JJNY : 5in1 ตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคัก!│เกียรติฯชี้ศก.64โตแค่2%│ตรึงราคาปุ๋ยป่วน│อ. มธ.ย้ำตร.ผิดขั้นตอน│พท.จี้เยียวยาทุกกลุ่ม

ตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคัก! คนกรุงใช้จ่าย'ไหว้เจ้า-ทำบุญ-แต๊ะเอีย'แค่หมื่นล้าน
https://www.dailynews.co.th/economic/822842
 
คนกรุงประหยัดเงินใช้จ่ายช่วงตรุษจีน ซื้อเครื่องเซ่นไหว้ ทำบุญ แจกแต๊ะเอียเหลือเพียง 11,700 ล้านบาท
 
 
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ได้สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 64 พบว่าจะใช้จ่ายลดลงในทุกกิจกรรม โดยเฉพาะการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว ทำบุญ และการแจกเงินแต๊ะเอีย แม้ว่าภาครัฐจะมีการผ่อนปรนมาตรการที่เกี่ยวกับโควิด-19 ระลอกใหม่ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64 ที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบยาวนานและยังไม่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 63 ทำให้คาดว่า บรรยากาศของการจับจ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนอาจจะไม่คึกคัก และผู้บริโภคน่าจะมีการใช้จ่ายที่ค่อนข้างประหยัดกว่าปีก่อนๆ คาดจะมีเงินใช้จ่าย 11,700 ล้านบาท หดตัวติดลบ 10.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
 
สำหรับการใช้จ่ายแบ่งเป็นการใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ 5,600 ล้านบาท ติดลบ 5.1% การใช้จ่ายท่องเที่ยว, ทำบุญ, ทานข้าวนอกบ้าน 2,900 ล้านบาท ติดลบ 20.8% และการแจกเงินแต๊ะเอีย 3,200 ล้านบาท ติดลบ 8.1% อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด รวมถึงมาตรการในการควบคุมของภาครัฐอีกครั้ง ซึ่งหากพื้นที่กรุงเทพฯ กลับมามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนภายหลังจากการผ่อนปรนมาตรการฯ ก็อาจจะทำให้การใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ หดตัวเพิ่มขึ้นกว่าที่คาด
 
นอกจากนี้โควิด-19 ยังเร่งการปรับพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของคนกรุงเทพฯ โดยหันมาสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์หรือโทรฯ สั่งซื้อให้ผู้ประกอบการทำการจัดส่งแทนการออกไปเลือกซื้อสินค้าเองมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย และพยายามเว้นระยะห่าง หรือหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้านหากไม่จำเป็น ทำให้คนกรุงเทพฯ กว่า 34% หันมาซื้อเครื่องเซ่นไหว้ตรุษจีนผ่านช่องออนไลน์มากขึ้นกว่าปีก่อนที่มีเพียง 11% เท่านั้น
 
ขณะเดียวกันคนกรุงเทพฯ กว่า 43% สนใจซื้อเครื่องเซ่นไหว้ที่จัดสำเร็จรูปไว้แล้วเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนหน้าที่มีเพียง 22% เนื่องจากตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างครบครันและสะดวกรวดเร็ว โดยเฉพาะการตอบโจทย์พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ ดังนั้น หากผู้ประกอบการมีการปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคได้เร็ว ก็น่าจะช่วยให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องยังคงมีรายได้เข้ามาหมุนเวียน หรือประคับประคองธุรกิจภายใต้แรงกดดันต่างๆ ไว้ได้
 
ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพของสินค้าและราคาที่เหมาะสม เพราะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องเซ่นไหว้ผ่านช่องทางออนไลน์ของคนกรุงเทพฯ จากการสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯ ที่ยังไม่สนใจซื้อเครื่องเซ่นไหว้ผ่านช่องทางออนไลน์หรือโทรฯ สั่ง เนื่องจากส่วนใหญ่กว่า 84% กังวลในเรื่องของคุณภาพของเครื่องเซ่นไหว้ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์และผลไม้ รองลงมา 75% เห็นว่าเครื่องเซ่นไหว้มีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าเมื่อเทียบกับการออกไปเลือกซื้อเอง และกว่า 60% เครื่องเซ่นไหว้ที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ยังมีให้เลือกจำกัด และไม่หลากหลาย
 
