JJNY : ห่วงสินค้าแพงแซงค่าแรง│อสังหาไทยเจอวิกฤตรอบด้าน│อุตุฯ ประกาศ “ปาบึก”อีสาน│ทรัมป์เตรียมดึงสหรัฐออกจากอนามัยโลก

เอกชนห่วงสินค้าแพงแซงค่าแรงขั้นต่ำ กระทุ้งรัฐดูแลเงินในกระเป๋าผู้บริโภค
https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1159311
 
 
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กลายเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อที่จะซื้อใจและโกยคะแนนจาก “แรงงาน” ที่เป็นประชากรฐานรากอีกกลุ่มของประเทศไทย
 
ทว่า ทุกครั้งที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วยฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และรัฐบาล
 
ล่าสุด คณะกรรมการค่าจ้างมีมติในการประชุมครั้งที่ 11/2567 เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2568 ด้วยการไฟเขียวปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 7-55 บาท (เฉลี่ย 2.9%) ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 เป็นต้นไป ที่น่าสนใจคือ “ค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่ 400 บาท” มีผลใน 4 จังหวัด 1 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
    
ในส่วนของภาคธุรกิจที่ก่อนหน้านี้ มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทแตกต่างกันไป ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารถือว่ามีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น โดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ จะกระทบผู้ประกอบการที่มีขนาดการจ้างงาน 200 คนขึ้นไป และหากมีร้านอาหารให้บริการราว 10 สาขา ประเมินต้นทุนจ้างงานเพิ่มขึ้นหลัก “ล้านบาท
 
ทั้งนี้ หากร้านอาหารมียอดขาย ต้นทุนค่าแรงที่เพิ่ม จะทำให้กำไรหายไปพอสมควร ขณะที่ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารมีการฟื้นตัวกระจุกในโลเกชันที่ดีเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมร้านทั่วประเทศ
 
ร้านอาหารที่มีการจ้างงาน 200 คน หากค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 400 บาทต่อวัน จะมีค่าใช้จ่ายพนักงาน 50 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าแรง ย่อมส่งผลให้กำไรของภาคธุรกิจหายไปด้วย
 
ก่อนหน้านี้ กลุ่มธุรกิจอาหารของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ระบุว่า หากรัฐเดินหน้านโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ จะกระทบต้นทุนการจ้างงานเพิ่มขึ้น 8-9% เนื่องจากพนักงานธุรกิจอาหารมีประมาณ 14,000 คน
 
พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "มาม่า" กล่าวว่า บริษัทมีพนักงานกว่า 6,000 คน โดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท จะมีผลกับ 3 โรงงาน ได้แก่ โรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2 แห่ง และโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 1 แห่ง โดยการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ ไม่ได้กระทบกับบริษัทมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากบริษัทมีแผนในการปรับขึ้นค่าจ้างให้พนักงานเป็นปกติอยู่แล้ว อัตรานั้นแตกต่างกันไป
 
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินเบื้องต้น โรงงานบรรจุภัณฑ์ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จะมีพนักงานได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ประมาณ 600 คน อัตราการขึ้นจะลดหลั่นกันไป เช่น 20 บาท 40 บาทบ้าง สอดคล้องกับฐานรายได้ขั้นต่ำของแต่ละราย แต่หากคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายแรงงานที่เพิ่มอัตรา 40 บาท และรวมการทำงานล่วงเวลา (โอที) เป็น 70 บาท จะคิดเป็นกว่า 2.1 หมื่นบาทต่อปี ส่วนโรงงานที่จังหวัดลำพูน และราชบุรี ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นอีก 7 บาท
 
เนื่องจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นการพิจารณาจากทั้ง 3 ฝ่าย นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล สิ่งที่น่าจับตา น่าเป็นห่วงหลังจากนี้ คือ “ราคาสินค้า” ที่อาจแพงแซงค่าแรงได้ ซึ่งผลกระทบที่ตามมาคือ การขึ้นค่าแรงจะไม่มีประโยชน์มากนัก หากทำให้ประชาชนแรงงานซื้อสินค้าได้น้อยลง ดังนั้น รัฐบาลควรมีแนวทาง หรือวิธีบริหารจัดการราคาสินค้าอื่นๆที่ไม่ใช่สินค้าควบคุมด้วย
 
ส่วนฝ่ายนายจ้าง เมื่อปรับขึ้นค่าแรงแล้วย่อมมีความคาดหวังในประสิทธิผลการทำงานของลูกจ้างมากขึ้น ต้องการเนื้องานที่ดี รวมถึงมีทางเลือกในการจ้างงานเพิ่มเติมด้วย ด้านฝ่ายลูกจ้าง ต้องรักษาตำแหน่งงานให้ดี เพราะการที่นายจ้างมีทางเลือก ย่อมมีผลต่อการจ้างงานเช่นกัน
 
การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นผลของการตกลงจาก 3 ฝ่าย เมื่อผลเป็นแบบไหน ต้องยอมรับ แต่เมื่อลูกจ้างได้เงินเพิ่ม ก็ต้องรักษางานให้ดี เพิ่มโปรดักทิวิตี เงินที่ได้เพิ่มไม่ไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย นายจ้างคาดหวังการทำงานที่ดีมากขึ้น มีทางเลือกการจ้างงานเพิ่ม ส่วนรัฐต้องบาลานซ์มาตรการที่ออกมาระหว่างผู้บริโภค ผู้ประกอบการ เพราะหากออกมาตรการค่าแรงขึ้นแล้วทำให้เงินในกระเป๋าคน ซื้อของได้น้อยลงย่อมไม่มีประโยชน์ จึงฝากดูแลไม่ให้ของแพงแซงค่าแรง"


