‘กฤษฎีกา’ฉีกหน้าครม.‘อิ๊งค์’ โดดขวาง‘กาสิโน’ กาง6ประเด็นสับหมกเม็ดอื้อ

กระทู้ข่าว
จับตา ครม.ถกร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร 13 มกราคมนี้ ขณะที่ “กฤษฎีกา” ไม่เอาด้วยโดดขวาง 6 ข้อ ชี้ขัดนโยบายรัฐบาล อ้างแหล่งท่องเที่ยวมนุษย์สร้างขึ้น แต่หมกเม็ด มุ่ง“กาสิโน” เชื่อแก้การพนันไม่ได้ แถม ก.ม.ซ้ำซ้อนเดิมที่มีอยู่ พร้อมสอนมวย กระทรวงคลัง ปรับปรุงวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่าจะแก้เสี่ยงโชคหรือท่องเที่ยวพร้อม และรับฟังความเห็นประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ก่อนนำเข้าคณะรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่าเมื่อช่วงปลายเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ทำหนังสือเวียนต่างๆให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำเนาหนังสือกระทรวงการคลัง และ ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พศ. ...เพื่อรับทราบความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องหรือส่วนอื่นๆที่เห็นสมควรเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยด่วน

ทั้งนี้ สลค.จะนำเรื่องนี้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 14 ม.ค. 68 ซึ่งล่าสุดคาดว่าได้เลื่อนมาพิจารณาในการประชุมในจันทร์ที่13 ม.ค. 68 แทน เนื่องด้วยวันที่ 14 ม.ค. รัฐบาลจัดงาน “พระราชพิธีสมมงคล”

ล่าสุดหนึ่งในหน่วยงานที่น่าสนใจก็คือความเห็นของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตั้งข้อสังเกต 6 ข้อ ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ดังนี้
1. ตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภานั้น นโยบายเร่งดวนที่ 7ระบุว่า “รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว “โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destination) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร(Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่กระจายลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว”
ซึ่งหากนโยบายดังกล่าวมุ่งหมายที่จะพัฒนาพื้นที่เป้าหมายให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destination) เป็นหลักซึ่งเป็นไปในทำนอง เดียวกับ Integrated Resort District ของประเทศญี่ปุ่น หรือรีสอร์ทขนาดใหญ่บางแห่งในเขตบริหารพิเศษมาเก๊า แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน Sunway Resort ในมาเลเซีย Marina Bay Sandsในสิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งประกอบด้วยโรงแรม ศูนย์การค้า ศูนย์การแสดงเพื่อความบันเทิง ศูนย์ประชุม โดยสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เป็นเพียง “ส่วนประกอบหนึ่ง” ของแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นดังกล่าวเท่านั้น และอาจมีสถานที่ใดที่จัดให้มีการเล่นกาสิโนด้วยก็ได้
สำนักงานฯ จึงเห็นว่าการที่ร่างกฎหมายดังกล่าวมุ่งหมายเฉพาะสถานบันเทิงครบวงจรนั้นยังไม่สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล

2 . หากร่างกฎหมายดังกล่าวมุ่งหมายที่จะจำกัดเฉพาะ “สถานบันเทิงครบวงจร”ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า สถานบันเทิงครบวงจรคือสิ่งใด เป็นโรงแรม เป็นสถานบริการเป็นร้านอาหาร ฯลฯ เพราะแต่ละกิจกรรมดังกล่าวมีกฎหมายเฉพาะควบคุมอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายในเรื่องนี้อีกเพราะจะเป็นความซ้ำซ้อน หากควรใช้มาตรการทางบริหารในการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมายเฉพาะแต่ละเรื่องเพื่อให้การบังคับการตามกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดระยะเวลาและขั้นตอนในการให้บริการแก่ประชาชน

3.รายงานผลการศึกษา เรื่อง ศึกษาการเปิดสถานบันเทิงหรือสันทนาการครบวงจร ของสภาผู้แทนราษฎรนั้นมุ่งแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย แต่สถานบันเทิงครบวงจรในความเข้าใจของประชาชนทั่วไปนั้นหมายถึงสถานที่ที่ให้บริการกิจกรรมด้านความบันเทิงหรือสันทนาการแก่ผู้ใช้บริการได้อย่างหลากหลาย

มิใช่สถานที่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่เล่นการพนัน และสถานบันเทิงนั้นก็มีกฎหมายว่าด้วยสถานบริการควบคุมอยู่แล้ว ปัญหาการลักลอบเล่นพนันในสถานที่ดังกล่าวจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ และความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมายของผู้บังคับใช้กฎหมายนั้น ทั้งยังผิดกฎหมายว่าด้วยการพนัน กรณีจึงไม่ชัดเจนว่า ร่างกฎหมายที่เสนอซึ่งเป็นหลักการเดียวกับผลการศึกษาดังกล่าว จะแก้ไขปัญหาการพนันผิดกฎหมายได้อย่างไร

4. หากรัฐบาลประสงค์จะแก้ไขปัญหาเรื่องการพนันผิดกฎหมายหรือมีนโยบายที่จะ จัดให้มีการเล่นการพนันที่ชอบด้วยกฎหมายในสถานบริการหรือสถานที่อื่นใด ก็สามารถที่จะดำเนินการได้ตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน หรือแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการพนันที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 (90ปีแล้ว) เพื่อให้ทันกับกาลสมัย ซึ่งจะแก้ไขปัญหานี้ให้ตรงจุดมากกว่าไปควบคุม การอนุญาตให้จัดตั้งและการบริหารจัดการสถานบันเทิงครบวงจร

