JJNY : 6in1 คนละครึ่งป่วน│สตรีทฟู้ดจ่อขึ้น│เรือข้ามฟากขอขึ้น│ต้นทุนทำนาพุ่ง│ส.อ.ท.จี้แก้ค่าครองชีพ│‘พท.’ดันแก้รธน.3ฉบับ

คนละครึ่งป่วน ร้านค้าทยอย “ยกเลิก” รับเงินในโครงการ หลังโดนเรียกเก็บภาษีเพิ่ม
https://ch3plus.com/news/category/278290
 

 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ร้านค้าในตลาดนัดเพชรอโศก ที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง หลายร้านเริ่มบ่น และยกเลิกรับเงินในโครงการคนละครึ่ง หลังถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น
 
จากเดิมที่เป็นการเสียภาษีแบบเหมาจ่าย โดยสรรพากรได้มีการตรวจสอบรายรับจากบัญชี “ถุงเงิน” ซึ่งใช้ในการรับเงินคนละครึ่ง ที่มียอดขายมากขึ้นจากโครงการคนละครึ่ง ทำให้ถูกประเมินภาษีเพิ่มขึ้น บางคนถึงหลักหมื่นบาท ซึ่งมองว่าไม่คุ้ม แม้จะได้ลูกค้ามากขึ้น แต่ทุกวันนี้วัตถุดิบแพงทุกอย่าง ทำให้มีกำไรลดลง
 
ขณะที่กรมสรรพากร ชี้แจงว่า ไม่ได้มีการตรวจสอบเก็บภาษีย้อนหลังร้านค้าที่ร่วมโครงการคนละครึ่ง เพียงแต่ร้านค้ามีบัญชีถุงเงิน ทำให้ระบบฐานข้อมูลผู้เสียภาษี ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ซึ่งตามกฎหมายผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ ก็ต้องเสียภาษี
 
ขณะที่วันพรุ่งนี้(10 ก.พ.) เตรียมตัวให้พร้อม กระทรวงการคลัง จะเปิดลงทะเบียน "คนละครึ่งเฟส 4" รายใหม่ อีกจำนวน 1 ล้านสิทธิ ผ่านเว็บไซต์คนละครึ่ง ดอทคอม และแอพฯ เป๋าตัง เริ่มตั้งแต่เวลาหกโมงเช้า เมื่อยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มใช้สิทธิคนละครึ่ง วงเงิน 1,200 บาท ได้ตั้งแต่ 17 ก.พ. ถึง 30 เมษายนนี้
 

 
สตรีทฟู้ด จ่อขึ้นราคาหากขนส่งเพิ่ม ด้านร้านบุฟเฟต์ไม่ขึ้น แต่สไลด์หมูบางกว่าเดิม
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_6880339

สตรีทฟู้ด จ่อขึ้นราคาหากขนส่งเพิ่ม ด้านร้านบุฟเฟต์ชาบู สุกี้ ปิ้งย่าง ราคาอาจไม่ปรับขึ้นจากเดิม แต่จะลงปริมาณอาหาร เช่นสไลด์หมูบางกว่าเดิม
   
9 ก.พ. 2565 – นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า หากมีการปรับเพิ่มราคาค่าขนส่ง จะส่งผลกระทบแน่กับราคาอาหาร เพราะปัจจุบันราคาสินค้าเกษตรที่ซื้อจากหน้าฟาร์มถูกมาก แต่เมื่อบวกค่าขนส่งเข้าไป ทำให้ราคาแพง ซึ่งเป็นต้นทุนที่ร้านอาหาร-ภัตตาคารต้องแบกรับ
 
ดังนั้นหากมีการเพิ่มราคาค่าขนส่ง เชื่อว่า ‘สตรีทฟู้ด’ หรือ ร้านอาหารข้างทาง คงเป็นที่แรก ๆ ที่ปรับเพิ่มราคาขึ้นมาอย่างน้อย 5-10 บาท หรือ อาหารจานเดียวอาจเพิ่มเป็น 40-60 บาท จากเดิมราคา 30-50 บาท
 
ส่วนร้านใหญ่ ๆ อย่าง บุฟเฟต์ ภัตตาคาร อาจจะไม่ปรับราคาเพิ่ม แต่อาจมีการลดปริมาณสินค้าลง อย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ร้านอาหารตามห้างสรรพสินค้า ชาบู สุกี้ ปิ้งย่าง ราคาอาจไม่ปรับ แต่ปริมาณสินค้าในร้านจะลดน้อยลง หมูจะบางลง เพราะเป็นกลุ่มร้านขนาดใหญ่ หากเพิ่มราคาอาจจะกระทบกับยอดลูกค้าได้
 

 
เรือข้ามฟาก ก็อยู่ไม่ไหว ขอขึ้นค่าโดยสารจาก 3.50 เป็น 5 บาท
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_6880130

เรือข้ามฟาก ก็อยู่ไม่ไหว ขอขึ้นค่าโดยสารจาก 3.50 เป็น 5 บาท ชี้ราคาน้ำมันดีเซลพุ่งเกินลิตรละ 29 บาท เกินเพดานที่ใช้ปรับราคาตามระเบียบของกรมเจ้าท่าแล้ว
   
