JJNY : ยางขาดทุน ทุบซ้ำประกันไม่ครบ│เชียงใหม่ ปชช.ไม่ให้โหวตนายกฯ│สมชัยชี้เพื่อไทยเหลือ2ทางเลือก│โปแลนด์รับมือภัยคุกคาม

ชาวสวนยางขาดทุนกิโล 20 บาท ทุบซ้ำประกันรายได้จ่ายไม่ครบ


ราคาน้ำยางดิ่งต่ำกว่า 40 บ./กก. ชาวสวนขาดทุนยับ 20 บาทสหพันธ์สวนยางออกโรงโอด “ประกันรายได้ยาง” ยังจ่ายเงินไม่ครบ หวั่นรัฐบาลใหม่เบี้ยวเงินค้าง ทั้งเตรียมรีดภาษีสวนยาง ทุบซ้ำชาวบ้าน 1 มี.ค. 67 ด้าน กยท.เผยต้นเหตุ ศก.จีนชะลอฉุดตลาดโลก รัฐจ่ายเงินประกันรายได้ยางไปแล้ว 80-90%
 
ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาน้ำยางในท้องถิ่นได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเหลือเพียง 38 บาท/กก. จากเดือนก่อนที่เคยอยู่ที่ 43 บาท/กก. หรือหายไป 5 บาท โดยราคาระดับนี้ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางขาดทุนจากต้นทุนการผลิต กก.ละ 63.40 บาท หากคำนวณจากปริมาณปลูกยางได้ปีละ 5 ล้านตัน เท่ากับเกษตรกรจะขาดทุนประมาณแสนล้านบาท และไม่เพียงเท่านั้น เกษตรกรชาวสวนยางยังได้รับผลกระทบจากโครงการประกันรายได้ ปี 2565-2566 ซึ่งขณะนี้จ่ายไปได้เพียง 2 เดือน จากงวดการจ่ายทั้งโครงการ 6 เดือน ตั้งแต่ ต.ค.-มี.ค. 2566

สาเหตุที่การจ่ายเงินประกันรายได้ยางล่าช้าเป็นเพราะการบริหารจัดการรวมทั้งการเมืองที่ลากยาวจนมีการตั้งรัฐบาลล่าช้า ไม่ได้คำนึงถึงปากท้อง แทนที่จะเอาใจใส่เรื่องปากท้องราคายางชาวบ้าน โดยการประกันรายได้ยางตอนนี้มีการจ่ายจริงแค่ 2 เดือน คือ ต.ค.กับ พ.ย. นอกจากนั้นไม่มีเงินให้เกษตรกร “ก็ไม่จ่าย วิธีการจ่ายคือจ่ายเฉลี่ย ๆ ไป แต่ไม่คัฟเวอร์ไม่ทั่วถึง” ล่าสุดมีเกษตรกร จ.น่าน 160 กว่ารายที่ร้องเรียนเข้ามาที่สมาคมว่า ยังไม่ได้รับเงินประกันรายได้

ทางสมาคมจึงได้ประสานไปที่กระทรวง แต่ตอนนี้อยู่ในภาวะรัฐบาลรักษาการ “ซึ่งก็ไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร” สมาคมมองว่า ถ้าเรานั่งรอรัฐบาลใหม่มาจ่ายเงินประกันรายได้ส่วนที่เหลือก็ไม่แน่ใจว่า นโยบายประกันรายได้จะเป็นนโยบายที่พรรคแกนนำรัฐบาลชุดใหม่จะนำมาใช้หรือไม่ อาจจะมาอ้างว่าไม่ใช่นโยบายเขา เป็นนโยบายของรัฐบาลเก่า ก็จะไม่จ่ายอีก จึงมีโอกาสที่จะไม่ได้เงินส่วนนี้ “ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลมา ใครจะมาทำตามนโยบายของรัฐบาลเก่า
 
ดร.อุทัยกล่าวว่า เท่าที่ประเมินพบว่า เกิดความเสียหายหลายชั้น คือ 
1) การจ่ายเงินประกันรายได้ยางแค่ 2 เดือนไม่ครอบคลุมส่วนที่เกษตรกรขาดทุนไป เพราะการขาดทุนเกิดจากการที่คำนวณ ราคาประกันตั้งต้นจากต้นทุนการผลิต 60 บาท ทั้งที่ความจริงต้นทุนการผลิต 63.64 บาท นี่ก็ขาดทุนชั้นแรก 3.64 บาท 

