8 ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการใช้ยา

8 ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการใช้ยา 
 
     ยา 💊 คือหนึ่งในปัจจัย 4 ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งยาแต่ละชนิดก็มีฤทธิ์และสรรพคุณในการรักษา บรรเทาอาการเจ็บป่วย รวมถึงป้องกันโรคที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญก็คือ วิธีการใช้ยา เพราะถ้าเราใช้ยาได้อย่างถูกวิธีทั้งขนาดและระยะเวลา การรักษาก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
     อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้วิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง รวมถึงมีความเข้าใจและความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการใช้ยา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ยาได้โดยไม่รู้ตัว เช่น เกิดผลข้างเคียงเนื่องจากใช้ยาเกินขนาด หรือเกิดการแพ้ยา เพราะยาหลายตัวออกฤทธิ์ตีกัน มาดูกันดีกว่าครับว่า ความเชื่อที่ผิดๆอเหล่านั้นมีอะไรบ้าง และความจริงที่ถูกต้องคืออะไร  
 
     1. กินยาดักเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย 
     หนึ่งในความเชื่อยอดนิยมว่า หากรู้สึกเหมือนจะเป็นไข้ ให้กินยาดักไว้ก่อน เพราะคิดว่า ยาจะสามารถป้องกันการเป็นไข้ได้ โดยเฉพาะการกินยาพาราเซตามอลหรือยาลดไข้ชนิดอื่นๆ แต่ความจริงก็คือ ยาเหล่านี้มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวด ลดไข้ แต่ไม่ได้มีสรรพคุณในการป้องกันอาการป่วย ดังนั้น การกินยาดักไว้ก่อนจึงไม่สามารถช่วยป้องกันการเป็นไข้ได้
     นอกจากนี้ การใช้ยาทุกชนิดมีผลข้างเคียงเสมอ หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะยาพาราเซตามอลขนาด 500 มก. ถ้ากินเกินวันละ 8 เม็ด ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน จะทำให้ตับทำงานหนักเกินไป ส่งผลให้เซลล์ตับถูกทำลาย เกิดเป็นภาวะตับอักเสบได้  
 
     2. กินยารวบมื้อ 
     การลืมกินยามื้อหนึ่งแล้วเอาไปรวบยอดกับมื้อถัดไป หรือลืมกินยาก่อนอาหาร แล้วเอาไปกินพร้อมยาหลังอาหารแทนเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เนื่องจากการกินยาแบบรวบมื้อ จะทำให้ได้รับยาเกินขนาดในมื้อถัดไป และยาที่จำเป็นต้องกินก่อนอาหารก็จะลดประสิทธิภาพลงด้วย วิธีการกินยาที่ถูกต้อง มีดังนี้ 
    ✅ ยาระหว่างอาหารหรือยาพร้อมอาหาร ควรกินยาพร้อมอาหารคำแรก หรือหลังจากกินอาหารไปแล้วครึ่งหนึ่ง
    ✅ ยาก่อนอาหาร ควรกินก่อนอาหารประมาณ 20 – 30 นาที แต่ถ้าลืม ให้ข้ามไปกินก่อนอาหารในมื้อถัดไป หรือกินหลังอาหารมื้อนั้นอย่างน้อย 2 ชม. และไม่ต้องกินของมื้อถัดไป
    ✅ ยาหลังอาหาร ควรกินหลังอาหารประมาณ 15 – 30 นาที ถ้าลืมไม่เกิน 15 นาที ให้รีบกินทันที แต่ถ้านานเกิน 15 นาที ให้ข้ามไปกินในมื้อถัดไป แต่ถ้าเป็นยาสำคัญ ให้กินของว่างมื้อเล็กๆ แล้วกินยาตามทันที 
    ✅ ยาก่อนนอน ควรกินก่อนเข้านอนประมาณ 15- 30 นาที ถ้าลืม ให้ข้ามไปเลย แล้วไปกินในคืนถัดไปแทน
 
