เมื่อมีผู้ถาม งั้นp_vicha อธิบายความหมายของฌานมาให้ฟังหน่อย ไม่เอาตามตัวหนังสือนะ ด้วยความเป็นจิต เป็นความรู้สึกจริงๆ

จากกระทู้ https://ppantip.com/topic/42201452  ที่คุณ 3237158 ถามไว้   เพื่อไม่เป็นการรบกวนกระทู้เก่า จึงตั้งกระทู้ใหม่

ประมาณปี พ.ศ 2525 

1.อุปจารสมาธิ  (เนื่องจากปฏิบัติ อานาปานสติ + วิปัสสนากำหนดรู้ รูป-นาม ที่ปรากฏปัจจุบันแบบ ยุบหนอ-พองหนอ)

        ในช่วงวันสองวันแรกก็ยังมีปัญหาระหว่างยุบหนอ-พองหนอ กับสติที่จมูกดูลมหายใจอยู่พอถึงวันที่ 3 จึงปลงใจได้ว่า ยุบหนอ-พองหนอไม่ต้องภาวนา ดูลมหายใจเหมือนเดิม และภาวนาอย่างอื่นเช่น นั่งหนอ-ถูกหนอ เจ็บหนอ คิดหนอ เดินจงกลม คืออะไรเด่นชัดที่สุดภาวนาสิ่งนั้นให้ทันเมื่อความกังวลเริ่มคลายจึงภาวนาสบายขึ้น 
       ตัวเริ่มเบา มีอยู่ช่วงหนึ่งขณะนั่งกรรมฐานกำลังดูลมหายใจกระทบท้องอยู่เกิดตัวเบาสว่างนวล เหมือนปุยเมฆ มีความสุขปีติหูยังได้ยินเสียงภายนอกอยู่แต่เบามากสักพักหนึ่งมีเสียงกระสิบใสตรงทีจิตว่า "ให้พยายามทำต่อไป อย่าได้หยุด"  (หมายเหตุ นี้เป็นอุปจารสมาธิ)

        หลังจากนั้นอีกประมาณ 10 หรือ 20 นาที ก็เป็นเวลาช่วงพักกรรมฐาน ความจริงเวลาพักกรรมฐาน ข้าพเจ้าก็ยังกำหนดภาวนาอยู่ทุกเวลาแต่อาจไม่เข้มข้นพอวันที่ 4 ของการเข้ากรรมฐานครั้งที่ 2 ข้าพเจ้าพิจารณาว่าเมื่อลมหายใจเข้า ลมหายใจออกก็ต้องพิจารณาให้ทัน จึงต้องมีคำภาวนากำกับ
          ตกลงใจใช้คำภาวนาว่า "ไม่เทียงเป็นทุกข์ " เมื่อหายใจเข้า และ "ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน" เมื่อหายใจออก  โดยมีสติตั้งที่ปลายจมูกเป็นหลัก และเมื่อหายใจเข้าต้องให้พิจารณาเห็นว่าลมไม่เที่ยงจริงต้องเปลี่ยนไปเป็นทุกข์คือทนอยู่ไม่ได้  เมื่อหายใจออก พิจารณาเห็นว่า ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนจริงๆ ยึดถือไม่ได้ ส่วนคำภาวนาอย่างอื่นก็ตามแบบของคณะ 5 ทุกอย่าง

2. ปฐมฌานเคียง คู่กับ สมนสนญาณ  (เนื่องจากปฏิบัติ สมถะและวิปัสสนาไปพร้อมๆ กัน)
 
