ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 02

สำหรับผู้ที่ขี้เกียจอ่าน เชิญฟังคลิปเสียง >>> https://www.dhammahome.com/cd/topic/5/2

***************************************************************
(ต่อจากกระทู้เดิม >>> https://ppantip.com/topic/43012924 )

อ. สุจินต์ :  "แต่ถ้าตราบใดยังขาดการฟัง หรือว่าการเข้าใจความละเอียดของสภาพธรรม แม้สติเกิดบ้าง ปัญญาก็ยังไม่คม ที่จะละการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้ ทำอย่างไรปัญญาจึงจะคมขึ้น เพราะเหตุว่า สติก็ไม่มีปัจจัยที่จะเกิดบ่อย เท่ากับอวิชชา หรืออกุศลธรรม ซึ่งสะสมพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ทางเดียวคือ ฟังพระธรรมโดยละเอียดยิ่งขึ้น เพื่อเป็นเครื่องปรุง ประกอบเป็นสังขารขันธ์ เวลาที่สติระลึกรู้ ลักษณะของสภาพนามธรรมใด รูปธรรมใด ความเข้าใจในลักษณะที่เป็นอนัตตา โดยละเอียดยิ่งขึ้นของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จะเกื้อกูลทำให้ปัญญาคมขึ้น เพราะเหตุว่า รู้ว่าสภาพนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนอย่างไร ตามที่ได้ยินได้ฟัง

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็ควรที่จะได้ศึกษาสภาพธรรม ที่เป็นจิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์โดยละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แม้จะกล่าวถึงสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด เพียงสภาพธรรมเดียว เช่นผัสสเจตสิก ก็รวมไปถึงจิตทุกดวงได้ เพราะเหตุว่า ผัสสเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง และยังรวมไปถึงเจตสิกทุกดวง เพราะเหตุว่าผัสสเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวงและเจตสิกทุกดวง และยังรวมไปถึงรูปทุกชนิดได้ เพราะเหตุว่า เมื่อผัสสะเกิดกับจิตและเจตสิกทุกดวง ก็เป็นปัจจัยให้รูปทุกชนิดเกิดขึ้นได้ด้วย

เพราะฉะนั้น สำหรับในวันนี้ ก็ขอกล่าวถึงปัจจัยที่ ๓ ต่อจากเห-ตุปัจจัย และอารัมมณปัจจัย ที่ได้กล่าวถึงแล้ว

สำหรับคำว่า “อธิปติ” หมายความถึง ธรรมที่เป็นหัวหน้า เป็นธรรมที่ชักจูง ให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นเป็นไป ตามกำลังของตน จิตกับเจตสิกแยกกันเกิดไม่ได้เลย เวลาที่จิตเกิด จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เวลาที่เจตสิกเกิด ก็มีจิตเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่า ทั้งจิตและเจตสิกเป็นสังขารธรรม แต่โดยความละเอียด โดยการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค ก็ยังทรงแสดงความเป็นปัจจัยของจิต และเจตสิกแต่ละประเภท โดยความเป็นสภาพที่เป็นหัวหน้า ที่จะชักจูงให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น

แล้วสำหรับรูป ก็สามารถที่จะเป็นปัจจัย ชักจูงให้สภาพธรรมอื่น คือจิตและเจตสิกเกิดได้ ถ้ารูปนั้นเป็นอารมณ์ที่หนักแน่น เป็นที่พอใจ เป็นอารมณ์ที่ควรได้ ไม่ควรทอดทิ้ง หรือว่าไม่ควรดูหมิ่น ด้วยอำนาจการเคารพยำเกรง หรือด้วยอำนาจความปรารถนา นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ

เพราะฉะนั้น สำหรับ “อธิปติปัจจัย” แยกเป็น ๒ ปัจจัย คือเป็น สหชาตาธิปติ ๑ และอารัมมณาธิปติ ๑

สำหรับ “สหชาตาธิปติ” คือสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ ได้แก่นามธรรมคือ ฉันทเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ และจิต ๑ วิมังสะ คือ ปัญญาเจตสิก ๑

ชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะรู้ว่า แม้จิต เจตสิก จะเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน แต่สภาพอื่นนอกจากฉันทเจตสิก นอกจากวิริยเจตสิก นอกจากจิต และนอกจากปัญญาเจตสิกแล้วเป็นอธิบดี หรือเป็น “อธิปติปัจจัย” ไม่ได้