หากผู้ประกอบการสามารถปรับกลยุทธ์และแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพ และจำหน่ายในราคาที่ไม่แพงหรือแตกต่างจากหน้าร้านมากเกินไป หรือผู้บริโภครู้สึกถึงความคุ้มค่าคุ้มราคา ก็น่าจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางดังกล่าวกันมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการอาจจะมีโปรโมชั่นบริการจัดส่งฟรี กรณีที่ผู้บริโภคสั่งซื้อเป็นเซตตามยอดใช้จ่ายที่กำหนด หรือจัดส่งฟรีทุกคำสั่งซื้อ ก็น่าจะจูงใจผู้บริโภคท่ามกลางกำลังซื้อที่เปราะบาง และต้องการสินค้าที่มีความคุ้มค่าคุ้มราคา เป็นต้น
 

 
เกียรตินาคินภัทร ชี้เศรษฐกิจไทยปี’64 ตกหลุมลึก โตแค่ 2%
https://www.prachachat.net/finance/news-606303
 
KKP Research ประเมินจีดีพีไทยปี 64 ขยายตัว 2% จากคาดการณ์เดิม 3.5% ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าใช้เวลานาน-ตกหลุมลึก จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงกำหนดชะตา การควบคุมการติดเชื้อ หวั่นคุมไม่อยู่กดจีดีพี -1.2% การกระจายวัคซีนหนุนนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว-เดินหน้านโยบายการเงิน-คลังประคองผลกระทบ คาด กนง.ลดดอกเบี้ยอาร์พี-เงินนำส่ง FIDF
 
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนิมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยในเงาของโควิด-19” ว่า ภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเห็นว่าไม่ได้ฟื้นตัวเร็วเหมือนเศรษฐกิจโลก ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในระดับ 5.5% จากปีก่อนที่หดตัว -3.5%
 
โดยในส่วนของเศรษฐกิจไทยการฟื้นตัวจะใช้เวลานาน เนื่องจากโควิด-19 มีผลกระทบต่อในหลายภาคส่วน และเซ็กเตอร์แตกต่างกัน และมีความไม่แน่นอนสูง โดยเกียรตินาคินภัทรประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อยู่ที่ 2% จากเดิมคาดการณ์อยู่ที่ 3.5%
 
จะเห็นว่าประเทศไทยตกหลุมการฟื้นตัวลึกกว่าประเทศอื่น เป็นผลมาจาก 2 ประเด็นหลัก คือ 1.การจำกัดและควบุคมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความไม่แน่นอนและมีผลต่อนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งไทยมีสัดส่วนรายได้จากภาคการท่องเที่ยว 10-12% ของจีดีพี และ 2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยไม่ได้มีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
 
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามและเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะมีอยู่ 3 ประเด็น คือ

1. การควบคุมการติดเชื้อระลอกใหม่ จะเห็นว่ามีความรุนแรงและกว้างกว่ารอบก่อน โดยมาตรการควบคุมมีความยืดหยุ่นและเบากว่ารอบแรก ซึ่งหากกรณีการควบคุมใช้เวลานาน จะส่งผลต่อการบริโภคไม่ให้กลับมาสู่ระดับปกติ และหากกรณีเลวร้ายไม่สามารถเปิดประเทศได้ และใช้มาตรการควบคุมใช้เวลา 2 ไตรมาส จะส่งผลให้จีดีพีหดตัว -1.2%
 
