"ความไม่รู้"ทำให้ยึดถือว่า เป็นเราเห็น เราได้ยิน แล้วก็ยังจำเรื่องราวจากสิ่งที่เห็น จากสิ่งที่ได้ยิน จนเป็นทุกข์เป็นร้อน

เพราะฉะนั้น ขณะนี้ก็คือสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดและก็ดับไปทีละขณะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ความไม่รู้ก็ทำให้ยึดถือว่า เป็นเราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น เราได้ลิ้มรส เรากระทบสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง  ฯลฯ แล้วก็ยังจำเรื่องราวจากสิ่งที่เห็น จากสิ่งที่ได้ยิน เป็นทุกข์เป็นร้อน เดือดร้อนเป็นวันๆ เดือนๆ ก็ได้ ด้วยความไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วก็ไม่มีอะไรเลย เหมือนกำมือที่ว่างเปล่า กำไว้แน่น  แต่ว่า พอเปิดออกมาก็ไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้นจิตขณะหนึ่งซึ่งดับไปก็หมดไป แล้วก็มีขณะต่อไปที่เกิดขึ้นและดับไป แล้วก็หมดไปแต่ละขณะ

https://www.dhammahome.com/cd/topic/14/14
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ถ. เราควรจะทำตัวอย่างไร ในการปฏิบัติอย่างไร ถึงจะมาถึงจุดของการที่จะมีสติ ถึงจิต สภาพจิต

ส. ยอมรับว่า เป็นเรื่องของปัญญาหรือเปล่า ถ้าไม่มีปัญญาแล้วเรื่องทั้งหมดก็เป็นอันว่า ไม่มีทางตั้งต้นใช่ไหม

