แค่รู้สึกตัว... ยังไม่พอ

มีกระทู้หนึ่งเรื่อง แค่รู้สึกตัว ซึ่งฉันคิดว่ามันเป็นคำที่กว้างเกินไป ซึ่งก็เป็นจุดอ่อนของภาษาไทยอย่างหนึ่ง
การวางแผนฆ่าคน ทำตามแผน ลงมือฆ่า ก็เป็นความรู้สึกตัวเหมือนกัน
สไนเปอร์ย่อมมีสมาธิเลยทีเดียวว่ากำลังเหนี่ยวไกปืนสังหารคน เป็นเรื่องของมิจฉาสมาธิกันไปเลย
หรือ... ใครที่เคยออกกำลังกาย เช่น วิ่ง
จะรู้ว่าต้องรู้สึกตัวว่า ก้าวอย่างไร หายใจอย่างไร แกว่งแขนอย่างไร ไม่ใช่แค่รู้คร่าวๆ
ต้องมีสติ สมาธิ จิตจับอยู่ที่ กายกรรมต่างๆ อย่างใจจดใจจ่อเลยทีเดียว
ถ้าคนที่มึนๆหน่อย ก็อาจจะบอกว่า นั่นแหละเขาเจริญอิริยาบถบรรพ หรือ อานาปานบรรพ
ซึ่งไม่ใช่.... ซะทีเดียว (สัมมาทิฏฐิ และเจตนาคนละอย่างกันเลย)
ไม่งั้นนักวิ่ง นักกายกรรม หมอผ่าตัด หรือนักดนตรีทุกคนคงบรรลุธรรมกันไปหมดแล้ว

พอดีพี่ฐานาฐานะ ฝากเรื่องสัมปชัญญะ ๔ เอาไว้ด้วย ซึ่งน่าสนใจและดีมาก
การรู้ซื่อๆ การรู้เห็นแบบไม่ปรุงแต่งก็เรื่องหนึ่ง การรู้เห็นเพื่อมรรคผลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวข้องกัน แต่ไม่ใช่อย่างเดียวกัน