 
อสังหาไทย เจอวิกฤตรอบด้าน ตื๊อรัฐลดค่าโอน ปลด LTV ขยายเช่า 50 ปี บูสต์ตลาดปี’68
https://www.matichon.co.th/economy/news_4970525

อสังหาไทย เจอวิกฤตรอบด้าน ตื๊อรัฐลดค่าโอน ปลด LTV ขยายเช่า 50 ปี บูสต์ตลาดปี’68
 
วันที่ 24 ธันวาคม นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า นิยามตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นปีที่เผชิญเพอร์เฟ็กต์สตรอม มีพายุมาครบทุกลูก ทั้งการเมืองในประเทศและต่างประเทศ น้ำท่วม หนี้ครัวเรือนสูง ยอดรีเจ็กต์เรตสูงถึง 60-70% การออกหุ้นกู้ ผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นเศรษฐกิจ กระทบต่อกำลังซื้อทุกธุรกิจ รวมถึงอสังหาฯด้วย โดยคาดว่าทั้งปีนี้ตลาดอสังหาฯยอดขายจะติดลบ 25-30% ยอดโอนกรรมสิทธิ์ติดลบ 7-8% โดยมีคอนโดสร้างเสร็จรอโอนโค้งสุดท้ายกว่า 8.6 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2568 ยังต้องระมัดระวังเพราะมีความไม่แน่นอนอยู่ หากภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและธุรกิจอสังหาฯออกมา เช่น ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% เลิกมาตรการ LTV ชั่วคราว เป็นต้น คาดหวังจะทำให้ตลาดปีหน้ากลับมาเป็นบวก
 
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมอสังหาฯ กำลังประมวลข้อเสนอมาตรการกระตุ้นอสังหาฯปี 2568 เพื่อเสนอต่อรัฐบาล เนื่องจากตลาดยังไม่ฟื้นตัว มีปัญหากำลังซื้อ กู้ไม่ผ่าน ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อและซื้อบ้านยาก จากระดับต่ำ 3 ล้านบาท ขยายไปยัง 5-7 ล้านบาท อีกทั้งคนไม่มั่นใจเศรษฐกิจ จึงไม่พร้อมเป็นหนี้ระยะยาว ดังนั้นปีนี้จึงเป็นปีที่ยาก ส่วนปีหน้ารอความหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อเพิ่มกำลังซื้อและความเชื่อมั่น ไม่ให้แย่กว่าปีนี้
 
นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในเดือนมกราคม 2568 ทาง 7 องค์กรด้านอสังหาฯ จะยื่นเสนอมาตรการกระตุ้นอสังหาฯให้รัฐพิจารณาเพื่อออกเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาฯ ส่วนใหญ่เป็นของเดิม เช่น ขยายเวลาลดค่าโอนและจำนอง 1 ปี ขยายการเช่า 30 ปี เป็น 50 ปี ส่วนต่างชาติซื้อคอนโดยังคงโควต้า 49% จากเดิมขอเป็น 75% เป็นต้น

นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและ การสร้างสรรค์ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า คำนิยามตลาดอสังหาฯปี 2567 เป็นช่วงของการปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น เรื่องเอไอ แต่ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจอสังหาฯยังติดอยู่หลายเรื่อง ทั้งที่ตลาดยังมีความต้องการ แต่ไม่มีความสามารถในการซื้อ สถานการณ์นี้จะต่อเนื่องไปถึงปี2568
 
ปีหน้าอยากเห็นคนเข้าถึงโอกาส เข้าถึงการซื้อบ้านมากขึ้น ถามว่าปีนี้ถึงจุดต่ำสุดหรือยัง ยังตอบไม่ได้ แต่ปีนี้ เป็นปีที่ยากปีหนึ่ง คาดว่าปีหน้าจะเป็นที่ยากเหมือนกัน แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะยากกว่าปีนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตามธุรกิจอสังหาฯ ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจอยู่แล้ว ดังนั้นจึงอยากเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนและทำให้เป็นรูปธรรมจริงๆออกมา คาดว่าปีหน้าน่าจะดีกว่านี้” นายวิทการกล่าว.
 


อุตุฯ ประกาศฉบับ 11 พายุโซนร้อน “ปาบึก” อีสาน ตะวันออก กทม. มีฝนบางพื้นที่
https://www.dailynews.co.th/news/4223003/

อุตุฯ ประกาศฉบับ 11 พายุโซนร้อน “ปาบึก” อีสาน ตะวันออก กทม. มีฝนบางพื้นที่

25-26 ธ.ค. นี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
 
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ เรื่อง พายุโซนร้อน “ปาบึก” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ฉบับที่ 11 (353/2567) เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (25 ธ.ค. 67) พายุโซนร้อน “ปาบึก” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 460 กิโลเมตร ทางตะวันออกของเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 11.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางใต้เล็กน้อยอย่างช้าๆ และคาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งด้านตะวันออกของประเทศเวียดนาม หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในระยะต่อไป โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยตรง

ส่วนในช่วงวันที่ 25-26 ธ.ค. 67 มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย
 
สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
 
ประกาศ ณ วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เวลา 05.00 น.

กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เวลา 11.00 น.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่