ถ. แสดงว่า พื้นฐานต้องมาจากปัญญาก่อน

ส. ต้องมีปัญญา ความรู้ และโดยมากบางคนก็มาถาม ทำยังไงถึงจะไม่โกรธ ว่าทำยังไงถึงจะเป็นอย่างนั้น จะทำยังไง คือเป็นเรื่องแต่จะทำทั้งหมด คล้ายๆ กับมาขอวิธีทำ แต่ถ้าบอกวิธี เขาจะบอกทันทีว่า เขาทำไม่ได้ เพราะอะไร จะบอกว่าขอให้ศึกษาพระธรรม เท่านี้คอยไม่ได้ ทนไม่ได้ จะเอาเดี๋ยวนี้ จะเอาวิธี แต่วิธีจริงๆ คือต้องศึกษาพระธรรม ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้มีปัญญาเกิดขึ้น ถ้าบอกวิธีแล้วทำไมไม่ทำ คือวิธีก็คือ ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น แต่เขาไม่ต้องการวิธีอย่างนี้ คือคนเรายุคนี้ สมัยนี้จะปฏิเสธการศึกษา ต้องการอย่างเดียวคือทำ แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่มีประโยชน์เลยใน ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงหลังจากการตรัสรู้ เพราะว่า ไม่ได้ให้คนอื่นทำแต่ว่า ทรงแสดงพระธรรมให้เกิดความเข้าใจ คนในสมัยโน้นเมื่อฟังพระธรรมแล้วชื่นชมในพระภาษิต ซึ่งเขาไม่มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟัง ถ้าบุคคลที่พูดนั้นไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็พูดเรื่องของธรรมดา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลภ โกรธ หลง แต่พูดเรื่องจริง เรื่องสิ่งที่มีจริง ให้เขาเข้าใจในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ในเรื่องของการที่จะต้องมีความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามีใครบอกให้ทำ รู้สึกจะชอบและคิดว่า จะทำได้ แต่ความจริง ไม่มีทาง เพราะเหตุว่า ตราบใดที่ยังเป็นเราจะต้องมี ความทุกข์ซึ่งเกิดเพราะการยึดถือในความเป็นเรา แต่ถ้ารู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเกิดตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่อยากจะป่วยไข้ แต่ก็มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดป่วยไข้ขึ้นก็เป็นของธรรมดา ทำไมคนอื่นป่วยได้เราจะป่วยไม่ได้ ในเมื่อเราก็มีร่างกาย มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย เหมือนกัน แต่เมื่อถึงคราวหรือถึงเวลาของใครจะเป็นอย่างไรตามเหตุ ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เท่านั้นเอง ทุกคนมีสุข มีทุกข์ สลับกันไป เขาทุกข์ได้ เราก็ทุกข์ได้ เขาสุขได้ เราก็สุขได้ เพียงแต่เหตุปัจจัยที่จะเกิดทุกข์สำหรับเรายังไม่มี สำหรับเขายังไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดสุข แต่เขาก็ต้องมี คนเราจะมีสิ่งที่ไม่เกิดดับไม่ได้ ไม่มีอะไรที่ยั่งยืน มีใครบ้างที่เกิดมาแล้วไม่ตาย และมีใครบ้างที่รู้ว่า กำลังตายอยู่ทุกขณะ เพราะฉะนั้นความตายก็เป็นของธรรมดามากยิ่งขึ้น ถ้าเรารู้ถึงการเกิดดับของจิตแต่ละขณะ เพราะเหตุว่า ชีวิตเราที่เรารู้ว่า แม้อายุยืนยาวมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้และจะต่อไปอีกกี่ปี แท้ที่จริงแล้วที่เรียกว่า เรายังมีชีวิตอยู่ก็เมื่อจิตเกิดขึ้นเท่านั้นเอง ถ้าจิตดับแล้วไม่เกิดอีกนั่นคือตาย เพราะฉะนั้นที่เรามีชีวิตอยู่โดยที่มีจิตเกิดและดับและเกิดขึ้นอีกและดับเพราะว่า ยังไม่ถึงคราวที่จะจากโลกนี้ ก็มีปัจจัยที่จิตเมื่อวานนี้ก็ดับไปหมดแต่จิตวันนี้ก็มี จิตวันนี้ดับจิตพรุ่งนี้ก็ยังมีอีก เพราะเหตุว่า มีเหตุปัจจัยที่จะให้จิตเกิดดับ ถ้าเรารู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้ว กำลังเกิดตายอยู่ทุกขณะ เพราะฉะนั้นความตายโดยสมมติที่เราเรียกว่า สมมติมรณะ ก็เป็นเพียงแต่การสิ้นชีวิตจากโลกนี้ จากความเป็นบุคคลนี้ สู่ความเป็นบุคคลใหม่ ในโลกใหม่ตามกรรมเท่านั้นเอง มันไม่มีทางที่จะออกไปจากสังสารวัฎฏ์ได้ เพียงแต่เปลี่ยนไปแต่ละภพ แต่ละชาติ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไปแต่ละวันตามกรรมซึ่งเกิดจากการเห็นบ้าง การได้ยินบ้าง การคิดบ้างเท่านั้นเอง เหมือนกับสภาพธรรมที่ต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา คือต้องเห็น จะอยากเห็นหรือไม่เห็น เวลานี้ก็เห็นแล้ว ห้ามไม่ให้เห็นก็ไม่ได้ จะอยากได้ยินหรือไม่อยากได้ยิน ก็ได้ยินแล้ว เพราะฉะนั้นก็คือสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดและก็ดับไป แต่ความไม่รู้ก็ทำให้ยึดถือว่า เป็นเราเห็น เราได้ยิน แล้วก็ยังจำเรื่องราวจากสิ่งที่เห็น จากสิ่งที่ได้ยิน เป็นทุกข์เป็นร้อน เดือดร้อนเป็นวันๆ เดือนๆ ก็ได้ ด้วยความไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วก็ไม่มีอะไรเลย เหมือนกำมือที่ว่างเปล่า กำไว้แน่นแต่ว่า พอเปิดออกมาก็ไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้นจิตขณะหนึ่งซึ่งดับไปก็หมดไป แล้วก็มีขณะต่อไปที่เกิดขึ้นและดับไป แล้วก็หมดไปแต่ละขณะ

