โดนซื้อไปแล้ว3-4แห่ง! กนก ชี้ปัญหาทุนจีนซื้อมหาลัยไทย อยู่ระหว่างเจรจาอีกนับ 10

'กนก วงษ์ตระหง่าน' อดีตส.ส. ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ประเด็นมหาวิทยาลัยเอกชนไทยถูกทุนจีนซื้อสำเร็จแล้ว 3 แห่ง อยู่ระหว่างเจรจาอีกนับ 10 ย้ำอว.ต้องเข้มแข็ง ดูแลอย่างเข้มงวด ป้องกันการเอื้อประโยชน์ต่อชาติอื่น

กรณีกลุ่มทุนจีนเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย ที่กำลังถูกตรวจสอบจากหลายฝ่ายในขณะนี้  นอกจากการลงทุนธุรกิจด้านท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์แล้ว มีข้อมูลปรากฏว่ามหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งถูกชาวจีนเข้ามาลงทุนซื้อกิจการไปแล้วด้วยเช่นกัน  

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายกนก วงษ์ตระหง่าน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เกี่ยวกับกับกิจการมหาวิทยาลัยไทยที่ถูกซื้อโดยนักธุรกิจชาวจีน ว่า ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยในไทยที่ถูกกลุ่มทุนจีนซื้อกิจการไปแล้ว 3 - 4 มหาวิทยาลัย ส่วนที่เป็นข่าวไป 10 กว่าแห่งนั้นอยู่ในช่วงการเจรจาการซื้อขาย

นายกนก กล่าวต่อว่า ในด้านกฎหมายการที่จะเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยจะต้องถือใบอนุญาตประกอบกิจการอุดมศึกษา หรือใบอนุญาตเปิดมหาวิทยาลัย โดยใบอนุญาตมี 2 ลักษณะ ได้แก่ 

ถือโดยบุคคลธรรมดา ซึ่งในปัจจุบันมีน้อยมากที่จะใช้ลักษณะนี้

ถือโดยนิติบุคคล ที่ต้องเป็นนิติบุคคลไทยเท่านั้น คือ คนไทยต้องมีหุ้นขั้นต่ำ 51% 

ด้านการบริหารมหาวิทยาลัย หน่วยงานสูงสุดของมหาวิทยาลัย หรือสภามหาวิทยาลัย จะต้องมีกรรมการครึ่งหนึ่งที่เป็นคนไทย ส่วนนายกสภาหรืออธิการบดีสสามารถให้คนต่างชาติดำรงตำแหน่งได้ 

ส่วนด้านมาตรฐานการศึกษาเป็นสิ่งที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ต้องดำเนินการควบคุมและดูแล 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าการที่นักธุรกิจจีนซื้อกิจการมหาวิทยาลัยไทยจะเข้าข่ายการทำกิจการที่กินรวบ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ทัวร์ศูนย์เหรียญหรือไม่ นายกนกตอบว่า ในโครงสร้างทางกฎหมายทำไม่ได้ เพราะกฎหมายระบุว่าผู้ถือหุ้นจะต้องเป็นคนไทยที่มีหุ้น 51% ขึ้นไป แต่ถ้าทำในพื้นที่ระหว่างข้อบัญญัติของกฎหมายและการกำกับควบคุมดูแลอ่อนแอ (ช่องว่างทางกฎหมาย) จะเกิดความเสี่ยงต่อการมีปัญหาได้ ดังนั้นหัวใจของอว. คือ ทำอย่างไรจะทำให้การกำกับมาตรฐาน กำกับการปฏิบัติตามกฎหมายให้เคร่งครัด เป็นโจทย์ที่อว.ต้องดำเนินการ 



นายกนกยังกล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่า มหาวิทยาลัยที่ถูกซื้อกิจการเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในวิชาสังคมศาสตร์ เป็นวิชาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเอกชนอื่น ๆ ของไทยเปิดสอนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งปัญหาประชากรที่ลดลงส่งผลให้มีนักศึกษาน้อยตามไปด้วย ในระยะสั้นจะทำให้การแข่งขันแย่งนักศึกษาสูงขึ้น และจากปัญหานักศึกษาที่ลดลงก็จะส่งผลถึงจำนวนอาจารย์ที่สอนในวิชาเหล่านั้นลดลงด้วยเช่นกัน

"ในระยะยาว ผมคิดว่าไม่ได้เกิดผลกระทบทางลบเท่านั้น อาจเปลี่ยนให้เป็นบวกได้ โดยทำให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ทางการศึกษาของนักศึกษาในภูมิภาคนี้ เหมือนกับประเทศออสเตรเลียที่กลายเป็นสินค้าและบริการที่สำคัญของออสเตรเลียไป"

"ฉะนั้นถ้าประเทศไทยสามารถเปลี่ยนให้อุดมศึกษาเป็นสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของนักศึกษาในภูมิภาคนี้ จะทำให้นักศึกษามาเรียนในไทยมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเผยแพร่วัฒนธรรมไทย เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับการวางยุทธศาสตร์ ท่าทีและการเตรียมการที่จะใช้โอกาสแบบนี้ให้เกิดประโยชน์ นี่เป็นประเด็นที่ท้าทายของการบริหาร อว."  นายกนกระบุ 

ที่มาข่าว. https://www.isranews.org/article/isranews-news/114910-Isranews996363-5.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่