นี่เป็นชีวิตประจำวันที่จะต้องทราบ ซึ่งเหตุผล ก็จะได้พิจารณาต่อไป จิตเกิด – ดับ สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ ในวันหนึ่งๆ

โดยชาติ จิตที่เป็นกุศลก็มี จิตที่เป็นอกุศลก็มี จิตที่เป็นวิบากก็มี จิตที่เป็นกิริยาก็มี เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้ทราบว่า เวลาที่เป็นวิบากจิต ที่เป็นโลกียวิบาก ฉันทะซึ่งเกิดกับโลกียวิบาก หรือวิริยะซึ่งเกิดกับโลกียวิบาก หรือปัญญาก็ตามซึ่งเกิดกับโลกียวิบาก ไม่เป็นอธิบดี คือไม่เป็นอธิปติปัจจัย ไม่เป็นใหญ่ ไม่เป็นหัวหน้า

ฟังดูเหมือนเรื่องอื่น แต่ให้ทราบว่า เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า จิตที่เป็นชาติวิบาก ซึ่งเป็นโลกียวิบากทั้งหมด ทำอะไรไม่ได้ จะทำกุศลก็ไม่ได้ จะทำอกุศลกรรมใดๆ ก็ไม่ได้ ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ ไม่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ตั้งแต่ขณะปฏิสนธิ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน โดยมีกรรมแล้วแต่จะเป็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมเป็นปัจจัย ทำให้อกุศลวิบาก หรือกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิเกิดขึ้นในภูมิมนุษย์ เป็นกุศลวิบากเกิดขึ้น ทำกิจปฏิสนธิ ขณะนั้นทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า ฉันทเจตสิกก็เกิดร่วมกับมหาวิบากจิต ซึ่งประกอบด้วยโสภณเหตุ คืออโลภเหตุ อโทสเหตุ สำหรับการเกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่บกพร่อง ไม่พิการ ตั้งแต่กำเนิด

แต่ว่าถึงแม้ว่าฉันทเจตสิกจะเกิดกับวิบากจิต วิริยเจตสิกจะเกิดกับวิบากจิต ทำกิจอะไรได้ไหม ในชั่วขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ แม้ว่าจะเป็นมหาวิบาก เป็นผลของกุศลที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่พิกลพิการตั้งแต่กำเนิด แต่โดยสภาพ โดยชาติของจิต ซึ่งเป็นวิบาก คือเป็นจิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นผลซึ่งสุกงอมของกรรม ซึ่งทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป วิบากจิตทั้งหมด ให้ทราบว่าเป็นจิตที่ไม่มีกำลังโดยฐานะ ซึ่งไม่สามารถจะทำให้วิบากเกิดขึ้นได้ เพราะเหตุว่า วิบากจิตเอง เป็นผลของกรรมซึ่งสุกงอมแล้ว ก็เกิดขึ้น แล้วก็ล่วงหล่น คือดับไป ไม่เป็นปัจจัยให้วิบากต่อๆ ไปเกิดได้ ไม่เหมือนกับกุศลจิต และอกุศลจิตซึ่งมีกำลัง

เพราะฉะนั้น วิบากจิต นอกจากทำกิจปฏิสนธิแล้วก็ดับ ปัญญาในขณะนั้นก็ทำกิจอะไรไม่ได้ จะเป็นอธิปติเป็นอธิบดี เป็นหัวหน้าอะไรก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่า เป็นเพียงชาติวิบาก เป็นผลของกรรม เกิดแล้วก็ดับ เมื่อปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากจิต ดับแล้ว ภวังจิตเกิดสืบต่อเป็นวิบากอีก เช่นในขณะที่กำลังนอนหลับสนิท จะไม่ปรากฏว่าเจตสิกใดเป็นอธิปติ หรือเป็นหัวหน้าเลย เพราะเหตุว่า เจตสิกทั้งหมดเป็นวิบากด้วยกัน พร้อมทั้งจิตก็เป็นวิบาก เกิดขึ้นเพราะความสุกงอมของกรรม ทำให้วิบากจิตเกิดแล้วก็ดับไป