[189] สัมปชัญญะ 4 (ความรู้ตัว, ความรู้ตัวทั่วพร้อม, ความรู้ชัด, ความรู้ทั่วชัด, ความตระหนัก
- clear comprehension; clarity of consciousness; awareness)
       1. สาตถกสัมปชัญญะ (รู้ชัดว่ามีประโยชน์ หรือตระหนักในจุดหมาย
คือ รู้ตัวตระหนักชัดว่าสิ่งที่กระทำนั้นมีประโยชน์ตามความมุ่งหมายอย่างไรหรือไม่ หรือว่า อะไรควรเป็นจุดมุ่งหมายของการกระทำนั้น
เช่น ผู้เจริญกรรมฐาน เมื่อจะไป ณ ที่ใดที่หนึ่ง มิใช่สักว่ารู้สึกหรือนึกขึ้นมาว่าจะไป ก็ไป แต่ตระหนักว่าเมื่อไปแล้ว จะได้ปีติสุขหรือความสงบใจ
ช่วยให้เกิดความเจริญโดยธรรม จึงไป โดยสาระคือ ความรู้ตระหนักที่จะเลือกทำสิ่งที่ตรงกับวัตถุประสงค์หรืออำนวยประโยชน์ที่มุ่งหมาย
- clear comprehension of purpose)
       2. สัปปายสัมปชัญญะ (รู้ชัดว่าเป็นสัปปายะ หรือตระหนักในความเหมาะสมเกื้อกูล
คือรู้ตัวตระหนักชัดว่าสิ่งของนั้น การกระทำนั้น ที่ที่จะไปนั้น เหมาะกันกับตน เกื้อกูลแก่สุขภาพ แก่กิจ
เอื้อต่อการสละละลดแห่งอกุศลธรรมและการเกิดขึ้นเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรม จึงใช้ จึงทำ จึงไป หรือเลือกให้เหมาะ
เช่น ภิกษุใช้จีวรที่เหมาะกับดินฟ้าอากาศและเหมาะกับภาวะของตนที่เป็นสมณะ ผู้เจริญกรรมฐานจะไปฟังธรรมอันมีประโยชน์ในที่ชุมนุมใหญ่
แต่รู้ว่ามีอารมณ์ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อกรรมฐาน ก็ไม่ไป
โดยสาระคือ ความรู้ตระหนักที่จะเลือกทำแต่สิ่งที่เหมาะสบายเอื้อต่อกาย จิต ชีวิต กิจ พื้นภูมิ และภาวะของตน
- clear comprehension of suitability)
       3. โคจรสัมปชัญญะ (รู้ชัดว่าเป็นโคจร หรือตระหนักในแดนงานของตน
คือ รู้ตัวตระหนักชัดอยู่ตลอดเวลาถึงสิ่งที่เป็นกิจ หน้าที่ เป็นตัวงาน เป็นจุดของเรื่องที่ตนกระทำ ไม่ว่าจะไปไหนหรือทำอะไรอื่น
ก็รู้ตระหนักอยู่ ไม่ปล่อยให้เลือนหายไป มิใช่ว่าพอทำอะไรอื่น หรือไปพบสิ่งอื่นเรื่องอื่น ก็เตลิดเพริดไปกับสิ่งนั้นเรื่องนั้น เป็นนกบินไม่กลับรัง
โดยเฉพาะการไม่ทิ้งอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งรวมถึงการบำเพ็ญจิตภาวนาและปัญญาภาวนาในกิจกรรมทุกอย่างในชีวิตประจำวัน
โดยสาระคือ ความรู้ตระหนักที่จะคุมกายและจิตไว้ให้อยู่ในกิจ ในประเด็น หรือแดนงานของตน ไม่ให้เขว เตลิด เลื่อนลอย หรือหลงลืมไปเสีย
- clear comprehension of the domain)
       4. อสัมโมหสัมปชัญญะ (รู้ชัดว่าไม่หลง หรือตระหนักในตัวเนื้อหาสภาวะ ไม่หลงใหลฟั่นเฟือน
คือเมื่อไปไหน ทำอะไร ก็รู้ตัวตระหนักชัดในการเคลื่อนไหว หรือในการกระทำนั้น และในสิ่งที่กระทำนั้น ไม่หลง ไม่สับสนเงอะงะฟั่นเฟือน
เข้าใจล่วงตลอดไปถึงตัวสภาวะในการกระทำที่เป็นไปอยู่นั้น ว่าเป็นเพียงการประชุมกันขององค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ
ประสานหนุนเนื่องกันขึ้นมาให้ปรากฏ เป็นอย่างนั้น หรือสำเร็จกิจนั้นๆ รู้ทันสมมติ ไม่หลงสภาวะเช่นยึดเห็นเป็นตัวตน
โดยสาระคือ ความรู้ตระหนัก ในเรื่องราว เนื้อหา สาระ และสภาวะของสิ่งที่ตนเกี่ยวข้องหรือกระทำอยู่นั้น ตามที่เป็นจริงโดยสมมติสัจจะ
หรือตลอดถึงโดยปรมัตถสัจจะ มิใช่พรวดพราดทำไป หรือสักว่าทำ มิใช่ทำอย่างงมงายไม่รู้เรื่อง
และไม่ถูกหลอกให้ลุ่มหลงหรือเข้าใจผิดไปเสียด้วยความพร่ามัว หรือด้วยลักษณะอาการภายนอกที่ยั่วยุ หรือเย้ายวนเป็นต้น
- clear comprehension of non-delusion, or of reality)
จาก http://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=189

ก็รู้สึกว่ารายละเอียดส่วนใหญ่จะอยู่ในอรรถกถา... (ใครงดเว้นอ่านอรรถกถาก็จะพลาดประโยชน์ไปมากเลย)
จะขอยกเอามาบางส่วนเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่หมู่ชนทั้งหลาย ถ้วนหน้ากัน...