        พอวันที่ 7 หลังจากพักกรรมฐานช่วง 20.00 น เป็นเวลาที่เตรียมตัวอาบน้ำข้าพเจ้าเห็นว่าช่วงนั้นมีคนใช้ ห้องน้ำกันมาก จึงทำกรรมฐานรอไปเรื่อยๆ แล้วเอนกายลงนอนแต่กำหนดภาวนาอยู่ ความรู้สึกก็หายไปมารู้อีก ครั้งคล้ายเป็นนิมิตที่ชัดเจน เห็นพระอายุประมาณ 50 ผิวขาวท้วมกำลังเดินขึ้นกุฏิ ความรู้สึกก็ได้น้อมมาที่จิต ของตนเองและคำนึงขึ้นว่า เป็นพระนี้ดีหนอถ้าไม่มี ราคะ โทสะ โมหะ จะอยู่อย่างสงบสุข
         หลังจากนั้นจิต ก็มีความรู้สึกเต็ม แต่ไม่ได้รู้ที่ร่างกาย แล้วรวมตัวดิ่งลงภวังค์ลึก ถอยขึ้นมารับความรู้สึกเหมือนเดิมแล้ว รวมตัวลงภวังค์ลึกไปอีก เป็นอยู่ 3 ครั้ง จึงขึ้นมารับรู้ทั้งตัวทันทีทันใด หลังจากนั้นร่างกายทุกส่วน ก็สะบัดอย่าง รวดเร็วติดต่อกันหลายครั้ง คล้ายปลาที่โดนตีหัว ต่อจากนั้นจิตใจวางเฉยมาก และไม่สนใจเรื่องที่ผ่านมา  (หมายเหตุ สมนสนญาณ ที่มีกำลังของ ปฐมฌาน ปรากฏเคียงคู่กัน)
          จึงเตรียมตัวไปอาบน้ำ ขณะที่อยู่ในห้องน้ำพอตักน้ำรดตัวขันแรกก็นึกขึ้นว่า เอะ ! ที่ผ่านมาคืออะไร? จึงคิดเข้าข้างตนเองว่าเป็นมรรคผลนิพพาน ก็บังเกิดตัวร้อนวูบวาบด้วยความดีใจ เมื่ออาบน้ำเสร็จขึ้นมาที่ห้อง ได้พูดกับเพื่อนถึงอารมณ์ที่ผ่านมา แล้วเข้าใจว่าเป็นมรรคผลนิพพาน
          หลังจากนั้นร่างกายร้อนวูบวาบมากขึ้น มีปีติบังเกิดขึ้นอย่างมากมายคล้ายระลอกคลื่นที่กระทบฝั่ง นอนไม่หลับต้องนั่งตัวโยกเพราะปีติทั้งคืน (ผลของปฐมฌาน จึงเกิดปีติมากดังระลอกคลื่น เป็นปีติมากยิ่งของ 1 ใน 5 แบบของปฐมฌาน) รุ่งวันใหม่ก็ยังมีปีติอยู่ หลังจากนั้นรู้สึกว่าผิวหนังและกล้ามเนื้อกระชับ ไม่มีอ่อนเพลียและง่วงนอนเลย แถมดวงตาเริ่มมองเห็นรัศมีจากคนทั่วไป และรูปพระต่างๆ ในขณะปกติไม่ใช่ขณะนั่งสมาธิ
          รัศมีของแต่ละคน นั้นแตกต่างกันตามระดับสมาธิ บุคคลทั่วๆ ไปรัศมีสีเหลืองอ่อนไม่ใสคลุมจางๆ สำหรับผู้ที่กำลังอ่านหนังสืออยู่ เป็นสีเหลืองอ่อนใสมากขึ้นพอกับผู้ที่เพิ่งเริ่มเข้ากรรมฐานวันแรกๆ ที่เข้ามาทำกรรมฐานที่ทำจริง แต่ผู้ที่ทำกรรมฐาน จะทรงอยู่ตลอดเวลา และผู้ที่ทำกรรมฐานที่ดีขึ้นก็จะมีสีใสมากขึ้นแล้วกระจายเป็นวงกว้างมาขึ้น
         มีผู้ทำกรรมฐาน ถึงอีกระดับหนึ่ง  จะมีรัศมีขาวนวลสว่างคลุมอานาบริเวนกว้างประมาณช่วงแขนของตนเองซึ่งมีน้อยคน แต่มีรัศมี ท่านผู้หนึ่งที่ต่างจากบุคคลทั่วไปมากและเป็นอยู่ตลอดเวลา รัศมีของท่านเป็นสีเหลืองทองอ่อนเข้มข้นระยิบระยับ เคลือบผิวอย่างหนาแน่นห่างจากผิวประมาณครึ่งนิ้วถึงหนึ่งนิ้ว แม้ว่าท่านจะเดินอยู่กลางแดดจ้าทามกลางฝูงชน รัศมีของท่านก็ยังคงอยู่ ทั้งที่ช่วงนั้นข้าพเจ้ายังมีความศรัทธาในตัวท่านน้อยอยู่มาก แต่ศรัทธาในตัวหลวงพ่อ มากกว่า ท่านผู้นี้คืออาจารย์ เมื่อข้าพเจ้าสามารถเห็นรัศมีจากผู้อื่นทำให้ข้าพเจ้ามีความหลงในตัวเองมาก ว่าเป็น พระอริยะไปแล้ว  (หมายเหตุ นี้คือวิปลาสที่เกิดขึ้นเมื่อเกิด วิปัสสนูกิเลส ที่ปรากฏในสมนสนญาณ หรือวิปัสสนาญาณที่ 3 ของวิปัสสนาญาณ 16.)

