เปิดร่างกฎหมาย กาสิโน ล่าสุด อนุญาต 30 ปี จ่ายครั้งแรก 5 พันล้าน

เปิดร่างกฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ฉบับใหม่ นายกฯ คุมบอร์ดนโยบาย ใบอนุญาตให้นานสุด 30 ปี ประเมินทุก 5 ปี ต่ออายุ 10 ปี จ่ายครั้งแรก 5 พันล้าน รายปีอีก 1 พันล้าน คุมเข้มเด็กต่ำกว่า 20 ปี ห้ามเข้าใช้บริการ ไม่ปิดกั้นคนไทยแต่ต้องลงทะเบียน – เสียค่าธรรมเนียมค่าเข้า 5 พันล้าน
 
วันที่ 3 สิงหาคม 2567 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลถึงการเดินหน้าโครงการสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex ว่า ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบรายงาน “รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ” ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธานกรรมาธิการฯ ด้วยเสียง 253 ต่อ 0 เสียง เมื่อ 28 มีนาคม 2567

ต่อมา 8 เมษายน 2567 รายงานผลการศึกษาดังกล่าวได้นำเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้รับการเห็นชอบ พร้อมกับมอบหมายกระทรวงการคลัง รับศึกษาความเป็นไปได้รายละเอียดของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร หรือ กาสิโนถูกกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายให้นำมาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน

จากนั้นวันที่ 4 มิถุนายน 2567 นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุม ครม.อีกครั้งให้กระทรวงการคลัง โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เร่งรัดการดำเนินการสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อให้มีแนวทางในการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป

ล่าสุดกระทรวงการคลัง ได้ยกร่างร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ….เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 จากนั้นจะจัดทำรายงานสรุปผลรับฟังความคิดเห็นเพื่อมาประกบในร่างกฎหมาย ก่อนกระทรวงการคลังจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ต่อไป

เปิดความหมาย​ “กาสิโน”
ทั้งนี้สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวมีอยู่ทั้งสิ้น 65 มาตรา แบ่งออกเป็น 9 หมวด ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจรการ 2.คณะกรรมการบริหาร 3.สํานักงานกํากับการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร 4.เลขาธิการ 5.พนักงานเจ้าหน้าที่ 6.การอนุญาตให้ประกอบสถานบันเทิงครบวงจร 7.การควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร 8.บทกำหนดโทษ และ 9.บทเฉพาะกาล

ส่วนสาระสำคัญตามมาตราอื่นๆ มีดังนี้ มาตรา 3 ได้กำหนดความหมายของ “สถานบันเทิงครบวงจร” หมายความว่า การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้หลายประเภทรวมกัน ร่วมกับกาสิโน
“กาสิโน” หมายความว่า การจัดให้มีการเข้าเล่นหรือการเข้าพนันในสถานที่ที่กำหนดเป็นการเฉพาะ
“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร

“ผู้รับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร
“ผู้บริหาร” หมายความว่า ผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการบริหารงานของผู้รับใบอนุญาต ไม่ว่าโดยพฤติการณ์หรือโดยได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหารของผู้รับใบอนุญาต
“บริษัทในกลุ่ม” หมายความว่า (1) นิติบุคคลที่ผู้รับใบอนุญาตถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละยี่สิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออก
เสียงทั้งหมดของนิติบุคคล (2) นิติบุคคลที่มีผู้ถือหุ้นซึ่งถือหุ้นทั้งในนิติบุคคลนั้นและในนิติบุคคลที่เป็นผู้รับใบอนุญาต ตั้งแต่ร้อยละยี่สิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลและนิติบุคคลที่เป็น ผู้รับใบอนุญาต
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งสำนักงานแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
นายกฯ คุมบอร์ดนโยบาย

ขณะที่การควบคุมและกำกับนโยบายจะมีคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด โดยบัญญัติในมาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร” เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการนโยบาย” ประกอบด้วย
1.นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
2.รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ
3.กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 9 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความ มั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
4.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินหกคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์ การบริหารธุรกิจ กฎหมาย หรือสังคมให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ

ขณะที่มาตรา 8 ระบุ วาระของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีวาระคราวละ 4 ปี
อำนาจของบอร์ดชุดใหญ่
มาตรา 11 กำหนดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ 21 ข้อ
1.กำหนดนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร
2.กำหนดนโยบายการบริหารจัดการสถานบันเทิงครบวงจร
3.กำหนดนโยบายป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานบันเทิงครบวงจร
4.เสนอแนะแนวทางการกำหนดจำนวนใบอนุญาต และพื้นที่ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
5.เสนอแนะอัตราภาษีที่เกี่ยวข้องกับกาสิโนต่อคณะรัฐมนตรี
6.กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาต การให้ใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมโดยจะกำหนดเป็นอัตราเดียวหรือหลายอัตราตามปีที่ได้รับใบอนุญาตก็ได้แต่ต้องไม่เกินอัตราตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้
7.กำหนดกิจการ หลักเกณฑ์ ประเภท ลักษณะ และรายละเอียดของธุรกิจสถานบันเทิงที่อาจดำเนินการได้ในสถานบันเทิงครบวงจรตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้
8.กำหนดสัดส่วนพื้นที่ของกาสิโนในสถานบันเทิงครบวงจร
9.กำหนดวันเวลาเปิดปิดและสถานที่ตั้งของสถานบริการ เวลาและสถานที่ห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเขตสูบบุหรี่ในเขตสถานบันเทิงครบวงจร
10.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเลิกประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร
11.กำหนดวิธีการลงทะเบียนและอัตราค่าธรรมเนียมของผู้มีสัญชาติไทยที่จะเข้าสถานประกอบการกาสิโน แต่ต้องไม่เกินอัตราตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้
12.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การให้สินเชื่อแก่ผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันในสถานประกอบการกาสิโน
13.กำหนดลักษณะของพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการกาสิโน
14.กำหนดหลักเกณฑ์ ประเภท คุณสมบัติ มาตรฐาน ความปลอดภัย และอาชีวอนามัยของพนักงานในสถานบันเทิงครบวงจร
15.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การเปลี่ยนแปลงกรรมการ ผู้บริหารผู้ถือหุ้น โครงสร้างองค์กร หรือการนำหุ้นไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ ของผู้รับใบอนุญาต
16.พิจารณาให้ ต่ออายุ หรือเพิกถอนใบอนุญาต
17.พิจารณาการโอนสิทธิตามใบอนุญาตให้บุคคลอื่น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
18.แต่งตั้งเลขาธิการหรือให้เลขาธิการออก โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
19.กำกับการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหาร
20.ออกข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
21.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบาย หรือตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี

บอร์ดบริหาร
ขณะเดียวกันให้มีบอร์ดบริหารขึ้นมาบริหารบัญญัติใน มาตรา 15 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการบริหาร” ประกอบด้วย
1.บุคคลซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นประธานกรรมการ
2.กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 11 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
3.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 3 คน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์ การบริหารธุรกิจ กฎหมาย หรือสังคมให้เลขาธิการเป็นเลขานุการ

มาตรา 17 กำหนดหน้าที่และอำนาจ บอร์ดบริหาร 16 ข้อ
1.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเชิญชวน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เกี่ยวกับกาสิโน
2.กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบแทนใบอนุญาต
3.พิจารณาอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ แผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายเงินและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน และรายงานต่อคณะกรรมการนโยบาย
4.กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราในการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทนหรือค่าบริการในการดำเนินการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของสำนักงาน
5.พิจารณาอุทธรณ์เรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับสถานบันเทิงครบวงจร
6.กำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน และค่าตอบแทนอื่นของเลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน
7.คัดเลือกหรือประเมินความรู้ความสามารถของเลขาธิการ เพื่อประโยชน์ในการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลื่อนขั้นเงินเดือน หรือเสนอความเห็นให้เลขาธิการพ้นจากตำแหน่ง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพิจารณา
8.แต่งตั้งบุคคลเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน รวมทั้งกำหนดจำนวน อัตราค่าตอบแทน และระยะเวลาการปฏิบัติงานของตำแหน่งดังกล่าว
9.กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการมอบอำนาจของเลขาธิการ
10.กำหนดข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การพัสดุการตรวจสอบภายใน การสงเคราะห์ และสวัสดิการต่าง ๆ ของสำนักงาน
11กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้เงิน ทุน หรือทรัพย์สินของสำนักงาน
12.พิจารณาคำอุทธรณ์หรือคำร้องทุกข์ และดำเนินการทางวินัยแก่พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน
13.กำหนดค่าใช้จ่ายของสำนักงาน
14.รายงานการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ต่อคณะกรรมการนโยบาย
15.ออกข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ
16.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจ หน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร หรือตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบาย

ตั้งสำนักงานกำกับ
มาตรา 20 ให้มี “สำนักงานกำกับการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร” มีวัตถุประสงค์ ในการกำกับ ดูแล ควบคุม ส่งเสริม และสนับสนุนสถานบันเทิงครบวงจรให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น
กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนแต่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
โดยให้มี “เลขาธิการ” ซึ่งคณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งโดย ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารกิจการของสํานักงาน ระบุไว้ในมาตรา 29
มาตรา 24 กำหนดเรื่อง ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินงานของสำนักงานประกอบด้วย
1.เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี
2.เงินอุดหนุนจากหน่วยงานของรัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล
3.ค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาต ใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และการเข้าสถานประกอบการกาสิโนของผู้มีสัญชาติไทย
4.ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้อันเกิดจากการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน
5.ค่าปรับตามมาตรา 61 และมาตรา 62 (การให้บุคคลที่ห้ามใช้บริการ มาใช้บริการ)
6.ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของสำนักงานเงินและทรัพย์สินของสำนักงานตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการตามที่พระราชบัญญัตินี้ หร

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่