ใน ๔ อย่างนั้น เมื่อจิตคิดจะไปเกิดขึ้น ยังไม่ทันไปตามที่คิดก่อน ใคร่ครวญถึงประโยชน์มิใช่ประโยชน์ว่า
การไปที่นั้นจะมีประโยชน์แก่เราหรือไม่หนอ แล้วใคร่ครวญประโยชน์ ชื่อสาตถกสัมปชัญญะ.
               คำว่า ประโยชน์ ในบทว่า สาตถกสัมปชัญญะนั้น คือความเจริญฝ่ายธรรมโดยได้เห็นพระเจดีย์ เห็นต้นพระศรีมหาโพธิ เห็นพระสงฆ์
เห็นพระเถระและเห็นอสุภเป็นต้น. ด้วยว่า ภิกษุนั้นยังปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้นแม้เพราะเห็นพระเจดีย์หรือต้นพระศรีมหาโพธิ
ยังปีติมีพระสงฆ์เป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้นเพราะเห็นพระสงฆ์ พิจารณาปีตินั้นแหละโดยความเป็นของสิ้นไปเสื่อมไป ย่อมบรรลุพระอรหัต
เห็นพระเถระทั้งหลาย ตั้งอยู่ในโอวาทของพระเถระเหล่านั้น เห็นอสุภยังปฐมฌานให้เกิดขึ้นในอสุภนั้น
พิจารณาอสุภนั้นแหละโดยความเป็นของสิ้นไปเสื่อมไป ย่อมบรรลุพระอรหัต เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกการเห็นสิ่งเหล่านั้นว่า มีประโยชน์.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ความเจริญแม้ฝ่ายอามิสก็มีประโยชน์เหมือนกัน เพราะอาศัยอามิสนั้นปฏิบัติเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์.
               ส่วนในการไปนั้น ใคร่ครวญถึงสัปปายะและอสัปปายะ แล้วใคร่ครวญสัปปายะ ชื่อสาตถกสัมปชัญญะ ข้อนี้อย่างไร
จะกล่าวการเห็นพระเจดีย์มีประโยชน์ก่อน ก็ถ้าบริษัทประชุมกันในที่ ๑๐ โยชน์ ๑๒ โยชน์เพื่อบูชาใหญ่พระเจดีย์
ทั้งหญิงทั้งชายประดับตกแต่งกายตามสมควรแก่สมบัติของตน ราวกะภาพจิตรกรรม พากันเดินไปมา
ก็ในที่นั้น โลภะย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นเพราะอารมณ์ที่น่าปรารถนา ปฏิฆะย่อมเกิดขึ้นเพราะอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา
โมหะย่อมเกิดขึ้นเพราะไม่พิจารณา ย่อมต้องอาบัติเพราะกายสังสัคคะก็มี ย่อมเป็นอันตรายแก่ชีวิตและพรหมจรรย์ก็มี.
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ ที่นั้นจึงเป็นอสัปปายะ. เพราะไม่มีอันตรายอย่างที่กล่าวแล้ว ที่นั้นเป็นสัปปายะ.
               แม้ในการเห็นต้นพระศรีมหาโพธิก็นัยนี้แหละ.
               แม้การเห็นพระสงฆ์ก็มีประโยชน์. ก็ถ้าเมื่อมนุษย์ทั้งหลายสร้างมณฑปใหญ่ภายในหมู่บ้าน ชวนกันฟังธรรมตลอดคืน
ย่อมมีทั้งประชุมชนทั้งอันตรายโดยประการที่กล่าวแล้วนั่นแหละ. ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ที่นั้นจึงเป็นอสัปปายะ. เพราะไม่มีอันตราย ที่นั้นเป็นสัปปายะ.
               แม้ในการเห็นพระเถระที่มีบริษัทบริวารมากก็นัยนี้แหละ.
               แม้การเห็นอสุภก็มีประโยชน์.
               ก็เรื่องนี้ เพื่อแสดงประโยชน์นั้น.
               ได้ยินว่า ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งพาสามเณรไปหาไม้สีฟัน.
สามเณรหลีกจากทางเดินไปข้างหน้า เห็นอสุภ ยังปฐมฌานให้บังเกิด ทำปฐมฌานนั้นให้เป็นบาท พิจารณาสังขารทั้งหลาย
ทำให้แจ้งผลทั้ง ๓ แล้วยืนกำหนดกรรมฐานเพื่อต้องการมรรคผลชั้นสูง. ภิกษุหนุ่มเมื่อไม่เห็นสามเณรก็เรียกว่า สามเณร.
สามเณรนั้นคิดว่า จำเดิมแต่กาลที่เราบรรพชา ไม่เคยกล่าวคำสองกับภิกษุ เราจักยังคุณวิเศษชั้นสูงให้บังเกิดแม้ในวันอื่น
ดังนี้จึงได้ขานรับว่า อะไรขอรับ.
เมื่อภิกษุหนุ่มเรียกว่ามานี่ ด้วยคำเดียวเท่านั้น
สามเณรนั้นก็มา กล่าวว่า ท่านขอรับ ขอท่านจงเดินไปตามทางนี้ก่อน แล้วยืนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แลดูตรงที่ที่กระผมยืนอยู่สักครู่เถิด.
ภิกษุนั้นกระทำตามนั้น ได้บรรลุคุณวิเศษที่สามเณรนั้นบรรลุแล้วเหมือนกัน. อสุภเดียวเกิดประโยชน์แก่ชน ๒ คนด้วยประการฉะนี้.
จาก http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=91&p=5

จะเห็นได้ว่าการคิดพิจารณา โยนิโสมนสิการ จะขาดไม่ได้เลยในการปฏิบัติพระกรรมฐานหรือในชีวิตประจำวันของเรา
สติต้องมี สัมปชัญญะต้องมา จิตจดจ่อ ปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง การไม่ทิ้งอารมณ์กรรมฐานระหว่างวันเป็นเรื่องที่ต้องทำให้เป็นปกติ
เราจะทำกิจได้อย่างนั้นหรือไม่หนอ... อยู่ที่กำลังใจเป็นสำคัญ

ปล.อรรถกถาที่ยกมา เป็นอรรถกถาที่ดีมากนะจ๊ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่