JJNY : 4in1 พิธาบุก‘จะนะ’ กรีดซ้ำ‘นิพนธ์’│'เวิลด์แบงก์'คาดศก.ปีนี้โต3.4%│ภาคีนักกม.ฯฟ้องตร.│วิวาทะเดือดทราย-ม.จ.จุลเจิม

พิธา บุก ‘จะนะ’ กรีดแผลซ้ำ ‘นิพนธ์’ สานต่อภารกิจศึกซักฟอก ตั้งวงแลกเปลี่ยน แนวทางพัฒนาภาคใต้
https://www.matichon.co.th/politics/news_2644027
 

 
พิธา บุก ‘จะนะ’ กรีดแผลซ้ำ ‘นิพนธ์’ สานต่อภารกิจศึกซักฟอก ตั้งวงแลกเปลี่ยน แนวทางพัฒนาภาคใต้ ชี้ รัฐต้องเข้าใจจุดแข็งทดแทนจุดอ่อน เพื่อคนพื้นที่
 
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นำส.ส. ลงพื้นที่รับฟังภาคประชาชนกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา หลังจากที่ นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กรณีมีผลประโยชน์เบื้องหลังโครงการ ‘เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะนะ เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’
 
โดยชาวบ้านได้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการอภิปรายครั้งนั้นว่าพวกเขารู้สึกมีความหวังที่มีพรรคการเมืองนำเอาความไม่ธรรมตลอด 20 ปีที่พวกเขาร่วมต่อสู้กันมาเปิดเผยต่อสาธารณะและนำไปอภิรายไม่ไว้วางใจเป็นตัวแทนของพวกเขาที่พยายามพูดให้สังคมรับรู้มาตลอด ซึ่งต่อมาหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจของนายประเสริฐพงศ์ มีรัฐมนตรีท่านหนึ่งออกมาสั่งให้มีการชะลอการดำเนินการของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่เพียงแค่หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้นทาง ศอ.บต. กลับมีคำสั่งเดินหน้าโครงการดังกล่าวเหมือนเดิม
 
นายพิธา กล่าวว่า แม้วันนี้การอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรค ก.ก. จะจบลงแต่ ส.ส. ยังคงติดตามประเด็นทุกประเด็นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเด็นนิคมจะนะ อีกทั้งยังให้สัญญากับพ่อแม่พี่น้องทุกท่านว่าพรรคก้าวไกลจะรักษาธรรมชาติและวิถีชีวิตของจะนะและต่อสู้เคียงข้างพี่น้องทุกท่าน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าของวันนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมเวทีเสวนา การเมือง ก้าวไกล พัฒนาบนฐานสังคมทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยมีภาคประชาชนร่วมกันแลกเปลี่ยน ประเด็นการพูดคุยในการเสวนาครั้งนี้ คือการพัฒนาเศรษฐกิจภาคในในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ประสบคือการพัฒนาเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น การพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐมุ่งเน้นเพื่อเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรภาคใต้โดยไม่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมที่หล่อเลี้ยงชีวิตประชาชน
 
นายประสิทธิชัย หนูนวล กล่าวว่า เราพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลมาเป็นเวลานานแต่ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยถูกแก้ไขเพราะ การออกแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลในภาคใต้ เป็นการออกแบบที่ข้ามวิถีชีวิต การมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจมาพร้อมกับการทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหน้าที่ของภาคประชาชนคือการประท้วงเรียกร้องเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพยากรต่อไป ตราบใดที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่รัฐบาลกล่าวอ้างยังไม่มีประชาชนอยู่ใน แผน หน้าที่เรียกร้องก็คงยังต้องทำต่อไป
 
ขณะที่ นายพิธา กล่าวว่า ตนรู้สึกชื่นชมและหลงใหลในธรรมชาติของพื้นที่ภาคใต้อีกทั้งรู้สึกดีใจที่พี่น้องประชาชนร่วมกันปกป้องวิถีชีวิตของตนเอง อีกทั้งชวนให้นึกถึงคำที่ว่า ภาคใต้คือ คำสาปของทรัพยากร พื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากแต่กลับมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ แต่กลับพึ่งพาเศรษฐกิจหนักทั้งที่จุดเด่นของภาคใต้เป็นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ความโดดเด่นทางพหุวัฒนธรรม ดังนั้นสิ่งที่ตนอยากแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นข้อเสนอ คือ
 
ประเด็นเเรก เปลี่ยนจาก Outside in เป็น Inside out ต้องไม่คิดว่าจะขายอะไรตามตลาดโลก แต่ต้องขบคิดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจจากจุดแข็งของภาคใต้เอง
 