และ 2. การกระจายวัคซีน โดยหากวัคซีนไม่เป็นไปตามแผนทั้งในแง่ประสิทธิผลของการป้องกัน หรือมีความล่าช้าในการได้รับและกระจายฉีดให้ประชาชน ซึ่งปัจจุบันมียอดผู้ติดเชื้อที่ได้รับผลกระทบกว่า 100 ล้านคน และผู้ติดเชื้อใหม่ 6 แสนคน โดยมีประเทศอิสราเอลที่สามารถฉีดได้ประชากรแล้วกว่า 56% ซึ่งต้องติดตามประสิทธิผลและผลข้างเคียง เพราะจะมีผลต่อการเปิดประเทศ
 
ขณะที่ 3. นโยบายการคลังและนโยบายการเงินเพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจมีผลมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากเศรษฐกิจในอีก 1 ปีข้างหน้ายังคงขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ และมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากหลุม แต่จะเกิดแผลเป็นกับเศรษฐกิจได้ ทำให้ต้องมีมาตรการทางการเงินและการคลังใส่เม็ดเงินเข้ามาเพื่อพยุงเศรษฐกิจ โดยนโยบายการคลังเชื่อว่ายังคงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะคาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ 56-57% แต่สามารถขยายเพดานกู้ได้ แต่จะต้องใช้เม็ดเงินให้มีประสิทธิภาพตรงจุด และรั่วไหลน้อยที่สุด เพราะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ
 
ส่วนนโยบายการเงิน มองว่า คณะกรรมการโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.50% และลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลง แม้ว่า ธปท.จะประเมินผลกระทบจากโควิด-19 รอบนี้น้อยกว่า และต้องการเก็บกระสุนไว้ อาจจะไม่ได้ปรับลดดอกเบี้ย แต่เพื่อเป็นการส่งผ่านต้นทุนไปให้ผู้กู้ จึงมีความจำเป็น พร้อมหนุนการปรับโครงสร้างหนี้รวมถึงพิจารณาการใช้เครื่องมืออื่น
 
เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงอยู่ในเงาของโควิด-19 และเรามองว่าเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว เรามีอยู่ 2-3 ประเด็นที่ต้องรับการแก้ไขและใส่ใจ คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และการที่จีดีพีหดตัวจะมาจากความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการส่งออกสะท้อนว่าเราสูญเสียการแข่งขันในตลาดโลก และไม่มีการลงทุนใหม่ ๆ เข้ามาในไทยน้อยลง เราจึงต้องส่งเสริมให้เกิดการลงทุน
 

 
ตรึงราคาปุ๋ยป่วน วงการค้าโอด แบกต้นทุนอ่วม
https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/466777
 
“ตรึงราคาปุ๋ย” ทำป่วน สมาชิกสมาคมค้าปุ๋ยฯ ร้อง สะเทือนธุรกิจเจ๊ง โอดวัตถุดิบ-ค่าระวางเรือ-นํ้ามันราคาปรับขึ้นยกแผงทำต้นทุนพุ่ง “เปล่งศักดิ์” ให้สมาชิกโหวตใครทำได้ ทำไม่ได้ แจงเป็นรายกรณี ห่วงบีบบังคับ ลามสารเคมีในประเทศขาดแคลนยิ่งวิกฤติกว่า
 
เป็นประจำทุกปี กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์  จะเรียกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เข้าไปหารือเพื่อให้ช่วยลดราคา หรือตรึงราคาปุ๋ยเคมี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนในฤดูกาลผลิตใหม่ ล่าสุดได้มีการหารือเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2564 มีเสียงสะท้อนตามมาของผู้ค้าปุ๋ยเคมีถึงผล
  