2) ราคาตลาดตอนนี้ตกต่ำลงเหลือ กก.ละ 40 กว่าบาท ก็เท่ากับขาดทุน กก.ละ 20 บาทซึ่งชาวสวนที่ขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการนี้มีจำนวน 1.8 ล้านรายเดือดร้อน ยิ่งภาวะการขาดทุนมาเจอกับสถานการณ์เอลนีโญที่ภัยแล้งกำลังจะมา ประกอบกับเกิดโรคใบร่วงที่เกิดขึ้นยังแก้ไขไม่หมด จึงเรียกว่า “เป็นผีซ้ำด้ำพลอยในอุตสาหกรรมยาง ฟันธงได้เลยว่า ถ้ารัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขก็ไม่มีทางสู้กับตลาดโลกได้
 
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเก็บภาษีสวนยาง โดยกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง ได้ออกประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน ระบุว่า เกษตรกรที่ปลูกยาง 1 ไร่ อัตราการปลูก 80 ต้นขึ้นไป จะเสียภาษี 0.15% ส่วนที่ปลูกอัตราต่ำกว่า 80 ต้นลงมา ต้องเสียภาษี 1.2% ซึ่งแต่เดิมรัฐบาลไม่เคยเก็บภาษีประเภทนี้ ซึ่งเรื่องนี้ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่เกษตรกรจะปลูกยางตามกฎหมาย พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 กำหนดอัตราที่ 25 ต้นต่อไร่ นั่นหมายความว่า เกษตรกรโดยเฉพาะรายย่อย จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงถึง 1.2%
 
ดังนั้น สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยาง จึงได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ  (กนย.) ขอให้ “ทบทวน” อัตราการปลูกในประกาศของกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย ใหม่ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยกำหนด กล่าวคือ ปรับจาก 80 ต้น เหลือ 25 ต้น เพื่อลดภาระให้กับเกษตรกรให้เสียภาษีในอัตรา 0.15%

สมาคมร้องผ่าน กนย. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานไป 5-6 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ตอบรับว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร เรามองว่าถ้าเหลือ 25 ต้นต่อไร่ ชาวสวนก็จะยอมเสีย 0.15% ขอให้ช่วยเกษตรกรที่ขาดทุนมาทุกอย่าง และยังต้องเสียเงินเซสอีก กก.ละ 2 บาท แต่รัฐบาลจะให้มาเสียภาษีสวนยางอีก หากไม่ได้รับการแก้ไข สมาคมจะฟ้องศาลปกครองแน่นอน”
 
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวชาวสวนยางพาราไทยไม่มีทางสู้กับตลาดโลกได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสายพันธุ์ยางพารา ของมาเลเซียมีสายพันธุ์ให้ผลผลิตน้ำยางสูง 400-500 กก.ต่อไร่ต่อปี ขณะที่ปัจจุบันเกษตรกรไทยสามารถปลูกได้ผลผลิต 240 กก./ไร่ต่อปี จึงเสนอให้เปลี่ยนสายพันธุ์ยางพาราจาก RIM 600 ไปเป็นสายพันธุ์ RRIT 251 แต่ก็ไม่ได้รับการสนองตอบ
 
ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงสถานการณ์ราคายางที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นผลจากตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก 60% ประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและเพิ่งจะประกาศอัตราหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ GDP ซึ่งเมื่อผู้ใช้ยางหลักประสบปัญหาย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงการส่งออกยาง อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบผลกระทบเบื้องต้นมีเพียงราคาน้ำยางและยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ปรับลดลง แต่สถานการณ์ราคายางก้อนถ้วย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของไทยยังทรงตัวอยู่ในระดับ 40 บาทต่อ กก.
 
ส่วนความคืบหน้าของโครงการประกันรายได้ยางพารา ปี 4 นั้น ล่าสุดได้รับข้อมูลว่า มีการจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรไปแล้ว 1 ล้านราย หรือคิดเป็น 80-90% แล้ว จะเหลือเพียงเกษตรกรที่มีการแก้ไขคุณสมบัติไม่ครบ หรือมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนน้อยเท่านั้น คาดว่าหากแก้ไขแล้วจะสามารถดำเนินการจ่ายเงินได้ต่อเนื่องจนครบตามกรอบวงเงินที่วางไว้ ซึ่งในขณะนี้มีการจ่ายไปแล้วประมาณ 4,000 ล้านบาท



ส.ส.ก้าวไกล จ.เชียงใหม่ เผยประชาชนในพื้นที่ ไม่ให้โหวตนายกฯ 'เพื่อไทย'
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7807367