ประเด็นที่สอง คือ การสร้างแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมสมอง ดึงดูดผู้เชี่ยวชาญการทำงานอุตสาหกรรมดิจิตอล ทั้ง 2D และ 3E คือ 2D Digital และ Design และ 3E Environment Education Energy ความสมบูรณ์ของธรรมชาติและประสบการณ์ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของภาคใต้ นำมาป็นแม่เหล็กดึงดูดบุคลากรเหล่านี้ ไม่มีใครอยากมาอยู่ในเขตที่เป็นอุตสาหกรรมหนักและสิ่งแวดล้อมไม่ดีอย่างแน่นอน
 
และประเด็นสุดท้าย คือ เปลี่ยน Low tech – Low touch เป็น Hi tech-Hi touch ไม่ขายผลิตภัณฑ์การเกษตรแบบปฐมภูมิ แต่ต้องพยายามยกระดับการแปรรูปเพิ่มมูลค่าจากความอุดมสมบูรณ์ของภาคใต้ สร้าง supply chain ให้กว้างที่สุดในพื้นที่ภาคใต้เอง
 
สิ่งที่รัฐต้องความเข้าใจคือการมองเห็นจุดแข็งและทดแทนจุดอ่อนเพื่อความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น” นายพิธา กล่าว
 

 
'เวิลด์แบงก์'คาดศก.ไทยปีนี้โต3.4% แนะรัฐใช้เงินให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
https://www.dailynews.co.th/economic/833477
 
เวิลด์แบงก์ให้สูง!คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โตถึง 3.4% ปี 65 ฟื้นแน่ 4.7% แนะรัฐใช้เงินตรงกลุ่มเป้าหมายเพื่อประสิทธิภาพ ดูแลคนยากจน คนตกงาน
 
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า เวิลด์แบงก์ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3.4% โดยจะเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และจะใช้เวลาที่เศรษฐกิจไทยจะอยู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 ได้ในปี 65 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 4.7% หลังจากนี้ต้องติดตามว่าจะมีแรงขับเคลื่อนอะไรบ้าง โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ที่จะเข้ามาประคับประคองเศรษฐกิจทั้งปีนี้และปีหน้า บนความเสี่ยงที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
 
สำหรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนสูงนั้น คงมาจากที่ไทยพึ่งหานักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างมาก คิดเป็น 13-15% ของจีดีพี โดยคาดว่าปีนี้อาจมีการเปิดประเทศช่วงปลายปีตามเป้าหมายของรัฐบาล และจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ 4-5 ล้านคน จากปกติในแต่ละปีก่อนโควิด-19 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 40 ล้านคน ทำให้ภาครัฐควรดำเนินนโยบายช่วงเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ต้องใช้นโยบายเจาะจงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น ท่องเที่ยว และต้องหาแนวนโยบายเพื่อออกมารองรับในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่นาน
 
นอกจากนี้ไทยยังมีช่องว่างในการทำนโยบายการคลังอีกมาก แม้หนี้สาธารณะจะอยู่สูง 53% ต่อจีดีพี และใช้งบดูแลเยียวยาฟื้นฟูแล้ว 6% ต่อจีดีพี ถือเป็นปริมาณใหญ่เทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ทำให้เห็นว่าภาครัฐมีพื้นที่การคลังใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ความเสี่ยงและที่ต้องติดตามคือนโยบายการคลังจะต้องเข้าช่วยเหลือให้ตรงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ใช้งบประมาณอย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น การดูแลคนยากจนที่เวลานี้มีเพิ่มขึ้น และคนตกงานมีมากขึ้น ดังนั้นภาครัฐคงต้องดูสวัสดิการเชื่อมกับนโยบายแรงงาน หากตกงานก็เพิ่มทักษะที่ตรงกับความต้องการ
  
การเปิดประเทศขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น วัคซีน ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเที่ยวไทย แต่ถ้ามีความล่าช้าขึ้น ไม่สามารถเปิดได้ทันปลายปีจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตช้าไปอีก ส่วน 2 โครงการที่ภาครัฐได้ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งพักทรัพย์พักหนี้ และสินเชื่อฟื้นฟู จะเป็นนโยบายสำคัญที่เข้ามาประคับประคองเศรษฐกิจภาคธุรกิจ คาดในช่วงข้างหน้า ถ้ามีมาตรการตรงจุดมากขึ้น จะช่วยได้มากขึ้น
  
นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า มีความต้องการกระตุ้นให้ตลาดแรงงานฟื้นตัวได้ ช่วยเรื่องจ้างงาน รัฐบาลอาจทำได้ทั้งระยะกลางและระยะยาวให้เติบโตต่อไป โดยรัฐบาลต้องลงทุน เช่น ทุนมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ บทบาทคือ บรรเทาทุกข์ ฟื้นฟู กระตุ้นเศรษฐกิจเติบโต แม้ปัจจุบันจะมีงบขาดดุล หนี้สาธารณะสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกังวล แต่หากกำหนดเป้าหมายให้ความช่วยเหลือให้ตรงมากขึ้น จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายให้ตรงเป้าหมายกับการใช้เงินและมาตรการที่ออกมาจะได้ผลมากกว่า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่