9 ก.พ. 2565 – นายเชาวลิต เมธยะประภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัดผู้ให้บริการเรือโดยสารในคลองแสนแสบ กล่าวว่า ในฐานะนายกสมาคมเรือไทย เมื่อสัปดาห์ก่อนตนได้ทำหนังสือไปยังกรมเจ้าท่า เพื่อขอปรับขึ้นค่าโดยสารเรือข้ามฟากในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 8 ท่า
โดยขอปรับจากคนละ 3.50 บาท เป็น 5 บาท หรือปรับเพิ่มขึ้น 1.50 บาท เนื่องจากราคาน้ำมันได้ปรับขึ้นเกินเพดานที่กรมเจ้าท่ากำหนดแล้ว รวมทั้งยังมีปัญหาเงินเฟ้อและปริมาณผู้โดยสารที่ลดลงจากปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 แต่จนถึงขณะนี้ กรมเจ้าท่ายังไม่ได้พิจารณาอนุมัติให้ มีการปรับราคาเรือข้ามฟากแต่อย่างใด
 
สำหรับเรือคลองแสนแสบ ขณะนี้ราคาน้ำมันดีเซลได้พุ่งเกินลิตรละ 29 บาท ซึ่งเกินเพดานที่ใช้ปรับราคาตามระเบียบของกรมเจ้าท่าแล้ว แต่กรมเจ้าท่ายังไม่ได้ทำหนังสือให้ เรือแสนแสบปรับขึ้นราคา จึงยังไม่มีการปรับ แม้ว่าราคาน้ำมันจะทะลุเพดานลิตรละ 29 บาท มามากว่า 15 วันตามกฎหมายกำหนดแล้ว
 
“ตอนนี้เรือแสนแสบคงต้องแบกภาระต่อไปอีก จะขอรอกรมเจ้าท่าแจ้งให้ปรับราคามาก่อน เพราะก็เข้าใจหัวอกประชาชนที่ใช้บริการที่ต่างได้รับผลกระทบจากปัญหาของแพง ทุกวันนี้ก่อนนอน ผมต้องอธิษฐานว่าเมื่อไหร่ความสุขของคนไทยจะกลับมาสักที”


 
น้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ดัน 'ต้นทุน' ทำนาพุ่ง
https://www.nationtv.tv/news/378863325

ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวีลงพื้นที่อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี พบว่าจากปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดีเซล B7 ล่าสุดอยู่ที่ลิตรละ 30.30 บาท E20 ลิตรละ 34.40 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 35.14 บาท และแก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 35.41 บาท

ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป ข้าราชการ พนักงานบริษัท คนงานรับจ้าง รวมถึงเกษตรกรชาวไร่ชาวนา ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ต้องมีรายจ่ายประจำวันเพิ่มขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่รายได้เท่าเดิมหรือน้อยกว่าเดิม

ในส่วนของเกษตรกรชาวนาที่มาซื้อน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงสูบน้ำเข้าแปลงนา เพื่อไม่ให้ต้นข้าวยืนต้นตาย เพราะช่วงนี้เป็นช่วงเข้าสู่ฤดูแล้ง ยิ่งเป็นการซ้ำเติมทำให้ต้นทุนในการทำนาเพิ่มขึ้น และอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน



ส.อ.ท. กังวลการเมืองร้อน จี้รัฐแก้ค่าครองชีพ-ตรึงดีเซล
https://www.matichon.co.th/economy/news_3175080
 
ส.อ.ท. กังวลการเมืองร้อน จี้รัฐแก้ค่าครองชีพ-ตรึงดีเซล
 
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ระดับ 88.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.8 ในเดือนธันวาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และกลับมาอยู่ระดับใกล้เคียงก่อนวิกฤตโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกองค์ประกอบยกเว้นต้นทุนประกอบการ
 
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่ยังขยายตัวสะท้อนจากคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังดำเนินต่อไปได้ แม้จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน(Omicron) ในช่วงเดือนมกราคม แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมีการเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและประชาชนทำให้สถานการณ์การระบาดไม่รุนแรงเหมือนกับช่วงก่อนหน้า
 
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งราคาพลังงานและค่าขนส่ง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบและสินค้านำเข้า ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ยังไม่คลี่คลาย
 
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,335 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนมกราคม 2565 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 70.1,สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 45.5, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 43.8 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 42.6 ตามลำดับ
 
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 60.1, เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 50.2 และสภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 41.0 ตามลำดับ
 
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นยู่ที่ระดับ 96.4 จากระดับ 95.2 ในเดือนธันวาคม 2564 เนื่องจากสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ในประเทศไม่รุนแรงและอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยฟื้นตัว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการคาดว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะมีทิศทางดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและนโยบายเปิดประเทศ รวมถึงการขยายตัวของภาคการส่งออก
 
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
 
1) ขอให้ภาครัฐควบคุมอัตราเงินเฟ้อและเร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพให้กับประชาชน อาทิ มาตรการลด   ค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า) ลดราคาก๊าซหุงต้ม และการเพิ่มวงเงินในโครงการคนละครึ่ง
 
2) ขอให้ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท รวมทั้งการแก้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาสูงเพื่อลดภาระด้านต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ
 
3) เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์โควิด-19
 
4) ขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ โดยปรับมาตรการ Test & Go ให้ลดจำนวนครั้งการตรวจ RT-PCR ให้เหลือเพียงครั้งเดียว และให้ใช้วิธีการส่งผลตรวจ ATK ผ่านระบบ หลังการเดินทางเข้าประเทศ 5 วัน แทนการตรวจด้วย RT-PCR เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง
 
ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่