แกะสูตรแก้ปมยาง 3 รัฐบาล จาก "ทักษิณ-อภิสิทธิ์" ถึง "ยิ่งลักษณ์"
updated: 08 ก.ย. 2556 เวลา 00:32:32 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
เมื่อการชุมนุมม็อบสวนยางกลายเป็นวาระร้อน แรงแซงวาระพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญในรัฐสภา
เมื่อการเจรจาระหว่างรัฐบาล-แกนนำชาวสวนยาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ถึง 2 ครั้งยังคงตกลงกันไม่ได้
ข้อเรียกร้องจากเกษตรกรเสนอขอให้รัฐเดินหน้า "แทรกแซงตลาด" เพื่อประกันราคายางที่กิโลกรัมละ 100 บาท ขณะที่คณะกรรมการนโยบายธรรมชาติ (กนย.) ยังคงแสดงท่าทีปฏิเสธ และยืนยันในหลักการสนับสนุนเพียงค่าปัจจัยการผลิตที่ไร่ละ 1,260 บาท อัตรารายละไม่เกิน 25 ไร่
เมื่อสิ่งที่ร้องขอกับสิ่งที่จะได้รับไม่อยู่ในแนวทางเดียวกัน จึงเป็นเหตุให้สถานการณ์ม็อบสวนยางยังคงคุกรุ่น และพร้อมที่จะยกระดับการชุมนุมได้ทุกเมื่อ
ต่อคำถามที่ว่า เหตุใดมาตรการที่เสนอผ่านรัฐบาลต้องสะดุด และไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้ชุมนุม ?
ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่มีคำตอบ-ผลวิเคราะห์จากหน่วยงานฟากฝ่ายบริหาร
หากมีเพียงสิ่งลือในกลุ่มม็อบสวนยางด้วยกันว่า "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" เดินหน้าแก้ปัญหาราคาพืชผลอย่าง 2 มาตรฐาน กล่าวคือ นโยบายรับจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน แต่ปฏิเสธที่จะแทรกแซงราคายางในราคากิโลกรัมละ 100 บาท
เมื่อย้อนกลับไปดูในอดีตจากรัฐบาล 3 ยุค 3 นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ถึง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" กระทั่งปัจจุบัน "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อาจได้เห็นหลักคิด-ยุทธวิธีการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้
ในสมัย "รัฐบาลทักษิณ" มีแนวคิดรวมกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ของโลก เพื่อใช้เป็นอำนาจในการต่อรองกับตลาด จึงเกิดเป็นความร่วมมือด้านยางพารากับประเทศผู้ผลิตหลัก 3 ราย ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
ต่อมาในวันที่ 5 มี.ค. 45 จึงเกิดการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนยางพารา 3 ประเทศ มีทุนจดทะเบียนถึง 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทำหน้าที่ซื้อขายและบริหารผลิตผลยางพาราของทั้ง 3 ประเทศ โดยมีสำนักงานใหญ่และประธานกรรมการบริหารอยู่ที่ประเทศไทย
ในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว ส่งผลให้ท่าทีของประชาชนกว่า 86.4% พึงพอใจนโยบายรัฐบาล ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติ
เวลานั้น พ.ต.ท.ทักษิณ วางแนวคิดไปไกลถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพผลผลิต พัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูป เพื่อให้ไทยกลายเป็น "เมืองยาง" อีกด้วย
ขณะที่สมัย "รัฐบาลอภิสิทธิ์" ที่กว่าครึ่งเป็นพลพรรค ส.ส.ปักษ์ใต้ ผู้ที่อยู่กับวิถีชีวิตชาวสวนยางตั้งแต่ต้น จึงทำให้เกิดแนวคิด-นโยบายในการแก้ไขปัญหาเรื่องยางพาราที่หลากหลาย
ในวันที่ 28 ม.ค. 52 ได้มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกร ภายใต้วงเงินกว่า 8,000 ล้านบาท ในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ายางพาราจำนวน 200,000 ตัน
ทั้งนี้ เพื่อให้มีมาตรการสนับสนุนการส่งออก รัฐบาลจึงได้มีอนุมัติให้ยกเว้นการจัดเก็บอากรขายออกสินค้าบางราย หนึ่งในสินค้าคือต้นยางตระกูลฮีเวีย ที่ได้รับการยกเว้นภาษีจากเดิมที่จัดเก็บไว้ที่ 3% และในวันที่ 1 ธ.ค. 52 "รัฐบาลอภิสิทธิ์" จึงเร่งเครื่องพัฒนาตลาดและแปรรูปยางพาราอีกครั้ง โดยอนุมัติวงเงิน 475.84 ล้านบาท สร้างโรงงานพร้อมเครื่องจักรผลิตยางแท่ง 3 แห่ง ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ อุดรธานี และนครพนม และตั้งศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพารา 6 ศูนย์ ในจังหวัดพะเยา กำแพงเพชร พิษณุโลก ชัยภูมิ เลย และนครพนม
