JJNY : เศรษฐกิจส่อวิกฤติ│ม็อบชาวนาฮึ่ม! จี้รบ.แก้หนี้สิน│เชียงใหม่ มลพิษพุ่ง ติดอันดับ9โลก│แฉ! รัสเซียจ้างนักรบซีเรีย

เศรษฐกิจส่อวิกฤติ 'เอกชน' เร่งปรับทัพ - หวั่น 'สงคราม -ราคาน้ำมัน'
https://www.bangkokbiznews.com/business/992053
 
 
โลกกำลังเผชิญสารพัด “ความท้าทาย” ที่โหมซัดเข้ามาไม่หยุด ทั้งวิกฤติโควิด ศึกสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ดันราคาพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงทะลุเพดาน อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยเสี่ยงของศึกสงครามที่อาจยืดเยื้อ บานปลาย ประเมินจุดจบไม่ได้ กลายเป็นปัจจัยลบฉุดให้เศรษฐกิจทั้งโลกดิ่งเหว ความท้าทายมากมายเหล่านี้กดดันให้ “ธุรกิจ” ต้องปรับแผนปรับยุทธศาสตร์องค์กรเพื่อรับมืออย่างเร่งด่วน ทั้งการควบคุมต้นทุน การกระจายความเสี่ยง เน้นลงทุนในคอร์บิซิเนสที่เชี่ยวชาญ ฯลฯ 
 
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนตึงเครียดจะยิ่งส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้วและหากสถานการณ์บานปลายราคาน้ำมันอาจพุ่งถึงบาร์เรลละ150 ดอลลาร์ซึ่งกระทบทั่วโลกทั้งยังซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น
 
สำหรับผลกระทบกับไทยที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันเกือบ 90% เมื่อน้ำมันดิบแพงขึ้น 1 ดอลลาร์ ประเมินว่าทำให้ราคาค้าปลีกสูงขึ้น 20-25 สตางค์ต่อลิตร จะเห็นว่าช่วงนี้ราคาน้ำมันจะปรับขึ้นแทบทุกวัน ซึ่งทุกประเทศต่างต้องรับผลกระทบเหมือนกัน
 
ตรึงดีเซลชะลอขึ้นราคาสินค้า6เดือน
 
ขณะนี้รัฐบาลไทยใช้มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร เพื่อลดภาระภาคผลิต ขนส่ง และชะลอการขึ้นราคาสินค้าอย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อไม่ให้กระทบค่าครองชีพประชาชน รวมทั้งมาตรการดังกล่าวต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขณะนี้ติดลบ 20,000 ล้านบาท และรัฐบาลได้ลดภาษีสรรพสามิตลิตรละ 3 บาท ซึ่งจะกลายเป็นภาระให้กับการคลังประเทศ
 
ทั้งนี้ ภาวะสงครามที่เกิดขึ้นไม่มีใครคาดได้ว่าจะยุติเมื่อใด และภาครัฐจะแบกรับภาระเงินกู้ได้อีกมากแค่ไหน โดยอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ.2565 ที่พุ่งถึง 5% ทำสถิติใหม่รอบ 13 ปี ซ้ำเติมภาระค่าครองชีพประชาชนที่บาดเจ็บจากโควิด-19 และการเผชิญปัญหาสินค้าราคาแพง เงินเฟ้อ รายได้ไม่เพิ่ม หนี้ครัวเรือนสูง โดยรัฐบาลทั่วโลกกำลังหาวิธีรับมือปัญหานี้โดยการใช้มาตรการต่างชดเชยภาระประชาชนแต่หากสถานการณ์บานปลายจะยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกวงกว้าง
 
