JJNY : ว่อน!เอกสารหักคำชี้แจง‘มีชัย’│ปธ.กมธ.ป.ป.ช.ยันเชิญ ‘หม่อมอุ๋ย’ แจง│พลิกปูม BTS ฟ้อง กทม.│ร้านทำขนมไทยกระทบหนัก!

ว่อน! เอกสารประชุม กรธ.ครั้งที่ 501 หักคำชี้แจง ‘มีชัย’ ยื่นศาลอ้างประชุมครั้งที่ 500 สุดท้าย
https://www.matichon.co.th/politics/news_3548474

 
 
ว่อน! เอกสารประชุม กรธ.ครั้งที่ 501หักคำชี้แจง ‘มีชัย’ ยื่นศาลอ้างประชุมครั้งที่ 500 สุดท้าย
 
จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเรียกประชุมนัดพิเศษในวันที่ 8 กันยายน เพื่อพิจารณาคำร้องกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นขอให้วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่
 
เนื่องจากนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าได้รับคำชี้แจงของพยานของ พล.อ.ประยุทธ์ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตเลขาฯ กรธ. ครบเรียบร้อยแล้ว จึงนัดประชุมเพื่ออภิปรายคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหารวมถึงพิจารณาพยานหลักฐานต่างๆ ว่าสิ้นข้อสงสัย เพียงพอจะนัดลงมติวินิจฉัยได้หรือไม่
 
ต่อมา โลกออนไลน์ได้เผยแพร่เอกสารความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เรื่อง “ความเห็นเกี่ยวกับ มาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ส่งถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ
 
โดยช่วงท้าย นายมีชัยชี้แจงกรณีมีการเผยแพร่เอกสารบันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 วันที่ 7 กันยายน 2561 ว่า ส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของข้าพเจ้า ขอเรียนว่า เป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วน สรุปตามความเข้าใจของผู้จด กรธ.ยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และ กรธ.ได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ ในวันที่ 12 กันยายน 2561 ความไม่ครบถ้วนดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ มีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการ รายงานการประชุมดังกล่าวจึงยังไม่อาจใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานเป็นข้อยุติได้ กรธ.ได้ตระหนักในเรื่องนี้ จึงได้กำหนดให้พิมพ์ข้อความไว้ที่หน้าปกรายงานการประชุมทุกครั้งว่า บันทึกการประชุมนี้ กรธ.ยังไม่ได้รับรอง ผู้ใดนำไปใช้หากเกิดความเสียหายใดๆ ผู้นั้นรับผิดชอบเอง
 
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโลกออนไลน์ยังมีการแชร์เอกสารบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 วันอังคารที่ 11 กันยายน 2561 ออกมาเช่นกัน โดยระเบียบวาระที่ 2 รับรองบันทึกการประชุม ระบุ คณะกรรมการมีมติรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 497 วันอังคารที่ 28 สิงหาคม 2561 ถึงครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ซึ่งเท่ากับว่า
 
ที่ประชุมได้รับการรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 500 แล้ว และไม่ตรงกับสิ่งที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทำเอกสารชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ
 

 
ประธาน กมธ.ป.ป.ช.ยัน เชิญ 'หม่อมอุ๋ย' แจงปมนาฬิกาเพื่อนแน่ บอกเลยเรื่องนี้ยังไม่จบ
https://www.matichon.co.th/politics/news_3548670
 
‘ประธาน กมธ.ป.ป.ช.’ ยันเชิญ ‘หม่อมอุ๋ย’ เข้าแจงปมนาฬิกาเพื่อนแน่ แต่ยังไม่กำหนดวัน
 