ต่อมารัฐบาลได้มีมติเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 53 เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การพัฒนายาง พ.ศ. 2552-2556 เพื่อใช้เป็นกรอบพัฒนายางพาราของประเทศ ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต แปรรูป การตลาด การศึกษาวิจัย และพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน
นอกจากนั้นยังเดินหน้าโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ระยะที่ 3 ตาม พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จึงได้อนุมัติวงเงิน 580 ล้านบาท การปลูกยาง 200,000 ไร่ทั่วประเทศ
มาตรการดังกล่าวถูกเน้นย้ำให้เข้าถึงเกษตรกรที่ยากจน และให้สนับสนุนปัจจัยการผลิตไม่น้อยกว่าไร่ละ 11,000 บาท เป็นเวลา 7 ปีจนเริ่มกรีดยางได้
และในยุคของ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ที่เผชิญกับมหาอุทกภัยตั้งแต่ปลายปี 2554 จึงทำให้ใช้เวลาในระยะแรกหมดไปกับการฟื้นฟู เยียวยา และซ่อมแซมบ้านเมือง
กระทั่งในวันที่ 24 ม.ค. 55 ได้มีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ภายใต้วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อรับน้ำยางสด ยางแผ่นดิบ และยางก้อนถ้วยมาแปรรูป โดยมีระยะเวลาโครงการ 1 ปี 3 เดือน (ม.ค. 55-มี.ค. 56) และอนุมัติวงเงินอีก 1,039.68 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น โดยการรับซื้อยางแผ่นรมควันของสถาบันเกษตรกร
ต่อมาในวันที่ 20 มี.ค. ยังอนุมัติให้องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) กู้เงินอีก 10,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร
เป้าหมายสูงสุดเมื่อสิ้นสุดแผนงาน คือราคายางอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท
ทั้งนี้ยังอนุมัติวงเงินอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 55 จำนวน 30,000 ล้านบาท เพื่อให้โครงการเดินหน้าอย่างต่อเนื่องทำให้ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" อนุมัติวงเงินแล้วทั้งสิ้น 55,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหายางพารา ก่อนที่จะต้องออกมาเผชิญหน้ากับ "ม็อบสวนยาง" ที่ร้องหามาตรฐานในการแก้ปัญหาจากรัฐบาลในเวลานี้
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1378575345
แกะสูตรแก้ปมยาง 3 รัฐบาล จาก "ทักษิณ-อภิสิทธิ์" ถึง "ยิ่งลักษณ์"
แกะสูตรแก้ปมยาง 3 รัฐบาล จาก "ทักษิณ-อภิสิทธิ์" ถึง "ยิ่งลักษณ์"
updated: 08 ก.ย. 2556 เวลา 00:32:32 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
เมื่อการชุมนุมม็อบสวนยางกลายเป็นวาระร้อน แรงแซงวาระพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญในรัฐสภา
เมื่อการเจรจาระหว่างรัฐบาล-แกนนำชาวสวนยาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ถึง 2 ครั้งยังคงตกลงกันไม่ได้
ข้อเรียกร้องจากเกษตรกรเสนอขอให้รัฐเดินหน้า "แทรกแซงตลาด" เพื่อประกันราคายางที่กิโลกรัมละ 100 บาท ขณะที่คณะกรรมการนโยบายธรรมชาติ (กนย.) ยังคงแสดงท่าทีปฏิเสธ และยืนยันในหลักการสนับสนุนเพียงค่าปัจจัยการผลิตที่ไร่ละ 1,260 บาท อัตรารายละไม่เกิน 25 ไร่
เมื่อสิ่งที่ร้องขอกับสิ่งที่จะได้รับไม่อยู่ในแนวทางเดียวกัน จึงเป็นเหตุให้สถานการณ์ม็อบสวนยางยังคงคุกรุ่น และพร้อมที่จะยกระดับการชุมนุมได้ทุกเมื่อ
ต่อคำถามที่ว่า เหตุใดมาตรการที่เสนอผ่านรัฐบาลต้องสะดุด และไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้ชุมนุม ?
ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่มีคำตอบ-ผลวิเคราะห์จากหน่วยงานฟากฝ่ายบริหาร
หากมีเพียงสิ่งลือในกลุ่มม็อบสวนยางด้วยกันว่า "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" เดินหน้าแก้ปัญหาราคาพืชผลอย่าง 2 มาตรฐาน กล่าวคือ นโยบายรับจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน แต่ปฏิเสธที่จะแทรกแซงราคายางในราคากิโลกรัมละ 100 บาท
เมื่อย้อนกลับไปดูในอดีตจากรัฐบาล 3 ยุค 3 นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ถึง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" กระทั่งปัจจุบัน "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อาจได้เห็นหลักคิด-ยุทธวิธีการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้
ในสมัย "รัฐบาลทักษิณ" มีแนวคิดรวมกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ของโลก เพื่อใช้เป็นอำนาจในการต่อรองกับตลาด จึงเกิดเป็นความร่วมมือด้านยางพารากับประเทศผู้ผลิตหลัก 3 ราย ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
ต่อมาในวันที่ 5 มี.ค. 45 จึงเกิดการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนยางพารา 3 ประเทศ มีทุนจดทะเบียนถึง 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทำหน้าที่ซื้อขายและบริหารผลิตผลยางพาราของทั้ง 3 ประเทศ โดยมีสำนักงานใหญ่และประธานกรรมการบริหารอยู่ที่ประเทศไทย
ในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว ส่งผลให้ท่าทีของประชาชนกว่า 86.4% พึงพอใจนโยบายรัฐบาล ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติ
เวลานั้น พ.ต.ท.ทักษิณ วางแนวคิดไปไกลถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพผลผลิต พัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูป เพื่อให้ไทยกลายเป็น "เมืองยาง" อีกด้วย
ขณะที่สมัย "รัฐบาลอภิสิทธิ์" ที่กว่าครึ่งเป็นพลพรรค ส.ส.ปักษ์ใต้ ผู้ที่อยู่กับวิถีชีวิตชาวสวนยางตั้งแต่ต้น จึงทำให้เกิดแนวคิด-นโยบายในการแก้ไขปัญหาเรื่องยางพาราที่หลากหลาย
ในวันที่ 28 ม.ค. 52 ได้มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกร ภายใต้วงเงินกว่า 8,000 ล้านบาท ในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ายางพาราจำนวน 200,000 ตัน
ทั้งนี้ เพื่อให้มีมาตรการสนับสนุนการส่งออก รัฐบาลจึงได้มีอนุมัติให้ยกเว้นการจัดเก็บอากรขายออกสินค้าบางราย หนึ่งในสินค้าคือต้นยางตระกูลฮีเวีย ที่ได้รับการยกเว้นภาษีจากเดิมที่จัดเก็บไว้ที่ 3% และในวันที่ 1 ธ.ค. 52 "รัฐบาลอภิสิทธิ์" จึงเร่งเครื่องพัฒนาตลาดและแปรรูปยางพาราอีกครั้ง โดยอนุมัติวงเงิน 475.84 ล้านบาท สร้างโรงงานพร้อมเครื่องจักรผลิตยางแท่ง 3 แห่ง ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ อุดรธานี และนครพนม และตั้งศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพารา 6 ศูนย์ ในจังหวัดพะเยา กำแพงเพชร พิษณุโลก ชัยภูมิ เลย และนครพนม
ต่อมารัฐบาลได้มีมติเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 53 เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การพัฒนายาง พ.ศ. 2552-2556 เพื่อใช้เป็นกรอบพัฒนายางพาราของประเทศ ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต แปรรูป การตลาด การศึกษาวิจัย และพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน
นอกจากนั้นยังเดินหน้าโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ระยะที่ 3 ตาม พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จึงได้อนุมัติวงเงิน 580 ล้านบาท การปลูกยาง 200,000 ไร่ทั่วประเทศ
มาตรการดังกล่าวถูกเน้นย้ำให้เข้าถึงเกษตรกรที่ยากจน และให้สนับสนุนปัจจัยการผลิตไม่น้อยกว่าไร่ละ 11,000 บาท เป็นเวลา 7 ปีจนเริ่มกรีดยางได้
และในยุคของ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ที่เผชิญกับมหาอุทกภัยตั้งแต่ปลายปี 2554 จึงทำให้ใช้เวลาในระยะแรกหมดไปกับการฟื้นฟู เยียวยา และซ่อมแซมบ้านเมือง
กระทั่งในวันที่ 24 ม.ค. 55 ได้มีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ภายใต้วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อรับน้ำยางสด ยางแผ่นดิบ และยางก้อนถ้วยมาแปรรูป โดยมีระยะเวลาโครงการ 1 ปี 3 เดือน (ม.ค. 55-มี.ค. 56) และอนุมัติวงเงินอีก 1,039.68 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น โดยการรับซื้อยางแผ่นรมควันของสถาบันเกษตรกร
ต่อมาในวันที่ 20 มี.ค. ยังอนุมัติให้องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) กู้เงินอีก 10,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร
เป้าหมายสูงสุดเมื่อสิ้นสุดแผนงาน คือราคายางอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท
ทั้งนี้ยังอนุมัติวงเงินอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 55 จำนวน 30,000 ล้านบาท เพื่อให้โครงการเดินหน้าอย่างต่อเนื่องทำให้ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" อนุมัติวงเงินแล้วทั้งสิ้น 55,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหายางพารา ก่อนที่จะต้องออกมาเผชิญหน้ากับ "ม็อบสวนยาง" ที่ร้องหามาตรฐานในการแก้ปัญหาจากรัฐบาลในเวลานี้
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1378575345