           หลังจากนั้นก็เกิดสภาวะแปลกมากมายขอยกไว้ ลากยาวมาเป็นเวลาเดือนกว่า จึงรู้ตัวว่า ตนเองวิปลาสไปเพราะวิปัสสนูกิเลส (หมายเหตุ วิปลาสไปในที่นี้ไม่ใช้แสดงความบ้าบอๆ ออกมามากมายให้ผู้คนภายนอกเห็นว่าผิดเพี้ยนไป แต่หมายถึงหลงผิดเห็นผิดในตัวตนปรุงแต่งอารมณ์และความรู้ตนเองจนสับสนและผิดเพี้ยน แต่ยังไม่ได้แสดงออกมาข้างนอก ด้วยยังข่มไว้ได้เพราะยังมีความเป็นทุกข์อยู่มาก ยังพรุ่งพล่านด้วยกิเลสอยู่ข้างใด )
           ก็ด้วยความเป็นทุกข์ความกดดันในฐานะต่างๆ จึงได้สติพลิกขึ้นมาได้ว่า พระอริยะ ต้องไม่เป็นทุกข์ด้วยฐานะ ที่โดนกฏดันอย่างหนักเมื่อเป็นนาคนุ่งขาวห่มขาวหัวลานแล้วจะเข้าบวชพระในโบสถ์ แต่พระอุปชา และพระคู่สวดไม่ยอมมาบวชให้ เพราะอยู่ในฐานะต่ำทางกฏหมาย แต่พี่ชายกลับคุยว่าน้องตนเองเรียนเก่ง เรียนจบวิทยาศาสตรรามคำแหงเพียง 3 ปี ด้วยความรังเกียจของพระคู่สวดจึงค้าน พระอุปชา แล้วไม่เดินทางมาบวชให้ (หมายเหตุ ทุกสิ่งที่เกิดย่อมเป็นไปตามเหตุและปัจจัย)    
           และด้วยเหตุปัจจัยนั้น ทำให้ผมเป็นทุกข์และกดดันยิ่ง จึงมีสติรู้ตัวว่า ถ้าเป็นพระอริยะท่านจะไม่เกิดทุกข์กดดันยิ่งเยิ่ยงนี้  ก็คือเราเองก็ยังเป็นปุถุชนอยู่นั้นเอง หลังจากนั้นก็เริ่มปฏิบัติธรรมอย่างระวังไม่ให้ใจไหลไปวิปลาสอีกแล้ว ข้อ 3.

3. ทุติยฌาน เกิดขึ้นก่อน   อุทยัพยญาณตามมาภายหลัง.

           ข้าพเจ้าต้องอยู่ในฐานะเช่นนี้ถึง 6 - 7 วันแล้วก็มีคนที่รู้จักกันบอกว่า ท่านเจ้าคุณวัดธรรมยุตสามารถบวชให้ได้ เลยได้ไปฝากตัวกับพระคุณท่าน(เจ้าคุณฝ่ายธรรมยุต) พระคุณท่านตอบตกลง และได้ให้ไปหาพระกรรมวาจาจารย์ท่านก็รับปากว่าจะบวชให้โดยให้บวชพร้อมกันกับนาคอื่นอีก 6 นาค ต้องรอไปอีก 7-8 วัน
         และระหว่างที่รอข้าพเจ้าก็ทำกรรมฐานต่อ โดยพิจารณาลมหายใจตามที่กล่าวมา มีเหตุการณ์ในตอนหนึ่งขณะนอนพิจารณาดูลมหายใจอยู่ ความรู้สึกตัวก็หายไปเหลือแต่จิตอย่างเดียว เป็นสว่างนวลมีปีติเล็กๆ มีสุขเด่นกว่า ทรงอยู่พักใหญ่แล้วถอนมารู้ทั่วตัว
          แล้วเริ่มกำหนดภาวนาใหม่ ก็มีอาการเหมือนเดิมครั้งนี้ใสกว่าเก่า มีปีติสุขละเอียดมากกว่าเก่า ทรงอยู่นานกว่าแล้วถอยออกมาปกติ แล้วก็ไม่พยายามทำต่อเพียงแต่ทรงอารมณ์กรรมฐานไว้ จนถึงวันที่ได้บวชสมใจดังที่ตั้งใจไว้ (หมายเหตุ ในสภาวะนั้น ไม่มีวิตกวิจารเหลืออยู่ และ มีองค์ฌานคือ ปีติ สุข เอคกัตตา ไม่มีอารมณ์อื่นใดปน)

         เล่าเพียงเท่านั้นตามที่ผู้ถามเรื่องฌาน  จึงเล่าให้ทราบตั้งแต่ อุปจารสมาธิ  ถึงปฐมฌาน และทุติยฌาน   พอเป็นสังเขป.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่