ส.ส.ก้าวไกล จ.เชียงใหม่ เผยประชาชนในพื้นที่ ไม่ต้องการให้โหวตนายกฯ ‘เพื่อไทย’ บอก แม้สถานการณ์ยืดเยื้อแต่รอได้ บางส่วนเครียด 3 เดือนตั้งรัฐบาลไม่ได้
 
วันที่ 10 ส.ค.2566 ที่รัฐสภา นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงการสำรวจเสียงประชาชนในพื้นที่ว่าเห็นด้วยที่จะให้พรรคก้าวไกล เห็นชอบนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือไม่ ว่า ประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกล โหวตให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเห็นได้จาก ส.ส. พรรคก้าวไกล หลายคนได้โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย เพื่อขอความเห็นจากประชาชน โดยความคิดเห็นประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ ไม่อยากให้โหวตให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งถือเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนที่ต้องรับฟัง

ส่วนตัวทราบว่า มีประชาชนบางส่วนที่ส่งข้อความมาหา ส.ส. ของพรรค แสดงถึงความเครียดต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ เพราะเลือกตั้งมา 3 เดือนแล้วยังไม่มีรัฐบาล แม้แต่รายการบันเทิงก็ได้วิเคราะห์สถานการณ์การเมือง จึงต้องยืนยันฟังเสียงประชาชนไว้ก่อน เพราะเรามาจากประชาชน 14 ล้านเสียง แต่ตอนนี้พรรคยังไม่ได้ประชุมในเรื่องนี้ ตามที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยบอกไปก่อนหน้านี้ ว่าต้องรับฟังเสียงประชาชนก่อน

แต่หากมีการประชุมก็จะสะท้อนเสียงประชาชนในพื้นที่ต่อที่ประชุม และเท่าที่พูดคุยกับเพื่อน ส.ส. หลายพื้นที่ประชาชนก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าตอนนี้ยังไม่ได้รัฐบาล แต่ประชาชนส่วนใหญ่บอกว่ารอได้ แต่บางส่วนก็บอกให้พรรคก้าวไกล ยอมถอยในบางเรื่อง แต่ถือเป็นส่วนน้อย
 


สมชัย ชี้เพื่อไทย เหลือ 2 ทางเลือก ไม่ข้ามขั้ว ก็ดูดงูเห่า ส่งเสริมระบบสวนทางจุดยืน
https://www.matichon.co.th/politics/news_4121805

สมชัย ชี้เพื่อไทย เหลือ 2 ทางเลือก ไม่ข้ามขั้ว ก็ดูดงูเห่า ส่งเสริมระบบสวนทางจุดยืน
 
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นถึงสถานการณ์ ในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย โดยมีเนื้อหาดังนี้
 
เสียงของการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย จะหยุดที่ 238 เสียงในวันนี้ หลังจากที่ได้พรรคชาติไทยพัฒนาอีก 10 เสียง
 
กลายเป็นรัฐบาล 9 พรรค 238 เสียง ยังเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย การหาพรรคมาเติมหลังจากนี้ ดูจากทางเลือกที่เหลือ มี 2 แนวทาง
1. เลือก ปชป. หรือ รทสช. หรือ พปชร. พรรคใดพรรคหนึ่ง หรือมากกว่า 1 พรรค จึงจะได้ สส.รวมเกินครึ่งสภา เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากที่เป็นทางการ และ อาจได้เสียง สว. สนับสนุนจนผ่านเกณฑ์ 375 เสียง
 
2. หยุดที่ 238 เสียงอย่างเป็นทางการ และหาเสียง สส.สนับสนุนรายคน รายกลุ่ม จากพรรคการเมือง 3 พรรค คือ ปชป. รทสช. หรือ พปชร. เพื่อให้มีเสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทน ให้ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก และขอเสียง สว. สนับสนุน
 
แนวทางที่หนึ่ง ต้องถามว่า พร้อมรับผลที่เกิดหรือไม่ ในการข้ามขั้วหรือคำหรูใหม่ว่า สลายขั้ว
 
แนวทางที่สอง เป็นการทำลายระบบพรรคการเมือง ส่งเสริมการให้ผลประโยชน์ ส่งเสริมระบบงูเห่าในสภา ซึ่งพรรคที่มีจุดยืนประชาธิปไตยไม่สมควรกระทำ หากทำถือว่าเลวมาก

https://www.facebook.com/somchaivision/posts/pfbid0hfp1cbFF8ETKwazcApD8Kidfi27Yz2X8ZPVfG4HbfZU1ZTRwJmMts2rtq6xEErkLl
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่