เบาหวานชนิดที่ 2 ไม่ใช่โรคกรรมพันธุ์ สาเหตุแท้จริงคืออะไร พร้อมวิธีรักษาที่สาเหตุโดยไม่ใช้ยา

#สาเหตุแท้จริงเบาหวานชนิดที่2 ที่คุณ(อาจ)ยังไม่รู้
เบาหวานชนิดที่คนไทยเป็นมากกว่า 5 ล้านคน
คือกว่า 95%ของคนไข้ เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 
และพบตอนเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์แต่อย่างใด
มิเช่นนั้นคงจะไม่มีคนไข้ที่ประวัติครอบครัวไม่เป็นเบาหวานเลย
แต่ตัวเองกลับเป็นเบาหวาน

เพราะโรคกรรมพันธุ์ตามความหมาย
คือโรคที่มีการถ่ายทอดได้ภายในครอบครัว
เป็นความผิดปกติที่มาจากสารพันธุกรรม โครโมโซม หรือยีน
ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่มีการปฏิสนธิแล้ว และแก้ไขไม่ได้
ซึ่งเบาหวานชนิดที่ 2 นั้น "ไม่ใช่"
ดังนั้น หากคุณยังเชื่อว่า เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากพันธุกรรม
อาจจะทำให้คุณยอมแพ้ต่อโรคนี้ได้ 

แต่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่หลายๆคนเป็นอยู่
หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็น
สาเหตุมาจากพฤติกรรม ทั้งการทาน และการออกกำลังกายผิดวิธี

สาเหตุของโรคนี้ แท้จริงมาจาก “ภาวะดื้ออินซูลิน”

ภาวะดื้ออินซูลินเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
เรามาทำความเข้าใจกันก่อนค่ะ

อินซูลินเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งในร่างกาย
ที่ผลิตและหลั่งออกมาจากเซลล์ที่เรียกว่าเบต้าเซลล์ของตับอ่อน
หน้าที่หลักของฮอร์โมนอินซูลิน
คือเป็นตัวกลางในการเก็บสะสมสารอาหาร
โดยเฉพาะน้ำตาล จากหลอดเลือด เข้าสู่เซลล์ร่างกาย
ดังนั้นอินซูลินจึงลดน้ำตาลในเลือดได้
ด้วยการพาน้ำตาลเข้าไปเก็บสะสม

เมื่อทานอาหารที่ให้พลังงานหรืออาหารที่มีแคลอรี่เข้าไป
ร่างกายจะมีการย่อยและการดูดซึมสารอาหารหลัก
ได้แก่คาร์โบไฮเดรตโปรตีนและไขมัน
เมื่อมีอาหารอินซูลินจะถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาทำหน้าที่ของมัน
โดยเฉพาะสารอาหารที่กระตุ้นอินซูลินให้ทำงานมากที่สุด
ก็คือประเภทคาร์โบไฮเดรตหรือแป้งนั่นเอง
ซึ่งคาร์โบไฮเดรตนี้จะถูกย่อย
และดูดซึมเป็นน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด
น้ำตาลตัวหลักที่ร่างกายเอาไปใช้เป็นพลังงาน
ก็คือน้ำตาลกลูโคส ที่เราตรวจได้จากเลือด

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทานอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรต
ได้แก่ข้าว ขนมปัง ผลไม้ พืชตระกูลหัว ผักที่มีแป้ง
รวมไปถึงน้ำตาลที่อยู่ในน้ำหวาน ขนม นม
อาหารที่ผ่านการแปรรูปต่างๆ
ก็ล้วนแต่กระตุ้นฮอร์โมนอินซูลินให้ออกมาทำงานทั้งนั้น

ร่างกายจะมีกลไกที่จะคงระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติมากที่สุด
ดังนั้นยิ่งคุณทานน้ำตาลทานแป้งมากขึ้นเท่าไหร่
ฮอร์โมนอินซูลินก็จะยิ่งออกมามากขึ้นเท่านั้น
เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงจนเกินไป

แล้วน้ำตาลที่อยู่ในเลือดจะไปไหนต่อ??

พอมีน้ำตาลกลูโคสและมีอินซูลินมากขึ้นในเลือด 
อินซูลินก็จะไปจับที่เซลล์ต่างๆของร่างกาย
และส่งสัญญาณบอกเซลล์ว่ามีน้ำตาลเข้ามาแล้วนะ
ให้พาน้ำตาลออกจากเลือดเอาไปใช้พลังงานได้
ใช้พลังงานในที่นี้
คือการเปลี่ยนรูปจากสารอาหารมาเป็นพลังงาน
เพื่อให้เซลล์มีชีวิตอยู่ และทำกิจวัตรต่างๆได้นั่นเอง 

พอเซลล์ได้รับพลังงานเอาไปใช้พอแล้ว
แต่ถ้ายังมีน้ำตาลและอินซูลินหลงเหลืออยู่ในเลือด
อินซูลินก็จะสั่งการให้เซลล์ที่เป็นสถานีเก็บสะสมพลังงาน
ได้แก่กล้ามเนื้อตับและเซลล์ไขมัน
ให้เก็บสะสมน้ำตาลส่วนเกินนี้เอาไว้ เป็นพลังงานสำรอง
เผื่อเอาไว้ใช้ยามไม่มีอาหาร

