไล่ สะท้อนความโกรธตอนเลือกนายกฯ
https://www.dailynews.co.th/news/2767148/

'ชัยธวัช'ชี้'หมอพรทิพย์'ถูกไล่สะท้อนความโกรธตอนเลือกนายกฯ เมินโต้ข้อครหา'ก้าวไกลการละคร'ปม'หมออ๋อง'ยื้อนั่งรองประธานสภาฯ จ่อเคาะชื่อประธานกมธ.สัดส่วน'ก้าวไกล' 3 ต.ค.

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีชายคนหนึ่งขับไล่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันทน์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ออกจากร้านอาหาร ระหว่างไปท่องเที่ยวพักผ่อนประเทศไอซ์แลนด์ ว่า เรื่องนี้สะท้อนความรู้สึกโกรธของประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มีต่อบทบาทของ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีประชาชนที่ไม่พอใจเพราะเขารู้สึกว่าเสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้งไม่มีความหมาย นี่ก็เป็นพื้นฐานที่เข้าใจได้ ซึ่งมันแยกเรื่องบทบาทของส.ว. กับเรื่องนี้ไม่ออก เราจะต้องไม่พิจารณาแยกออกจากกัน แต่เราไม่อยากเห็นการเลือกปฏิบัติจากความคิดที่แตกต่างกันในทางการเมือง ทางออกคือต้องมีการแก้ไขกฎกติกาทางการเมืองเพื่อไม่ให้มีใครจะมาใช้อำนาจได้เหนือกว่าเสียงของประชาชนได้ นี่คือคงเป็นทางออก 

เมื่อถามว่ามีการแชร์ภาพชายคนที่ไล่พญ.คุณหญิงพรทิพย์ เหมือนจะเป็นกองเชียร์แฟนคลับพรรคก้าวไกล ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สว.เรียกร้องให้มีการตรวจสอบให้ชัดว่าชายคนนี้เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลหรือไม่ ถ้าใช่ควรขับออกจากการเป็นสมาชิก หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ผู้ที่เลือกพรรคก้าวไกลมี 14 ล้านคน มันก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเหมือนกันหมด แต่แน่นอนปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดร่วมคือประชาชนที่เขาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และเลือกพรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับ 1 ย่อม ไม่พอใจเป็นธรรมดากับบทบาทของส.ว. แม้ว่าเราจะไม่ได้สนับสนุนให้มีการเลือกปฏิบัติจากจุดยืนในทางการเมือง แต่สว.ต้องตระหนักว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องความคิดเห็นต่างกันทางการเมือง แต่มันเป็นความไม่ไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อบทบาทของ สว. ที่เขารู้สึกว่าไม่เคารพเสียงของพวกเขา  
 
นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าต้องทบทวนกันทุกฝ่าย ปรากฏการณ์แบบนี้เเม้อาจจะไม่อยากเห็น แต่ไม่ใช่อยู่ดีๆมันจะเกิดขึ้น มามันมีที่มาที่ไป ต้องไม่พิจารณาแยกจากกันอย่างที่ตนบอกไป ไม่ว่าจะเป็นประชาชนฝั่งไหน เราก็ไม่สนับสนุน แต่เรื่องนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องของการปฏิบัติต่อคนที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองแต่มันเชื่อมโยงกับบทบาทของส.ว. ที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าไม่เคารพเสียงของเขาผ่านการเลือกตั้ง 

เราไม่รู้ว่าเขาเป็นสมาชิกพรรคหรือเปล่า แม้เราจะไม่ได้สนับสนุน แต่เราก็ต้องเข้าใจว่ามันมีเหตุผลเบื้องหลังอยู่ ดังนั้นเรื่องนี้ถ้าเราไม่ปรารถนาที่จะเห็นความขัดแย้งทางการเมืองแบบนี้ ผมคิดว่าทางออกคือต้องออกแบบกฎกติกาที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเสียงของเขาได้รับความเคารพว่าเป็นประชาธิปไตยจริงๆ” หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว  

นายชัยธวัช กล่าวถึงกรณีที่นายอดิศร เพียงเกษ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ระบุถึงการขับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา  สส.พิษณุโลก และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เพื่อให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นทุกขลาภ ไม่สง่างาม และเป็นก้าวไกล ลิเก หมอลำ การละคร  ว่า ไม่ว่าคำวิจารณ์จะมาจากพรรคเพื่อไทย หรือพรรคใด เราก็ยอมรับ และต้องพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่า การตัดสินใจนี้ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของใคร ส่วนเหตุผลของพรรค เราแถลงชี้แจงรายละเอียดแล้วว่า พรรคมีความจำเป็นต้องมีสถานะเป็นฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจะมีสส.คนไหนไปเป็นรองประธานสภาฯ ไม่ได้ ตนและกรรมการบริหารพรรค ได้พูดคุยกับนายปดิพัทธ์แล้ว นายปดิพัทธ์ ยังยืนยันจะตัดสินใจว่า ต้องการดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ต่อไป เพื่อทำตามนโยบายที่ได้เคยพูดไว้ เราก็เคารพการตัดสินใจ ไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องมีมติให้นายปดิพัทธ์ พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค ส่วนนายปดิพัทธ์ต้องพิสูจน์ตัวเองเช่นกันเมื่อตัดสินใจแบบนี้แล้ว จะสามารถปรับปรุงยกระดับการทำงานของสภาฯให้ดีขึ้นตามที่ได้ตั้งใจไว้หรือไม่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่