     3. กินยาเกินขนาด (overdose) จะได้หายเร็วๆ
     การกินยาในปริมาณที่มากกว่าที่แพทย์หรือเภสัชกรกำหนด เพราะคิดว่าจะทำให้หายจากโรคได้เร็วขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ 
     โดยยาที่ผู้ใช้มักจะกินเกินขนาดก็คือ พาราเซตามอล ซึ่งปริมาณที่เหมาะสมต่อการกินยา 1 ครั้ง อยู่ที่ 10-15 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. เช่น น้ำหนักตัว 50 กก. ควรกินยาขนาด 500-700 มก. หรือ 500 มก. 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชม. แต่ไม่ควรเกิน 8 เม็ดต่อวัน 
      อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยกินยาเกินขนาดแล้วพบอาการไม่พึงประสงค์ เช่น อุณหภูมิในร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว ปวดท้อง คลื่นไส้ หายใจขัด ชีพจรอ่อนลง ความดันโลหิตสูงผิดปกติ ง่วงนอน สับสน หรือถึงขั้นช็อก หมดสติ ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที 
 
     4. ยาปฏิชีวนะกับยาแก้อักเสบคือยาชนิดเดียวกัน 
     ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) เรียกอีกอย่างว่ายาฆ่าเชื้อ หรือยาต้านแบคทีเรีย เป็นยารักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ แผลฝีหนองที่ผิวหนัง หรือปอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เสมหะมีสีเหลืองหรือเขียว ที่สำคัญ ยาปฏิชีวนะมีหลายชนิด เช่นเดียวกับการติดเชื้อในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายก็เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ต่างชนิดกัน การรักษาจึงจำเป็นต้องใช้ยาที่ตรงกับเชื้อที่เป็นสาเหตุเท่านั้น ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะชนิดไหนก็ได้
      ส่วนยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory drugs) เป็นยาที่มีสรรพคุณในการลดไข้ บรรเทาปวด บวม แดง ซึ่งอาการอักเสบส่วนใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีการติดเชื้อ เช่น โรคเก๊าท์ ไขข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบจากภูมิคุ้มกันอย่างโรครูมาตอยด์ อาการบวมแดงช้ำจากอุบัติเหตุหรือแมลงกัดต่อย ซึ่งสามารถใช้ยาต้านการอักเสบรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ 
      ในขณะที่หลายคนมักเข้าใจผิดว่า ❌ ยาปฏิชีวนะกับยาแก้อักเสบคือยาชนิดเดียวกัน จึงมักจะไปซื้อยามากินเอง ทำให้มีโอกาสที่จะได้ยาที่ไม่ตรงกับโรค และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น จนทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในที่สุด 
      จากการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษพบว่า ทุกๆ ชั่วโมง จะมีคนไทย 2 คน เสียชีวิตจากการดื้อยาปฏิชีวนะ โดยในปี 2010 มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในประเทศไทยมากถึง 19,122 คน ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการที่คนไทยสามารถซื้อยาปฏิชีวนะมากินเองได้ โดยที่ไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ 
 
     5. เป็นหวัด เจ็บคอ ต้องกินยาปฏิชีวนะ 
     อาการเจ็บคอส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อหวัด ส่วนอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะต้องมีอาการบ่งชี้อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง มีฝีหนองที่ต่อมทอนซิล น้ำมูกและเสมหะมีสีเหลืองเขียว เป็นต้น ซึ่งการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อหวัดไม่มียาฆ่าเชื้อโดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการ โดยให้ร่างกายกำจัดเชื้อออกไปเอง ดังนั้น การซื้อยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะมากิน จึงไม่สามารถรักษาอาการเจ็บคอจากหวัดได้ 
 
     6. หยุดยา เพิ่มยาหรือลดยาเอง หรือกินยาชนิดเดิมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
     การใช้ความรู้สึกในการหยุดยา เพิ่มยาหรือลดยาเอง เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบได้บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะอยากหายไวๆ หรือรู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้วจึงหยุดยา แต่ความเป็นจริงก็คือ โรคบางโรคสามารถใช้ยารักษาในระยะสั้นๆ ได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ถ้ากินยาครบตามที่คุณหมอสั่งแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกินต่อ หรือยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้อักเสบลดปวด ยาแก้ไอ ยาระบาย หากผู้ป่วยไม่มีอาการแล้วก็สามารถหยุดยาได้ 
     แต่ในกรณีของโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาเป็นเวลานานๆ เช่น เบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง ไตเสื่อม โรคเก๊าท์ โรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมอง เพราะเป็นกลุ่มโรคที่ต้องอาศัยการใช้ยาควบคู่กันไปกับการปรับพฤติกรรม และการตรวจร่างกาย ตรวจเลือดอย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคได้ ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเรื้อรัง ก็ควรไปพบแพทย์เป็นประจำ เพื่อดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง และไม่ควรปรับยาหรือหยุดยาเองอย่างเด็ดขาด แม้จะรู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม 
 