แต่ท่านผู้ฟัง ขอให้พิจารณาดูว่า ถ้าไม่รู้ว่าวิบากนี้ปราศจากกำลัง ไม่มีกำลังอะไรเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เป็นผลของกรรม โดยการปฏิสนธิ แล้วเป็นภวังค์ แล้วต่อจากนั้น ก็เป็นการเห็นบ้าง การได้ยินบ้าง การได้กลิ่นบ้าง การได้ลิ้มรสบ้าง การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง แต่ปรารถนาวิบากกันมากเหลือเกิน ที่จะให้เป็นกุศลวิบาก โดยลืมว่า แท้ที่จริงแล้ว เป็นจิตประเภทที่ไม่มีกำลังอะไรเลย เพียงเกิดขึ้นรู้อารมณ์ แล้วก็ดับเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น โลกียวิบากทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิตหรือว่าจักขุวิญญาณจิต โสตวิญญาณจิต ฆานวิญญาณจิต ชิวหาวิญญาณจิต กายวิญญาณจิต สัมปฏิจฉนจิต สันตีรณจิต ทั้งหมดซึ่งเป็นวิบาก เจตสิกที่เกิดพร้อมด้วย ไม่เป็นอธิปติปัจจัย ตามเหตุตามผลตามความเป็นจริง ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเข้าใจตัวท่านละเอียดขึ้น เมื่อได้ทราบกำลังของเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตแต่ละประเภทที่จะเห็นความเป็นอนัตตา

เพราะฉะนั้น สำหรับสหชาตาธิปติ ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า ได้แก่ฉันทเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ จิต ๑ วิมังสะ คือปัญญาที่เกิดกับชวนจิต ๕๒ ประเภทเท่านั้น จำนวนยังไม่ต้องสนใจก็ได้ แต่ให้ทราบว่าที่จะเป็นอธิปติมีกำลัง เป็นหัวหน้า เป็นปัจจัยที่จะชักจูงให้สภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย ต้องในขณะที่เป็นชวนจิต แต่โดยความละเอียด ก็ยังต้องเว้นอีกว่า เว้นจิตซึ่งปราศจากกำลัง

มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม ในเรื่องของสหชาตาธิปติ เวลาที่โลภะเกิดขึ้น หรือว่ากิจการงานใดๆ ก็ตามที่กระทำสำเร็จลงไป ให้ทราบว่าไม่ใช่สำเร็จลงด้วยวิบากจิต เพราะเหตุว่า วิบากจิตเป็นเพียงผลของกรรม ซึ่งเกิดขึ้นทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และกิจเห็น กิจได้ยิน กิจได้กลิ่น กิจลิ้มรส กิจรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และกิจอื่น เช่น สัมปฏิจฉันนกิจ สันตีรณกิจ ตทาลัมพณกิจ เท่านั้นเอง ที่เหลือทั้งหมดที่จะเป็นกรรมหนึ่งกรรมใด เป็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม ให้ทราบว่าไม่ใช่วิบากจิตซึ่งเป็นผล แต่เป็นตัวเหตุ

เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่เป็นชวนจิต ซึ่งเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้างนั้นเอง สภาพธรรมที่เป็นฉันทะบ้าง หรือเป็นวิริยะบ้าง เป็นจิตบ้าง เป็นวิมังสะ คือปัญญาบ้าง เป็นอธิปติได้ หมายความว่าเป็นหัวหน้า ที่ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นในขณะนั้น

ไม่ใช่เรื่องตำรา อย่าลืม เรื่องชีวิตประจำวัน ที่จะสังเกต พิจารณาได้ว่า การกระทำของท่านในวันหนึ่งๆ เวลาที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้างนั้น เพราะสภาพธรรมใดเป็นอธิบดี หรือไม่ปรากฏว่าเป็นอธิบดีก็ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นอธิบดีทุกครั้ง ที่ฉันทเจตสิกเกิดกับชวนจิต หรือว่าวิริยเจตสิกเกิดกับชวนจิต
มีข้อสงสัยไหมคะในเรื่องสหชาตาธิปติปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ว่าที่จะเป็นอธิบดีได้ ต้องเกิดกับจิตที่มีกำลัง เพราะฉะนั้น จิตที่ปราศจากกำลัง ที่เว้นมี ๓ ดวง เว้นโมหมูลจิต ๒ ดวง กับหสิตุปปาทจิต จิตยิ้มของพระอรหันต์ ซึ่งไม่เกิดร่วมด้วยกับเจตสิกที่เป็นเหตุ

