ต้มส้มมังคุดใส่หมูสามชั้น.....เลียนแบบตำราแม่ครัวหัวป่าก์(ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน)

กระทู้สนทนา
หนอนฯทำต้มส้มเป็นค่ะ  เดือนก่อนก็เพิ่งทำต้มส้มสับปะรดใส่หมูสามชั้น
https://ppantip.com/topic/40765590

วันนี้ขี้เกียจออกนอกบ้าน แต่ของในบ้านก็ไม่มีตัวเลือกมากนัก นึกอยากซดน้ำแกงร้อนๆหอมๆเปรี้ยวๆแต่ก็เบื่อแกงส้ม

ต้มส้มจึงเป็นตัวเลือกวันนี้ แต่ไม่มีสับปะรดค่ะ ในบ้านมีแต่ส้มโอ เงาะ ส้ม มังคุดอย่างละนิดหน่อย แถมเหี่ยวๆเก่าๆ  ดังนั้นเราจะหยิบมังคุดมาทำ"แกงต้มส้ม" ซึ่งไม่ได้เป็นเมนูพิสดารเก๋ไก๋ใหม่แปลกอะไร เพราะแกงต้มส้มมังคุดมีมานานแล้ว หนอนฯมีหลักฐานค่ะ

ในตำราแม่ครัวหัวป่าก์ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ มีสูตรการทำ "แกงต้มส้มสับปะรดกับหมู" และท่านก็มีคำแนะนำไว้ในการจัดสำรับอาหารว่า "ต้มส้มสับปะรดกับหมูหรือกับมังคุดก็ได้"

หนอนฯหวังว่าจะไม่มีท่านใดมาค้านว่า ท่านผู้หญิงท่านหมายถึง"แกงต้มส้มสับปะรดกับมังคุด"นะคะ อิอิ

มาค่ะ มาดูว่าหนอนฯแกะรอยตำราท่านผู้หญิง ชนิดแบบคล้ายมากๆ  เสียดายแต่ว่าในสูตรท่านใช้ "ปลากรอบแกะเอาแต่เนื้อ"  ซึ่งหนอนฯไม่มี จึงต้องใช้กุ้งแห้งแทน ซึ่งก็ได้น้ำแกงที่หอมหวานอร่อยมาก

ในสูตรตามตำราท่านว่าไว้อย่างนี้ค่ะ


[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

หนอนฯมีเครื่องปรุงเกือบครบ  "น้ำเคยดี"ก็มีค่ะ  ขาดแต่ปลากรอบที่ต้องเปลี่ยนเป็นกุ้งแห้งแทน 

ท่านใดสงสัยว่า"น้ำเคย"คืออะไร ลองอ่านกระทู้นี้นะคะ หนอนฯมีอธิบายไว้นิดนึง
https://ppantip.com/topic/40823436/desktop

จับวัตถุดิบหลักมาถ่ายรูปหน่อย



มังคุด
 
นอกจากมีรสชาติหวานซ่อนเปรี้ยวกินเป็นผลไม้อร่อยมากๆ ยังใช้เป็นยาได้ด้วยนะคะ
 
โดยใช้เปลือกผลแห้ง รสฝาด แก้ท้องเสีย บิด มูกเลือด ในชนบทมักใช้น้ำต้มเปลือกมังคุดล้างแผล ช่วยให้แผลหายเร็ว
 
วิธีใช้
 
แก้อาการท้องเสีย ใช้เปลือกผลตากแห้ง ต้มกับน้ำปูนใส หรือฝนกับน้ำดื่ม
 
แก้อาการบิด (ปวดเบ่ง มีมูกและอาจมีเลือดด้วย) ใช้เปลือกผลแห้งประมาณ ๑/๒ผล (๔ กรัม) ย่างไฟให้เกรียม ฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้ว หรือบดเป็นผงละลายน้ำข้าว(น้ำข่าวเช็ด) หรือน้ำสุกดื่มทุก ๒ ชั่วโมง 