     7. เป็นโรคเดียวกัน แบ่งยากันกินได้ 
     ยาเป็นวิธีการรักษาเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีโรคประจำตัว และพื้นฐานการทำงานของตับ ไต รวมถึงน้ำหนักตัวที่แตกต่างกัน ดังนั้น แม้ว่าเราจะพบผู้ที่มีอาการเดียวกัน ก็ไม่ควรแบ่งยาของเราให้คนอื่นกินเด็ดขาด 
     ที่สำคัญ ผู้ใหญ่ไม่ควรแบ่งยาของตัวเองให้กับเด็กกินโดยใช้วิธีแบ่งครึ่ง เพราะเข้าใจว่ายาครึ่งเม็ดออกฤทธิ์เพียงแค่ครึ่งเดียว เนื่องจากระบบอวัยวะภายในของเด็กไม่เหมือนผู้ใหญ่ การตอบสนองต่อยาจึงแตกต่างกัน การที่เด็กได้รับยาเกินขนาดแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจส่งผลให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น จึงไม่ควรกินยาของคนอื่นเด็ดขาด ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม 
 
     8. กินยากับเครื่องดื่มประเภทอื่นนอกจากน้ำเปล่าได้หรือไม่ 
     การกินยาให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ควรกินกับน้ำดื่มที่สะอาดเท่านั้น และไม่ควรกินกับเครื่องดื่มประเภทอื่น เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ดังนี้ 
    🥛 นม เนื่องจากแคลเซียม โปรตีน และธาตุเหล็กที่อยู่ในนม อาจไปจับตัวยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาลดกรด ส่งผลต่อการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ 
    ☕ กาแฟ มีคาเฟอีนออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ดังนั้น หากกินร่วมกับยาที่กระตุ้นระบบประสาท เช่น ยาแก้หวัด ยาขยายหลอดลม อาจทำให้เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้วูบหรือเป็นลมได้ 
    🧃 น้ำผลไม้รสเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว จะทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น จึงอาจทำให้ปวดท้องได้ ถ้ากินคู่กับยาที่มีฤทธิ์เพิ่มกรดในกระเพาะอยู่แล้ว นอกจากนี้ น้ำผลไม้ยังมีต่อผลต่อการดูดซึมของยาบางชนิด เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว และภูมิแพ้ต่างๆ 
    🍺 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและปัสสาวะมากขึ้น หากกินในเวลาที่ใกล้เคียงกับยาที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดหรือยาขับปัสสาวะ จะทำให้หลอดเลือดขยายตัวมากเกินไป และร่างกายเสียน้ำมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำ มึนงง เป็นลม หมดสติได้ นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคตับอักเสบหรือตับแข็ง เพราะอาจทำให้เซลล์ตับบาดเจ็บจากการใช้ยาหลายๆ ชนิด โดยเฉพาะยาที่ต้องขับออกจากร่างกายผ่านตับ แม้ว่าจะกินยาในขนาดปกติก็ตาม
    🥤 น้ำอัดลม มีทั้งกรดและน้ำตาลสูง ซึ่งอาจไปขัดขวางการออกฤทธิ์ของยาบางชนิด เช่น ยาลดกรด ยาขยายหลอดลม 
 
     ยามีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์เช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้การใช้ยาเกิดประโยชน์สูงสุด ควรอ่านฉลากให้ละเอียดทุกครั้งก่อนการใช้ยา และควรกินในปริมาณที่ถูกต้อง ตรงตามเวลาและระยะเวลาที่กำหนด ที่สำคัญ ไม่ควรหยุดยา ลดยา หรือเพิ่มยาเองโดยเด็ดขาด ถ้าหากมีคำถามหรือข้อสงสัยให้ปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น ห้ามใช้ความรู้สึกส่วนตัว หรือหลงเชื่อข้อความที่ส่งต่อกันมาในโลกโซเชียลนะครับ 💊💊💊
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่