ผู้ประกอบการลดใช้พลังงาน
 
ส่วนผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการแตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม โดย ส.อ.ท.ได้สำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 15 ประจำเดือน มี.ค.2565 หัวข้อ “ปรับขึ้นค่าไฟ-ก๊าซ กระทบเศรษฐกิจแค่ไหน” จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท.150 คน ซึ่งผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมองว่าการรับมือกับราคาพลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2564 โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 82.0% เห็นว่าจะต้องมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อประหยัดพลังงาน
 
รองลงมาผู้ประกอบการ 76.0% มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงาน เช่น Solar cell ในขณะที่ผู้ประกอบการ 64.7% มีการนำระบบการบริหารจัดการพลังงานมาใช้และปรับแผนการผลิตเพื่อลดต้นทุน และผู้ประกอบการ 53.3% มีการบำรุงรักษาและปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรอย่างสม่ำเสมอ
 
หอการค้าห่วงสงครามยืดเยื้อ
 
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์รัสเซียยูเครนกระทบเศรษฐกิจทั่วโลกและไทย เพราะความต้องการสินค้าตลาดโลกลดลง จะมีผลต่อส่งออกไทยระยะถัดไป โดยเฉพาะตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐ อียู จีน และอาเซียน
 
ส่วนผลกระทบที่เห็นชัด คือ ราคาน้ำมันปรับตัวสูงถึงบาร์เรลละ 115 ดอลลาร์ และมีโอกาสทะลุบาร์เรลละ 120 ดอลลาร์ กระทบราคาน้ำมันในไทย 5.0-7.5 บาทต่อลิตร เมื่อเทียบปลายเดือน ก.พ.2565 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย เพราะสินค้าแพง
 
ทั้งนี้ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่ผ่านมา ราคาเบนซินทุก 1 บาทที่เพิ่มขึ้น ต่อลิตร จะส่งผลต่อจีดีพี0.1% ในปีนั้น ในขณะที่ ดีเซล 1 บาทที่เพิ่มขึ้นต่อลิตร จะส่งผลต่อจีดีพี 0.2% หากเหตุการณ์สงครามครั้งนี้ยืดเยื้อประมาณ 3 เดือน จะกระทบจีดีพี ทั้งปีนี้ ลดลงอีก 0.2% จากที่ประมาณการณ์ไว้
 
หนุนรัฐบาลตรึงดีเซลต่อ 
 
หอการค้าไทย เสนอว่า รัฐบาลควรดูแลค่าเงินบาทให้ไม่แข็งค่ามากเกินไป ระดับที่เหมาะสม คือ ระดับ 32.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์รวมถึงตรึงราคาดีเซลต่อเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ขณะนี้กำลังซื้อต่างจังหวัดไม่ฟื้นตัว มีปัญหาสภาพคล่องผู้ประกอบการต่างจังหวัด
 
ส่วนผลกระทบท่องเที่ยว คาดว่า นักท่องเที่ยวปีนี้จากรัสเซียอาจหายไป 2.5 แสนคน เพราะข้อจำกัดการเดินทาง ลดลงจากเดิมที่คาดว่าปีนี้จะเข้ามา 5 แสนคน ซึ่งไทยคาดหวังว่า จะมีนักท่องเที่ยวจากซาอุดิอาระเบียเข้ามาเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนรายได้ส่วนนี้
 
“สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนกระทบเศรษฐกิจไทยโดยตรงไม่มากนัก แต่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน ต้องติดตามภาวะเงินเฟ้อและส่งออกต่อเนื่อง เพราะเป็นปัจจัยต่อการเติบเศรษฐกิจปีนี้ กกร.ปรับตัวเลขทั้งจีดีพี และเงินเฟ้อ ปี 2565ใหม่ และขอให้ผู้ประกอบการไทยที่มีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทางตรงและทางอ้อมควรติดตามข่าวสารใกล้ชิด” นายสนั่น กล่าว
 