เอ๊ะ หรือเปรี้ยวแกมหวานตามที่ท่านผู้หญิงกล่าวไว้



ทำตามตำราเลยค่ะ ตั้งหม้อจับหมูสามชั้นหั่นชิ้นลงไปทอดหน่อย แล้วค่อยเอา"พริกขิง"ลง

ซึ่งท่านผู้หญิงหมายถึงน้ำพริกเครื่องแกงที่เราเตรียมไว้นั่นเอง



หนอนฯเอาลงไปผัด เติมน้ำ (น้ำท่าในสูตรก็หมายถึงน้ำสะอาดที่เก็บไว้เตรียมไว้ใช้ค่ะ) แล้วก็เคี่ยวหมูจนเปื่อย ปรุงรสเปรี้ยวเค็มหวานด้วยมะขามเปียก น้ำเคยดี และน้ำตาลหม้อ(หมายถึงน้ำตาลปึก) แล้วก็ใส่มังคุดลงไป

ในตำราไม่มีการใส่พริก  แต่หนอนฯขอเอาพริกสีแดงมาแต่งหน้าหน่อย เพื่อความสวยงาม จะถูกจะแพงให้มีแดงๆไว้หน่อย (ยกเว้นพอร์ตหุ้น อิอิ)

สีน้ำแกงเข้มจากเยื่อเคย(กะปิ) และน้ำเคยดี  และข้นจากกุ้งแห้งที่หนอนฯชอบใส่เยอะหน่อย

ตอนเคี่ยวนะ  ห้อมหอมมมมม

ความเปรี้ยว ส่วนตัวไม่ค่อยปลื้มรสมะขามเปียกเท่าไหร่จึงใส่นิดเดียว  แล้วมาปรุงความเปรี้ยวสดชื่นเพิ่มด้วยส้มจี๊ดค่ะ 

เสิร์พใน"ชามฝาปิด"


เลือกลายโบราณๆหน่อย เพื่อความ ฟิน

ก่อนจะตักเสิร์ฟ  หนอนฯอยากชวนเพื่อนๆมาทำความรู้จักสุภาพสตรีผู้ที่ตำราอาหารของท่านเป็นที่ไขว่คว้าแสวงหาของเหล่าผู้รักการทำสำรับไทย

ในบทความเรื่อง
เมื่อ "ตำรากับข้าวชาววัง" ออกสู่โลกกว้าง : กำเนิดและพัฒนาการของ "ตำรากับข้าวชาววัง" ในสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงการตั้งโรงเรียนสตรี
ของ อภิลักษณ์ เกษมผลกุล

บทความทางวิชาการชิ้นนี้  อาจารย์อภิลักษณ์ท่านเขียนไว้ให้อ่านเข้าใจง่าย หนอนฯได้ความรู้เยอะมาก ทึ่งด้วย

บทความชิ้นนี้ชี้ให้เห็นชัดเลยว่าในสมัยนั้นในขณะที่บ้านเมืองของเราอยู่ในภาวะล่อแหลมที่จะถูกครอบครองจากเหล่าประเทศนักล่าเมืองขึ้น บรรพบุรุษและบรรพสตรีของเราท่านได้ร่วมแรงร่วมใจทำทุกวิถีทางที่จะบอกให้โลกรู้ว่าเมืองไทยของเรานี้ "มีอารยะ"นะเฟ้ย

สยามเรามิใช่บ้านป่าเมืองเถื่อนล้าหลัง และกำเนิด"ตำรากับข้าว"ของชาวสยาม  ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงความมีอารยะแบบชาวศิวิไลซ์

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน นับเป็นหนึ่งในสตรีแถวหน้าในสมัยนั้นที่ได้ช่วยทำหน้าที่ในการสร้างความเป็นอารยะผ่านองค์ความรู้เรื่องกับข้าวชาววังจนเกิดเป็นศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมด้วย"ตำราแม่ครัวหัวป่าก์"ของท่าน 

ฮั่นแน่ะ  สนใจอะดิ  มาค่ะ

ตามมาค่ะ ไปที่ลิ้งค์นี้แล้วอ่านบทความฉบับเต็มของอาจารย์ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูลกันค่ะ

https://so06.tci-thaijo.org/index.php/VANNAVIDAS/article/view/107539

อย่าอ่านเพลินจนลืมกินข้าว
วันนี้หนอนฯมีของกินแบบง่ายๆ ข้าวจาน แกงชาม  และไข่ดาวเค็มอีกฟอง



หนอนฯคนมีเบี้ยใช้สอยน้อย มีแค่นี้ก็นับว่าหรูแล้วค่ะ

ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย ขอให้ปลอดภัยจากโควิดตัวร้าย

เรามา"อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ"กันนะคะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่