เมื่อเวลา 08.50 น. วันที่ 7 กันยายน ที่รัฐสภา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่ กมธ.ป.ป.ช.จะเชิญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ หม่อมอุ๋ย อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้จัดการมรดกของ นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ซึ่งเป็นเพื่อน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเป็นเจ้าของนาฬิกาหรู มาให้ข้อมูล กมธ.ว่า กมธ.ต้องสอบข้อเท็จจริงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคนอื่นให้เรียบร้อยก่อน ยกเว้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ที่จะเชิญมาให้ข้อมูลในเวลาที่เหมาะสมต่อไป คือหลังจากที่เรารวบรวมพยานและหลักฐานทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งตอนนี้ตนยังไม่ได้ทำเรื่องเชิญ  ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มาให้ข้อมูลในวันไหน
 
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางผู้รับผิดชอบได้เสนอ กมธ.เพื่อขอมติเชิญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรแล้ว แต่คาดว่าจะเป็นช่วงหลังจากที่จะพิจารณากระบวนการอื่นเสร็จเรียบร้อยก่อน ยืนยันว่าการพิจารณาเรื่องนี้ไม่มีกรอบเวลา แต่เราจะทำให้เต็มที่
 
“ที่ประชุม กมธ.ป.ป.ช.มีมติเชิญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร แต่ยังไม่ได้กำหนดวันและเวลา และยืนยันว่าเรื่องนี้ยังไม่จบ แม้ว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะจบแล้ว แต่เราในฐานะ กมธ.ป.ป.ช. สภา จะเดินหน้าตรวจสอบต่อไป เพราะจริงๆ นาฬิกาไม่ใช่ของเพื่อน พล.อ.ประวิตร ตามที่กล่าวอ้าง ซึ่งเรายืนยันว่ามีที่มาที่ไป ไม่เหมือนกับที่ ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณา และการที่ ป.ป.ช.พิจารณาเช่นนั้นเนื่องจาก พล.อ.ประวิตร เป็นคนแต่งตั้งประธาน ป.ป.ช.เอง ทำให้ผลสรุปออกมาเป็นลักษณะเช่นนั้น” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าว
 

 
พลิกปูม BTS ฟ้อง กทม.-KT พัวพัน 6 สัญญา-ภาระหนี้ 3.5 หมื่นล้าน
https://www.prachachat.net/general/news-1039516

7 กันยายน 2565 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) จากกรณีค้างค่าจ้างตามสัญญาเลขที่ กธ.ส. 006/55
 
ที่มาที่ไป จุดเริ่มต้นเป็นคดีความอย่างเป็นทางการเริ่มต้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 โดยบีทีเอสซียื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ในยุคผู้ว่าราชการ กทม. ชื่อ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ล่าสุดใช้เวลา 1 ปี 2 เดือนกำลังจะมีคำตัดสินในยุคผู้ว่าราชการ กทม. คนที่ 17 “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”

6 สัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว
 
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากรายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ “BTS-บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)” บริษัทแม่ของ BTSC มีสัญญาที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสิ้น 4 ฉบับ ได้แก่ 1.สัญญาสัมปทานระหว่าง BTSC และ กทม. ฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2535 หรือสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือส่วนไข่แดงเส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช และเส้นทางสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะเวลาสัมปทานปี 2542-2572
 
2. สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง เลขที่ กธ.ส. 006/55 ระหว่าง BTSC และ KT ซึ่งแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะคือ 2.1 ระยะที่ 1 ปี 2555-2572 เดินรถในส่วนต่อขยาย 1 เส้นทางสะพานตากสิน-บางหว้า และเส้นทางอ่อนนุช-แบริ่ง 2.2 ระยะที่ 2 ปี 2572-2585 เดินรถในส่วนต่อขยาย 1 เส้นทางสะพานตากสิน-บางหว้า และเส้นทางอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนไข่แดงเส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช และเส้นทางสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน
 
3. สัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เลขที่ กธ.ส. 018/59 ระหว่าง BTSC และ KT 4.สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เลขที่ กธ.ส. 024/59 ระหว่าง BTSC และ KT
 