เอไอเอส จับตาความท้าทายใกล้ชิด
 
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ความท้าทายของโลกที่ต้องเผชิญวันนี้ ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ควบคุมได้หรือมองเห็นผลกระทบได้ชัดเจน เช่น เรื่องโควิด รวมถึงเทคโนโลยี กว่า 2 ปีที่โควิดเกิดขึ้น ทำให้ทั้งองค์กรไม่ว่าจะเป็นพนักงาน หรือลูกค้า เข้าใจและเรียนรู้ที่จะอยู่กับภาวะโควิดได้ 
 
“กรณีโควิด เราสามารถ work from anywhere ได้ ส่วนความท้าทายด้านเทคโนโลยี เอไอเอส ประกาศเตรียมยกระดับสู่ Cognitive Telco หรือองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะในอีก 3 ปีข้างหน้าใช้เทคโนโลยีมาเพื่อให้เกิด Interactive, Personalization และ Real Time ได้อย่างแท้จริง เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่มากยิ่งขึ้น” 
 
ส่วนปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น  สงครามโลก หรือ เงินเฟ้อนั้น เอไอเอสจับตาใกล้ชิด พร้อมบริหารเรื่อง cost effectiveness และ organization effectiveness รวมถึง Process improvement อยู่ตลอดเวลา ให้รับมือได้ หากมีผลกระทบที่รุนแรงขึ้น 
 
“ผลกระทบที่เห็นชัดเจนตอนนี้ คือ เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นจากโควิดอย่างเต็มตัว ก็ต้องมาเจอภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้น ตามราคาพลังงาน ทำให้ยิ่งบั่นทอนกำลังซื้อประชาชนเข้าไปอีก แน่นอนว่า อาจลดค่าใช้จ่ายบริการของเราลง รวมถึงนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ที่หวังเข้ามาเพิ่มปีนี้ อาจไม่เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะในกลุ่มรัสเซียที่นิยมเดินทางมาไทยอาจส่งผลต่อการใช้บริการโรมมิ่ง” 
 
ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้เอไอเอส มุ่งเน้น Fix & Focus คือ เดินหน้าทำในส่วนที่เป็นกลยุทธ์หลักขององค์กรเท่านั้น โดยมีการควบคุมและลดทอนเรื่องต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องทำในช่วงนี้ลง เพื่อนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ไปทำในเรื่องที่สำคัญและจำเป็นในอนาคต เพื่อให้เกิดการเติบโตในระยะยาวเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว 

ล็อกซเล่ย์เน้นรอบคอบลงทุน
 
นายสุรช ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเน้นความรอบคอบ รัดกุม และโฟกัสเรื่องการลงทุน ที่บริษัทมีความชำนาญ รวมถึงวินัยทางการเงิน การบริหารกระแสเงินสด สภาพคล่อง เพราะสถานการณ์มีความผันผวน ระมัดระวังในต้นทุนของงานโครงการที่อาจเพิ่มสูงขึ้น

รวมถึงความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่อาจเพิ่มสูงขึ้น และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในกรณีที่มีการทำสัญญาซื้อขายด้วยเงินตราต่างประเทศ ซึ่งต้องติดตามและบริหารความเสี่ยง
 
ธุรกิจเร่งรับมือความผันผวน 
 
นายอนุวัตร เฉลิมไชย นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน กระทบต่อธุรกิจทั้งซัพพลายเชน โดยเฉพาะขนส่งสินค้า ที่เผชิญแรงกดดันจากต้นทุนราคาพลังงานเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นกระทบต่อผู้ประกอบการอยู่แล้ว
 
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจต้องตั้งรับความผันผวนของสถานการณ์ จำลองแผนดำเนินงาน กลยุทธ์ต่างๆ ภายใต้บริบทที่ต่างกัน หากเหตุการณ์จบเร็ว จะเป็นอย่างไร กรณีเลวร้าย ความขัดแย้งยืดเยื้อจะเป็นอย่างไร เพื่อบริหารจัดการผลิตสินค้าได้สอดรับความต้องการของตลาด
 