ถ. มีผู้สงสัยว่า มนุษย์เรานี้เกิดมาเพื่ออะไร

ส. เพราะเหตุว่า ยังมีกิเลสคือ ความไม่รู้ ยังไม่ได้หมดกิเลส เพราะฉะนั้นก็มีการกระทำที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ซึ่งเป็นกรรมที่เป็นเหตุ เพราะฉะนั้นเรามีคำว่า สังสารวัฎฏ์ คือ กิเลสวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดวิปากวัฏฏ์ วิปากหรือวิบากในภาษาไทยไม่ได้หมายความถึงลำบาก แต่หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นผลของกรรม ถ้าใช้คำว่า วิบากแล้วหมายความถึงผลของกรรม อย่างจิตที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม จิตที่ได้ยินก็เป็นผลของกรรม

ถ. อยากจะเรียนถามว่า การทำทานของพระพุทธเจ้ามีอะไรบ้าง และทำแล้วได้อะไรบ้าง ที่ท่านเคยทำ

ส. ของพระพุทธเจ้าเลยหรือ

ถ. สงสัย

ส. ผู้ที่ไม่มีกิเลสเลย ลองคิดดู ไม่มีความตระหนี่เลย ความตระหนี่ที่เราคิดว่า เราตระหนี่สมบัติ แท้ที่จริงแล้วเราไม่ได้ตระหนี่เพียงสมบัติ เราตระหนี่แม้แต่คำสรรเสริญ คำชม เราตระหนี่แม้แต่ตระกูลคือ เพื่อนฝูง ญาติ มิตรสหาย เราไม่ต้องการให้คนอื่นมาเป็นที่รัก หรืออะไรอย่างนั้น เพราะฉะนั้นตระหนี่มีถึง ๕ อย่าง ตระหนี่ที่อยู่อาศัย ตระหนี่ลาภ ตระหนี่คำสรรเสริญ ตระหนี่ตระกูล ตระหนี่ธรรม บางคนไม่อยากให้คนอื่นรู้ธรรมละเอียด เพราะว่า เดี๋ยวจะมีชื่อเสียง เดี๋ยวจะเก่ง เดี๋ยวจะดัง หรืออะไรอย่างนั้น แต่ผู้ที่ไม่มีกิเลสเลย เป็นฝ่ายที่ให้ตลอด ถ้ามีอาหารที่มีผู้นำมาถวายมากแล้วก็เหลือ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ให้ นอกจากจะเป็นคนเข็ญใจ คนยากไร้ แม้แต่คนที่มีความเห็นอื่นก็ให้ได้ คือทานทุกชนิดไม่ใช่จำกัดแต่เฉพาะกับคน แม้แต่กับสัตว์เดรัจฉาน การที่เรามีจิตใจเมตตาต้องการให้คนอื่นมีความสุข สิ่งใดซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่คนอื่นแล้วให้ โดยไม่ใช่หวังว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วเราจะได้อะไร แต่ถ้าเป็นการให้จริงๆ โดยที่การให้นั้นต้องไม่หวังสิ่งใดตอบแทนทั้งสิ้น ทั้งสิ้นแม้แต่คำชมว่า เป็นผู้ที่ใจบุญ แม้แต่ชื่อเสียงหรือว่า แม้แต่การหวังผลตอบแทน หรือแม้แต่ให้คนที่เราให้ ตอบแทนเราด้วยประการหนึ่งประการใด เพราะว่า การให้ถ้ายังเป็นไปด้วยกิเลส ผู้ให้จะถือว่าเป็นผู้ให้ เพราะฉะนั้นก็คิดว่า ผู้รับ จะต้องมีการกระทำตอบอย่างหนึ่งอย่างใด อาจจะหวังเพียงการเคารพ หรืออาจจะหวังการช่วยเหลือ หรืออาจจะหวังแม้แต่ความรักความผูกพัน นี้ชื่อว่า ให้โดยผูกพัน คือ หวังที่จะได้รับสิ่งที่ตอบแทน แต่ถ้าเป็นการให้จริงๆ ต้องไม่มีการหวังทั้งสิ้น