5. โดยที่ยังไม่ขัดเจนว่าร่างกฎหมายนี้มุ่งหมายเพื่อบรรสุวัตถุประสงค์ใด สำนักงานฯ จึงให้ความเห็นข้างต้นตามหลักการทำ Requlatory Impact Assessment (RIA) หรือ การวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย เท่านั้น และมีข้อเสนอแนะว่าหากจะเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อคณะรัฐมนตรี กระทรวงการคลังต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ใด เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบได้อย่างชัดเจนว่าเป็น ร่างกฎหมายที่ทำขึ้นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการจะผลักดันนโยบายแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นหลัก หรือจะเป็นไปตามข้อเสนอแนะของสภาผู้แทนราษฎรที่มุ่งแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย เพราะมีความแตกต่างกันมากในการออกแบบกลไกตามกฎหมายและโครงสร้าง
และสมควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย และปรับปรุงร่างให้ตรงตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

6.มีข้อสังเกตว่าปัจจุบันมีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายนี้ในวงกว้างอย่างสับสนว่าจะเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ใดตามข้อ 5 กรณีจึงสมควรที่จะสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องแก่ ประชาชนเสียก่อนที่จะเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาด้วย
สำหรับ สาระสำคัญ ร่างการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ... หลังเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน และปรับปรุงแก้ไขร่างพรบ.ตามความคิดเห็นจากการรับฟังความเห็นจากประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกาสิโน ระบุว่า ให้กระทำได้เฉพาะในสถานบันเทิงครบวงจรโดยผู้รับใบอนุญาต และให้มีเฉพาะประเภทที่กำหนด รวมทั้งต้องมีเขตบริเวณสถานประกอบการกาสิโนที่ชัดเจน

นอกจากนี้ ผู้รับใบอนุญาตต้องมีสัดส่วนของพนักงานคนไทยและคนต่างด้าวตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด โดยห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการเชิญชวน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเกี่ยวกับกาสิโน เว้นแต่จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารกำหนด รวมทั้งห้ามไม่ให้ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ เข้าในสถานประกอบการกาสิโน

โดยร่าง พ.ร.บ. มาตรา 55 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้บุคคลดังต่อไปนี้ เข้าไปในสถานประกอบการกาสิโน (1) ผู้มีอายุน้อยกว่ายี่สิบ (20) ปีบริบูรณ์ (2) ผู้ซึ่งสำนักงานสั่งห้ามเข้าสถานประกอบการกาสิโน (3) ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งยังมิได้ลงทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมตามที่ คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด (4) ผู้ที่มีลักษณะของบุคคลต้องห้ามตามที่สำนักงานประกาศกำหนด”

ส่วนบัญชีแนบท้าย ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... ฉบับนี้ กำหนดประเภทธุรกิจสถานบันเทิงไว้ 10 ประเภท ได้แก่ 1.ห้างสรรพสินค้า 2.โรงแรม 3. ร้านอาหาร ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ หรือบาร์ 4.สนามกีฬา 5.ยอร์ชและครูซซิ่งคลับ 6. สถานที่เล่นเกม 7.สระว่ายน้ำและสวนน้ำ 8.สวนสนุก 9.พื้นที่สำหรับส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและสินค้า OTOP และ 10.กิจการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด

ส่วนบัญชีแนบท้ายอัตราค่าธรรมเนียม ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดว่า 1.การขอรับใบอนุญาต ครั้งละ 100,000 บาท 2.ใบอนุญาต ครั้งแรก ฉบับละ 5,000 ล้านบาท ,รายปี ปีละ 1,000 ล้านบาท 3.ใบอนุญาต (ต่ออายุ) ฉบับละ 5,000 ล้านบาท ,รายปี 1,000 ล้านบาท 4.ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 100,000 บาท และ 5.ค่าเข้าสถานประกอบการกาสิโนของผู้มีสัญชาติไทย ครั้งละ 5,000 บาท

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังให้เหตุผลประกอบว่า การพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจร มีวัตถุประสงค์หลักในการแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลกแบบครบวงจรและเป็นผู้นำการท่องเที่ยวในภูมิภาค โดยดึงเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศในการพัฒนาสถานที่ดังกล่าว ที่สำคัญการนำธุรกิจกาสิโนและการพนันผิดกฎหมายให้เข้ามาอยู่ในระบบอย่างมีมาตรฐานภายใต้การควบคุมของกฎหมาย จะทำให้มีการจัดเก็บรายได้และภาษีอย่างถูกต้องและสามารถดึงเม็ดเงินนอกระบบของการพนันผิดกฎหมายจากคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศเพื่อเล่นการพนันให้มาใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งการประเมินเบื้องต้นคาดว่า จะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 9,000–15,300 ตำแหน่ง และน่าจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 118,877–475,510 ล้านบาทต่อปี และรัฐบาลน่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร 12,037 – 39,427 ล้านบาทต่อปี

Cr. https://www.naewna.com/politic/852546
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่