“สถานการณ์รัสเซียและยูเครนเบื้องต้นกระทบภาคส่งออก ขนส่งสินค้าไม่ได้ รวมถึงการจ่ายเงินไม่ได้ เพราะถูกตัดออกจากระบบสวิฟต์ (SWIFT) แต่อาจปรับตัวหันไปใช้สินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการใช้ระบบชำระเงินของจีน (CIPS) แทน การพยายามบล็อกแบ่งขั้วกันเป็นเกมของโลก ในฐานะภาคธุรกิจต้องหาทางขับเคลื่อนต่อให้ได้ ต้องปรับตัวให้เก่งจึงจะรอด”
 
ดันราคาน้ำมัน-ต้นทุนผลิตสินค้าพุ่ง
 
นายยูจิ ชิมิซึ ประธานกรรมการ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์รัสเซียและยูเครนต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือ เพราะมีผลต่อราคาพลังงานเชื้อเพลิง และต้นทุนผลิตสินค้า ที่เผชิญภาวะราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
นายไชยงค์ สกุลบริรักษ์ ผู้อำนวยการบริหารธุรกิจผลิตภัณฑ์นมและโภชนาการ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า เหตุการณ์ส่งผลต่อปัจจัยต้นทุนการผลิตสินค้าบริษัทค่อนข้างมาก แต่พยายามบริหารจัดการภายในให้มีประสิทธิภาพ ไม่ให้กระทบต่อบริษัทและผู้บริโภค
 
ระยะสั้นกระทบความเชื่อมั่น
 
นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาลูกค้าชาวรัสเซียซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยเป็นอันดับ 2 รองจากจีน แต่สัดส่วนน้อยกว่ามาก และหลังเกิดโควิด-19 ลูกค้ากลุ่มนี้หายไป แต่สถานการณ์รัสเซีย ยูเครน เป็นปัจจัยลบที่ต้องจับตาใกล้ชิด ประเมินผลกระทบในเชิงจิตวิทยาของลูกค้าทั่วไป ที่อาจไม่มั่นใจช่วงระยะสั้นในการซื้อที่อยู่อาศัย
 
“ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรงในแง่ของการซื้ออสังหาริมทรัพย์แม้จะมีนักท่องเที่ยวรัสเซียเข้ามาก็ตาม แต่ชาวต่างชาติที่เป็นกำลังซื้อหลักของอสังหาริมทรัพย์ไทย คือ ชาวจีน ทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านชาติอื่นมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย”
 
เชื่อในวิกฤติมีโอกาส
 
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นปัจจัยความท้าทายใหม่ที่ต้องจับตามองว่าจะขยายผลไปขนาดไหน ในฐานะผู้ประกอบการต้องจับตามองใกล้ชิด พร้อมปรับแผนรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
 
“ภาคเรียลเซกเตอร์ทำการค้ากับรัสเซียน้อยมากไม่ถึง 5% แต่มีผลกระทบทางอ้อมและเป็นลูกโซ่ หวังว่าสงครามยุติเร็ว เพราะโลกกำลังอยู่ในช่วงเวลาการฟื้นตัวจากโควิด”
 
อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติย่อมมีโอกาส มีความเป็นไปได้ที่คนรัสเซียอาจรู้สึกอยากมาอยู่ในไทยมากขึ้น รวมถึงจีนและฮ่องกง เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาอาศัยในไทยได้ด้วยการออกวีซ่าระยะยาว ถือเป็นโอกาส ท่ามกลางวิกฤติ

หลังเม.ย.วัสดุก่อสร้างปรับราคา
 
นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนกระทบเศรษฐกิจเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นกระทบต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง หรือวัสดุอุปกรณ์บางชนิดที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ เหล็กและวัสดุต่างๆ ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างอาจปรับราคาขึ้นอีกครั้ง ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อ หลังเดือน เม.ย. อาจขยับราคาขึ้นอย่างน้อย 5%
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่