น้ำอัดลม 0 แคลอรี่ ไม่มีน้ำตาล เบาหวาน IF ดื่มได้ไหม? สาระความรู้น้ำตาลเทียม สารให้ความหวาน

#น้ำอัดลมไม่มีน้ำตาลเบาหวานดื่มได้ไหม
คำถามยอดฮิต ที่ยังเป็นประเด็นอยู่เรื่อยๆ
และหลายคนก็อาจจะยังไม่รู้นะคะ
ซึ่งในบทความนี้ จะเคลียร์ทุกข้อข้องใจกัน ว่าน้ำตาลเทียม หรือสารให้ความหวานต่างๆนั้น
คนไข้เบาหวาน รวมถึงคนที่ชอบศึกษาเรื่องสุขภาพ
สนใจอยากรู้นั้น เราดื่มได้ไหม  จะเป็นอันตรายรึเปล่า

เมื่อคุณอ่านเรื่องนี้จนจบสามารถกดแชร์เพื่อส่งต่อความรู้ ให้เพื่อนๆและคนที่คุณรักนะคะ

มาถึงคำตอบของคำถามนี้ คือ “ได้ค่ะ”
แต่หมอปอแนะนำแบบนี้ค่ะว่า “ดื่มเพื่อแก้เบื่อเท่านั้น”
หมายความว่า วันไหนอยากดื่มอะไรสดชื่น อยากหวานบ้าง การเลือกเครื่องดื่มไม่มีน้ำตาลเหล่านี้
อย่างไรก็ดีกว่าน้ำอัดลมธรรมดาที่น้ำตาลมหาศาลแน่ๆ
แต่ไม่แนะนำให้ดื่มเป็นประจำ ถึงแม้ว่าไม่ได้ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่ม

สิ่งที่จะตามมาของการทานสารให้ความหวานเหล่านี้เป็นประจำ
นั่นก็คือ อาการ “ติดหวาน”  เนื่องจากสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเหล่านี้
ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายปกติ ถึง 100-300 เท่ากันเลย
หากว่าคุณมีอาการติดหวาน จะทำให้คุณอยากอาหารอื่นๆที่หวานๆไปด้วย
ซึ่งอาจจะทำให้ลดน้ำตาลในเลือดได้ยาก

และสารให้ความหวานบางชนิด ก็ผลต่อการกระตุ้นอินซูลินให้เพิ่มขึ้น
ซึ่งใครที่ทำ IF (Intermittent Fasting) เพื่อรักษาเบาหวานโดยไม่ใช้ยาอยู่นั้น
สามารถดื่มได้ แต่ให้ไปดื่มพร้อมกันในมื้ออาหารได้เลย
ไม่แนะนำให้ดื่มนอกมื้อ หรือระหว่างมื้อค่ะ ทางที่ดี จึงแนะนำให้ทานแต่น้อย จะดีกว่า

เรามารู้จักสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเพิ่มเติมกันดีกว่า
ที่ข้างกระป๋องมีเขียนไว้นะคะ แต่อาจจะอ่านยากนิดนึง ต้องดูดีๆ

ที่เจอได้บ่อยๆในอาหารจะแบ่งเป็นกลุ่ม ตามนี้ ได้แก่

1.กลุ่มที่ไม่เพิ่มน้ำตาลในเลือดเลย  แต่กระตุ้นอินซูลินได้
ซึ่งเราจะทานในมื้อ ไม่ทานนอกมื้อ ได้แก่
- 1.1 Acesulfame potassium (อะซีซัลแฟมโพแทสเซียม)
มักใช้ในน้ำอัดลม น้ำกระป๋องนี้เหล่าก็เช่นกัน เยลลี่ หมากฝรั่ง
- 1.2 Aspatame (แอสปาแตม) เช่น น้ำตาลเทียมยี่ห้อต่างๆที่ใช้ใส่กาแฟ
น้ำอัดลม 0 cal ก็มีค่ะ หมากฝรั่ง โยเกิร์ต ยาแก้ไอ
- 1.3 Sucralose (ซูคราโลส) สกัดมาจากน้ำตาลซูโครสหรือน้ำตาลทราย
เป็นที่นิยม มักพบได้ในนมน้ำตาลต่ำ น้ำผลไม้ น้ำเชื่อม  ผลไม้กระป๋อง
ใส่ในเวย์โปรตีน อาหารเสริม
- 1.4 Saccharin (แซคคาริน) ปัจจุบันไม่ใช้กันแล้ว