ในขณะที่ กทม. และ KT เป็นคู่สัญญาระหว่างกัน 2 สัญญาคือ สัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 1 และ 6.บันทึกข้อตกลงการมอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการการเดินรถและติดตั้งระบบเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ หรือหนังสือมอบหมายงานเดินรถส่วนต่อขยาย 2
 
เปิดคำสั่ง ม.44-มติ ครม. 3 ครั้ง
 
ในระหว่างนั้น เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 มีสาระสำคัญ 3 ข้อหลัก 1.ให้ยกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือกฎหมายร่วมทุน 2.ให้ตั้งคณะกรรมการเจรจาเพื่อเจรจากับเอกชนผู้ได้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 3.เสนอร่างสัญญาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อให้กรุงเทพมหานครได้ลงนามในสัญญาต่อไป
 
ซึ่งคณะกรรมการเจรจาในขณะนั้น ได้เจรจากับเอกชนคู่สัญญา และมีความเห็นให้ต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว จากเดิมที่จะหมดอายุลงในปี 2572 โดยต่อเวลาสัมปทานรอบใหม่อีก 30 ปี (2572-2602) ขั้นตอนได้เสนอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา และเสนอร่างสัญญาสัมปทานเพื่อขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป
 
โดยกระทรวงมหาดไทยได้เสนอร่างสัญญาต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวปี 2572-2602 เข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อขอมติเห็นชอบ 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่ ครั้งที่ 1 วันที่ 13 สิงหาคม 2563 ครม. มีมติรับทราบผลการเจรจา และร่างสัญญาและการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และให้เวียนหนังสือขอความเห็นกระทรวงการคลัง
 
ครั้งที่ 2 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ครม.มีมติรับทราบและให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณารายละเอียดโครงการตามความเห็นของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และครั้งที่ 3 วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ครม.มีมติรับทราบและให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามความเห็นของกระทรวงคมนาคม
 
ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อขอทราบแนวทางการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากมีคณะผู้บริหารและสภากรุงเทพมหานครชุดใหม่ นำโดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
 
BTSC ฟ้อง กทม.-KT
 
ในระหว่างการขอมติเห็นชอบในร่างสัญญาจากคณะรัฐมนตรีนั้น ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 BTSC ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ กทม.กับ KT ชำระหนี้สิน โดย “สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า
 
ได้นำกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ค้างค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ เป็นจำนวนมูลหนี้รวม 1.2 หมื่นล้านบาท (ณ ปี 2564) โดยอยู่ระหว่างรอ กทม. และ บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) ทำคำชี้แจงตอบกลับมา โดยการฟ้องร้องครั้งนี้ยังไม่ได้รวมการจ้างก่อสร้างงานระบบที่มีมูลหนี้รวมอีกไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทแต่อย่างใด
 
“ธงทอง” เจรจาแมตช์แรก BTSC+KT
 
ไทม์ไลน์ภายหลังการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” มีการลาออกของคณะกรรมการ (บอร์ด) KT และได้เลือกทีมบอร์ดชุดใหม่ โดยตำแหน่งหัวโต๊ะ “ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ” มือกฎหมายเบอร์ต้นของประเทศ ตอบรับคำเชิญเป็นประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยมีการจัดประชุมหารือระหว่างบอร์ด KT ร่วมกับ BTSC เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565
 
ภายหลังการหารือแมตช์แรก ศาสตราจารย์พิเศษธงทองเปิดเผยว่า การฟ้องร้องศาลปกครองเป็นคดีความในเรื่องของค่าเดินรถนั้น เพื่อไม่ให้ล่าช้าไปจนถึงคดีความสิ้นสุด ซึ่งจะต้องมีดอกเบี้ยต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นตลอดนั้น ได้มีการพูดคุยและเห็นร่วมกันว่า จะมีการตั้งคณะทำงาน เพื่อมาพูดคุยเรื่องตัวเลขต่าง ๆ ที่อาจยังมีความเห็นต่างกันอยู่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่