ท่านผู้ฟังชอบอะไรบ้าง คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ แต่ท่านเองสามารถจะรู้ชีวิตประจำวันของท่านได้ว่า ท่านกำลังทำสิ่งใดด้วยความพอใจขณะนั้น ฉันทะเป็นอธิบดี ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นกุศล แม้อกุศล ท่านชอบเล่นอะไร ท่านชอบสนุกอะไร ท่านชอบอ่านอะไร ท่านชอบพูดคุยเรื่องอะไร หรือว่าท่านอาศัยวิริยะในการทำอะไร การกระทำสิ่งนั้นเกิดขึ้นเพราะต้องมีความเพียรจริงๆ เพราะเหตุว่า ไม่ได้เป็นไปด้วยฉันทะ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็จะทราบได้ว่า เพราะวิริยะเป็นอธิบดี ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ก็คือการระลึกรู้ลักษณะสภาพของกุศลจิต และอกุศลจิตของแต่ละบุคคลนั้นเองว่า ในขณะไหนสภาพธรรมใดเป็นอธิปติปัจจัย ทั้งๆ ที่เจตสิกและจิตเกิดร่วมกัน ก็ยังเห็นความต่างกันในชีวิตประจำวัน ซึ่งบางครั้งสภาพธรรมหนึ่ง ก็เป็นอธิบดี บางครั้งก็ไม่เป็นอธิบดี
มีข้อสงสัยไหม ในเรื่องของ “อธิปติปัจจัย” ยากไหม เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับแต่ละบุคคล ถ้าไม่รู้ก็ไม่รู้ไป เท่านั้นเอง คือไม่เห็นความเป็นอนัตตา แต่ถ้ารู้ก็สามารถจะเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้น ที่จะรู้ว่าขณะใด อกุศลจิตมีสภาพธรรมใดเป็นอธิบดี หรือกุศลจิต มีสภาพธรรมใดเป็นอธิบดี ถ้าท่านผู้ฟังเป็นช่างจัดดอกไม้ เวลาที่กำลังจัดดอกไม้ อะไรเป็นอธิปติ มีไหมทำในสิ่งที่ชอบ ทำด้วยความพอใจ ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล ท่านที่ชอบทำอาหาร เวลาที่ท่านทำอาหาร ทำด้วยฉันทะ หรือด้วย วิริยะ บางคนไม่ชอบ แต่จำเป็นที่จะต้องทำ หรือจำเป็นที่จะต้องช่วย ขณะนั้นก็กำลังทำ และต้องมีวิริยะด้วย ขณะนั้นจึงเห็นว่าวิริยะเป็นอธิปติ ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม และเมื่อใช้คำว่าสหชาตาธิปติ ก็เป็นปัจจัย ๒ ปัจจัย คือสหชาตะหรือสหชาต ๑ ปัจจัย อธิบดีหรือ อธิปติอีก ๑ ปัจจัย

เพราะฉะนั้น สำหรับสหชาตาธิปติปัจจัย จะต้องเกิดพร้อมกันกับสภาพธรรมที่เป็นปัจจยุปบัน ที่ตนเองเป็นหัวหน้า หรือว่าเป็นสภาพธรรมที่ชักจูงให้สภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย พร้อมกันในขณะนั้น เพราะเหตุว่า จิตและเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เพราะฉะนั้น เมื่อเจตสิกเป็นอธิปติ ก็ต้องเป็นสหชาตาธิปติ เพราะเหตุว่า เกิดร่วมกับจิตและเจตสิก ถ้าจิตเป็นสหชาตาธิปติ จิตก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นหัวหน้า ที่ชักจูงให้สภาพธรรมอื่นเกิดพร้อมกับตน ดับพร้อมกันกับตน จึงเป็นสหชาตาธิปติ คือจิตและเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกันในวันหนึ่งๆ นั่นเอง ขณะใดมีสภาพธรรมใดปรากฏความเป็นอธิบดี ขณะนั้นก็เป็นอธิปติปัจจัย เป็นชีวิตประจำวัน

โลภะที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีฉันทะเป็นอธิบดีก็ได้ ไม่มีวิริยะเป็นอธิบดีก็ได้ ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องมีอธิปติปัจจัยเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง เพราะเหตุว่า บางครั้งสภาพที่เป็นโลภะ ก็เกิดพอใจเพียงเล็กน้อย แล้วก็หมดไป แต่ว่าขณะไหนซึ่งแสดงความสนใจ พอใจมาก ขณะนั้นอย่าลืม อธิปติปัจจัย ที่ได้ศึกษาแล้วปรากฏแสดงความเป็นอธิบดี ของสภาพธรรมนั้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังทุกคน ก็พิสูจน์ได้ว่าขณะไหน ท่านกำลังเกิดกุศลหรืออกุศลที่มีความพอใจ เป็นอธิบดี หรือว่ามีวิริยะเป็นอธิบดี หรือว่ามีปัญญาคือวิมังสาเป็นอธิบดี"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่