2.กลุ่มที่ไม่เพิ่มน้ำตาลในเลือดเลย
และมีงานวิจัยมาว่า ไม่กระตุ้นอินซูลิน
สามารถทานนอกมื้อได้ ซึ่งจะดีต่อเบาหวานมากกว่า ได้แก่
- 2.1 Stevia (สตีเวีย) หรือน้ำตาลหญ้าหวาน
ซึ่งเป็นสารให้ความหวานที่มาจากพืช จึงค่อนข้างปลอดภัย
ที่จะใช้ให้ความหวานแทนน้ำตาล
แต่ด้วยรสชาติที่เฉพาะตัวหน่อย อาจจะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบค่ะ
- 2.2 Erythritol (อิริทริทอล หรือ น้ำตาลอิริธ) ที่นิยมใช้
เนื่องจากรสชาติไม่หวานติดลิ้น ความหวานน้อยกว่าน้ำตาลทราย
แต่ด้วยตัวมันเป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่ง
ให้สัมผัสเย็นๆ เมื่อทาน
และมีผลข้างเคียงที่เจอได้ในบางคน เช่น ทำให้ท้องอืดค่ะ
- 2.3 Monk Fruit (น้ำตาลจากหล่อฮังก๊วย)
ตัวนี้ใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลได้เช่นกัน
ไม่กระตุ้นอินซูลิน และ รสชาติดี ก็เป็นที่นิยมค่ะ
- 2.4 Inulin (อินนูลิน) ไม่กระตุ้นอินซูลินเช่นกัน สามารถใช้ได้

และสารให้ความหวานในกลุ่มสุดท้าย คือนอกเหนือจากที่กล่าวไป
มาจากการผลิตโดยตัดสายคาร์โบไฮเดรตเป็นสายสั้นๆ
เช่น มอลโตเด็กซ์ดริน ซึ่งก็ยังมีแคลอรี่อยู่ มีน้ำตาลอยู่ แต่น้อยลง
หรือเป็นกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ชนิดอื่น
เช่น Sorbitol, Mannitol, Xylitol ที่พบในหมากฝรั่ง ลูกอม
สารให้ความหวานกลุ่มนี้ ยังเป็นคาร์โบไฮเดรตอยู่ แต่ให้พลังงานต่ำกว่า
ดังนั้น อะไรที่มีแคลอรี่ จึงกระตุ้นอินซูลินได้ด้วย

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มากมายที่ทำออกมาตอบโจทย์ผู้บริโภค
แต่บางครั้ง ด้วยคำโฆษณา อาจทำให้คุณเข้าใจผิดได้
สิ่งสำคัญคือ การดูที่ฉลากบรรจุภัณฑ์ และส่วนประกอบ
บางยี่ห้อ  โฆษณาว่าเป็นน้ำตาลในกลุ่มที่ 2 
แต่มีส่วนประกอบของกลุ่ม 1 กว่า 90 กว่าเปอร์เซนต์
ถ้าเอามาทานนอกมื้อ ก็จะกระตุ้นอินซูลินได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการทำ Intermittent fasting

แต่บางยี่ห้อ ก็เป็นส่วนผสมของกลุ่ม 2  ทั้งหมด แบบนี้ใช้ได้ค่ะ
จึงแนะนำว่าก่อนซื้อหรือก่อนสั่งมาบริโภค
ขอดูส่วนประกอบและฉลากโภชนาการกันให้ดีก่อนนะคะ

#หมอปอสอนเบาหวานไม่ใช้ยา
#หมอปอSugarFreedom
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่