JJNY : คนไทยลดใช้จ่าย-ชะลอความถี่ซื้อสินค้า│"เศรษฐา"เหน็บ"ตู่"│‘ธนาธร’ขอคนฝั่งธนเลือก‘ปวิตรา’│ปูตินต้อนรับรมต.กลาโหมจีน

เงินในกระเป๋าร่อยหรอ คนไทยลดใช้จ่าย-ชะลอความถี่ซื้อสินค้าจำเป็น
https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1063344
  
 
ทุกครั้งที่จบเทศกาลใช้จ่าย ทำให้การซื้อสินค้าเริ่มแผ่วลงเล็กน้อย ทำให้ไตรมาส 2 มักเป็นโลว์ซีซั่นของการทำตลาดและยอดขาย เพราะส่วนหนึ่งเริ่มเข้าฤดูฝนด้วย
 
ทว่า ภาพการซื้อสินค้าปี 2566 จะเป็นอย่างไร “คันทาร์” (Kantar) เผยรายงานวิจัย Kantar: 2023 Thailand FMCG Outlook สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ช่องทางจำหน่าย และการบริโภคสื่อและแอปพลิเคชั่น ช่วยให้นักการตลาดเห็นภาพตลาดปัจจุบันที่ชัดเจนยิ่งขึ้นและทิศทางสำคัญที่ต้องมุ่งเน้นไปในปี 2566
 
เงินเฟ้อพุ่งเป็นประวิตการณ์รอบ 14 ปี
 
พลันที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทั่วโลกกลับเผชิญภาวะเคราะห์ซ้ำกรรมซัดด้านอื่น โดยเฉพาะภาวะ “เงินเฟ้อ” ที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปี และไม่ใช่สิ่งที่เกิดในประเทศไทยเท่านั้น แต่ลามทั่วโลกด้วย
 
เงินเฟ้อสูง ทำให้ผู้บริโภคปรับตัวสอดรับวิถีชีวิตใหม่ ทั้งการเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่าย และการบริโภคสื่อเพื่อดึงดูดผู้ซื้อเป้าหมายใหม่ๆ ส่งผลให้บริษัทและแบรนด์ต่างๆ ทั้งระดับโลก(Global Brand)และระดับท้องถิ่น(Local Brand)จะต้องดำเนินกลยุทธ์ที่แตกต่างกันออกไป มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อสูง ยังนำไปสู่ผลกระทบภาคการผลิตของสินค้าและบริการต่างๆ สร้างแรงกระเพื่อมต่อการซื้อสินค้าของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายอีกขั้น
 
น้ำมันพืช ผงซักฟอก ปลากระป๋อง นมผงเด็กทารก ฯ ต้นทุนเพิ่มแรง
 
เนื่องจากภาวะ “เงินเฟ้อ” ไม่ใช่ปัญหาระดับประเทศแต่เป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไปสู่ภาวะซบเซาหรือถดถอย(Recession) ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคหรือ FMCG เป็นหมวดหมู่สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้บริโภค แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบของเงินเฟ้อก็ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดนี้เป็นอย่างมาก เช่น ราคาข้าวเพิ่มขึ้น 0.5% และน้ำมันปรุงอาหารหรือน้ำมันพืชเพิ่มขึ้น 31%
 
  เมื่อเจาะลึกสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เผชิญอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าค่าเฉลี่ย มีดังนี้ น้ำมันปรุงอาหาร ซอสถั่วเหลือง ผงซักฟอก น้ำยาบ้วนปาก ปลากระป๋อง และนมผงสำหรับเด็กทารกได้รับผลกระทบมากที่สุด และแบรนด์ ผู้ผลิตในหมวดหมู่เหล่านี้จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ด้านราคาและนำเสนอความคุ้มค่า เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริโภคยังสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ของตนได้
 
เมื่อข้าวของแพง ส่งผลให้อำนาจซื่อของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป โดยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังมีความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายมากขึ้น และมีเพียง 5% ที่รู้สึกว่าสถานการณ์ทางการเงิน “แย่ลง” อย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
 
คนไทยจ่ายเงินซื้อไข่ เนื้อหมู ผัก-ผลไม้น้อยลง
 
มาดูการชอปปิงสินค้าอุปโภคบริโภคนอกบ้าน (Out-of-home FMCG) เริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย โดยการซื้อสินค้าจำเป็นแบบกลับบ้าน (Take-home FMCG) พุ่งขึ้นช่วงโควิด โดยเฉพาะอาหารสดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ แต่ “ชนบท” กลับพบภาพตลาดกำลังหดตัวลง จากภาวะเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ซบเซา
 