ต้องใช้คำว่า ทั้งสิ้น และต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้นั้นจริงๆ ถึงแม้ว่า เป็นอาหารที่เรารับประทานแล้ว คือปกติการให้จะมีหลายอย่าง การให้ที่เป็นทาสทาน เป็นสหายทาน ที่เป็นทานบดี การให้ที่เป็นทาสทานก็คือว่า เรายังเป็นทาสของกิเลสตัณหา เราจะให้ได้เฉพาะสิ่งซึ่งเราไม่ต้องการแล้ว อย่างเสื้อผ้าถ้าเรายังชอบอยู่เราก็ไม่ให้ เราก็ให้ตัวที่เราไม่ได้ใช้แล้ว หรืออะไรอย่างนี้ หรืออาหารที่เราบริโภคแล้ว เราบริโภคสิ่งที่อร่อย สิ่งที่ไม่ค่อยอร่อยก็ให้คนอื่น หรือว่า ถ้ามีผลไม้ ผลไม้ดีๆ เราก็เก็บเอาไว้ แต่ส่วนที่จะให้คนอื่นอย่างคนในบ้าน เราก็อาจจะเลือกลูกเล็กๆ หรือว่า อาจจะมีรสชาติเปรี้ยวนิดหนึ่งอะไรอย่างนี้ เราก็ให้ไปนี้ แสดงว่า เรายังเป็นทาสทาน ยังเป็นทาสของกิเลสตัณหาอยู่ ถ้าเป็นสหายทานก็คือว่า ให้เสมอกัน สิ่งที่เรามี เราใช้อย่างไร เราก็ให้คนอื่นอย่างนั้น เราสามารถที่จะสละให้ได้เหมือนการให้กับมิตรสหาย ซึ่งเสมอกัน อันนั้นก็เป็นสหายทาน ถ้าเป็นทานบดีหมายความว่า เราเป็นใหญ่ในการให้ เราสามารถสละให้ได้เพื่อประโยชน์ของคนนั้นจริงๆ แม้ว่า ตัวเราอาจจะต้องลำบากบ้าง หรืออะไรบ้างก็ตาม แต่ถ้าเห็นว่า มันเป็นประโยชน์กับเขามากกว่าเรา เราก็ให้ได้ อย่างนั้นคือเป็นทานบดี เพราะฉะนั้นแม้แต่การให้แต่ละครั้ง เราก็สามารถจะพิจารณาจิตใจของเราได้ว่า ใจของเราบริสุทธิ์แค่ไหน สะอาดและผ่องใสแค่ไหนในการให้ นี่พูดถึงเรื่องจิตของผู้ให้ แต่จริงๆ แล้วเราไม่ต้องคิดถึงจิตของเรา การให้ควรจะคิดถึงผู้รับ ถ้าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับผู้รับ ก็ให้ เพราะฉะนั้นพิจารณาจากจิตใจของเราได้ว่า ถ้าเป็นเรื่องของการให้แล้ว ก็คำนึงถึงประโยชน์ของผู้รับ ถ้าสิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์กับผู้รับ ก็ให้ เพราะว่า แม้แต่เศษกระดาษของเราซึ่งอาจจะไม่มีความหมาย เด็กตามโรงเรียนซึ่งไม่มีกระดาษพอที่จะใช้ เขาก็ไปใช้ประโยชน์ได้ หรือว่า คนที่เข็นรถแล้วเที่ยวเก็บกระป๋องหรือว่า กระดาษแข็งแล้วก็เอาไปขาย เราก็เอาไปกองๆ ไว้หน้าบ้าน ของที่เราใช้แล้ว ไม่มีประโยชน์ก็ให้ไป ทุกอย่างมีประโยชน์ คิดถึงคนรับดีกว่า นี้เป็นเรื่องของการให้ และที่ถาม ถามต่อว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าหรือ ให้ได้ทุกอย่างไม่ต้องห่วง เราให้ได้แค่นี้แล้วพระองค์จะให้ได้แค่ไหน คิดดูก็แล้วกัน ทั้งธรรมทานและวัตถุทาน และของทุกอย่างซึ่งจะเป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ควรกับผู้ใดก็ให้แก่ผู้นั้น
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่