โดยน้ำตาลส่วนเกินนี้จะถูกสะสมในรูปแบบต่างๆกัน
ที่ในตับและกล้ามเนื้อจะถูกสะสมในรูปของแป้งชนิดหนึ่ง
เรียกว่า ไกลโคเจน (Glycogen) 
อวัยวะ 2 อย่างนี้มีพื้นที่อยู่จำกัด

พอสถานีนี้เต็มแล้วก็จะถูกเปลี่ยนรูป
ไปสะสมเป็นเซลล์ไขมันที่ทำให้คุณมีไขมันส่วนเกิน
และอ้วนน้ำหนักเกินตามมานั่นเอง

ในแต่ละคนกลไกการเผาผลาญพลังงาน และการสะสมพลังงานไม่เท่ากัน
บางคนเก็บได้มากก็อ้วนมาก
บางคนเก็บได้น้อยก็อ้วนน้อย

แต่เมื่อใดก็ตาม
เมื่อถึงจุดที่ร่างกายไม่สามารถเก็บสะสมน้ำตาลได้อีกต่อไปแล้ว
ร่างกายท่วมท้นไปด้วยน้ำตาลและไขมันที่สะสมเป็นส่วนเกิน
ไม่ถูกนำไปใช้  แต่คุณยังทานอาหารเหมือนเดิม
บังคับให้อินซูลินออกมาเยอะเหมือนเดิม จนร่างกายบอกว่าเก็บไม่ไหวแล้ว
เต็มแน่น ท่วมท้นไปหมดแล้ว

ร่างกายจึงต้องปกป้องตัวเอง
เซลล์ร่างกายจึงเกิดการต่อต้านขึ้นมา ไม่ยอมจับกับอินซูลินที่ออกมา
และไม่สามารถกระตุ้นให้เซลล์เก็บน้ำตาลได้อีกต่อไป
เหตุการณ์นี้ เรียกว่า “ภาวะดื้ออินซูลิน” 

เมื่อเซลล์ดื้ออินซูลินไม่ยอมรับน้ำตาลเข้ามาอีก
น้ำตาลส่วนเกินที่เหลือจึงคงค้างอยู่ในกระแสเลือด
ทำให้คุณตรวจเจอว่าน้ำตาลในเลือดสูง
จนถึงเกณฑ์ที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานนั่นเอง
น้ำตาลในเลือดที่ตรวจพบจะสูงมากหรือน้อย
ก็ขึ้นกับว่าร่างกายมีเซลล์ที่ดื้ออินซูลินมากน้อยแค่ไหน
ซึ่งร่างกายมีเซลล์อยู่หลายล้านเซลล์
เราจึงไม่สามารถตรวจได้ว่าเซลล์ดื้ออินซูลินไปเท่าไหร่
แต่สิ่งที่ตรวจได้คือน้ำตาลที่อยู่ในเลือด

เพราะฉะนั้นหากต้องการรักษาเบาหวาน
ที่สาเหตุที่แท้จริงของโรค จึงต้องรักษาที่ภาวะดื้ออินซูลินของเซลล์
ทำให้เซลล์หายดื้อและกลับมาใช้งานจับกับอินซูลินได้ดีขึ้น

ด้วยการ
1.
ลดการกระตุ้นการหลั่งอินซูลินลงมาก่อน จากการที่งดกินน้ำตาล ลดการกินแป้งลง
กินให้เป็นมื้อปรับเวลาการกิน (Intermittent Fasting) IF
ให้เวลากินน้อยลงมีช่วงเวลาที่ไม่ได้กินยาวนานขึ้น 
เพื่อให้เซลล์ที่ท่วมท้นไปด้วยน้ำตาล และพลังงานส่วนเกินที่ท่านเคยเก็บสะสมไว้
ได้ถูกนำมาใช้มาเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงาน ทำให้เซลล์โล่งขึ้นหายจากการดื้ออินซูลิน
พร้อมจะทำงานใหม่อีกครั้ง 
และ

2.
เพิ่มการเผาผลาญน้ำตาลส่วนเกิน ด้วยการทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น
ซ่อมแซมเซลล์ที่ดื้ออินซูลินด้วยการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ
ที่เป็นระบบเผาผลาญหลัก และใหญ่ที่สุดของร่างกาย
จากการออกกำลังแบบเพิ่มกล้ามเนื้อ หรือ เวทเทรนนิ่ง และออกกำลังแบบคาร์ดิโอไปด้วย

นี่คือหลักการรักษาเบาหวานตามธรรมชาติ
ที่ต้นเหตุที่แท้จริงของโรค
โดยให้ร่างกายเป็นผู้เยียวยาตัวเอง
และมีคุณเอง ที่เป็นผู้รักษา

ดังนั้น อย่าเพิ่งโทษ หรือท้อใจ ว่าเป็นเพราะกรรมพันธุ์
เพราะโรคนี้ หายได้ ด้วยตัวคุณเองค่ะ

#หมอปอสอนเบาหวานไม่ใช้ยา
#หมอปอSugarFreedom
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่