สำหรับสินค้าที่ผู้บริโภค “ใช้จ่ายน้อยลง” ในหมวดอาหารสด ได้แก่ ไข่ เนื้อหมู ผักและผลไม้
 
อาหารสดที่มีราคาแพง ส่งผลให้ยอดขายและฐานผู้ซื้อลดลง มีเพียงเบเกอรี่และปลาเท่านั้นที่สามารถเพิ่มผู้ซื้อได้มากขึ้นในยุคเงินเฟ้อ
  
แบรนด์ไทยปรับตัวเก่งรับกำลังซื้อหด
 
ยุคข้าวยากหมากแพง อำนาจซื้อผู้บริโภคลดลง ทำให้แบรนด์ต้องหากลยุทธ์ หมัดเด็ดทำการตลาดให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย
 
สำหรับบริษัทระดับโลก และภูมิภาค(Regional) และไทยต่างรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่แตกต่างกันไป โดยบริษัทท้องถิ่นสามารถทำผลงานได้ดีกว่าบริษัทอื่นๆ ในทุกด้าน แม้ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคและความถี่ในการจับจ่ายจะลดลง ซึ่งบริษัทไทยประสบความสำเร็จในการปรับตัวสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโดดเด่น เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลบ้าน (Home care) ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มสามารถคว้าโอกาสที่จะชนะใจผู้บริโภค และบริษัทระดับภูมิภาคทำผลงานได้ดีที่สุดในผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (Personal care)
 
บริษัทระดับโลกแผ่วลงทุกภาคส่วน สะท้อนถึงผู้บริโภคต้องการกลยุทธ์ระดับท้องถิ่นและความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
 
ครัวเรือนลดใช้จ่าย ลดความถี่ซื้อสินค้า
 
คันทาร์ ยังพบการเปลี่ยนแปลงของประชากรและพฤติกรรมของผู้บริโภค บริบทการขยายตัวเมืองเพิ่มขึ้น แต่ดูเหมือนนโยบาย หรือมาตรการภาครัฐในการช่วยเหลือประชาชนที่เผชิญเงินเฟ้อสูงจะหดหายไป ทำให้ครัวเรือนไทยทุกขนาดไม่ว่าดล็กหรือใหญ่และทุกช่วงชีวิตต้อง “ลดค่าใช้จ่าย” และ “ลดความถี่” ในการซื้อสินค้า ตลอดจนประเภทสินค้าที่ซื้อด้วย
 
แต่ที่น่าสนใจคือ “คนโสด” และ “คนมีคู่” ยังมียอดจับจ่ายใช้สอยที่อยู่ระดับสูง และเติบโตขึ้น
  
สินค้าจำเป็นหลายหมวดได้รับผลกระทบ “ตัดงบ-การซื้อลง” แต่สินค้าบางประเภทยังเติบโตได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ เช่น สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตกลางแจ้ง สินค้าส่งเสริมสุขภาพของผู้คน
 
ชอปปิง FMCG ผ่านออนไลน์โต
 
สำหรับการใช้จ่ายด้านสินค้าอุปโภคบริโภคบนช่องทางออนไลน์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ข้อจำกัดจากโควิดจะสิ้นสุดลงแล้ว ทำให้ผู้คนเปลี่ยนกลับไปใช้จ่ายที่ห้างร้านค้าปลีกเหมือนเดิม หรือ ช่องทางโมเดิร์นเทรด จนได้ส่วนแบ่งการตลาดกลับคืนมา
 
ขณะที่แพลตฟอร์มออนไลน์ ยังมีการชอปปิงเพิ่มขึ้นจากผู้บริโภค แต่เป็นการซื้อปริมาณน้อยลงแต่ช้อป “ถี่ขึ้น
 
ทั้งนี้ สินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคลยังครองตลาดในอีคอมเมิร์ซได้ดี หากแบรนด์ใดจะทำตลาดช่องทางออนไลน์ ควรให้ความสำคัญกับสถานที่ที่กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายของตนอยู่
 
TikTok สร้างกำไรได้ สื่อเก่าขาลงต่อเนื่อง
 
ด้านการเปลี่ยนแปลงของการบริโภคสื่อ ถือเป็นสิ่งที่นักการตลาด และแบรนด์ยังต้องทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายต่อเนื่อง เพราะถือเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของเส้นทางการซื้อสินค้าหรือ Customer Journey ดังนั้น นักการตลาดต้องรู้ว่าจะสามารถเชื่อมโยงผู้บริฌภคกลุ่มเป้าหมายได้จากที่ไหน
  
สำหรับภาพรวม “สื่อดั้งเดิม” หรือ Traditional Media ยังเผชิญความท้าทายด้านความนิยมลดน้อยลง ขณะที่ TikTok กำลังสร้าง “กำไร” อย่างมากในการเจาะตลาดหรือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายวางกว้าง (Penetration)
 