กระทบธุรกิจ
  
นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ปีนี้ปรับลดราคาปุ๋ยเคมีไม่ได้ เพราะวัตถุดิบราคาปรับขึ้น ค่าระวางเรือก็ปรับตัวสูงขึ้น ราคานํ้ามันก็ปรับตัวสูงขึ้น ตู้สินค้าก็ขาดแคลน ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการและผู้ค้าปุ๋ยเคมีปรับตัวสูงขึ้น  หากจะให้ตรึงหรือลดราคาก็จะกระทบธุรกิจ และอาจกระทบปุ๋ยเคมีเคมีขาดแคลนและไม่เพียงพอใช้ได้ หลายบริษัทในสมาคมขณะนี้ก็ไม่ได้เห็นด้วยที่จะตรึงราคา แต่ตนก็ได้แจ้งกับสมาชิกว่าควรจะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไปสักระยะหนึ่งก่อน ถ้าแบกภาระไม่ไหวจริง ๆ จะต้องเข้าไปหารือใหม่กับกรมการค้าภายในใหม่ แต่หลายบริษัทก็ไม่ยอม เพราะบางรายเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ไม่มีสต๊อก ก็เข้าใจได้ ดังนั้นจึงตัดสินใจให้โหวตเสียง หรือถ้าใครไม่พร้อมจริงก็ให้ทำหนังสือชี้แจงเป็นรายกรณีไป
 
ในภาพรวมของสมาคมก็พยายามช่วยดันนโยบายรัฐบาล แต่จะช่วยได้ระยะเวลานานเท่าไร ตอบไม่ได้ เพราะในฤดูกาลที่จะมาถึงนี้ ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ก็มีการลดเพดานการผลิตนํ้ามันดิบ เพื่อดึงราคาไม่ให้ตํ่ากว่า 56 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะเดียวกันเรือสินค้าจากประเทศไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป(อียู) ใช้เวลานานกว่าจะวิ่งกลับมา หรือไม่ก็ติดค้างอยู่ที่ปลายทาง ส่วนจีนอยากได้เรือ ได้ตู้คอนเทนเนอร์ก็พร้อมที่จ่ายแพงขึ้นก็ดึงเรือดึงตู้ไปหมด นี่คือปัญหาอุปสรรคประเทศไทยและเป็นอนาคตที่น่าห่วงของสินค้าเกษตรด้วย
 
นายเปล่งศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในแต่ละปีการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยเฉลี่ยจะอยู่ 5 ล้านตันเศษ เพราะ 
1.นโยบายรัฐไม่ได้เอื้ออำนวย 
2.รัฐไม่ค่อยส่งเสริม จะไปเน้นเรื่องนโยบายเกษตรอินทรีย์ 
ทั้งนี้ในข้อเท็จจริงปุ๋ยเคมีเป็นธาตุอาหารพืช ไม่ใช่สารพิษ ตอนนี้ผิดเพี้ยนไปหมดแล้ว ซึ่งโดยข้อเท็จริงในภาพรวมของเศรษฐกิจรัฐบาลต้องไปเน้นความปลอดภัยของอาหารพืชต่าง ๆ ควรจะเป็นเกษตรปลอดภัย (Good Agriculture Practices : GAP)  อาทิ ผลไม้, ข้าวโพด,ข้าว มันสำปะหลัง เป็นต้น ดังนั้นประเมินคาดการณ์การใช้ปุ๋ยเคมี ในปี 2564 จะใกล้เคียงกับปี 2563
 
ส่วนนโยบายประกันรายได้เกษตรกร  เป็นการช่วยเกษตรกรถือว่ามีประโยชน์ต่อเกษตรกร แต่ไม่ได้มีส่วนส่งเสริมทำให้ปุ๋ยเคมีมีการซื้อขายมากขึ้น ขณะเดียวกันนโยบายรัฐเองไม่ได้มีเรื่องการส่งเสริมในการใช้ปุ๋ยเคมี 
 
ด้านนายพงษ์เทพ อันตะริกานนท์ นายกสมาคมธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพไทย กล่าวว่า ภาพรวมของปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านมาโตขึ้นแต่ไม่มาก เพราะมีกฎหมายมาควบคุมคุณภาพสูตรปุ๋ยที่ตั้งไว้สูงเกินไปทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้จริง  ปุ๋ยอินทรีย์มีคุณภาพ แต่มีจุดอ่อนไม่มีงบประมาณโฆษณาเพียงพอที่จะจูงใจเกษตรกรต่างจากสารเคมี มีงบประมาณตรงนี้โดยเฉพาะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่