แม้แพลตฟอร์มออนไลน์มาแรง แต่ผู้คนในปัจจุบันใช้เวลาโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 30 นาทีกับการใช้แอปพลิเคชั่นในแต่ละวัน แบรนด์ต่างๆ ต้องจับกระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
คนแต่ละเจเนอเรชันมีความต้องการและความชอบที่แตกต่างกัน การบริโภคสื่อจึงแตกต่างกันและในรูปแบบ การวางแผนสื่อผสมที่ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเพิ่มความตั้งใจในการซื้อ (Purchase intention) และท้ายที่สุดคือการสร้างยอดขาย



"เศรษฐา" เหน็บ "บิ๊กตู่" หัดฟังเสียงปชช. หลังเดือดร้อนทุกหัวระแหง
https://www.nationtv.tv/politic/378911969

"เศรษฐา" เหน็บ "พล.อ.ประยุทธ์" ควรได้ยินเสียงที่ไม่อยากได้ยินบ้าง หลังประชาชนเดือดร้อนทุกหัวระแหง เชื่อนโยบายเพื่อไทยตอบโจทย์ที่สุด ประกาศเป็นฝั่งตรงข้ามความยากจน-ความไม่เสมอภาค ปัดตอบจับมือพรรคการเมืองอื่น
 
16 เมษายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวถึงความมั่นใจในช่วงโค้งสุดท้าย อีก 29 วันก่อนการเลือกตั้ง ว่า มีความมั่นใจในความนิยมของพรรคเพื่อไทย แต่อย่างไรก็ตามเป็นหน้าที่ของผู้สมัคร ส.ส. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต้องหมั่นลงพื้นที่ให้เยอะ สื่อสารนโยบายตอบข้อสงสัยที่ยังไม่ชัดเจน
  
เพื่อช่วยผลักดันนโยบายของพรรคเพื่อไทยให้เป็นที่เข้าใจของประชาชน โดยจะเน้นลงพื้นที่ที่คะแนนสูสี จากข้อมูลที่มีทีมงานประเมิน จึงต้องทำงานหนัก บางวันอาจต้องไปหลายที่ หลายเวที ยืนยันไม่กลัวงานหนัก แต่ขอให้ได้ช่วยผู้สมัครได้อย่างเต็มที่ครบถ้วนชัดเจนดีกว่า
 
"ผมว่าเราทำดีขนาดไหนก็ยังไม่เป็นที่ดีพออยู่ดี เพราะคิดอยู่เสมอว่าเรายังทำไม่ดีพอ นโยบายดี ๆ ของพรรคเพื่อไทยมีเยอะมาก ก็ต้องค่อย ๆ ทยอยเผยแพร่ไปเรื่อย ๆ โดยในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมกับผู้สมัคร ส.ส. กทม. เพื่อเน้นบางนโยบายในบางพื้นที่ ที่อาจยังพูดไม่เต็ม หรือยังอธิบายได้ไม่ชัดเจน เรามีการปรับแผนตลอด" นายเศรษฐา ระบุ
  
ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายให้เงินเดือนละ 1,000 บาท 12 เดือน กับของเพื่อไทยที่ให้เงินดิจิทัล 
10,000 บาท ว่าการให้เงินควรให้เฉพาะกลุ่ม นั้น ตนมองว่าตลอดเวลาที่ท่านอยู่มา 8 ปี ประชาชนทุกกลุ่มไม่ได้เดือดร้อนไปทั่วระหองระแหงเลยหรือ อยากให้ท่านกลับไปดูใหม่ พยายามได้ยินเสียงที่ไม่อยากได้ยินบ้าง และจะเข้าใจถ่องแท้ถึงความทุกข์ยากของประชาชน นโยบายของพรรคเพื่อไทยเราครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกเหล่า ทุกคน เพราะเรามั่นใจว่า เราคิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน
  
ผู้สื่อข่าวถามถึงผลโพลความนิยมของพรรคก้าวไกล หายใจรดต้นคอ พรรคเพื่อไทยควรประกาศความชัดเจนเรื่องฝั่งตรงข้ามขั้ว เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจหรือไม่ นายเศรษฐา ระบุว่า ฝั่งตรงข้ามของพรรคเพื่อไทย คือ ความยากจน ความไม่เท่าเทียม ความไม่เสมอภาคของสังคมไทย เพราะฉะนั้นเราเดินหน้าเพื่อให้ได้คะแนนเสียงสูงที่สุด ซึ่งค่อยว่ากันว่าจะจับมือกับใครหรือไม่จับมือกับใคร
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่